Waktzing with a dictator
ทุกท่านคงรู้จักจังหวะวอล์ท
จังหวะนี้เป็นจังหวัดที่มีลีลาเต้นรำที่สวยงามเหมือนหงส์เหินหลงระเริงอยู่บนฟลอร์เต้นรำอย่างมีความสุข
ความหมายในที่นี้ก็คือการหลงระเริงเต้นรำอย่างมีความสุขไปกับเผด็จการท่านหนึ่ง ที่มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสังคมใหม่ (New Society) ให้สังคมมีการปฏิรูปจากรากหญ้าขึ้นมา จัดระเบียบสังคมทุกระดับ พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญจนนับได้ว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่เจริญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่อเมริกามี มีความสะดวกสบายเท่าที่ถูกคนจะหามาได้
ข้อสำคัญคือ การพัฒนาคนจนในท้องถิ่นห่างไกล การให้กองทุนหมู่บ้าน การพัฒนาภาคใต้ การแต่งตั้งมุสลิมเข้ามาอยู่ในรัฐบาล การใช้นโยบาย Green revolution ในพื้นที่เกษตรกรรม
ผู้ที่เป็นมือเป็นเท้าให้เขาผู้นี้ก็คือคนที่ไว้ใจได้ และคนที่เขาผู้นี้ไว้วางใจได้คือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ทหารหรือตำรวจ
บุคคลดังกล่าวคือ เฟอร์ดินานด์ อี.มาร์กอส ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์
ส่วนดีเขาก็มีมาก เขามีวิสัยทัศน์ในแนวคิด New socicty ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองเป็นที่ชุมนุมของชาวต่างประเทศ เป็นแห่งการค้าการลงทุน เป็นที่ประชุมของนานาชาติ
แต่ความล้มละลายที่เขานำมาสู่ประเทศนั้นยิ่งใหญ่กว่าความดีที่เขาทำมา
คำถามที่ว่าทำไมฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตกลับต้องมาตกต่ำในช่วงหลัง (หลังปี 1978)
คำตอบง่ายนิดเดียวคือ
1.เขาใช้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจของตัวเองหลังจากที่ประกาศกฎอัยการศึกแล้วในวันที่ 22 กันยายน 1972 การสามารถใช้ช่องโหว่ได้นั้น ผู้นั้นต้องเป็นมือกฎหมายที่เก่งฉกาจพอตัว และมาร์กอสเรียนทางด้านกฎหมายและสอบบอร์ดวิชาชีพของประเทศได้เป็นที่ 1 เพราะฉะนั้นเขากระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกฎหมายตามที่ตัวเองเห็นว่าเอื้ออำนวยต่อตัวเองและพวกพ้องรัฐธรรมนูญที่อเมริการ่างไว้ให้ (ฉบับปี 1935) มีช่องโหว่อย่างที่ไม่มีผู้ใดในสังคมคาดคิดว่าเขาสามารถใช้ช่องโหว่นี้ได้
ดังนั้น รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ ย่อมมีช่องโหว่ที่ผู้นำที่มีความชาญฉลาดจะแสวงหาอำนาจได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจริยธรรมหรือคุณธรรมของผู้นำเท่านั้น หรือนิติบริกรทั้งหลายที่คอยให้คำปรึกษา
2.การที่จะให้ประชาชนสนับสนุนเขาได้นั้นมีอยู่ทางเดียวคือ พลังคนจน เพราะพวกนี้ต้องการเงินที่จะนำมาประทังชีวิต และการที่จะทำให้เขาเหล่านั้นสนับสนุนการปกครองเขาตลอดกาลก็คือ การใช้เงินซื้อเสียงเวลามีการหยั่งเสียงประชามติทั่วประเทศว่ายอมรับการบริหารของเขาหรือไม่ ช่วงนั้นพลังคนจนมีมากกว่าชนชั้นระดับสูงและระดับกลาง อย่างไรเสียมาร์กอสก็ชนะเสียงการหยั่งเสียงประชามติอยู่ดี มาถึงตรงนี้ความชาญฉลาดของเขาก็คือใช้การหยั่งเสียงประชามติตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้คราบเผด็จการ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
3.การปฏิรูปสังคมใหม่ของเขาที่คนจนพึงพอใจก็คือ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปเศรษฐกิจ การให้บริการสังคมทางด้านการรักษาพยาบาล กองทุนหมู่บ้าน การปฏิรูปที่ดินจัดหาที่ให้คนจนได้อยู่อาศัย เป็นต้น
4.สิ่งหนึ่งที่เป็นโชคดีของมาร์กอสคือ กองทัพให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ถึงแม้ทหารฟิลิปปินส์จะเป็นทหารอาชีพ แต่เนื่องจากผู้นำมีบารมีแบบมาร์กอสทหารจึงต้องสวามิภักดิ์ประกอบกับมีเงินทองที่อยู่อย่างสุขสบาย คอยปรนเปรอทั้งตัวทหารเองและญาติพี่น้อง มีใครบ้างที่ไม่ต้องการ ถึงกับมีคำกล่าวว่ามาร์กอสให้นาฬิกาโรเล็กซ์แก่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ 12 คน (12 Rolex) เพื่อเป็นการตอบแทน
5.มาร์กอสเป็นคนเก่ง เชื่อมั่นตัวเองสูง และคิดว่าไม่มีใครมาแทนที่เขาได้ เขาจึงทำอะไรโดยพลการตลอดเวลา และคิดว่าความคิดของเขาถูกเสมอ
Waktzing with a dictator
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 1
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 2
6.แม้มาร์กอสจะประกาศกฎหมายต่างๆ ออกมาอย่างรุนแรง แต่วิธีปฏิบัติของเขากลับใช้อำนาจนั้นเพียงครึ่งเดียว จึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาไม่ใช่เผด็จการ เขายังอะลุ่มอล่วย ยังมีรอยยิ้มในกฎอัยการศึก
7.พลังที่ทำให้มาร์กอสอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 13 ปี คือ เครือญาติบริวาร (cronies) และนำธุรกิจของเครือญาติบริวารมาเกี่ยวพันกับการบริหารบ้านเมือง การประมูลโครงการที่สำคัญๆ เช่นไฟฟ้า น้ำประปา โทรคมนาคม การส่งออก น้ำตาล หนังสือพิมพ์ น้ำมัน ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้กับญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องทั้งหมด บางโครงการยกเว้นการเก็บภาษีเข้ารัฐ ตระกูลที่สำคัญในขณะนั้นได้แก่ ตระกูลโลเปซ, โรมัวล์เดช, ตัน, โคฮวงโก, อายาลา, โซริยาโน เป็นต้น
อีกทั้งผู้คุมกรมสรรพากรก็เป็นญาติของอิเมลด้าภรรยาของมาร์กอส จึงทำให้การดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจสะดวกมากขึ้น
8.มาร์กอสลงจากอำนาจได้ก็เพราะประชาชนซึ่งมาจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ได้วิเคราะห์ปัญหาการคอร์รัปชั่นของเครือญาติบริวารของมาร์กอสอย่างเป็นวิชาการ มีหลักฐาน มีที่มาที่จะสืบหาข้อเท็จจริงได้เป็นเวลาถึง 3 ปี (ปี 1983-1986) จากนั้นก็ใช้ช่องทางโค่นอำนาจมาร์กอส 2 ช่องทาง คือ
ช่องทางแรก สร้างเครือข่ายพลังประชาชนให้เข้มแข็ง วางบทบาทและหน้าที่ของแต่ละกลุ่ม ที่สำคัญฟิลิปปินส์เชื่อในการไม่ใช้ความรุนแรง
ช่องทางที่สอง คือใช้ช่องทางรัฐสภา ทั้งสองช่องทางนี้ทำให้มาร์กอสต้องยอมลงจากตำแหน่งอย่างน้อยเขาก็ยังมีสำนึกของจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ปกครอง เพราะถ้าหากผู้นำขาดความชอบธรรมแล้วการปกครองก็จะไม่ราบรื่นต่อไป
มาร์กอสทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Today"s Revolution ในขณะที่เขาเรียนกฎหมาย และใช้แนวคิดของเขามาดำเนินการกับสังคมฟิลิปปินส์ ผู้เขียนขอทิ้งท้ายเพื่อเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยก็คือ
เมื่อใดที่ผู้นำมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชนให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากรัฐบาลเองโดยฟังเสียงประชาชนจำเป็นต้องมีขึ้นให้ได้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยไม่หลงระเริงเต้นรำไปอย่างมีความสุขบนความทุกข์ของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การแสดงความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมิใช่เป็นเรื่องที่ผิด แต่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ที่สำคัญพรรคพวกบริวารที่อยู่ห้อมล้อมจำเป็นที่จะต้องเต้นรำไปกับผู้นำและชูผู้นำมิให้ลงจากอำนาจ เพราะถ้าผู้นำลงจากอำนาจตัวเขาเหล่านั้นเองจะสูญเสียผลประโยชน์ไปด้วย ในที่สุดก็จะไม่มีแผ่นดินที่จะอยู่ ทรัพย์สินเงินทองเป็นของนอกกาย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ ความดีเท่านั้นที่ยังคงอยู่ แต่ถ้าสร้างความไม่ดีเอาไว้ให้กับประเทศ บาปก็จะตกอยู่กับลูกหลาน เช่นเดียวกับมาร์กอสนั่นเองที่ประเทศฟิลิปปินส์เจริญรุ่งเรืองสูงสุดจนต้องประสบกับความล้มละลายในที่สุด เพราะการคอร์รัปชั่นของเครือญาติบริวารและนักธุรกิจทั้งหลายที่เป็นพรรคพวกมาร์กอสก็หนีออกนอกประเทศหมด ทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจในสังคมฟิลิปปินส์ เป็นเหตุให้ฟิลิปปินส์ต้องสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่หมด ปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้วข้างต้นเหมือนกับประเทศไทย และสภาวะล้มละลายอย่างเช่นฟิลิปปินส์สมัยมาร์กอสไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
โดย สีดา สอนศรี
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 3
EDSA 2 การถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า (ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๑)
- อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ -
ในปี ๒๕๔๔ (ค.ศ. ๒๐๐๑) ประชาชนฟิลิปปินส์เดินขบวนครั้งใหญ่ เพื่อแสดงประชามติถอดถอนประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า ออกจากตำแหน่ง นับเป็นการปฏิวัติโดยประชาชนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดี เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส และครอบครัว เมื่อ ๑๕ ปีก่อน (พ.ศ. ๒๕๒๙ / ค.ศ. ๑๙๘๖) การเดินขบวนคราวนี้มีกลุ่มชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นักศึกษาและปัญญาชน ฝ่ายซ้าย ฝ่ายศาสนา และนักการเมืองฝ่ายค้าน เป็นแกนนำสำคัญของพลังการเมืองภาคประชาสังคม และมีกลุ่มสหภาพแรงงาน ชาวนา และคนจนเมือง ร่วมเรียกร้องให้ประธานาธิบดี เอสตราด้า ลาออก หลังจากกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญในรัฐสภาล้มเหลว การชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ และดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา ๕ วัน ก่อนที่ประธานาธิบดี เอสตราด้า จะยอมจำนน และพาครอบครัวออกจากทำเนียบมาลากันญัง (Malacañang Palace) ทางด้านหลัง ในตอนบ่ายของวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๔
สาเหตุของการปฏิวัติของประชาชน (The Peoples Revolution : EDSA 2)(1)
ประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า (Joseph Estrada) หรือชื่อจริงว่า โฮเซ มาเชโล อีเฮร์ซิโต (Jose Macelo Ejercito) เกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๗ ในครอบครัวชนชั้นกลางของมะนิลา มีพี่น้อง ๑๑ คน พ่อมีอาชีพเป็นวิศวกร ประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า เข้าสู่วงการแสดงภาพยนตร์ โดยที่เรียนไม่จบระดับมัธยมศึกษา สร้างความอับอายขายหน้าให้ครอบครัว และเป็นเหตุให้เขาเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อมิให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลต้องเสียหาย
โจเซฟ เอสตราด้า เริ่มโด่งดังในบทพระเอกหนุ่มแก็งสเตอร์ ว่ากันว่าเขาเป็นพระเอกรูปหล่อ มีเสน่ห์ แต่แฝงไว้ด้วยความร้ายลึก การที่ประธานาธิบดี เอสตราด้า ใช้ชื่อในวงการแสดงแทนชื่อจริงในการสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถูกวิจารณ์ว่าเปรียบเสมือนหนึ่งการเข้ารับบทใหม่อีกบทหนึ่งในชีวิตการแสดงของเขา และเขายังได้นำเอาชื่อ อาซิอง ซาลองกา (Asiong Salonga) ซึ่งเป็นชื่อของตัวเอกในภาพยนตร์แก็งสเตอร์ที่เขาแสดง มาเป็นชื่อปลอมในการรับเงินสินบนต่าง ๆ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
เส้นทางการเมืองของประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า เริ่มต้นจากการได้รับเลือกตั้งเป็นนายก เทศมนตรี เมืองซานฮวน ในกรุงมะนิลา ในปี ค.ศ. ๑๙๖๙ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี ค.ศ. ๑๙๘๗ ในระหว่างที่เป็นวุฒิสมาชิก เขาได้ออกเสียงคัดค้านสนธิสัญญาฉบับใหม่ (ค.ศ. ๑๙๙๑) ที่ต้องการให้สหรัฐตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ต่อไป ผลงานในครั้งนั้นทำให้ประธานาธิบดีเอสตราด้ามีภาพของนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินฟิลิปปินส์และได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมาก แม้ว่าตลอดระยะเวลา ๖ ปีในตำแหน่งวุฒิสมาชิก เขาจะไม่มีผลงานอื่น ๆ ก็ตามที
จากตำแหน่งวุฒิสมาชิก ประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมาลากันญังในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ในฐานะรองประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น ประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส (President Fidel Ramos) ได้มอบหมายให้รองประธานาธิบดี เอสตราด้า เป็นประธานคณะกรรมการต่อต้านอาชญากรรม (Anti-Crime Commission PACC) ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่าง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ ประธานาธิบดี เอสตราด้า จึงสมัครรับเลือกตั้งด้วยความมั่นใจและได้รับชัยชนะอย่างขาดลอย เขามีคะแนนเสียงมากว่าคู่แข่งที่ได้คะแนนอันดับรองลงมาถึงกว่า ๖.๕ ล้านเสียง ประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๓ ของประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมกับภาพและคำขวัญ ประธานาธิบดีของคนยากคนจน (President of the Poor Erap para sa Mahirap) ขณะนั้น ประธานาธิบดี เอสตราด้ามีอายุ ๖๑ ปี
เมื่อเป็นนักแสดง ประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราด้า เป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมจากผู้ชมมาก เมื่อเปลี่ยนฐานะมาเป็นประธานาธิบดี เขาก็ได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนอย่างมากมายไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป ในช่วงปีแรกที่อยู่ในตำแหน่งเขาได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และต่างก็เปิดโอกาสให้ประธานาธิบดี เอสตราด้า ได้แสดงความสามารถในการบริหารประเทศ
อย่างไรก็ดี สถาบันศาสนาเริ่มแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับความประพฤติของประธานาธิบดี เอสตราด้า ในแง่ที่เขามีภรรยาหลายคน ที่เปิดเผยนั้นมี ๔ คน และมีบุตรธิดารวม ๑๑ คน ไม่นับข่าวลือที่ว่าเขายังมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับผู้หญิงอื่นอีก เช่น นางเอกภาพยนตร์และแอร์โฮสเตส ซึ่งขัดกับหลักศาสนานิกายโรมันคาธอลิกที่เคร่งครัดในกฎเกณฑ์ครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว นอกจาก นั้น เขายังนิยมการใช้ชีวิตในสไตล์เพล์ยบอย ไม่ค่อยเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี แต่กลับใช้วิธีบริหารด้วยการพูดคุยกับคนสนิทที่เป็นเจ้าพ่อ นักการเมืองท้องถิ่น และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในทางลบในวงพนันในทำเนียบมาลากันญัง จากทั้งเรื่องความประพฤติส่วนตัว เรื่องการพนันและการคบเจ้าพ่อของประธานา ธิบดีเอสตราด้า ทำให้สังคมฟิลิปปินส์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นกลาง นักธุรกิจ และฝ่ายซ้าย เริ่มตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธภาพของฝ่ายบริหาร และสงสัยว่าเหตุใดประธานาธิบดีจึงสามารถมีทรัพย์สินมากมายในการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยเช่นนี้ได้
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 4
หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งได้ราว ๒ ปี เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ คณะรัฐมนตรีเที่ยงคืน (Midnight Cabinet) เริ่มหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ การช่วยเหลือมิให้มีการสอบสวน นาย ดังเต้ ตัน เพื่อนนักธุรกิจและผู้สนับสนุนทางการเมืองของประธานาธิบดีเอสตราด้า ซึ่งปั่นหุ้นและเก็งกำไรด้วยการใช้ข้อมูลภายในทำให้กลุ่มนักธุรกิจไม่พอใจ แต่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดี เอสตราด้าสามารถหาคะแนนนิยมเพิ่มจากประชาชนระดับล่าง ด้วยการใช้นโยบายปรามปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมที่มินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศ
อย่างไรก็ดี คะแนนนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดี เอสตราด้าเดินมาถึงจุดผกผันเมื่อเพื่อนสนิทของเขาที่ชื่อ หลุยส์ ชาวิท ซิงซอน (Luis Chavit Singson) ออกมาเปิดเผยถึงขบวนการรับเงินค่าคุ้มครองจากโต๊ะหวยใต้ดิน (Jueteng)(2) และบ่อนการพนัน นาย ชาวิท ซิงซอน เป็นผู้ว่าการของจังหวัดอีโลโกสใต้ (Ilocos Sur) และเป็นเจ้ามือหวยใต้ดินในจังหวัดของเขาเอง เขาทำหน้าที่รวบรวมเงินค่าคุ้มครองมาส่งให้แก่ประธานาธิบดีเอสตราด้าทุกเดือน ตามที่ตกลงกันว่าต้องแบ่งรายได้ให้ โดยนำส่งราวเดือนละ ๓๒๓๕ ล้านเปโซ ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี(3)
สาเหตุที่ นายชาวิท ออกมาเปิดโปงเรื่องเงินค่าคุ้มครองหวยใต้ดิน เนื่องจากเกิดการหักหลังกันภายในกลุ่ม เขาถูกกันออกจากขบวนการผลประโยชน์หวยใต้ดิน และบิงโกบอล (Bingo 2-Ball) ซึ่งประธานาธิบดีเอสตราด้า และนายชาลี อตอง อั้ง (Charlie Atong Ang) เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งที่รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทคาสิโนของรัฐบาล ได้วางแผนจะทำให้หวยใต้ดินเป็นการพนันที่ถูกกฎหมาย โดยจัดการเปลี่ยนสัมปทานเป็นเกมบิงโกบอลให้พรรคพวกของตนในจังหวัดต่าง ๆ ดำเนินการ โครงการนี้ นอกจากจะตัดนายชาวิทออกไปแล้วยังได้เอาสัมปทานในจังหวัดอีโลโกสใต้ไปให้แก่คู่แข่งของนายชาวิท ขณะเดียวกัน ก็กวาดล้างจับกุมหวยเถื่อนและธุรกิจต่าง ๆ ในเครือข่ายของนายชาวิทอย่างไม่ไว้หน้า และยังมีการส่งตำรวจเข้าล้อมจับนายชาวิทกลางดึก ทำให้นายชาวิทเชื่อว่ามีผู้พยายามจะลอบสังหารเขา และเขาต้องออกมาแก้แค้นให้ถึงที่สุด
หลังจากที่ชาวิท ซิงซอน ออกมาแถลงข่าวเปิดโปงผลประโยชน์นอกระบบของประธานาธิบดี เอสตราด้าและพรรคพวก คณะกรรมาธิการบลูริบบอนของวุฒิสภา (Senate Blue Ribbon Committee) ได้เริ่มการสอบสวนข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาเรื่องการรับค่าคุ้มครองและสินบนต่าง ๆ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้รับทราบถึงเบื้องหลังพฤติกรรมผิดกฎหมายของประธานาธิบดี การสอบสวนยังทำให้ได้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการใช้ชื่อและบริษัทนายหน้า เพื่อปกปิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของบรรดาภรรยาน้อยของประธานาธิบดี สื่อมวลชนพากันรายงานข่าวอย่างเต็มที่โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลและการควบคุมของรัฐบาล
จากหลักฐานที่ได้จากพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ธนาคาร และนายชาวิท ซิงซอน พรรคฝ่ายค้านได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกสภาคองเกรส เพื่อยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า ในข้อหารับสินบนและร่ำรวยผิดปกติ ในขณะที่กลุ่มการเมืองนอกรัฐสภาประกอบด้วยฝ่ายศาสนจักร กลุ่มต่อต้านเอสตราด้า กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มนักกิจกรรม ได้รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราด้า รวมทั้งคณะรัฐมนตรีลาออก
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 5
การเดินขบวนขับไล่ประธานาธิบดีเอสตราด้า
หลักฐานโพยหวยใต้ดินแสดงรายได้และส่วนแบ่งค่าคุ้มครองที่นาย ชาวิท ซิงซอน นำมาแสดงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
ดาวิเด จูเนียร์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานพิจารณาคดีถอดถอนประธานาธิบดี เอสตราด้า และประธานวุฒิสภาร่วมพิจารณาในฐานะเป็นฝ่ายผู้พิพากษา
การชุมนุมของนิสิตนักศึกษา
การชุมนุมของกลุ่มชาวนา
โทรศัพท์มือถือใช้ส่งข้อความสั้นระดมผู้ชุมนุม
กองทัพถอนการสนับสนุนรัฐบาล
การชุมนุมของประชาชนที่เอ็ดซ่า
หลักฐานโพยหวยใต้ดินแสดงรายได้และส่วนแบ่งค่าคุ้มครองที่นาย ชาวิท ซิงซอน นำมาแสดงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
ดาวิเด จูเนียร์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานพิจารณาคดีถอดถอนประธานาธิบดี เอสตราด้า และประธานวุฒิสภาร่วมพิจารณาในฐานะเป็นฝ่ายผู้พิพากษา
การชุมนุมของนิสิตนักศึกษา
การชุมนุมของกลุ่มชาวนา
โทรศัพท์มือถือใช้ส่งข้อความสั้นระดมผู้ชุมนุม
กองทัพถอนการสนับสนุนรัฐบาล
การชุมนุมของประชาชนที่เอ็ดซ่า
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 6
บทบาทของสื่อมวลชน
ในระยะแรกที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรับเงินค่าคุ้มครองจากโต๊ะหวยเถื่อน (Jueteng) ของประธานาธิบดี เอสตราด้า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญในการเสนอรายงานข่าวมากนัก ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ หรือ Philippine Center for Investigative Journalism (PCIJ) เป็นผู้ที่ริเริ่มขุดคุ้ยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ความร่ำรวยผิดปกติ ของประธานาธิบดี เอสตราด้า ในบทความเรื่อง Can Estrada Explain His Wealth (24 July, 2000) อย่างไรก็ดี เมื่อหลุยส์ ชาวิท ซิงซอน ออกมาแถลงข่าวด้วยตนเอง เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๓ พร้อมกับเปิดเผยต้นตอและยอดเงินค่าคุ้มครองว่าอยู่ในระดับ ๓๒ ๓๕ ล้านเปโซต่อเดือน สื่อมวลชนก็ไม่สามารถอยู่นิ่งอีกต่อไป เพราะเป็นการกล่าวหาประธานาธิบดีด้วยข้อหาฉกรรจ์
จากการริเริ่มเสนอข่าวสืบสวนสอบสวนของศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ และการเผยแพร่ของสื่อหนังสือพิมพ์ ประชาชนได้รับรู้การคอรัปชั่นในกลุ่มผู้นำและผู้มีอิทธิพลทางการเมือง และติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ สื่อมวลชนต้องตอบสนองต่อกระแสสาธารณะ โดยสื่อสิ่งพิมพ์เป็นแกนนำในระยะแรก เมื่อกระบวนการตรวจสอบเข้าสู่คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา สื่อโทรทัศน์และวิทยุจึงเริ่มมีบทบาทในการเสนอข่าวและข้อมูลอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดการสืบสวนกรณีนี้อย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดกระบวนการ
หนังสือพิมพ์
จากการศึกษาเกี่ยวกับแนวการเสนอข่าวและความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ระดับชาติของฟิลิป-ปินส์ในกรณีการรับเงินสินบนหรือที่เรียกว่ากรณี Jueteng-gate ระหว่าง ช่วงตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๓ พบว่าแบ่งหนังสือพิมพ์ได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ (Monitor, Philippine Journalism Review, XI:4, 2000, pp. 3-7 และ True to form, Philippine Journalism Review, XII:1, 2001, pp.4-12)
๑. กลุ่มที่เป็นพรรคพวกของประธานาธิบดี (crony press) กลุ่มนี้ประกอบด้วย The Courier, Daily Tribune และ Malaya หนังสือพิมพ์กลุ่มนี้เป็นกระบอกเสียงและเสนอข่าวแบบปกป้องประธานาธิบดีเอสตราด้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Courier แหล่งข่าวส่วนใหญ่ที่ถูกอ้างอิงเป็นบุคคลใกล้ชิดกับประธานาธิบดีที่ออกมาแถลงแก้ต่างให้ นอกจากนี้ ยังมีการบิดเบือนข้อมูลของกลุ่มฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดี เอสตราด้า แสดงความรับผิด ชอบด้วยการลาออก อย่างไรก็ดี หลังจากที่ประธานาธิบดี มาคาปากัล อโรโย สาบานตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว The Courier ก็เปลี่ยนท่าที โดยเสนอข่าวเข้าข้างรัฐบาลใหม่ทันที
๒. กลุ่มที่ไม่ให้ความสำคัญกับข่าวการเมืองและค่อนข้างสนับสนุนรัฐบาล แต่ค่อย ๆ ปรับมุมมองการเสนอข่าวเมื่อสถานการณ์การเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดประกอบด้วย Manila Bulletin, Manila Times, Manila Standard, Philippine Star และ The Sun, Star หนังสือพิมพ์ในกลุ่มนี้นับว่าน่าสนใจที่สุดในแง่ที่มีการเปลี่ยนจุดยืนการเสนอข่าวมาอยู่ฝ่ายประชาชน อาทิ Manila Times เป็นหนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีเอสตราด้า เนื่องจากนาย มาร์ค ไฮเมเน็ซ (Mark Jeimenez)(4) เป็นหนึ่งในคนสนิทของประธานาธิบดี แต่ Manila Times เปลี่ยนมาเสนอข่าวที่ให้ข้อมูลรอบด้านแทนที่จะเอียงข้างประธานาธิบดีอย่างที่เคยเป็น เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ Manila Standard ที่เลิกเห็นว่าประธานาธิบดีเอสตราด้าเป็นบุคคลที่ศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้ ส่วน Philippine Star ก็หันมารายงานข่าวอย่างวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เนื่องจากเจ้าของ คือ เฟลิเซียโน เบลมองเต้ (Feliciano Belmonte) สมาชิกสภาคองเกรส หวังจะครองตำแหน่งประธานสภาคองเกรส หาก กลอเรีย อโรโย ได้เป็นประธานาธิบดี The Sun, Star นั้น เป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวท้องถิ่นของมะนิลาเป็นหลัก แต่ก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นการเมืองระดับชาติ และเสนอข่าวจากมุมมองของฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ มีข้อน่าสังเกตว่า นาย เฮ็คเตอร์ วิลลานวยวา (Hector Villanueva) บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและหัวหน้ากองบรรณาธิการ เคยเป็นโฆษกในรัฐบาลประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส มาก่อน สำหรับ Manila Bulletin นั้น ยังคงรักษาจุดยืนที่เข้าข้างฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกับ The Courier
๓. กลุ่มที่นำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน (balanced perspective) กลุ่มนี้ประกอบด้วย Today, Kabayan และ Business World หนังสือพิมพ์ในกลุ่มนี้โดยปกติเสนอข่าวอย่างรอบด้านและตรงไปตรงมา แต่ในระหว่างวิกฤติการเมืองได้ให้น้ำหนักแก่มุมของฝ่ายค้านมากเป็นพิเศษ รวมทั้งติดตามข่าวการเดินขบวนประท้วงของภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด ส่วนหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจอย่าง Business World ก็นำเสนอข่าวการถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้าเป็นข่าวเด่นในหน้าหนึ่ง
๔. กลุ่มที่เป็นฝ่ายค้าน (opposition press) ประกอบด้วย The Philippine Daily Inquirer, Pinoy Times และ The Philippine Post จัดเป็นกลุ่มที่เสนอมุมมองของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีเอสตราด้า (anit-Estrada) มากที่สุด โดยมีการรายงานข่าวอย่างละเอียดเกี่ยวกับการสอบสวนของกรรมาธิการวุฒิสภาและมีบทความวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี เอสตราด้าในกรณีการรับค่าคุ้มครองจากโต๊ะหวยและสินบนอื่น ๆ และ The Philippine Daily Inquirer มีการเสนอรายงานข่าวพิเศษแบบนาทีต่อนาที และเปิดพื้นที่ breaking news ทางอินเทอร์เน็ตในหนังสือพิมพ์ฉบับออนไลน์ ด้วยวิธีการรายงานที่ฉับไวและถูกถ้วนทำให้ The Philippine Daily Inquirer ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมาก และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการนำเสนอข่าวในช่วงวิกฤติ
Pinoy Times รายสัปดาห์สร้างประวัติการณ์ด้วยยอดจำหน่ายถึง ๔๐๐,๐๐๐ ฉบับ ในช่วงที่ข่าวการคอรัปชั่นของประธานาธิบดีเอสตราด้าเริ่มได้รับความสนใจ(5) การเสนอข่าวของ Pinoy Times ได้รับการยอมรับอย่างมากจากผู้อ่าน หลังวิกฤติ Pinoy Times ได้ออกนิตยสารรายสัปดาห์ Pinoy Times Special Edition เพิ่มขึ้นอีกฉบับหนึ่ง
สำหรับ The Philippine Post ประสบชะตากรรมที่แตกต่างจาก The Philippine Daily Inquirer และ Pinoy Times เนื่องจากการที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เลือกที่จะเสนอข่าวฝ่ายค้านแทนที่จะทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล เท่ากับเป็นการเสนอข่าวที่สวนทางกับนโยบายผู้บริหาร ทำให้ นาย เบนิโต้ บริซูเอลา (Benito Brizuela) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีสั่งปิดหนังสือพิมพ์ทันที The Philippine Post วางตลาดฉบับสุดท้ายในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ก่อนที่การพิจารณาคดีถอดถอนประธานาธิบดี เอสตราด้า จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน
จะเห็นได้ว่าบทบาทของสื่อมวลชนในกรณี Jueteng-gate ได้สะท้อนให้เห็นเส้นแบ่งระหว่างหนังสือพิมพ์ที่รับใช้รัฐบาลและหนังสือพิม์ที่ยืนข้างประชาชนในช่วงวิกฤติการเมือง แม้จะมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงของประธานาธิบดีที่ออกมาปกป้องและบิดเบือนข้อมูล แต่หนังสือ-พิมพ์ส่วนใหญ่ได้เลือกเสนอข่าวตามกระแสการเมืองที่นำโดยภาคประชาสังคม ซึ่งสร้างแรงกดดันให้เกิดการเคลื่อนไหวขับไล่ประธานาธิบดีเอสตราด้าสำเร็จในที่สุด Teodoro นักวิชาการด้านสื่อและนักวิจารณ์ได้แสดงทัศนะว่าท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติทางการเมือง สื่อมวลชนฟิลิปปินส์ได้มีบทบาทสำคัญในการเสนอข่าวสารข้อมูลโดยคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (information rights) และสิ่งที่ทำให้สื่อสามารถทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบได้เต็มที่ ก็เนื่องมาจากสังคมที่เปิดให้สื่อมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง (Media freedom made a difference, Philippine Journalism Review, XII:1, 2001, pp.1-2)
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 7
วิทยุและโทรทัศน์
สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในระยะแรกก็อยู่ในสภาพเดียวกับหนังสือพิมพ์ ที่รอดูกระแสการเมืองว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด เมื่อกรรมาธิการของวุฒิสภาเริ่มการสอบสวนการเปิดโปงหลักฐานเรื่องส่วยหรือสินบนหวยเถื่อน สื่อวิทยุและโทรทัศน์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นจนถึงช่วงที่มีการพิจารณาคดีถอดถอนประธานาธิบดี โดยได้ถ่ายทอดสดกระบวนการพิจารณาคดีในวุฒิสภาอย่างต่อเนื่องทุกนัด วันละ ๗ ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๓ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ สถานีโทรทัศน์ช่องเอกชนช่องใหญ่ที่ถ่ายทอดได้แก่ สถานีโทรทัศน์ ABS-CBN และ GMA 7 ซึ่งมีผลการสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนผู้ชมรายการของสถานีโทรทัศน์ ๒ ช่องนี้รวมกันมีจำนวนถึง ๘๑% ของผู้ชมทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีสถานีโทรทัศน์ของรัฐอีก ๒ ช่อง และสถานีเคเบิล ช่อง ๒๓ ที่ถ่ายทอดสดตลอดการพิจารณาคดี ในช่วงนั้น สื่อโทรทัศน์มีการแข่งขันกันมาก เนื่องจากจำนวนผู้ชมเพิ่มสูงกว่าปกติและสถานีมีรายได้จากการโฆษณามากขึ้นหลายเท่า เรตติ้งของการถ่ายทอดสดทำให้รายการเด่น ๆ ในช่วงหัวค่ำและช่วงเวลาทองถูกตัดออกไป (Rimban, 2001)
