เศรษฐศาสตร์กับความอยู่ดีมีสุข

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์กับความอยู่ดีมีสุข

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เศรษฐศาสตร์กับความอยู่ดีมีสุข


โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

หนังสือเล่มใหม่ชื่อ Happiness: Lessons from a New Science เขียนโดย Richard Layard ผู้อำนวยการ Centre for Economic Performance ที่ London School of Economics สมาชิกวุฒิสภาที่อังกฤษ และเป็นเพื่อนของ Stanley Fisher ,Chairman ของ Citicorp มีเนื้อหาน่าสนใจหลายประการ จึงขอนำบางประเด็นมาเสนอในบทความนี้

โลกตะวันตกกำลังตื่นตัวกับปรากฏการณ์ที่ว่ารายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น ที่สหรัฐอเมริกา นักวิชาการแสดงข้อมูลชี้ว่า นับจากปี ค.ศ.1945 จนถึงปี 2000 รายได้ต่อหัวของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว แต่เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตอบว่ามีความสุขมากเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยระหว่างปี 1945 ถึง 1965 ถ้าดูทั้งช่วงระหว่าง 1945 ถึง 2000 เปอร์เซ็นต์ คำตอบนี้ค่อนข้างคงที่อยู่ที่ 25-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง(ดูแผนภาพ)

ภาวะไร้ความสุข คือ การเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้า โรคจิต คนติดเหล้า และอาชญากรรม ที่ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ นักวิชาการพบข้อมูลที่สอดคล้องกับที่สหรัฐอเมริกา

การศึกษาในสังคมตะวันตกพบว่าความสุขของผู้คนนั้นโยงกับปัจจัยหลัก 7 ประการ คือ

(1-5 เรียงจากความสำคัญมากไปหาน้อย)

1.ความสัมพันธ์ในครอบครัว

2.สถานะทางการเงิน

3.งานที่ทำ

4.ชุมชนและเพื่อน

5.สุขภาพ

6.เสรีภาพส่วนตัว

7.จิตวิญญาณ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์กับความอยู่ดีมีสุข

โพสต์ที่ 2

โพสต์

รูปภาพ

เป็นที่น่าสนใจว่างานศึกษาตัวชี้วัดความสุขที่หมู่บ้านอีสานของไทย แสดงรายการปัจจัยที่สำคัญต่อความสุขของผู้คน 8 ประการที่คล้ายคลึงกับรายการข้างบนนี้มาก คือ

1.ความมั่นคงในชีวิตด้านอาหาร ที่ดิน

2.สุขภาพ

3.ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า


4.ชุมชนและเพื่อน

5.สภาพแวดล้อมที่ดี

6.เสรีภาพ(รวมทั้งปลอดหนี้)

7.ความภาคภูมิใจ(ความสำเร็จในการงานและครอบครัว)

8.การเข้าถึงหลักธรรม(ความไม่เห็นแก่ตัว)

รายการเหล่านี้ทำให้ต้องฉุกคิดว่า มาถึงจุดหนึ่ง(ณ ระดับรายได้ที่สูงระดับหนึ่ง)ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนสินค้าและการบริการเพื่อการบริโภคเป็นเป้าหมายสูงสุด อาจไม่สามารถทำให้ผู้คนมีความสุข หรืออยู่ดีมีสุขได้จริงๆ

วิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เรียนสอนกันมีทฤษฎีที่พูดถึงว่าทำอย่างไรจะเพิ่มสินค้าบริการให้ได้มากๆ อยู่หลายทฤษฎี แต่ขาดทฤษฎีที่จะทำความเข้าใจและอธิบายว่าอะไรให้ความสุขแก่มนุษย์ที่แท้จริง

นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับตลาด แน่นอนว่าตลาดให้หลายสิ่งแก่เราได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด Layard ชี้ว่า ตลาดทำงานได้ดีมากโดยเอื้ออำนวยให้ปัจเจกชนทั้งหลายมีปฏิสัมพันธ์ และสนองความต้องการด้านวัตถุหลากหลายประเภท ประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าบริการต่างๆ ในจีนหลังจากละทิ้งระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางแล้วหันมาใช้ระบบตลาดเป็นตัวเร่งกระบวนการผลิต

อย่างไรก็ตาม มีหลายสิ่งที่เราต้องการแต่ตลาดให้ไม่ได้ มีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เรามีความสุขแต่เราหาไม่ได้ในตลาด เช่น เราไม่อาจซื้อความอบอุ่นที่ได้จากครอบครัวของเราในตลาด

และอันที่จริงแล้วมีหลายสิ่งซึ่งตลาดมีส่วนทำลายไปหรือมีส่วนสร้างความทุกข์ให้กับผู้คน จะขอยก 3 เรื่องมาชี้ให้เห็น
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

เศรษฐศาสตร์กับความอยู่ดีมีสุข

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เรื่องแรกการอพยพกับความอยู่ดีมีสุข

