โค้ด: เลือกทั้งหมด
ความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงอยู่หลายประการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งอาจประเมินเบื้องต้นได้ดังนี้
1. หน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ เรื่องนี้พูดกันมามากแล้วว่าหากรัฐบาลสหรัฐ (ประธานาธิบดีและรัฐสภา) ตกลงกันไม่ได้ภายในปลายปีนี้ก็จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการลดภาษีต่างๆ หมดอายุลง ทำให้รายจ่ายภาครัฐลดและภาษีปรับเพิ่มขึ้นคิดเป็น 3-4% ของจีดีพีของสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 2% ดังนั้น หากภาครัฐชะลอเศรษฐกิจลง 3-4% ก็ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงต่อการเข้าสู่สภาวะถดถอยในครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มองในแง่ดีว่าฝ่ายบริหารกับรัฐสภาจะประนีประนอมกันได้ในที่สุด โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีบ้างและลดรายจ่ายลงในบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่ไม่ถึงกับเข้าสู่สภาวะถดถอย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ มองว่าการเจรจาจะยืดเยื้อและกว่าจะบรรลุข้อตกลงก็ใกล้ขึ้นปีใหม่ โดยใน 6 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีข่าวออกมาวันหนึ่งว่าใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว แต่วันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ายังมีความขัดแย้งกันอย่างมาก ทำให้ตลาดผันผวนอย่างต่อเนื่อง เพราะการเจรจาจะมีความสลับซับซ้อนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างมาก
ที่สำคัญคือการเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลังนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น กล่าวคือ พยายามไม่ลดรายจ่ายหรือเพิ่มภาษีมาก เพื่อประคองเศรษฐกิจต่อไปก่อน แต่มาตรการดังกล่าวหมายความว่าปัญหาหลักคือการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 8% ของจีดีพียังดำเนินต่อไป ดังนั้น การประนีประนอมเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลัง ควรจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการบรรลุถึงข้อตกลงว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณ (จาก 8% ให้เหลือ 2% ของจีดีพี) ภายใน 4-5 ปีข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งแนวทางที่คณะกรรมการ Simpson & Bowles ได้เคยนำเสนอคือการลดรายจ่าย 3 ส่วนและเพิ่มภาษี 1 ส่วน แต่ดูเสมือนว่าประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตจะอยากปรับขึ้นภาษี (โดยเฉพาะภาษีคนรวย) เป็นหลักโดยไม่ค่อยพูดถึงการตัดลดการใช้จ่ายโครงการรัฐสวัสดิการที่สำคัญ เช่น โครงการประกันสุขภาพ เป็นต้น
2. ปัญหายุโรป ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซนั้นควรแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จนานแล้วแต่ก็ยังดูเสมือนว่ามีข้อขัดแย้งอยู่มาก แม้รัฐบาลกรีซจะทำทุกอย่างตามเงื่อนไขที่ประเทศเจ้าหนี้กำหนด แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้และแม้ว่ากรีซจะได้รับเงินกู้งวดต่อไปในที่สุด ปัญหาก็จะไม่หมดลง เพราะเศรษฐกิจกรีซบอบซ้ำมาก กล่าวคือเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันมาเป็นปีที่ 6 แล้ว (จีดีพีลดลงไป 20%) และการว่างงานสูงถึง 25% แต่รัฐบาลก็จะยังต้องแบกหนี้สินสูงถึง 190% ของจีดีพีในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะลดลงเหลือ 120% ในปี 2020 ผมยังมีข้อสงสัยว่าการมีหนี้สาธารณะสูงถึง 120% นั้น เศรษฐกิจจะมั่นคงได้อย่างไรและการรัดเข็มขัดต่อไปอีก 8 ปีนั้นรัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจากประชาชนหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือหากแก้ปัญหากรีซไม่ได้ ปัญหาก็จะลามไปสู่สเปน ซึ่งอาจต้องเผชิญกับวิกฤติทางการเมืองพร้อมไปกับปัญหาเศรษฐกิจสืบเนื่องจากความต้องการแยกตัวออกจากประเทศสเปนของแคว้นคาตาโลเนีย และล่าสุดมูดีส์ก็เพิ่งลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยมองว่าความสามารถในการแข่งขันของฝรั่งเศสลดลง ในขณะที่ภาครัฐก็ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวโดยสรุปคือเศรษฐกิจยุโรปจะซึมยาวใน 3-4 ปีข้างหน้า เพราะภาครัฐจะรัดเข็มขัดทางการคลังเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งมองในแง่หนึ่งจะดีกว่าอเมริกาที่ยังไม่ได้เริ่มแก้ปัญหาดังกล่าวเลย แต่บางฝ่ายอาจมองว่ายุโรปแก้ปัญหาอย่างจริงจังเกินไป (เพราะประเทศเจ้าหนี้หลักคือเยอรมนีเป็นผู้กำกับอยู่) ทำให้เศรษฐกิจจะซบเซากว่าเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมาก
3. จีนและญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งซึ่งคาดกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยนายอาเบะ หัวหน้าพรรคแอลดีพีจะชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งตลาดพึงพอใจกับนโยบายที่นายอาเบะประกาศออกมา กล่าวคือจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวและกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมาโดยไม่จำกัดจำนวน โดยจะตั้งเป้าเงินเฟ้อสูงถึง 2-3% นอกจากนั้นนายอาเบะยังโหนกระแสชาตินิยมโดยแสดงท่าทีแข็งกร้าวในการอ้างสิทธิในหมู่เกาะในทะเลจีนตอนใต้ที่เป็นเรื่องพิพาทกับจีนในขณะนี้ จึงเป็นไปได้ว่าความตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอาจเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า เพราะจีนก็กำลังถ่ายโอนอำนาจไปสู่ผู้นำชุดใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมและผู้นำที่เพิ่งเข้าสู่อำนาจมักจะพึ่งพากระแสชาตินิยมเพื่อเรียกร้องเสียงสนับสนุนจากประชาชน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ดีขึ้นสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 7.5-8.0% ในปีหน้า แต่จีนเองก็ยังต้องปฏิรูปเศรษฐกิจโดยลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อเปิดให้ภาคเอกชนแข่งขันตามกลไกตลาดเสรีมากขึ้น นอกจากนั้นก็จะต้องเปิดเสรีเศรษฐกิจภายในเพื่อส่งเสริมการบริโภคและลดการพึ่งพาการส่งออก โดยคงจะถูกสหรัฐกดดันให้ปล่อยเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามลำดับ และประเด็นสุดท้ายคือพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำจีนยอมรับว่าจะต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งกำลังทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลและผู้นำของจีน
4. อาเซียน การประชุมผู้นำอาเซียนที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่าสะท้อนให้เห็นความแตกแยกของประเทศสมาชิกอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องการอ้างสิทธิในหมู่เกาะทะเลจีนตอนใต้ โดยมีรายงานข่าวจากการประชุมผู้นำอาเซียนว่าหลังจากที่ประธานการประชุมอาเซียนคือนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ประกาศว่าอาเซียนได้ตกลงที่จะไม่นำข้อขัดแย้งในทะเลจีนตอนใต้ไปสู่การเจรจาระดับนานาชาติ (internationalize the dispute) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก็ออกมาแถลงข่าวโดยไม่ได้นัดหมายมาก่อน แสดงความไม่พอใจ (dissatisfaction) และยืนยันว่าฟิลิปปินส์ได้แสดงท่าที่คัดค้านและต่อมาสิงคโปร์โดยนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ก็ออกมากล่าวตำหนิว่า ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมผู้นำอาเซียนมีความคลาดเคลื่อนที่จะต้องแก้ไข (inaccuracies that had to be corrected) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกการปรึกษาหารือของผู้นำในเรื่องทะเลจีนตอนใต้ โดยฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซียและเวียดนามได้แสดงจุดยืนของตนอย่างชัดเจนต่อประธานการประชุมเช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนเช่นกัน ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานเชิงวิเคราะห์ (20, 21 และ 22 พ.ย. 2012) มีใจความว่า
๐ จีน มุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์เชิงทวิภาคีกับประเทศในอาเซียน ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการทำให้อาเซียนไม่สามารถมีท่าทีร่วมกันในเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนตอนใต้
๐ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงสรุปว่าจีนได้ทุ่มเทความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้ประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนบางประเทศ เช่น ลาวและเขมร ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในกรณีของเขมรนั้นได้ช่วยปกป้องผลประโยชน์ให้กับจีนที่ต้องการให้การเจรจาข้อพิพาทในทะเลจีนตอนใต้เป็นการเจรจาแบบทวิภาคีและไม่ต้องการให้นำปัญหาไปสู่การเจรจาระดับนานาชาติ (พหุภาคี) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทคานจีนได้
๐ ผลที่ตามมาคือการแบ่งแยกในอาเซียนระหว่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน ที่ต้องการให้มีการพิจารณาข้อพิพาทในระดับพหุภาคีและเขมร ลาว พม่าและไทยที่จะไม่ประสงค์ให้อาเซียน “มีเสียงดังฟังชัด” (louder, clearer voice) ในการเจรจากับจีนอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ความแตกแยกของอาเซียนนี้ ผมเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคหนึ่งในความพยายามที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุน และข้อเสนอเปิดเขตการค้าเสรีก็ดูเสมือนว่าจะสะท้อนความแบ่งแยกดังกล่าว นอกจากนี้ได้มีการเสนอ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) คือประเทศอาเซียนทั้ง 10 บวกกับ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (สังเกตได้ว่าขาดสหรัฐ) ในขณะที่ข้อเสนอ Trans Pacific Partnership (TPP) ที่สหรัฐผลักดันนั้นประกอบด้วย 11 ประเทศคือ บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย สหรัฐ ชิลี เปรู เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้น มีสหรัฐ และประเทศที่ไม่ค่อยจะลงรอยกับจีน (ขาดฟิลิปปินส์) และ TPP นั้นขาดประเทศจีน จึงทำให้เป็นห่วงว่าความขัดแย้งด้านการเมืองและความมั่นคงอาจทำให้ความก้าวหน้าในการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจจะทำได้ด้วยความลำบากขึ้นครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 26 พย. 55