เจสซิกา โซโห (Jessica SÓho) ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ 7 (GMA 7) สถานีโทรทัศน์อันดับ ๒ ของฟิลิปปินส์เล่าว่า บรรยากาศในการรายงานข่าวเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนครั้งที่สองหรือ EDSA 2 นั้น แตกต่างจากเมื่อครั้งปฏิวัติประชาชนครั้งแรกหรือ EDSA 1 เป็นอย่างมาก สื่อวิทยุและโทรทัศน์มีอิสระในการรายงานข่าวอย่างเต็มที่ และเทคโนโลยีในการถ่ายทอดรายการนอกสถานที่ผ่านดาวเทียมก็มีอยู่พร้อม ฉะนั้น หลังจากที่ผู้สื่อข่าวรู้ว่าประชาชนจะชุมนุมประท้วง เพราะไม่พอใจมติของวุฒิสมาชิกที่ออกเสียงด้วยคะแนน ๑๑ : ๑๐ ไม่ให้เปิดซองเอกสารที่มีหลักฐานการเงินและลายมือชื่อของประธานาธิบดีเอสตราด้า สถานีจีเอ็มเอ 7 จึงได้นำรถถ่ายทอดสดไปที่บริเวณโบสถ์เอ็ดซ่าทันที ทำให้สถานีสามารถรายงานการชุมนุมประท้วงของประชาชนได้ก่อนสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น และวันต่อมาได้เพิ่มรถถ่ายทอดเป็น ๔ คัน จากนั้น ในรายงานข่าวภาคหลัก Frontpage สถานีได้นำเสนอรายงานพิเศษโดยถ่ายทอดสดจากเอ็ดซ่า และรายการสารคดีข่าว The Probe Team ก็เสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงที่เอ็ดซ่าเช่นกัน ในเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนครั้งที่สอง ปรากฏว่าทีมข่าวของสถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ 7 ได้ปักหลักถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย (๑๗ ๒๐ มกราคม ๒๐๐๑) ในช่วงที่รองประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัล อโรโย ทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีที่บริเวณหน้าโบสถ์เอ็ดซ่า (Sóho, 2001)
หากพิจารณาบทบาทของสื่อโทรทัศน์จะเห็นความโดดเด่นในการตรวจสอบนักการเมือง จากศักยภาพในการถ่ายทอดเหตุการณ์นาทีต่อนาที (instantaneous) การสื่อสารทั้งข้อมูลข่าวสารและอารมณ์ของเหตุการณ์พร้อมกันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการก่อกระแสความรู้สึกของประชาชน ที่เห็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการในวุฒิสภาต่อหน้าต่อตา การถ่ายทอดการไต่สวนในสภากลายเป็นรายการละครสืบสวนสอบสวนชั้นเยี่ยม มีช่วงที่ตื่นเต้นเร้าใจเมื่อพยานแต่ละคนให้ปากคำ มีการแบ่งเป็นฝ่ายพระเอกและตัวโกง คือมีวุฒิสมาชิกที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรวจสอบความถูกต้อง และวุฒิสมาชิกอีกฝ่ายที่พร้อมจะสนับสนุนประธานาธิบดีเอสตราด้า บุคลิกของวุฒิสมาชิกแต่ละคนมีสีสัน และมีชีวิตชีวายิ่งกว่าตัวละครในละครโทรทัศน์เรื่องไหน ๆ และยังมีการหักเหลี่ยมหักมุมจนถึงนาทีสุดท้าย ซึ่งการถ่ายทอดสดของสื่อโทรทัศน์สามารถสื่อทั้งข้อมูลข่าวสาร เรื่องราว และอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด รายงานสดจากสภาจึงเป็นทั้งความบันเทิงและข่าวสารความรู้ทางการเมืองที่ให้ความกระจ่างทางปัญญาแก่ประ ชาชน คนดูเปลี่ยนฐานะเป็นพลเมืองและมีโอกาสวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งหมดด้วยตนเอง (แม้จะผ่านสายตาของกล้องโทรทัศน์และการคัดเลือกภาพในเหตุการณ์ของบรรณาธิการข่าวระดับหนึ่ง) แตกต่างจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการคัดเลือก กรอง และวิเคราะห์โดยสื่อหนังสือพิมพ์ การประท้วงจึงติดตามมาทันทีเมื่อปรากฎว่าวุฒิสภาไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวัง (Teodoro, 2001)
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวิทยุและโทรทัศน์ในเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนครั้งที่สองคือการสื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของประชาชนที่อยู่ในอารมณ์ผิดหวัง โกรธแค้น และต้องการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองของตน รายงานข่าวพร้อมภาพและเสียงเหล่านี้มีผลอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและรับรู้ถึงอารมณ์ร่วมของประชาชนจำนวนมากที่เชื่อว่าพวกตนถูกวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งหักหลัง เมื่อประสานกับการส่งข่าวผ่านระบบข้อความสั้นของโทรศัพท์มือถือ (SMS Short Message Services) ที่มีความรวดเร็วและเข้าถึงตัวผู้รับโดยตรง รวมทั้งการสื่อสารจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ภาพความเคลื่อนไหวจากการรายงานข่าวอย่างเข้มข้นของวิทยุและโทรทัศน์จึงมีพลังในการระดมผู้คนให้ออกมาชุมนุมกันที่เอ็ดซ่าในกรุงมะนิลา และใจกลางเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศได้ไม่ยาก (Rimban, 2001)
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 8
สื่อใหม่: อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ
เหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนครั้งที่สองหรือ EDSA 2 ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นการปฏิวัติด้วยสื่อใหม่ (new media) เพราะพลังสำคัญของการส่งข่าวสารคือโทรศัพท์มือถือ (mobile phone) หรือการส่งข้อความสั้น (texting) รวมทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีการส่งอีเมล์ (e-mail) มีเว็บไซต์ (website) และมีการเปิดห้องสนทนาระดมความคิดเห็น (chat room) ประธานาธิบดีเอสตราด้าได้ระบุหลังเหตุการณ์ว่า เขาถูกโค่นอำนาจด้วยพลังของข้อความสั้นที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ (coup de text) อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว ใช้ง่าย และเข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางเหล่านี้ ต้องอาศัยเครือข่ายการสื่อสารของประชาชน อาทิ กลุ่มเพื่อน กลุ่มเครือญาติ กลุ่มศาสนา กลุ่มการเมือง กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มสังคมวัฒนธรรมจำนวนมากในการเชื่อมโยงข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ จนแปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ (political awareness) ที่นำไปสู่การปฏิบัติการทางการเมือง (political action)
อินเทอร์เน็ต
ประชาชนฟิลิปปินส์มีประสบการณ์ในเรื่องการใช้ข่าวลือ (rumour) เรื่องตลก และอารมณ์ขัน (jokes and humour) ในการเสียดสีผู้นำทางการเมืองและเปิดโปงการคอรัปชันตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีมาร์กอส พวกเขาเข้าใจดีว่าการสื่อสารด้วยข่าวลือและเรื่องตลกทรงพลังเสียยิ่งกว่ารายงานข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สื่อถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ มาในยุคประธานาธิบดีเอสตราด้า การประท้วงและต่อต้านอำนาจด้วยข่าวลือและอารมณ์ขันแผ่วงกว้างและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีเอสตราด้ามักถูกล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องความด้อยสติปัญญา ความเป็นเพลย์บอย ความเป็นนักแสดงที่แยกบทบาทไม่ออกระหว่างการทำหน้าที่ทางการเมืองกับการแสดง เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ที่ล้อประธานาธิบดีเอสตราด้าว่าสะกดคำ ceasefire (หยุดยิง) ไม่ได้ จึงประกาศหยุดยิงกับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ หรือ Moro Islamic Liberation Front MILF ไม่ได้ ต้องสั่งให้ทหารรัฐบาลรบต่อ
ประธานาธิบดีเอสตราด้าพูดกับฝ่ายเอ็มไอแอลเอฟ: ยอมแพ้เดี๋ยวนี้
เอ็มไอแอลเอฟ: เราจะไม่ยอมแพ้จนกว่าท่านจะบอกเราว่าสะกดคำว่า หยุดยิง ได้
ประธานาธิบดีเอสตราด้านิ่งชั่วครู่และตอบว่า: ให้ตายเถอะ, งั้นรบต่อไป!
ตัวอย่างเรื่องล้อเลียนความไม่เอาไหน ขาดศีลธรรม และขาดคุณสมบัติความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีเอสตราด้า
หัว-แข็งที่สุด
สมอง-อ่อนแอที่สุด
หนัง-หนาที่สุด
หัวใจ-ดำที่สุด
มือ-คันที่สุด
อวัยวะเพศ-ทำงานหนักที่สุด
เอ็ดเดอริค เอ็ดเดอร์ (Ederic P. Eder) กล่าวว่า สื่ออินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นสื่อทางเลือกที่สำคัญตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา องค์กรสื่อและองค์กรประชาสังคมได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารแก่ประชาชน เช่น ศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวนแห่งฟิลิปปินส์ (PCIJ) ได้นำเอารายงานพิเศษที่ตีพิมพ์ใน i magazine และหนังสือพิมพ์กระแสหลักมาไว้ใน www.pcij.org กลุ่มฝ่ายซ้าย เช่น National Democratic Front (NDF) ได้จัดทำเว็บไซต์ และนำเอาวารสารใต้ดินชื่อ Liberation รวมทั้งวารสารชื่อ Bayan หรือ ประชาชน และ Rebolusyon หรือ ปฏิวัติ มาไว้ในเว็บนี้ด้วย ต่อมา กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศที่รวมกันในชื่อ CODEWAN (Countrywide Development Area Network) ได้ใช้เว็บไซต์ของ CyberDyaryo ที่จัดทำร่วมกับ Pan-Philippine News and Information Network เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภาคประชาสังคมจึงมีประสบการณ์ในการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายเว็บไซต์หลายเวทีก่อนวิกฤตการณ์การเมืองในช่วงเริ่มศตวรรษใหม่ (Eder, 2000)
ดังนั้น เมื่อเกิดขบวนการเรียกร้องเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2000 2001 (พ.ศ.๒๕๔๓ ๒๕๔๔) ภาคประชาสังคมจึงสามารถจัดทำเว็บไซต์กว่า ๒๐๐ เว็บและจัดตั้งกลุ่มอีเมล์กว่า ๑๐๐ กลุ่ม เพื่อส่งข่าว เอกสารรายงาน และปรึกษาหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในการถอดถอน ตลอดจนจำนวนคนที่จะระดมมาเข้าร่วมการชุมนุม การใช้อินเทอร์เน็ตทำให้การเชื่อมเครือข่ายในประเทศระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในเมืองหลักและเมืองหลวงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ชาวฟิลิปปินส์กว่า ๑๐ ล้านคนที่อาศัยอยู่นอกประเทศก็ได้รับข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตด้วย (People Power Uli!, 2001)
สื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ตแม้มีข้อจำกัดที่คนจน และคนที่ขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ก็มีศักยภาพอีกด้านหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วม เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีลักษณะสื่อสารสองทาง อินเทอร์เน็ตจึงถูกใช้ในการระดมการมีส่วนร่วมจากประชาชนฟิลิปปินส์ในประเทศและทั่วโลก ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตในการระดมการมีส่วนร่วมคือโครงการ www.elagda.com ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ล่าลายชื่อ ๑ ล้านชื่อ (on-line signature) เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า โครงการนี้ใช้เวลาเพียง ๒ สัปดาห์ก็ทำได้สำเร็จ ซึ่งทำให้เห็นพลังของสื่อใหม่ว่าสามารถระดมการมีส่วนร่วมได้อย่างทันการณ์
ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการชุมนุมแบบเสมือนจริง (virtual rally) บนอินเทอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ชื่อ www.pldt.com จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เพื่อร่วมกับกลุ่มที่ไปสวดต่อต้านประธานาธิบดีเอสตราด้าที่โบสถ์เอ็ดซ่า (ก่อนเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงใหญ่ในเดือนมกราคม ๒๕๔๔) เจอรี่ ไคโม (Gerry Kaimo) เล่าว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมบนอินเทอร์เน็ตประมาณ ๒๐๐ คน โดยผู้เข้าร่วมส่งข้อความ, ป้ายประท้วง หรือภาพของตนเองมาที่เว็บไซต์แห่งนี้ ทำให้เขารู้ว่าอินเทอร์เน็ตสามารถใช้เป็นสื่อและสถานที่ทางเลือกสำหรับการชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีเอสตราด้าได้
เว็บไซต์ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราด้าลาออก หรือสนับสนุนกระบวนการถอดถอน หลายเว็บไซต์เน้นให้ประชาชนธรรมดาเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เช่น เว็บที่ใช้ชื่อว่า BobongPinoy.com (Stupid Filipino) ต้องการส่งเสริมกลุ่ม silent popularity ที่ไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองให้มาสื่อสารกันด้วยการเปิดเผยความรู้สึก ซึ่งอาจใช้อารมณ์ขันหรือการเสียดสีในการแสดงออก ส่วนเว็บไซต์ www.gin.ph หรือ Guerilla Information Network ของกลุ่มอาสาสมัครนิรนาม จัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมข่าวและความคิดเห็นของผู้สนใจเรื่องคดีสินบนบ่อนการพนัน (Juetenggate) เว็บไซต์เหล่านี้ถูกมองว่าเป็น สื่อใต้ดิน (underground) ซึ่งสามารถนำข้อมูลหลักฐานที่สื่อกระแสหลักเปิดเผยไม่ได้ เข้ามาอยู่ในกระแสข่าวสารทางเลือก นอกจากนี้ มีเว็บไซต์ที่เน้นการถอดถอนประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยม เช่น erap.blogspot.com, www.erapresign.com, www.impeacherap.com, www.geocities.com/baylans/erap_resign.html, www.impeacherapnow.com, http:209.15.25.201/anti-erap (Eder, 2000)
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 9
จากประสบการณ์ดังกล่าว กลุ่มนักรณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่กลุ่มต่อต้านสามารถทำงานอย่างได้ผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ของประธานาธิบดีเอสตราด้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับสื่ออินเทอร์เน็ตและการส่งข้อความสั้น ดังนั้น จึงไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตในการตอบโต้กลุ่มต่อต้าน ทั้ง ๆ ที่ทำเนียบมีงบประมาณสำหรับการสื่อสารในกรณีฉุกเฉินถึงสัปดาห์ละ ๔๐ ล้านเปโซ แต่ปัญหากลับมาจากบริษัทโทรคมนาคมและเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต (internet service provider) ที่ตรวจเซ็นเซอร์และปิดเว็บไซต์บางเว็บไซต์ เช่น erapalis.net.ph ในช่วงที่กระบวนการถอดถอนกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในวุฒิสภา (Eder, a: 2001)
แต่การเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็หยุดข่าวลือและเรื่องล้อเลียนในช่วงที่ประธานาธิบดีถูกดำเนินคดีไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น ยังมีวุฒิสมาชิกและผู้พิพากษาที่เป็นตัวละครในฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรมถูกนำมาล้อเลียนด้วย เช่นอดีตประธานศาลฎีกานายนิรวาสาที่เอียงข้างประธานาธิบดีในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ส่วนนายดาวิเดเป็นประธานศาลฎีกาซึ่งประชาชนไว้วางใจ ดาวิเดทำหน้าที่เป็นประธานผู้พิพากษาในคดีถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า
คำถาม: อะไรคือความแตกต่างระหว่างดาวิเด และนิรวาสา ?