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักบอกว่า การอพยพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้การทำงานของตลาดแรงงานที่ได้ผล เมื่อผู้คนอพยพจากที่ไม่มีงานไปยังที่มีงาน พวกเขาก็จะมีงานทำมีรายได้ สวัสดิการของสังคมก็จะสูงขึ้น นายจ้างก็พอใจเพราะหาคนมาทำงานได้ในราคาถูก เศรษฐกิจก็จะเจริญเติบโต

นักเศรษฐศาสตร์มองแต่ส่วนดีของการอพยพ ส่วนที่ไม่ดีมักจะไม่กล่าวถึง คือ การอพยพไปทำงานที่อื่นทำให้ครอบครัวแตกสลายได้(สามีไปซาอุฯหาเงินกลับมาภรรยามีแฟนใหม่ "ช้ำใจเพราะไปซาอุฯ") หมู่บ้านขาดแรงงานในวัยทำงานมีแต่คนแก่กับเด็กที่ขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ หมู่บ้านซบเซา ชุมชนขาดความมั่นคง การศึกษาพบว่า ในชุมชนเช่นนั้นความไว้เนื้อเชื่อใจกันอาจลดลง อาจสุ่มเสี่ยงกับอาชญากรรมและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ในชุมชนใหม่ที่มีแต่แรงงานอพยพ ก็อาจมีลักษณะไร้ความมั่นคง ผู้คนเหงา โดดเดี่ยว เครียด และมีอาการโรคจิตได้ง่าย

แน่นอนว่าถ้าคุณเป็นแรงงานมีการศึกษาดี คุณก็สามารถจะหางานได้รายได้ดี ทำให้คุณอพยพครอบครัวของคุณไปด้วยได้ แต่ถ้าคุณเป็นแรงงานไร้ฝีมือ การอพยพไปทำงานที่ไกลๆ อาจจะเป็นความทุกข์สำหรับหลายๆ คน

เรื่องที่สองการโฆษณากับความอยู่ดีมีสุข

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่า การโฆษณาเป็นสิ่งจำเป็น เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประการหนึ่ง เพราะว่านอกจากจะให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค การโฆษณาเพิ่มความต้องการใหม่ๆ ให้กับเรา ทำให้เราซื้อสินค้า เมื่ออุปสงค์เพิ่ม การผลิตเกิดขึ้น นำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันโฆษณาเปลี่ยนระบบคุณค่าของผู้คน การโฆษณาส่วนมากทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องการสินค้าและบริการซึ่งเราอาจไม่เคยต้องการมาก่อนหน้า สำหรับผู้ใหญ่เราหวังว่าผู้ใหญ่จะคิดด้วยตนเองได้ ชั่งใจตนเองได้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และตัดสินใจได้ว่าการโฆษณานั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือหลอกลวงเราหรือเปล่า แต่เราอาจจะต้องนึกถึงว่าจะปกป้องเด็กๆ ซึ่งไม่อยู่ในภาวะที่จะประเมินการโฆษณาได้อย่างไร

ที่สวีเดนมีการห้ามโฆษณาที่มีเป้าเพิ่มความต้องการของเด็กๆ อายุต่ำกว่า 12 เหตุผลหนึ่งเพื่อปกป้องเด็กๆ อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อลดแรงกดดันต่อพ่อแม่ ที่ต้องพยายามหาเงินมาสนองความต้องการของลูกๆ ที่ถูกชักจูงให้ต้องการสิ่งของต่างๆผ่านการโฆษณา และอาจทำให้พ่อแม่ต้องเครียดจัดขึ้น และมีความสุขน้อยลง

เรื่องที่สาม การศึกษาเปรียบเทียบหลายประเทศพบว่า สังคมที่มีความสุขมากๆ ในยุโรป ได้แก่ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เหตุผลที่มีความสุขมากกว่าที่อื่นๆ เพราะว่ามีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจ(trust) กันสูง และ trust นี้ดูเหมือนว่าจะโยงกับความเท่าเทียมกันในสังคมของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย และข้าพเจ้าเองเห็นว่าระบบสวัสดิการที่นั่นน่าจะมีส่วนด้วย

ประเด็นสุดท้ายนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากว่าเป็นแนวความคิดที่แตกต่างจาก

เศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่(neo-liberalism) ซึ่งเป็นแกนของขบวนการโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน

สำนักเสรีนิยมใหม่เน้นว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ข้อมูลใหม่ที่ Layard เสนอชี้ว่า ความเท่าเทียมกันเป็นเป้าหมายสังคมที่จะให้ความสุขแก่ผู้คน

เนื้อหาในหนังสือ Happiness ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้เป็นอุทาหรณ์ให้นักเศรษฐศาสตร์ทบทวนปรัชญาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและคิดใหม่เรื่องนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความอยู่ดีมีสุขให้กับผู้คน

แทนที่จะเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนสินค้าและบริการหรือรายได้แต่เพียงสถานเดียว


http://www.matichon.co.th/matichon/mati ... 2005/12/21
ล็อคหัวข้อ