คำตอบ: ดาวิเดเป็นประธานศาลฎีกา (Chief Justice) ส่วนนิรวาสาเป็นความยุติธรรมราคาถูก (cheap justice)
หลังจากที่ประธานาธิบดีลงเรือออกจากทำเนียบมาลากันญังไปทางแม่น้ำปาสิก ยังมีเรื่องขำขันส่งท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่ล้อเลียนเกี่ยวกับการคอรัปชัน อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่นำมาสู่การถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้า
ประธานาธิบดีเอสตราด้ายืนอยู่บนเรือและโบกมือให้ประชาชน พร้อมกับกล่าวว่า:
ขอบคุณสำหรับเงินล้าน! (Thanks for the millions)..
โอ๊ะ, โทษที ผมหมายความว่า ขอบคุณสักล้านครั้ง! (Thanks a million)
โทรศัพท์มือถือและข้อความสั้น (Mobile phone and SMS / texting)
โทรศัพท์มือถือและข้อความสั้น ได้กลายเป็นอาวุธในการต่อต้านประธานาธิบดีเอสตราด้าอย่างได้ผล (subversive weapon) เมื่อการส่งข้อความสั้นผ่านเครือข่ายต่าง ๆ สามารถระดมกำลังประชาชนที่เคยเป็นเพียงผู้บริโภคธรรมดาให้เดินมาเข้าร่วมการชุมนุม การเชื่อมต่อกันด้วยสาส์นขนาดสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้เปลี่ยนสำนึกและฐานะของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากให้เป็นพลเมืองที่มีบทบาททางการเมืองได้ในชั่วข้ามคืน(6) ก่อนหน้านี้ การส่งข้อความสั้น (SMS) หรือที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมเรียกว่า texting ถูกใช้ส่งข่าวลือ และล้อเลียนความด้อยสติปัญญาของประธานาธิบดีเอสตราด้า เมื่อเกิดคดี Juetenggate ขึ้น เริ่มมีการส่งข้อความเกี่ยวกับความร่ำรวยผิดปกติและการคอรัปชันของประธานาธิบดี แต่ในคืนวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ การส่งข้อความสั้นเปลี่ยนแนวจากเรื่องตลกและการล้อเลียนมาเป็นเรื่องจริงจัง ข้อความส่วนใหญ่ถูกส่งไปในเครือข่าย เพื่อสื่อสารความโกรธแค้นต่อบรรดาวุฒิสมาชิกที่ลงมติเข้าข้างประธานาธิบดีเอสตราด้า และเพื่อระดมกำลังประชาชนให้แสดงการคัดค้านความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น
ข้อความแรก ๆ ที่ส่งถึงกันในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันส่งเสียงแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Join d noise barrage. At 11 pm tonite to protest จากนั้น มีข้อความเรียกร้องให้ใส่ชุดดำในวันรุ่งขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้กับความจริงและความยุติธรรม และขอให้ส่งข้อความต่อไปถึงคนอื่น ๆ อีก ๑๐ คนเพื่อประเทศอันเป็นที่รักของเรา Lets wear black tom. 2 mourn 4 the death of truth n justice in r country. Pls. Pass dis 2 10 others 4 d love of ur country. และตามด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนไปชุมนุมกันที่โบสถ์เอ็ดซ่า Come to d EDSA shrine. We re all here (People Power Uli!, 2001) และในระหว่างการชุมนุมวันที่ ๒ ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ข้อความที่ส่งเวียนไปสู่เครือข่ายเรียกร้องให้ประชาชนมาชุมนุมกันไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านคน Military/PNP nids 2 c 1 million critical mass n EDSA 2moro, Jan 19, 2 make decision against Erap, pls join, pas on นับว่าเป็นการเรียกประชุมครั้งมโหฬาร เพื่อให้มาตัดสินใจร่วมกันว่าจะเดินหน้าคัดค้านต่อไปอย่างไร ในระหว่างการชุมนุม ๔ วัน มีประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมระหว่าง ๑-๕ ล้านคน (ในบางช่วงเวลามีคนมากถึง ๕ ล้านคน) และมีการส่ง-รับข้อความสั้นกันถึง ๑,๖๐๐ ล้านข้อความในช่วงนั้น (Celdran, 2002)
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 10
การชุมนุมใหญ่ที่บริเวณถนนเอ็ดซ่า ประชาชนได้อาศัยสารสนเทศหลายส่วนประสานกันในลักษณะบูรณาการมัลติมีเดียอย่างแท้จริง ข่าวสารที่สื่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วที่สุดในกลุ่มผู้ชุมนุม คือการส่ง-รับข้อความสั้น และสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุม ใช้วิธีการติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์จากสื่อกระแสหลัก เช่นวิทยุและโทรทัศน์ ที่เกาะติดด้วยการถ่ายทอดสดจากเอ็ดซ่า สำหรับชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่นอกประเทศใช้วิธีติดตามจากสื่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้น หนังสือพิมพ์จำต้องเสนอรายงานข่าวในเชิงเจาะลึกมากขึ้น บางฉบับเสนอรายงานแบบบันทึกเหตุการณ์นาทีต่อนาที หรือถอดเทปการสืบพยานและการอภิปรายของวุฒิสมาชิกเผยแพร่อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านติดตามได้เต็มที่ อาจกล่าวได้ว่าการผสมผสานกันของสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก และเครือข่ายการเคลื่อนไหวองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา และองค์กรชุมชนกับเครือข่ายการสื่อสารโทรศัพท์มือถือและการรับ-ส่งข้อความสั้น มีผลอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนวาระการถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้าให้เป็นวาระทางการเมืองในระดับชาติ จนกลายเป็นการปฎิวัติประชาชนครั้งที่สอง
เมื่อภารกิจครั้งใหญ่ของพลเมืองทุกคนสำเร็จลงด้วยดี มีข้อความสั้นที่ส่งเข้ามาในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือว่า ประธานาธิบดีเอสตราด้าจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นประธานาธิบดีที่ถูกขับออกจากตำแหน่งด้วยข้อความสั้น ขอแสดงความยินดีด้วย ERAP wil go dwn n hs2ry as d presdnt oustd by txt. Congrats & mbuhay
ความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง การสื่อสารและเครือข่ายมัลติมีเดีย
การถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้านับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่อาศัยกำลังของหลายสถาบันซึ่งมาผนึกรวมกันในลักษณะการคิดร่วมกัน สื่อสารและตัดสินใจร่วมกัน โดยทำงานผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสื่อใหม่และสื่อเก่า ส่งผลให้เกิดพลังแบบยกกำลังเอ็กซ์อย่างคาดไม่ถึง เดวิด เซลดราน (David Celdran, 2002) ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าความสำเร็จของการปฏิวัติประชาชนครั้งที่ ๒ หรือเอ็ดซ่า 2 มีปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน และแต่ละปัจจัยก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ได้แก่
๑. กลุ่มองค์กรสังคมและการเมืองทั้งกลุ่มฝ่ายซ้าย เช่น Bagong Alyansang Makabayan (BAYAN) และกลุ่มเสรีนิยม หรือพวกกลาง ๆ เช่น Kongreso ng Mamamayang Pilipino (KOMPIL) ได้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดวาระและจังหวะก้าวของการชุมนุมร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมต่าง ๆ และนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มสหภาพแรงงาน ชาวนา และคนจนเมือง
๒. สถาบันศาสนา และสถาบันความมั่นคง ประกอบด้วยกองทัพและตำรวจ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมการเมืองฟิลิปปินส์ได้ถอนการสนับสนุนรัฐบาล ศาสนาจักรเห็นว่าเอสตราด้าเป็นผู้นำที่ขาดจริยธรรมเรื่องเพศ (จากการที่มีภรรยาหลายคน) และไม่ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาของชาวมุสลิมที่มินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนทหารและตำรวจก็ไม่ยอมรับในอำนาจของประธานาธิบดีที่มีนโยบายตามอำเภอใจเพื่อตนเอง และพรรคพวก การถอนการสนับสนุนของสถาบันหลักจึงสร้างความสั่นคลอนทางการเมืองให้แก่ประธานาธิบดีเอสตราด้าและพรรคพวกเป็นอย่างมาก
๓. กลุ่มนักธุรกิจ ปัญญาชน นักวิชาชีพ ไม่ยอมรับการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล และการคอรัปชันของผู้นำและเพื่อนพ้องที่เข้ามาแบ่งสรรผลประโยชน์กัน การเดินขบวนคราวนี้มีกลุ่มชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นักศึกษาและปัญญาชน เข้าร่วมอย่างล้นหลาม ลักษณะการชุมนุมมีบรรยากาศคล้ายการพาครอบครัวไปปิคนิคกลางถนน และมีเด็กและวัยรุ่นเข้าร่วมจำนวนมาก
๔. ข้อมูลข่าวสารที่เปิดโปงการคอรัปชัน และรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความร่ำรวยผิดปกติของประธานาธิบดีเอสตราด้า ที่ให้พื้นฐานความรู้และความจริงแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ตกอยู่ในความมืดบอดแต่เป็นพลเมืองที่รู้ทัน (informed citizen) และกลายเป็นพลเมืองที่มีความกล้าเพราะมีอำนาจของความรู้ (knowledge empowerment)
๕. สื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อมวลชนท้องถิ่น และสื่อมวลชนทางเลือกต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ อย่างอิสระและรับผิดชอบต่อประชาชน แม้ในตอนแรกของกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี สื่อมวลชนกระแสหลักบางส่วนจะยังกริ่งเกรงการคุกคามจากรัฐบาล หรือการเซ็นเซอร์ด้วยการถอดโฆษณาในสื่อ แต่เมื่อกระแสประชาชนเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ตามพันธกิจ และมีหลักฐานการคอรัปชันที่ปรากฏชัดเจน สื่อมวลชนจึงไม่มีข้ออ้างที่จะสนับสนุนรัฐบาลที่ฉ้อโกงประชาชนอีกต่อไป
๖. เทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายการสื่อสารที่เป็นสื่อใหม่ (ICT Information and Communication Technology) ผสมผสานกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิทยุและโทรทัศน์ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ได้ประสานกันเข้าเป็นเครือข่ายของเครือข่าย (Network of networks) ของกลุ่มคน สื่อ และสารสนเทศที่ขับเคลื่อนการชุมนุมได้อย่างมีพลัง
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 11
ข้อวิเคราะห์ข้างต้นของเซลดรานชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานกัน (confluence) ของปัจจัยทางการเมือง และปัจจัยทางเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นหัวใจที่ทำให้การปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอำนาจรัฐหรือฝ่ายประชาชน เพราะพลังของการเคลื่อนไหวอยู่ที่สารสนเทศและการสื่อสาร มิใช่การใช้กำลังอาวุธเป็นอำนาจในการต่อรอง อย่างไรก็ดี เซลดรานได้ย้ำเตือนว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมิใช่สิ่งที่มีพลังอย่างเบ็ดเสร็จในตัวของมันเอง หากต้องอาศัยการเชื่อมต่อกับเครือข่ายทางสังคมและการเมืองจึงจะเกิดพลังที่แท้จริงได้
เทคโนโลยีล้วนๆ ไม่ว่าจะมีรูปแบบที่ดูเหมือนว่าจะมีพลังในการปลดปล่อยมนุษย์สักเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะล้มโครงสร้างของระบอบสังคมการเมืองที่ฉ้อฉลได้
ทว่า เทคโนโลยีจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงและมีประโยชน์ในการเพิ่มอำนาจการเมืองแก่ประชาชน ก็ต่อเมื่อมีการนำมาเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของภาคประชาชน และรัฐมีนโยบายในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เครือข่ายการเมืองภาคประชาชนใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งให้แก่เครือข่าย (Celdran, The Philippines: SMS and Citizenship, 2002)
จะเห็นได้ว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมที่เอ็ดซ่า ปฏิบัติการทางการเมืองมีลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนที่ร่วมชุมนุมและเครือข่ายการสื่อสารตลอดเวลา ในด้านหนึ่งสื่อหนังสือพิมพ์ถูกลดทอนฐานะของการเป็นผู้นำความคิดเห็นลงไป เวทีความคิดเห็นกระจายกว้างขวางขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างสื่อโทรทัศน์ในบทบาทของผู้ถ่ายทอดเหตุการณ์ และกลุ่มเครือข่ายประชาชนและภาคประชาสังคม ในระดับบุคคลและกลุ่มขนาดเล็ก การที่สื่อโทรศัพท์ การส่งความสั้น (SMS) และการสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ต ได้เข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงการถ่ายทอดข่าวสารและข้อมูลที่ริเริ่มจากฝ่ายประชาชนได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้สภาพของพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองแผ่ขยายออกไปในแนวราบ (horizontal extension) และเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะนี้มาก่อน เช่น กลุ่มเยาวชน (youth group) กลุ่มชนชั้นกลางที่ทำงานในสำนักงาน (office workers/white collar) กลุ่มนักวิชาชีพ (professionals) พร้อมกันนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็รวมตัวกันเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน (consolidated movement) กับแกนนำขององค์กรศาสนาเช่น คาร์ดินัลซินและคริสต์จักรมะนิลา องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มการเมืองอิสระ และทหารบางกลุ่มในกองทัพที่ตอบรับกระแสการเรียกร้องของประชาชน ให้ถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้าออกจากตำแหน่ง การประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเครือข่ายประชาสังคมและเครือข่ายการสื่อสาร จึงเป็นสภาวะใหม่ที่ส่งผลสัมฤทธิ์ต่อการปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ เซลดรานยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทและเครือข่ายการสื่อสารด้วยว่า การปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์ครั้งที่ 2 มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากการปฏิวัติครั้งแรกในปี ๒๕๒๙ กล่าวคือ ในครั้งนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมสูงโดยอาศัยการเชื่อมต่อสารสนเทศผ่านเครือข่ายการสื่อสารข้อความสั้น (texting) และประชาชนยังได้แสดงบทบาทการเป็น gatekeeper ของข่าวสารเอง เป็นคนกำหนดวาระและเนื้อหาต่าง ๆ เช่น การที่ประชาชนส่งข้อความเข้าไปในรายการวิทยุและโทรทัศน์ และในอินเทอร์เน็ต (บนเว็บไซต์ซึ่งเป็นเว็บที่ประชาชนสร้างขึ้นเอง เครือข่ายอีเมล์และไอซีคิว) ทำให้นักหนังสือพิมพ์และสื่อต้องนำเอาประเด็นเหล่านั้นไปเป็นวาระในสื่อของตน กลุ่มประชาชนที่มีเครื่องมือสื่อสารจึงสามารถแสดงบทบาทแบบพลเมืองเสมือน (virtual citizen) ที่มีส่วนเป็นผู้ขับเคลื่อนกระแสการเมืองโดยตรง และสามารถนำวาระของตนลอดผ่านประตูของสื่อมวลชนกระแสหลักเข้าไปปักธงยึดพื้นที่ในจุดต่าง ๆ ของสื่อได้ ประการสำคัญสารสนเทศและเครือข่ายการสื่อสารเหล่านี้คือหน่วยบัญชาการในการระดมกำลังจากฝ่ายการเมือง เช่น นักการเมือง กองทัพ และตำรวจเข้ามาสมทบกับกำลังหลักของประชาชนในที่สุด กล่าวได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนบท และเปลี่ยนบทบาทจากผู้ตามเป็นผู้นำในการปฎิวัติครั้งนี้ (เริ่มตั้งแต่การส่งข้อความสั้นให้ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสื่อสารข้อความสั้นออกปฏิบัติทางการเมืองในคืนวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ หลังจากที่วุฒิสภามีมติ ๑๑ : ๑๐ ไม่เปิดหลักฐานที่จะชี้ไปสู่ความผิดของประธานาธิบดีเอสตราด้า และในวันต่อ ๆ มา เครือข่ายการสื่อสารก็ดำเนินต่อไป จนองค์กรประชาสังคมด้านการเมืองเข้ามารับหน้าที่จัดเวทีการชุมนุม)
เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์ครั้งแรก ผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางการเมืองได้แก่ศาสนจักรและกองทัพ รวมทั้งกลุ่มการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม พวกเขาคือกลุ่มผู้นำที่ระดมกำลังประชาชนให้มาเข้าร่วมการชุมนุม ในฐานะผู้ที่มีความตื่นตัวและต้องการโค่นล้มประธานาธิบดีมาร์กอสและครอบครัว และระบอบคณาธิปไตยที่ดำรงมายาวนานถึง ๑๓ ปี แต่ระหว่างการชุมนุมประชาชนไม่มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดจังหวะก้าวของการเคลื่อนไหว ในด้านสื่อมวลชนและเครือข่ายการสื่อสารก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากถูกปิดกั้นไม่ให้เสนอข่าวสาร (สถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐไม่เสนอข่าวการเดินขบวนของประชาชน และฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังเข้ายึดวิทยุและโทรทัศน์ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้ออกอากาศ) นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่อย่างจำกัด คือมีเฉพาะในกลุ่มแกนนำ (เช่นการสื่อสารด้วยระบบสื่อสารของกองทัพ) ทำให้ประชาชนต้องเดินตามวาระที่กลุ่มผู้นำกำหนดไว้ เพราะคนกลุ่มนี้ (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล) คือผู้คุมกระแสข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด
ปรากฏการณ์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการร่วมขับเคลื่อนขบวนการปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการถ่ายโอนอำนาจการเมือง และการกระจายอำนาจ หรือการเปลี่ยนบทบาทระหว่างผู้นำกับผู้ตาม และระหว่างสื่อมวลชนที่เป็นผู้คุมวาระข่าวสาร (gatekeeper) กับประชาชนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นผู้รับข่าวสาร มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในบางช่วงจังหวะของประวัติศาสตร์ และเป็นประสบการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นได้ของวิถีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ หากสภาวะดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาต่อไปให้เป็นวิถีธรรมชาติที่เครือข่ายประชาชนและการสื่อสารมีการเชื่อมโยงกับปฏิบัติการการเมืองและสังคมอย่างสม่ำเสมอ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 12
เชิงอรรถ
1. เรียบเรียงจาก Coronel, S. S. (2001) The unmaking of a president, EDSA 2 : A Nation in Revolt A Photograpic Journal, Pasig City, Anvil Publishing.
2. Jueteng หรือ ฮุยเต็ง เป็นหวยใต้ดินที่ประชาชนนิยมเล่นทั่วไป โดยเฉพาะบนเกาะลูซอน วิธีการออกหวย จะใช้ขวดเบียร์หรือเหล้าใส่หมายเลขที่เป็นลูกเต๋าลูกเล็ก ๆ ทำด้วยไม้ เขย่าขวดให้หมายเลขที่ออกหล่นออกมาจากปากขวดแคบ ๆ ทีละลูก (คล้ายวิธีการเขย่ากลักเสี่ยงเซียมซี) เจ้ามือรายเล็กจะรับแทงจากผู้เล่นและนำเงินมาส่งให้แก่เจ้ามือรายใหญ่และเจ้าพ่อในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง
3. ในการสอบสวนของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา นาย ชาวิท ซิงซอน ได้นำกระเป๋าเอกสารสีดำ (black attaché case) มาแสดงเป็นหลักฐานการนำเงินสดไปมอบให้ประธานาธิบดี เอสตราด้า ที่บ้านหรือที่ทำเนียบมาลากันญัง
4. มาร์ค ไฮเมเน็ซ (Mark Jeimenez) เข้ามาซื้อกิจการ Manila Times ตามยุทธศาสตร์การควบคุมสื่อของประธานาธิบดี เอสตราด้า
5. Pinoy Times เดิมเป็นนิตยสารผู้หญิง ชื่อ Mr & Ms ที่ผันตัวเองมาเป็นหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อรายงานข่าวกรณีการสังหารวุฒิสมาชิก อะคีโน ในปี ๑๙๘๓ ในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอส ในขณะนั้น ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดกล้าเสนอรายงานข่าว ต่อมา Pinoy Times เปลี่ยนมาเป็นหนังสือพิมพ์ Inquirer ในปี ๑๙๘๖ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของระบอบเผด็จการมาร์กอส ยอดจำหน่าย ๔๐๐,๐๐๐ ฉบับของ Pinoy Times นับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์รายวัน ๒๐ ฉบับในมะนิลารวมกัน ที่มีจำนวนจำหน่าย ๑.๕ ล้านฉบับ
6. ประชาชนฟิลิปปินส์นิยมส่งข้อความสั้นกันมาก โดยเฉพาะนับแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ซึ่งบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้นำระบบบัตรเติมเงินมาใช้ และแถมให้ส่งข้อความสั้นฟรีอีกจำนวนหนึ่งขึ้นอยู่กับราคาของบัตรเติมเงิน ทำให้คนจนและคนที่มีรายได้น้อยนิยมใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อส่งข้อความสั้นแทนที่จะใช้โทรพูดคุย เพราะการส่งข้อความสั้นเป็นวิธีการที่ประหยัดกว่า (ปัจจุบัน ค่าส่งข้อความครั้งละ ๑ เปโซ หรือประมาณ ๗๕ สตางค์) ในปี ๒๕๔๒ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ๑๐ ล้านราย ในจำนวนนี้ ๗๗% เป็นผู้ใช้ในระบบบัตรเติมเงินที่ชอบใช้บริการส่งข้อความสั้น ในปี ๒๕๔๕ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ๑๒ ล้านราย และมีการส่งข้อความสั้นถึงวันละ ๑๒๐ ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ล้านข้อความต่อเดือน แสดงให้เห็นว่าการส่งข้อความสั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องใช้การติดต่อสื่อสารในการสร้างความผูกพัน และความใกล้ชิดและในการหาข้อมูลข่าวสาร เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของตนเองและครอบครัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ถาโถมเข้ามา ขณะเดียวกัน โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความสั้นที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความเป็นส่วนตัว ก็สามารถรับ-ส่งสารสนเทศทางการเมืองได้
บรรณานุกรม
Celdran, D. (2002) The Philippines : SMS and citizenship, Development Dialogue, 2002:1, pp. 91-103.
Coronel, S. S. (2001) The Unmaking of a President, EDSA 2 : A Nation in Revolt, Pasig City, Anvil Publishing, Inc.
Coronel, S. S. (ed) (2000) Investigating Estrada : millions, Mansions and Mistresses, Metro Manila, Philippine Center for Investigative Journalism.
Eder, E.P. (a: 2001) People Power II underscored issues of new media access, Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 23-24.
Eder, E.P. (b: 2001) Suppressed: The Philippine media under the Estrada regime, Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 27-29.
Eder, E.P. (2000) Alternative press assumes new forms and news expressions, Philippine Journalism Review, 11: 4, October-December 2000, pp. 31-33.
Philippine Center for Investigative Journalism (2001) People Power uli!, Metro Manila, Raintree Publishing.
Rimban, L. (2001) Letter from Manila: Return of People Power (with a media difference), Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 25-26.
Sóho, J. (2001) GMA covers the nation, GMA Gold, Manila.
Tenorio, A. S. (2001) What has the EDSA Revolt done for the Filipino people?, Business World, weekender, February 23, 2001.
Teodoro, L. (2001) From the editor: Media freedom made a difference, Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 1-2.
ภาพประกอบ
EDSA 2: A Nation in Revolt, Pasig City : Anvil Publishing, Inc.
People Power uli!, Metro Manila: Raintree Publishing.
1. เรียบเรียงจาก Coronel, S. S. (2001) The unmaking of a president, EDSA 2 : A Nation in Revolt A Photograpic Journal, Pasig City, Anvil Publishing.
2. Jueteng หรือ ฮุยเต็ง เป็นหวยใต้ดินที่ประชาชนนิยมเล่นทั่วไป โดยเฉพาะบนเกาะลูซอน วิธีการออกหวย จะใช้ขวดเบียร์หรือเหล้าใส่หมายเลขที่เป็นลูกเต๋าลูกเล็ก ๆ ทำด้วยไม้ เขย่าขวดให้หมายเลขที่ออกหล่นออกมาจากปากขวดแคบ ๆ ทีละลูก (คล้ายวิธีการเขย่ากลักเสี่ยงเซียมซี) เจ้ามือรายเล็กจะรับแทงจากผู้เล่นและนำเงินมาส่งให้แก่เจ้ามือรายใหญ่และเจ้าพ่อในท้องถิ่นอีกต่อหนึ่ง
3. ในการสอบสวนของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา นาย ชาวิท ซิงซอน ได้นำกระเป๋าเอกสารสีดำ (black attaché case) มาแสดงเป็นหลักฐานการนำเงินสดไปมอบให้ประธานาธิบดี เอสตราด้า ที่บ้านหรือที่ทำเนียบมาลากันญัง
4. มาร์ค ไฮเมเน็ซ (Mark Jeimenez) เข้ามาซื้อกิจการ Manila Times ตามยุทธศาสตร์การควบคุมสื่อของประธานาธิบดี เอสตราด้า
5. Pinoy Times เดิมเป็นนิตยสารผู้หญิง ชื่อ Mr & Ms ที่ผันตัวเองมาเป็นหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อรายงานข่าวกรณีการสังหารวุฒิสมาชิก อะคีโน ในปี ๑๙๘๓ ในสมัยประธานาธิบดีมาร์กอส ในขณะนั้น ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดกล้าเสนอรายงานข่าว ต่อมา Pinoy Times เปลี่ยนมาเป็นหนังสือพิมพ์ Inquirer ในปี ๑๙๘๖ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของระบอบเผด็จการมาร์กอส ยอดจำหน่าย ๔๐๐,๐๐๐ ฉบับของ Pinoy Times นับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับหนังสือพิมพ์รายวัน ๒๐ ฉบับในมะนิลารวมกัน ที่มีจำนวนจำหน่าย ๑.๕ ล้านฉบับ
6. ประชาชนฟิลิปปินส์นิยมส่งข้อความสั้นกันมาก โดยเฉพาะนับแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ซึ่งบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้นำระบบบัตรเติมเงินมาใช้ และแถมให้ส่งข้อความสั้นฟรีอีกจำนวนหนึ่งขึ้นอยู่กับราคาของบัตรเติมเงิน ทำให้คนจนและคนที่มีรายได้น้อยนิยมใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อส่งข้อความสั้นแทนที่จะใช้โทรพูดคุย เพราะการส่งข้อความสั้นเป็นวิธีการที่ประหยัดกว่า (ปัจจุบัน ค่าส่งข้อความครั้งละ ๑ เปโซ หรือประมาณ ๗๕ สตางค์) ในปี ๒๕๔๒ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ๑๐ ล้านราย ในจำนวนนี้ ๗๗% เป็นผู้ใช้ในระบบบัตรเติมเงินที่ชอบใช้บริการส่งข้อความสั้น ในปี ๒๕๔๕ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ๑๒ ล้านราย และมีการส่งข้อความสั้นถึงวันละ ๑๒๐ ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ล้านข้อความต่อเดือน แสดงให้เห็นว่าการส่งข้อความสั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องใช้การติดต่อสื่อสารในการสร้างความผูกพัน และความใกล้ชิดและในการหาข้อมูลข่าวสาร เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของตนเองและครอบครัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ถาโถมเข้ามา ขณะเดียวกัน โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความสั้นที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความเป็นส่วนตัว ก็สามารถรับ-ส่งสารสนเทศทางการเมืองได้
บรรณานุกรม
Celdran, D. (2002) The Philippines : SMS and citizenship, Development Dialogue, 2002:1, pp. 91-103.
Coronel, S. S. (2001) The Unmaking of a President, EDSA 2 : A Nation in Revolt, Pasig City, Anvil Publishing, Inc.
Coronel, S. S. (ed) (2000) Investigating Estrada : millions, Mansions and Mistresses, Metro Manila, Philippine Center for Investigative Journalism.
Eder, E.P. (a: 2001) People Power II underscored issues of new media access, Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 23-24.
Eder, E.P. (b: 2001) Suppressed: The Philippine media under the Estrada regime, Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 27-29.
Eder, E.P. (2000) Alternative press assumes new forms and news expressions, Philippine Journalism Review, 11: 4, October-December 2000, pp. 31-33.
Philippine Center for Investigative Journalism (2001) People Power uli!, Metro Manila, Raintree Publishing.
Rimban, L. (2001) Letter from Manila: Return of People Power (with a media difference), Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 25-26.
Sóho, J. (2001) GMA covers the nation, GMA Gold, Manila.
Tenorio, A. S. (2001) What has the EDSA Revolt done for the Filipino people?, Business World, weekender, February 23, 2001.
Teodoro, L. (2001) From the editor: Media freedom made a difference, Philippine Journalism Review, 12: 1, March 2001, pp. 1-2.
ภาพประกอบ
EDSA 2: A Nation in Revolt, Pasig City : Anvil Publishing, Inc.
People Power uli!, Metro Manila: Raintree Publishing.
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 13
พบข้อผิดพลาด ขอแก้ไขคำ...
จาก Waktzing with a dictator
เป็น Waltzing with a dictator
ขออภัยอย่างสูงคับ
จาก Waktzing with a dictator
เป็น Waltzing with a dictator
ขออภัยอย่างสูงคับ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 14
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเจ้าของบทความ....
รายละเอียดอยู่ในกระทู้ข้างต้นแล้ว....ถอดบทเรียน "ฟิลิปปินส์" ใช้ SMS ขับไล่ผู้นำ
การชุมนุมขับไล่นายกฯทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ หรืออาจารย์ย่า อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เดินสังเกตการณ์การชุมนุมของประชาชนและเก็บรูปภาพอย่างเอาการเอางาน ราวกับมาเก็บข้อมูลภาคสนาม
เอาเข้าจริง อาจารย์ย่าสนใจความเคลื่อนไหวของพลังประชาชนมาโดยตลอด 5 ปีที่แล้ว ประชาชนฟิลิปปินส์เดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อแสดงประชามติถอดถอนประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada) ออกจากตำแหน่ง หลังจากการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ อี.มาร์กอส และครอบครัว เมื่อ 15 ปีก่อน (พ.ศ.2529)
ดร.อุบลศักดิ์ศึกษาและเก็บข้อมูลมาเขียนเป็นบทความเรื่อง EDSA 2 บทเรียนการขับไล่เอสตราดา หากถอดบทเรียนจากฟิลิปปินส์มาใช้กับการเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งผู้นำที่กุม 19 ล้านเสียง กำลังถูกชนชั้นกลาง นักวิชาการ นักศึกษา และปัญญาชน ขับไล่ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องทางจริยธรรมอย่างรุนแรง หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า "คล้ายกันมาก"
อาจารย์ย่าเล่าว่า การเดินขบวนขับไล่เอสตราดา ก่อขบวนขึ้นโดยกลุ่มชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นักศึกษา และปัญญาชน ฝ่ายซ้าย ฝ่ายศาสนา และนักการเมืองฝ่ายค้าน เป็นแกนนำสำคัญของพลังการเมืองภาคประชาสังคม และยังมีกลุ่มสหภาพ แรงงาน ชาวนา และคนจนเมือง ร่วมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเอสตราดาลาออก หลังจากกระบวน การถอดถอนตามรัฐธรรมนูญในรัฐสภาล้มเหลว
การชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ และดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่ประธานาธิบดีเอสตราดาจะยอมจำนน และพาครอบครัวออกจากทำเนียบมาลากันญังทางด้านหลังในตอนบ่ายของวันที่ 20 มกราคม 2545
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 15
บ้านเขาเมืองเรา : เมืองไทยหลังทักษิณ = ฟิลิปปินส์หลังมาร์กอส ?
อาจเร็วเกินไปที่จะประเมินเมืองไทยหลังยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากไม่มีใครสามารถอยู่ได้ค้ำฟ้า วันนั้นจะต้องมาถึง
คนไทยซึ่งไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าสองสัปดาห์ติดต่อกันต้องการให้วันนั้นมาถึงเร็วๆ เพราะคิดว่าหากวันนั้นมาถึงช้าไปเมืองไทยจะตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับ ประเทศฟิลิปปินส์หลังยุคเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นประธานาธิบดี นั่นคือ เป็นสังคมที่ล้มลุกคลุกคลานคล้ายหลายประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา
เรื่องราวของประธานาธิบดีมาร์กอสคงเป็นที่ทราบกันดีแล้ว จึงเพียงขอตั้งข้อสังเกตในฐานะที่เคยอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์เมื่อครั้งที่เขายังครองอำนาจ ว่า ปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องล้มลุกคลุกคลาน จนครั้งหนึ่งได้สมญาว่าเป็น "คนไข้แห่งเอเชีย" (Sick Man of Asia) เพราะเขาได้ทำลายฐานของสังคมจนย่อยยับ หลังจากบริหารประเทศด้วยนโยบาย "ทุนนิยมแบบพวกพ้อง" (Crony Capitalism) อยู่นานถึง 22 ปี
ในช่วงเวลานั้นครอบครัวของเขาและของญาติมิตรทำธุรกิจกันจนร่ำรวยมหาศาลจากการเอื้อประโยชน์ของนโยบายของรัฐ ถ้าเขาบริหารประเทศอยู่เพียง 8 ปี ความเสียหายจะไม่มากขนาดนั้น
คนไทยซึ่งไปชุมนุมขับไล่นายกฯ ทักษิณ มองเห็นอย่างแจ้งชัดว่า นายกรัฐมนตรีใช้นโยบาย "ทุนนิยมแบบพวกพ้อง" ชนิดสุดกำลัง เพราะหลังบริหารประเทศอยู่เพียง 5 ปี ครอบครัวของเขาขายทรัพย์สินเพียงบริษัทเดียวได้เงินเกิน 73,000 ล้านบาท
คงจำกันได้ว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีค่าต่ำกว่านั้นมาก นี่เป็นเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ครอบครัวของนายกฯ ทักษิณยังมีทรัพย์สินอีกมากมายซึ่งสื่อรายงานว่า อาจมีมูลค่าเป็นหลักแสนล้านบาท นอกเหนือจากนั้นสื่อยังรายงานเรื่องความร่ำรวยเพิ่มขึ้นของครอบครัวของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลด้วย บางครอบครัวมีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นับได้เป็นหลักหมื่นล้านบาท และยังเพิ่มค่าขึ้นเรื่อยๆ
ยากที่จับให้มั่นคั้นให้ตายว่า นโยบายของรัฐเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัวของนายกรัฐมนตรี และพวกพ้องอย่างไรบ้าง หรือถ้าจับได้ ก็อาจสายไปเสียแล้ว เช่น เมื่อเดือนมกราคม หลังรัฐสภาผ่านกฎหมายใหม่ได้เพียง 48 ชั่วโมง ครอบครัวของนายกฯ ทักษิณสามารถขายบริษัทของเขาได้ในราคากว่า 73,000 ล้านบาท การขายทรัพย์สินจำนวนมหาศาลคงทำไม่ได้ภายใน 2 วัน เพราะไม่ง่ายเหมือน "ขายขนมเข่ง" ซึ่งเป็นคำพูดอันคมคายของนายกฯ ทักษิณเอง
โดยสรุปครอบครัวของนายกฯ ทักษิณ คงต้องเจรจาหาข้อตกลงในการขายบริษัทนั้นมานานแล้ว แต่ยังติดข้อกฎหมายจึงมิได้ลงนามในสัญญาจนกระทั่งรัฐสภาเปลี่ยนกฎหมายเพื่อตามใจพวกเขา นี่คงเป็นหนึ่งใน "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่กระตุ้นชาวไทยให้ออกมาขับไล่นายกฯ ทักษิณออกจากตำแหน่ง
ประเด็นจึงน่าจะเป็นว่า ถ้าเขาอยู่ต่อไปอีก 3 ปีตามที่เขาต้องการเมืองไทยจะมีปัญหาเช่นเดียวกับฟิลิปปินส์หรืออย่างไร คนไทยจำนวนมากจึงอยากให้เขาออกตั้งแต่วันนี้?
ขอเรียนตรงๆ ว่า ใจหนึ่งผมอยากให้นายกฯ ทักษิณอยู่ไปจนถึงปี 2552 เพราะเขาอวดอ้างว่า เขามีความสามารถถึงขนาดที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปจากเมืองไทยในตอนนั้น ผมอยากให้ความยากจนหมดไปจากเมืองไทย เพราะความยากจนเป็นความทุกข์มหันต์ แต่ผมขอฟันธงหรือลงขันชนิดเอาคอขึ้นเขียงได้เลยว่า นายกฯ ทักษิณทำไม่ได้ จึงอยากดูว่าเขาจะแก้ตัวอย่างไรและจะหลอกคนไทยต่อไปอีกอย่างไรในตอนนั้น
แต่อีกใจหนึ่งผมก็อยากให้นายกฯ ทักษิณออกไปเร็วๆ เช่นเดียวกับคนไทยที่ไปร่วมชุมนุม เพราะไม่อยากเห็นประเทศชาติต้องเสี่ยงต่อการล้มลุกคลุกคลานเฉกเช่นฟิลิปปินส์และประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา
ดังที่เราทราบกันดียุคโลกาภิวัตน์มีลักษณะโดดเด่นคือ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว ฉะนั้นการรอไปอีก 3 ปีหรือมากกว่านั้น ฐานของสังคมไทยอาจถูกทำลายจนย่อยยับจาก "ระบอบทักษิณ" (Taksinocracy) เราจึงไม่ควรเสี่ยง
"ระบอบทักษิณ" คืออะไรจึงจะสร้างความเสียหายได้ขนาดนั้น? ขอตอบเพียงสั้นๆ ว่าประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ด้วยกัน นั่นคือ
(1) การละเมิดกฎเบื้องต้นของระบบตลาดเสรีที่ระบุว่า ผู้บริหารประเทศและครอบครัวจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากนโยบายของรัฐบาลหรือทำกิจการกับรัฐ ในระบบตลาดเสรีนั้นการแข่งขันต้องเป็นธรรม เมื่อผู้บริการในฐานะกรรมการลงไปเล่นด้วยการแข่งขันที่เป็นธรรมย่อมยากที่จะเกิดขึ้น
(2) การใช้นโยบายแนวประชานิยมนำไปสู่การใช้จ่ายแบบไม่รัดกุม การบริโภคแบบฟุ้งเฟ้อ การหวังพึ่งรัฐอย่างพร่ำเพรื่อและปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของประชาชน นโยบายแบบนี้สร้างความหายนะในละตินอเมริกามาแล้ว และจะสร้างปัญหาอย่างเดียวกันในเมืองไทย หากใช้อย่างเข้มข้นขึ้นอีก
(3) การบริหารชนิด "คิดเร็ว-ทำเร็ว" จนขาดความรอบคอบทำให้มาตรการและนโยบาย กลายเป็นการ "สุกเอาเผากิน" นำไปสู่ความสูญเสียทรัพยากรจำนวนมหาศาล ตัวอย่างง่ายๆ ได้แก่ โครงการ Elite Card และการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีทุก 4-5 เดือน จนไม่มีใครตั้งตัวได้ติด
(4) การตั้งบรรทัดฐานทางการเมืองและการเงินที่ผิด ความพยายามครอบงำสื่อและองค์กรอิสระสะท้อนคำพูดของนายกฯ ทักษิณที่ว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งสำคัญ ..." การใช้เงินรัฐนำหน้าในกิจส่วนใหญ่และโดยขาดความโปร่งใส เช่น เงินนอกงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงราวครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดและการใช้รายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งโดยปราศจากการตรวจสอบ
(5) การขาดภาวะผู้นำซึ่งมีส่วนประกอบมากมาย เช่น หลงอำนาจ ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ปากไว และชอบใช้ภาษาหยาบคายในที่สาธารณะ ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมแนวศรีธนญชัย การขาดภาวะผู้นำทำให้เกิดความแตกแยกรุนแรง จนขณะนี้ สังคมไทยแทบจะ "ต่อไม่ติด" แล้ว
เรื่องนี้อาจสรุปได้ง่ายๆ ว่า ถ้านายกฯ ทักษิณ ออกไปในเร็ววันตามความต้องการของคนจำนวนมาก แต่รัฐบาลต่อไปยังคงไว้ซึ่ง "ระบอบทักษิณ" เมืองไทยจะเดินเข้าสู่ภาวะล้มลุกคลุกคลานเป็นเวลานานเช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์หลังมาร์กอส
หรือในอีกนัยหนึ่งนายกฯ ทักษิณ อาจอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ แต่จะต้องเลิกใช้ "ระบอบทักษิณ" เด็ดขาด
ดร.ไสว บุญมา
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 16
ย้อนรอยการโค่นเผด็จการมาร์กอส(1)
21 กุมภาพันธ์ 2549 19:44 น.
เดือนนี้เมื่อ 20 ปีก่อน,พลังประชาชน ขับไล่เผด็จการจอมโกงกิน...ออกไป!
กุมภาพันธ์ เป็นเดือนครบ 20 ปีแห่งการรวมตัวเป็นเรือนล้านของคนฟิลิปปินส์ เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีที่ชื่อเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
มาร์กอสอ้างว่า ประชาชนเลือกเขามาอย่างท่วมท้น แต่ก็โกงกินบ้านเมืองอย่างไร้ยางอายเพราะมีอำนาจล้นฟ้า สร้างเครือข่ายรอบตัวอย่างน่ากลัว ครอบครัวของตัวเองมีบารมีคับบ้านคับเมือง, ภรรยาชื่ออีเมลดา สามารถสั่งงานด้านการเมืองแทนสามีได้อย่างน่าหวาดหวั่น, คนรอบข้างคอยบอกมาร์กอสว่า "ท่านเก่งที่สุดแล้ว, ไม่มีใครมาแทนท่านได้"
การชุมนุมของประชาชนคนฟิลิปปินส์เรือนหมื่นขยายเป็นแสนและเป็นล้านในที่สุด ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็น People Power หรือ the Philippine Revolution of 1986 เป็นการรวมตัวของประชาชนผู้มองไม่เห็นหนทางว่าจะยับยั้งไม่ให้ผู้นำเผด็จการที่อ้างเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน มากินบ้านโกงเมืองได้อย่างไร, จึงต้องใช้วิธีรวมตัวกันอย่างอหิงสาเพื่อขับไล่ผู้นำอันไม่พึงประสงค์
การชุมนุมที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า EDSA (ชื่อถนนสายหลักกลางกรุงมะนิลาที่เป็นที่ชุมนุมของประชาชนผู้อึดอัดและงุ่นง่าน) Revolution ยืดเยื้อถึง 4 วัน
ด้านหนึ่ง ประชาชนตะโกนพร้อม ๆ กันให้ "มาร์กอส...ออกไป"
อีกด้านหนึ่งคนใกล้ชิดมาร์กอส ระดมประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ตะโกน "มาร์กอส, มาร์กอสสู้ๆ" ขณะที่ผู้นำเผด็จการโกงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พยายามจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง
ผู้นำศาสนาและผู้นำทหารเข้าร่วมกับนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจและชนชั้นกลางเข้าร่วมต่อต้าน และเรียกร้องให้มาร์กอสลงจากตำแหน่ง
มาร์กอสประกาศแข็งกร้าว ยืนยันว่าประชาชนส่วนใหญ่อยู่ข้างหลังเขา เมินเสียเถิดที่เขาจะลาออก เพราะเขาสั่งทหารได้ สั่งตำรวจได้ สั่งส.ส.ในสภาได้ สั่งได้แม้กระทั่งอัยการและผู้พิพากษา...
แต่เสียงประชาชนดังก้องกังวานไปทั่วประเทศแล้ว มาร์กอสไม่ฟังใครที่แนะนำให้เขาก้าวลงด้วยความสมัครใจ
เมื่อเขาไม่เชื่อคนฟิลิปปินส์เอง, มาร์กอสโทรศัพท์ไปหาวุฒิสมาชิกมะกันที่เคยเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่วอชิงตันชื่อพอล ลาซัลท์ ซึ่งแนะนำเขาผ่านทางโทรศัพท์ด้วยประโยคที่ยังจารึกในประวัติศาสตร์ว่า
"Cut and cut cleanly..."
หากแปลเป็นภาษาไทยก็ต้องบอกว่า "ตัด...ตัด...ให้ขาดเถิด" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้กระโดดลงจากตำแหน่งโดยปราศจากเงื่อนไข
มาร์กอสอึ้งไปพักใหญ่ บ่ายวันเดียวกันนั้น มาร์กอสคุยกับรัฐมนตรีกลาโหม ฮวน เอนริเล ขอให้ทางทหารช่วยให้เขาและครอบครัวออกนอกประเทศอย่างปลอดภัย
เวลา 3 ทุ่มของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1986 มาร์กอสกับเมียและลูกๆ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์มะกัน 4 ลำบินไปสู่สนามบินคลาก ก่อนที่จะมุ่งสู่เกาะกวม และท้ายสุดไปลงที่เกาะฮาวายเพื่อลี้ภัยทางการเมือง
กระบวนการยึดทรัพย์ที่มาร์กอสและครอบครัวปล้นไปจากประเทศชาติด้วยวิธีแยบยลแบบศรีธนญชัย ก็เริ่มขึ้นอย่างกะทันหัน เพราะประชาชนต้อง "คิดบัญชี" กับเผด็จการผู้ทำร้ายประเทศชาติอย่างไม่มีข้อให้อภัยได้
ผมยังจำประโยคของคนนำเสนอข่าวชื่อ Bob Simon ทางสถานีโทรทัศน์ CBS เย็นวันนั้นได้อย่างดี
พออ่านข่าวเรื่องมาร์กอสหนีออกนอกประเทศจบ คนข่าวมะกันคนนี้หันมามองคนดูทั่วประเทศและบอกว่า
"พวกเราคนอเมริกันมักจะคิดว่าเราสอนคนฟิลิปปินส์ให้รู้จักเนื้อแท้แห่งประชาธิปไตย แต่คืนนี้คนฟิลิปปินส์พิสูจน์แล้วว่าพวกเขากำลังสอนชาวโลกทั้งมวลว่าประชาธิปไตยคืออะไรในภาคปฏิบัติกันแน่...."
คืนนั้น ไม่มีคนฟิลิปปินส์คนอื่นอยู่บ้าน ต่างออกมาเต็มท้องถนน ต่างจับไม้จับมือ สวมกอดกันทั้งน้ำตา...เป็นน้ำตาของผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขผ่านร้อนผ่านหนาว, ผ่านการถูกอำนาจรัฐคุกคาม, กลั่นแกล้ง, ปล้นสะดมมาด้วยกันอย่างมุ่งมั่นและเสียสละ
เป็นน้ำตาของเพื่อนร่วมชาติที่เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิต เพื่อร่วมกันขับไล่เผด็จการผู้ปล้นสมบัติของชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 17
ย้อนรอยโค่นเผด็จการมาร์กอส (2)
22 กุมภาพันธ์ 2549 17:26 น.
เมื่อทหารประชาชนตัดสินใจไม่ปกป้องผู้นำปล้นชาติ
ครบรอบ 20 ปีของการโค่นล้มจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ อันเกิดจากการชุมนุมใหญ่อย่างอหิงสาของประชาชนนับล้านคน ที่เรียกว่า People Power นั้น มีเหตุจะต้องย้อนไปดูเพื่อประกอบการพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองไทยวันนี้ในหลายประการ
เพราะเหตุปัจจัยที่ละม้ายคล้ายกันหลายประเด็นเมื่อ 20 ปีก่อนกับวันนี้
ผู้นำมาจากการเลือกตั้ง อ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเขา
ผู้นำถูกกล่าวหาว่าไร้จริยธรรม, และมีผลประโยชน์ทับซ้อนมหาศาล
ประชาชนทนภาวะการโกงกินบ้านเมืองอย่างกว้างขวางไม่ได้ ทนเห็นการไร้จริยธรรมในผู้นำไม่ไหวอีกต่อไป
ผู้นำดูถูกสติปัญญาชาวบ้าน, แก้ตัวไปวันๆ, ไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนอันรุนแรงของตัวเอง
มาร์กอส ประกาศเลือกตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1986 ฝ่ายค้านส่ง คอราซอน อคิโน เข้าแข่ง เธอคือภรรยาของผู้นำฝ่ายค้าน เบนิกโน อคิโน ซึ่งถูกลอบสังหารที่สนามบินมะนิลา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1983 อันเป็นวันที่กลับจากการลี้ภัยการเมืองที่อเมริกา 3 ปี เพราะอำนาจมืดของมาร์กอส
การเลือกตั้งครั้งนั้นโกงกินกันมหาศาล เพราะมาร์กอส กุมกลไกรัฐ คณะกรรมการเลือกตั้ง (COMELEC) ก็กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ ประกาศให้มาร์กอส ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเฉียดฉิว...10,807,197 ต่อ 9,291,761 แต่องค์กรกลางที่เฝ้าติดตามผลการเลือกตั้งประกาศว่ามาร์กอส ชนะอคิโน เพียงแค่ 7,835,070 ต่อ 7,053,068 หรือแค่เจ็ดแสนกว่าเสียงเท่านั้น
คณะผู้นำศาสนาออกแถลงการณ์ประณามการโกงคะแนนเลือกตั้งและวุฒิสภาสหรัฐ ก็ลงมติให้ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเช่นกัน
การปฏิวัติประชาชนเพื่อโค่นเผด็จการผู้มีอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จในประเทศ เริ่มด้วยการรวมตัวของประชาชนผู้สิ้นหวังใน "ระบอบมาร์กอส" ที่ปล่อยให้วงศ์วานว่านเครือใช้อำนาจรัฐเข้าไปทำมาหากินอย่างโจ๋งครึ่ม เป็นผู้นำไร้จริยธรรม
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ ตอนนั้นจะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกิน 2 สมัยๆ ละ 4 ปี แต่มาร์กอสก็หาทางแก้กฎหมายจนตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศได้ยาวนานถึง 20 ปี (ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน, ระงับการใช้รัฐธรรมนูญเก่า, ให้เนติบริกรของตัวเองเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของท่านผู้นำ) ก่อนที่ประชาชนจะรวมตัวกันเป็น People Power เพื่อขับไล่ออกจากตำแหน่งและให้กับลี้ภัยต่างประเทศจนไม่มีแผ่นดินอยู่
มาร์กอส กุมอำนาจการเมืองเบ็ดเสร็จด้วยการใช้เงินทุ่มซื้อเสียงในการเลือกตั้งอย่างมหาศาล
มาร์กอส มีความสามารถเป็นพิเศษในการ "ปั่น" ความเห็นชาวบ้าน,สร้างภาพด้วยการเอาเงินภาษีประชาชนแจกเงินไม่อั้น,เป็นยอดนักบริหารให้เกิดการโกงกินอย่างไร้เทียมทาน, ใช้กลเม็ดแยบยลทั้งด้านกฎหมายและช่องว่างของระเบียบ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัวของตน
มาร์กอส บริหารประเทศเหมือนสโมสรส่วนตัว สามารถควบคุมกองทัพ, สภา, ศาล, ข้าราชการประจำ, สื่อมวลชน และธุรกิจผูกขาดยักษ์ๆ ของประเทศทั้งหมด
มาร์กอสและ "พรรคพวก" สร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มของตัวเองอย่างมหาศาล ขณะที่ประเทศชาติและคนนอกสังกัดของมาร์กอส ยากจนลง
หลังการเลือกตั้งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1986 อคิโนเสนอ "แผนต่อต้านแบบอหิงสาเจ็ดข้อ" เพื่อเชิญชวนประชาชนมาประท้วงเผด็จการ
แผนต่อสู้เผด็จการโกงกินนี้รวมถึงการหยุดงานอาทิตย์ละหนึ่งวัน และคว่ำบาตรไม่ใช้บริการของธนาคาร, ร้านรวงและหนังสือพิมพ์ของมาร์กอส และคนรอบข้างมาร์กอสทั้งหลายทั้งปวง
เธอประกาศให้ชาวบ้านที่มาชุมนุมว่า "หากยักษ์ใหญ่โกลีเอี๊ยดไม่ยอมลงจากตำแหน่ง, เราก็จะใช้ความอดทนมุ่งมั่นและสามัคคีของประชาชน เพื่อกระตุ้นให้การต่อสู้อย่างสงบของเราดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง...ไม่ชนะ, เราไม่เลิก..." นั่นคือจุดเริ่มต้นของขบวนการสู้กับเผด็จการมาร์กอสแล้ว
เมื่อประชาชนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงความไม่พอใจกับเผด็จการ, คอร์รัปชันและการขาดจริยธรรมอย่างรุนแรง กองทัพก็เริ่มพิจารณาจุดยืนของตัวเองที่จะต้องเข้าข้างประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองคลั่งอำนาจและทุจริต
จุดผันเปลี่ยนอันสำคัญของขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคราวนั้น คือการตัดสินใจของนายทหารสองคนที่เดินข้ามไปหาประชาชนผู้ประท้วงพร้อมกับประกาศว่า "กองทัพอยู่ข้างประชาชนผู้เรียกร้องความโปร่งใสและความสุจริต..."
คนแรกคือ รัฐมนตรีกลาโหมฮวน พอนซ์ เอ็นริเล่ และคนที่สองคือ รองเสนาธิการทหารในตอนนั้น นามว่า ฟิเดล รามอส (ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งและยังมีบทบาทสำคัญในการเมืองระดับชาติของฟิลิปปินส์ในวันนี้)
นายทหารผู้รักชาติกลุ่มนี้ตัดสินใจประกาศจุดยืนไม่ยอมปกป้องผู้นำที่สร้างความร่ำรวยจากการปล้นทรัพย์สมบัติของชาติและโกงกินภาษีประชาชน เพราะพวกเขาถือตนเป็น "ทหารของประชาชน"
พรุ่งนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อ "ทหารของประชาชน" ตัดสินใจไม่ยอมปกป้องผู้นำการเมืองที่ไร้จริยธรรมและโกงบ้านโกงเมืองแล้วก็กลายเป็นส่วนสำคัญของ People Power เพื่อล้มล้างระบอบมาร์กอส อันฟอนเฟะได้อย่างไร
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 18
เฟอร์ดินาน มาร์กอส โกงชาติพุ่งแสนล้านดอลล์
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 กุมภาพันธ์ 2549 19:59 น.
เอเอฟพี - ทางการฟิลิปปินส์ เผย ยอดทรัพย์สิน ซึ่งอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส และพวกพ้อง ยักยอกไปในระหว่างเรืองอำนาจ อาจมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ทว่า ล่าสุด เจ้าหน้าที่เพิ่งตามยึดกลับคืนมาได้ไม่ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์
เฟอร์ดินาน มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
นิคาซิโอ คอนติ สมาชิกกรรมาธิการเพื่อธรรมาภิบาลประจำสำนักประธานาธิบดี (พีซีจีจี) ซึ่งมีหน้าที่แกะรอยยึดทรัพย์อดีตจอมเผด็จการมาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ กล่าววันนี้ (22) ว่า มูลค่ารวมทรัพย์สินอันเกิดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงในยุคมาร์กอส ที่ทางการประเมินไว้ 10,000 ล้านดอลลาร์ ควรต้องแก้ไขอย่างน้อยด้วยการคูณ 10 เนื่องจากการเพิ่มมูลค่า ตามระยะเวลาที่ล่วงเลยมาสองทศวรรษ
ทั้งนี้ กรุงมะนิลา อยู่ระหว่างรำลึกครบรอบการโค่นล้มระบอบเผด็จการมาร์กอส เมื่อปี 1986 ในสัปดาห์นี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตากาล็อก เผยว่า ทางการสามารถตรวจพิสูจน์ทรัพย์สินของมาร์กอสได้แล้วชัดเจนเพียง 8,000 ล้านดอลลาร์ หลังตามไล่ล่ามา 20 ปี ในจำนวนนี้มีแค่ 1,630 ล้าน ที่ยึดกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติได้
คอนติ หัวหน้าฝ่ายตามล่าทรัพย์สินต่างแดนของพีซีจีจี กล่าวกับสมาคมนักข่าวต่างประเทศในกรุงมะนิลา ว่า สมบัติจำนวนมากที่อดีตผู้นำเผด็จการซุกซ่อนไว้ อาจได้รับการบริหารจัดการโดยธนาคารตะวันตกในประเทศอย่างลิกเตนสไตน์, สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์
เขาบอกอีกว่า จนถึงตอนนี้ พีซีจีจีสามารถตรวจพิสูจน์ทรัพย์สินต้องสงสัยได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายของตระกูลมาร์กอส และคนสนิท ที่ฝากไว้ในต่างแดนราว 79 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้รวมถึงสินบนจากสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่เคยเปิดใช้งานจนกระทั่งปัจจุบัน
นอกจากนั้น พีซีจีจียังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในศาลฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของหุ้นชั้นดีของหลายบริษัท ซึ่งมีมูลค่ารวมกัน 222,000 ล้านเปโซ (4,270 ล้านดอลลาร์) ในจำนวนนี้เป็นหุ้นบางส่วนของอาณาจักรยาสูบ, เบียร์ และธนาคารที่ถืออยู่ในนามลูซิโอ ตัน หนึ่งในมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดของเอเชีย
วิลเลียม ดิโชโซ สมาชิกพีจีซีซีอีกคน กล่าวว่า ขณะนี้ทางการได้ฟ้องร้องยึดทรัพย์รวมกัน 578 คดี ในจำนวนนี้ 200 คดีเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินก้อนมหึมา และอีกกว่า 100 คดี กำลังรอผลคำตัดสินของศาลฎีกา
คอนติ บอกว่า กรุงมะนิลายังกำลังเดินหน้าต่อสู้คดีเงินกู้ 419 ก้อน ซึ่งมาร์กอส และวงศ์วานว่านเครือ ได้มาจากบรรดาธนาคารของรัฐโดยปราศจากการค้ำประกัน ซึ่งมีมูลค่ารวมอย่างน้อย 105,550 ล้านเปโซ (2,040 ล้านดอลลาร์)
ด้านคณะกรรมาธิการพีจีซีซี นาร์ซิโซ นาริโอ เผยว่า การต่อสู้คดี หรือหาข้อยุตินอกศาล กับบรรดาสมัครพรรคพวกของมาร์กอส ได้นำไปสู่การยึดคืนเงินสดแล้ว 61,830 ล้านเปโซ (1,190 ล้านดอลลาร์) ตลอดจนหลักทรัพย์, อสังหาริมทรัพย์ และอัญมณีเครื่องประดับรวมมูลค่า 23,000 ล้านเปโซ (444.8 ล้านดอลลาร์)
ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้คืนเงินสด ซึ่งรวมถึงเงินในบัญชีธนาคารของมาร์กอส มูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ทางการฟิลิปปินส์ สำหรับทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มานี้ ตามกฎหมาย ระบุว่า จะต้องนำไปใช้เป็นทุนในโครงการปฏิรูปที่ดินของรัฐบาล
มันเป็นเรื่องยากมากที่จะกำหนดเงื่อนไขเวลาในสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ คอนติเผยถึงหน้าที่แกะรอยยึดทรัพย์มาร์กอส
เขาหวังว่า ภารกิจทวงคืนสมบัติชาตินี้จะยุติลงได้ภายในเวลาไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ ริคาร์โด อับเซเด เพื่อนร่วมคณะกรรมาธิการพีจีซีซี เผยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติกับบรรดาเครือญาติ และคนสนิทของมาร์กอส ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ยึดได้กลับมาใช้พัฒนาประเทศโดยเร็วที่สุด
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 19
[/b]ย้อนรอยการโค่นเผด็จการมาร์กอส (3)
23 กุมภาพันธ์ 2549 17:41 น.
นาทีสุดท้ายก่อนล่มสลาย เผด็จการจะส่งเสียง "สู้ๆ" เสมอ
เมื่อเห็นประชาชนเป็นเรือนแสนเรือนล้านออกมาชุมนุมขับไล่เผด็จการโกงกินเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำทหารที่มีความคิดแนวประชาธิปไตยก็ตัดสินใจเดินข้ามจากฝั่งอำนาจการเมืองสกปรกมาอยู่ข้างเดียวกับประชาชนผู้เรียกร้องความชอบธรรมของแผ่นดิน
รัฐมนตรีกลาโหมฮวน เอ็นรีเล่ กับรองเสนาธิการทหารฟิเดล รามอส ประกาศเลิกสนับสนุนมาร์กอส ทั้งๆ ที่ผู้นำยังมีอำนาจล้นฟ้า และสั่งการปลดนายทหารคนไหนเมื่อไรก็ได้
นายทหารทั้งสองประกาศพร้อมกับทหารหาญผู้รักชาติกลุ่มหนึ่งว่าพร้อมที่จะตายดีกว่าที่จะได้ชื่อว่า "พายเรือให้หัวหน้าโจรปล้นประเทศ"
มาร์กอสตอบโต้ด้วยการประกาศว่า เขาไม่ได้เกรงกลัวทหารกลุ่มที่ประกาศอยู่ข้างผู้ชุมนุมและเรียกร้องให้เขาลาออกเลยแม้แต่น้อย
จอมเผด็จการออกวิทยุตัดไม้ข่มนามด้วยการประกาศว่า
"พวกขบถถูกต้อนจนมุมแล้ว ผมจะกวาดล้างพวกเขาด้วยปืนใหญ่และรถถังได้อย่างง่ายดาย ผมขอประกาศว่าจะยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป และหากจำเป็นผมจะปกป้องตำแหน่งของผมด้วยกำลังทุกอย่างที่ผมมี..."
มาร์กอสรู้ตัวว่ามาถึงเฮือกสุดท้ายแห่งลมหายใจของการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว เสียงแข็งขันของเขาต่อสาธารณชนคือเสียงของคนดิ้นรนวาระสุดท้าย โดยหวังว่าการประกาศด้วยถ้อยประโยคดุดันนั้น จะทำให้ฝ่ายเรียกร้องให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งต้องถอยไป
แต่มาร์กอสไม่ได้สำเหนียกแม้แต่น้อยว่า "กำลัง" กับ "อำนาจ" นั้น มิจำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป
แม้เขาจะยังหลงคิดว่ายังมี "กำลัง" ที่จะปกป้องตำแหน่งเขาอย่างเหลือเฟือ, มาร์กอสหารู้ไม่ว่า "อำนาจ" อันชอบธรรมนั้นได้หดหายไปหมดสิ้นแล้ว เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาประกาศรวมตัวกันให้เขารู้ว่าประเทศชาติมิอาจจะให้เขาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของชาติได้อีกต่อไปแม้แต่วันเดียว
Radio Veritas ซึ่งเป็นสถานีวิทยุอิสระของฝ่ายศาสนาคาทอลิกประกาศให้ประชาชนออกมาปกป้องนายทหารผู้รักชาติ ด้วยการไปล้อมกระทรวงกลาโหมอันเป็นที่ทหารประชาธิปไตยปักหลักต่อต้านมาร์กอส
ชาวบ้านหลายหมื่นคนออกมาตั้งด่าน เพื่อกั้นไม่ให้ทหารที่ยังถูกบังคับให้ต้องจงรักภักดีต่อมาร์กอสเข้าไปถล่มโจมตีฐานที่มั่นแห่งการคัดค้านของเหล่าทหารหาญได้
เป็นเวลา 4 วันเต็มๆ ที่ประชาชนและสมาชิกครอบครัวหลายหมื่นคนปักหลักตั้งแคมป์กลางถนน ประกาศพร้อมจะสละชีวิตเพื่อปกป้องไม่ให้ทหารฝ่ายเผด็จการเข้ามาปะทะกับทหารฝ่ายประชาชน
บรรยากาศของการประท้วงกลายเป็นการรวมตัวชุมนุมอย่างเป็นกันเองของประชาชนผู้ประกาศว่า "ไม่ชนะ...ไม่เลิก" ผู้คนหอบลูกจูงหลานและนัดหมายเพื่อนฝูงมาพบกันที่ลานถนนอันเป็นศูนย์กลางแห่งการประท้วง ฟังวิทยุเสรีไป ร้องรำทำเพลงและตั้งวงถกการเมืองเพื่อขับไล่มาร์กอสไป
พระสงฆ์หลายองค์เข้ารวมตัวกันกลางถนน เพื่อสวดมนต์วิงวอนให้ประเทศชาติรอดพ้นจากภัยพิบัติ ขอให้ผู้นำเผด็จการได้สำนึกถึงความชั่วร้ายที่ตนและพรรคพวกได้กระทำลงไป และขอให้พวกเขาออกไปจากตำแหน่ง เพื่อสังคมจะได้กลับสู่ภาวะปกติ
มาร์กอสวางแผนสู้ด้วยการซื้อเวลา และเตรียมการนองเลือด เขาบอกคนใกล้ชิดในยามที่วิกฤติพุ่งถึงระดับสูงสุดว่า
"เราจะรอเวลา... เราต้องสลายการชุมนุมของพลเรือน...เพื่อเราจะได้ถล่มทหารขบถพวกนี้..."
ว่าแล้วมาร์กอสก็ส่งทหารนาวิกโยธิน, รถถัง, และยานเกราะเข้าบุกยึดค่าย Camp Crame
ประชาชนเรือนแสนปักหลักอยู่กลางถนน ไม่ยอมถอยให้รถถังและทหารฝ่ายเผด็จการที่ดาหน้าเข้ามา
ขณะที่รถถังขยับจะเข้าบดขยี้ค่ายทหารแห่งนี้ ประชาชนนั่งลงตรงหน้ารถถังเหล่านั้น
รถถังหยุด...ประชาชนผู้ประท้วงยื่นบุหรี่, ขนมและดอกไม้ให้ทหารที่ถูกมาร์กอสสั่งให้มาสังหารประชาชน
รถถังเดินหน้าต่ออีก...ชาวบ้านผู้ประท้วงก็ไม่ยอมขยับหนี...นั่งขวางทางของรถถังอยู่บนถนนแห่งนั้น
ขบวนรถถังหยุดอีก...ทหารนาวิกโยธินคนหนึ่งขู่ว่าจะเริ่มยิงผู้ขัดขวางการปฏิบัติการ พระและชีคุกเข่าต่อหน้ารถถังและเริ่มสวดมนต์
ไม่มีเสียงปืนดังแม้แต่นัดเดียว...ขบวนรถถังหันกลับ...ประชาชนส่งเสียงเชียร์ด้วยความปีติ
พลังประชาชนย่อมอยู่เหนืออำนาจของอาวุธใดๆ ที่จอมเผด็จการจะใช้มาข่มขู่ประชาชนได้
ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น, มาร์กอสและครอบครัวก็หนีหัวซุกหัวซุนผ่านประตูหลังของทำเนียบมาลากันยัง...ลงเรือที่รออยู่เพื่อข้ามแม่น้ำปาซิกไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่รออยู่...มุ่งสู่ฐานทัพเรือที่คลาก จากนั้นก็ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศมะกันมุ่งหน้าสู่เกาะกวมและต่อไปลี้ภัยที่เกาะฮาวายในท้ายที่สุด
ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอาทิตย์ที่จะถึงนี้ในประเทศไทยหรือไม่ อยู่ที่ความสำนึกของผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จจะยอมรับรู้ว่าเมื่อเวลามาถึง, เขาควรจะต้องตัดสินใจลงจากเวทีเอง
ก่อนที่จะต้องหนีหัวซุกหัวซุนจนไร้แผ่นดินอาศัยสำหรับทั้งครอบครัว
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
Waktzing with a dictator
โพสต์ที่ 20
ครบรอบ 20 ปีแห่งการโค่นอำนาจมาร์คอส กับการวางแผนต่อการปฏิวัติรัฐบาลอาร์โรโย
โดย สีดา สอนศรี
สถานการณ์ในฟิลิปปินส์ขณะนี้มีความตึงเครียดพอๆ กับเมืองไทย เนื่องจากมีพลเรือนและทหารกลุ่มหนึ่งพยายามจะก่อการปฏิวัติในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยฉวยโอกาสในวาระที่มีการฉลองครบรอบ 20 ปี ระลึกถึงพลังประชาชนโค่นอำนาจมาร์คอสได้สำเร็จในช่วงระหว่างวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 1986
ในช่วงเดือนนี้ของทุกปีจะมีการฉลองกันโดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต การร้องเพลงประสานเสียงของนักร้องในโบสถ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและสถาปัตยกรรมของรูปปั้นพระแม่มารี (Our Lady of EDSA) ซึ่งแสดงถึงความเมตตากรุณาและความเศร้าสลดในขณะเดียวกัน มีคลีนิครักษาฟรี มีการจุดเทียนเดินขบวนไป สวดมนต์ไป (Rallies Prayer) ในช่วงเย็นถึงค่ำด้วยความสงบไปยังพระรูป
การฉลองนี้มีนัยสำคัญก็คือการที่พลังประชาชนสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่คอร์รัปชั่นทั้งตระกูลและเครือญาติบริวารได้สำเร็จ การได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกครั้งหลังจากการใช้อำนาจของผู้นำมาเป็นเวลา 13 ปี และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยในปี 1986
แต่การฉลองครบรอบ 20 ปีแห่งการโค่นล้มรัฐบาลมาร์คอสเกี่ยวโยงกับการวางแผนก่อการปฏิวัติรัฐบาลอาร์โรโยอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องตอบคำถาม
ประเด็นสำคัญก็คือ
1.อาร์โรโยได้เข้ารับตำแหน่งในปี 2001 หลังจากที่เอสตราดาประธานาธิบดีได้เข้ากระบวนการขับออก (impeachment) เนื่องจากการคอร์รัปชั่นของเขาและพรรคพวกบริวาร แต่ชนะแค่ 1 เสียงในสภาสูงไม่ให้ขับเอสตราดาออก แต่เนื่องจากกระบวนการขับออกได้ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ประชาชนเห็นแล้วว่าผิดจริง จึงได้รวมพลังกันขับเอสตราดาออกจากตำแหน่ง โดยมีการเจรจาประนีประนอมกันระหว่างเอสตราดาและผู้ชุมนุม
ด้วยความมีคุณธรรมของเอสตราดาเขาก็ยินดีออกจากตำแหน่ง เพราะเขาคิดว่าเขาขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ
หลังจากนั้นอาร์โรโย (คนละพรรคกับเอสตราดา) รองประธานาธิบดีในขณะนั้นได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2001 ตามรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์
2.การปกครองของอาร์โรโยไปได้สวย เศรษฐกิจดีขึ้น นักธุรกิจทุกระดับสนับสนุนเธอ แต่ในฟิลิปปินส์ยังมีความจงรักภักดีต่อนายเก่า (เอสตราดา) อยู่หลายกลุ่ม จึงได้วางแผนก่อการปฏิวัติในเดือนกรกฎาคม 2003
กลุ่มนี้ก็คือกลุ่ม Magdalo ซึ่งได้แก่ ดาลิโน ลิม ซึ่งเคยอยู่ในกลุ่ม You (Young Officers Union) นาวาเอก กองพันนาวิกโยธิน อาเรียล เกเวโด และตำรวจคอมมานโด นาซาลิโน ฟรังโก ซึ่งทั้งสามคนนี้เคยวางแผนโค่นรัฐบาลอะคีโนในปี 1989 มาแล้ว
แต่การที่กลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้นั้นมิใช่จะเป็นแกนนำที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ถ้าหากกระทำการได้สำเร็จ เนื่องจากประชาชนชาวฟิลิปปินส์ไม่ยอมรับทหารมาปกครองประเทศ แต่ทหารและตำรวจกลุ่มนี้ถูกใช้ประโยชน์จากนักการเมืองฝ่ายเอสตราดาและมาร์คอสและฝ่ายซ้าย เนื่องจากไม่พอใจอาร์โรโยเป็นการส่วนตัว
อีกทั้งมีกรณีเรื่องทุจริตการเลือกตั้งของอาร์โรโยในการเลือกตั้งปี 2004 จึงเพิ่มแรงสนับสนุนให้กลุ่มนี้พยายามก่อการปฏิวัติขึ้น
3.การวางแผนครั้งนี้มีหลายกลุ่มรวมเป็นเครือข่าย ได้แก่ กลุ่มทหารฝ่ายขวาจัดได้แก่ กลุ่ม Magdalo กลุ่มฝ่าย RAM (Reform the Armed Forces Movement) กลุ่ม Party-List ฝ่ายซ้าย ได้แก่ กลุ่ม Bayan Muna กลุ่ม Akbayan กลุ่ม the Black and White Movement
กลุ่มพลเรือนฝ่ายขวาจัด ได้แก่ กลุ่มเอสตราดา กลุ่มเฟอร์นานโด โป (FPJ) ที่แพ้การเลือกตั้งในปี 2004 ขณะนี้เสียชีวิตแล้วแต่มีภรรยาเป็นผู้นำ และกลุ่มมาร์คอส
ทั้งหมดนี้ไม่พอใจที่อาร์โรโยขึ้นสู่ตำแหน่งแทนเอสตราดา การทุจริตการเลือกตั้ง (หลักฐานอ่อนมาก) และเอาใจนักธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งให้ทหารสหรัฐเข้ามาช่วยในการพัฒนาภาคใต้ในจังหวัดที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนของอาร์โรโย และเป็นที่รู้กันว่าทั้งหมดนี้มีเรื่องส่วนตัวต่อกันประการหนึ่ง และต่อต้านทุนนิยมสหรัฐ อีกประการหนึ่ง เพราะกลัวสหรัฐ จะเข้ามามีบทบาทเช่นสมัยมาร์คอส จึงใช้โอกาสและประเด็นสำคัญๆ เหล่านี้พยายามโค่นล้มเธอ
ผลประโยชน์ของกลุ่มเหล่านี้ร่วมกัน คือโค่นล้มอาร์โรโย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะจะหาผู้เหมาะสมเท่าเธอในรัฐบาลคงไม่มี
และรามอสอดีตประธานาธิบดียังสนับสนุนเธออยู่ แม้จะออกมาวิจารณ์ว่าเธอไม่ควรประกาศภาวะฉุกเฉินก็ตาม และขณะนี้ทุกฝ่ายก็ประนีประนอมกันแล้ว
4.เธอประกาศภาวะฉุกเฉินตอนเที่ยงของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ประธานเสนาธิการได้สืบทราบว่าจะมีการวางแผนโค่นล้มเธอ
ทั้งนี้ได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีซึ่งมีทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เทคโนแครต และสภาความมั่นคง ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 18 ข้อ 7 อนุญาตให้เธอสั่งกองทัพป้องกันการปฏิวัติได้
การประกาศภาวะฉุกเฉินมิใช่การประกาศกฎอัยการศึก การประกาศกฎอัยการศึกจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาก่อน และประกาศได้เป็นเวลา 60 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากที่จะกระทำ
และคิดว่าเธอก็ไม่ทำ เพราะประเทศได้ผ่านกระบวนการสร้างประชาธิปไตยมาเป็นเวลา 20 ปี ตั้งแต่โค่นอำนาจมาร์คอสในปี 1986
5.แต่สิ่งที่ประชาชนกลัวมากก็คือ ไม่ต้องการให้เธอประกาศกฎอัยการศึก เพราะไม่อยากอยู่ในสภาพแบบเดียวกับสมัยมาร์คอส พวกเขาเข็ดขยาดกับอำนาจเผด็จการ ขณะนี้จึงมีศาสนจักร และนักศึกษาจาก UP (University of the Philippines) อะคีโน และรามอส ให้เธอเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยเร็ว
ซึ่งคาดว่าเมื่อสถานการณ์เรียบร้อยเธอคงจะเลิก
6.นักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทหารและตำรวจยังสนับสนุนเธออยู่
ในส่วนของการทุจริตการเลือกตั้งของอาร์โรโยนั้นได้เข้ากระบวนการขับออกแล้วโดยเรื่องได้นำเข้าไต่สวนในสภาล่าง แต่หลักฐานอ่อนมากสมาชิกสภาจึงลงมติไม่นำขึ้นสภาสูงเพื่อดำเนินการต่อ แต่พวกฝ่ายค้านและฝ่ายเอสตราดายังไม่ยอมเชื่อตามที่สภาล่างตัดสิน
เหตุการณ์ครั้งนี้กระทบเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่กำลังอยู่ในสภาวะขาขึ้น แต่จะกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เปโซตกลงมาไม่มากจาก 51.66 ต่อดอลลาร์เป็น 51.92 ต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว 55 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์คงไม่ขาดตอน ประชาชนสามารถเรียกร้องได้ตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และความรุนแรงคงไม่เกิด เพราะเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตก็จะมี ตัวกลาง เป็นผู้เจรจาให้เกิดความเข้าใจกัน และพวกเขามี พระในจิตใจ ความรุนแรงจึงเกิดได้น้อยมาก
เพราะฉะนั้น Prayer Movement หรือ Prayer Rallies จึงมีเสมอๆ เพื่อลดความตึงเครียด
นอกจากนั้นรัฐบาลจะฟังการเรียกร้องสิ่งต่างๆ จากประชาชนด้วย แต่ความกลัวว่าเหตุการณ์ในอดีตในสมัยมาร์คอสจะกลับมาอีกนั้นยังอยู่ในจิตใจพวกเขาอยู่
การให้อภัยมาร์คอสให้ได้โดยเฉพาะตัวอะคีโนเอง แต่ลืมเหตุการณ์นั้นลืมยาก