ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 6 ธันวาคม 2548 17:51 น.


      ผมอดเสียดายไม่ได้ ที่คนไทยรวมทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีนิสัยฉาบฉวย ขาดโยนิโสมนสิการ จนกระทั่งความวิเศษและคำเตือนอันทรงคุณค่าในพระราชดำรัส ถูกมองข้ามหรือลืมไปเพียงชั่วข้ามคืน มิได้นำมาพิเคราะห์ศึกษาให้แจ่มแจ้ง แล้วนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แม้กระทั่งสื่อทุกประเภทน้อยใหญ่ ก็หาได้หยิบยกมารายงานหรือพิจารณาให้เกิดคุณูปการก็ไม่มีเลย
     
      พระราชดำรัสในหลวงนี้ ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ฟังยังมีอยู่มาก แต่ที่น่าเสียดายยิ่งกว่า ก็คือ ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส.หรือวุฒิสมาชิก สื่อมวลชน และนักวิชาการ จะครบปีแล้ว มีเวลาหรือความตั้งใจนำมาคิดน้อมใส่เกล้าบ้าง อย่างไรหรือไม่

     
      นั่นคือสิ่งที่ผมเขียนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน นี้เอง ในบทความชื่อ พระราชดำรัส ที่ยังไม่สายเกินไป...สำหรับพระราชดำรัส วันที่ 4 ธันวาคม 2547
     
      ผมเกรงว่าพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ที่เพิ่งผ่านไป 2-3 วันนี้ อีกไม่นานก็จะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง อย่างดีก็มีการพยักหน้า สื่อนำมาตีพิมพ์ขาดๆตกๆ ทีวีนำมาออกซ้ำ 2-3 ครั้ง ผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
     
      พระราชดำรัสที่ล้ำค่านี้ คนที่เกี่ยวข้องคือนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสภา นักวิชาการรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์ ผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติ จะต้องน้อมใส่หัวใส่เกล้า นำไปปฏิบัติ
     
      ระวัง อย่าลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย
     
      ในระยะหลังๆนี้ ในหลวงทรงแสดงความห่วงใยเมืองไทยเป็นพิเศษ ในพระบรมราโชวาททุกครั้ง รวมทั้งในพระราชพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นี้ พระองค์ทรงตรัสเกินกว่า 2 ครั้งว่าบ้านเมืองอยู่ในระหว่างอันตราย
     
      ผมเห็นว่า รัฐบาลควรเรียกประชุมฉุกเฉินได้แล้ว และร่วมกับฝ่ายค้านเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เพื่อกำหนดหามาตรการที่ในหลวงจะทรงเบาพระราชหฤหัยเรื่องอนาคตของบ้านเมือง
     
      พระราชดำรัสปีนี้ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นข้างต้น

       ก่อนที่ผู้จัดการจะโทรมาขอให้ผมเขียนเรื่องพระราชดำรัส ผมมิได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะเขียน ถึงกระนั้น ก็ได้ตั้งใจฟังบันทึกเทปในอินเตอร์เน็ตอยู่หลายตระหลบ รวมทั้งอ่านพระราชดำรัสที่บรรดาหนังสือพิมพ์นำมาลงตีพิมพ์ จึงทราบว่าการตีพิมพ์ของสื่อนั้นต่างก็ตกหล่นที่โน่นบ้างที่นี่บ้างอย่างไม่น่าจะเป็น ไม่เหมือนกับหนังสือพิมพ์ในอารยะประเทศเวลาเขาตีพิมพ์สุนทรพจน์ของบุคคลสำคัญ ซึ่งนอกจากจะไม่ตกหล่นแล้ว ยังมีการเน้นด้วยกลวิธีต่างๆ ให้ผู้อ่านได้ความรู้อย่างแท้จริง เสมือนได้สื่อความหมายกับผู้พูด
     
      ผมเสียดายที่ผมได้ฟังสดๆเพียงบางส่วนจากวิทยุเท่านั้น เพราะต้องนั่งรถไปท่าอากาศยานดอนเมือง กับเพื่อนฝรั่ง จนกระทั่งในวันจันทร์ที่ 5 ตอนบ่ายจึงได้มีโอกาสได้ดูการถ่ายทอดต่อทางทีวี การได้เห็นพระอิริยาบถ ตลอดจนพระสุรเสียงในเวลาดำรัสมีความสำคัญมากในการที่จะวิเคราะห์พระราชดำรัสให้ใกล้เคียงกับพระราชประสงค์
     
      เมื่อกลับมาถึงบ้านในคืนวันที่ 4 สมาชิกที่บ้านถามว่าผมได้ฟังหรือเปล่า แหมพระราชดำรัสปีนี้ลึกซึ้งและตรงเป้าดีเหลือเกิน พร้อมกันนั้น ผมได้เห็นบันทึกย่อ ดังนี้
     
      1. ต้องวิจารณ์ได้ 2. นักกฎหมายบอกให้ฟ้อง 3.DVD ชี้แจงของ.... เรื่องใน
      โบสถ์ บ่อยมาก 4.ทำไม่ดีเรียกเข้ากรุงเทพ 5. เศรษฐกิจพอเพียง รองนายก/ประธานสภาไม่พอเพียง
     
      เข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจจะย่อเอาไว้เตือนความจำตนเอง เพื่อจะเอามาเล่าให้ผมฟัง ที่ผมเอามาเล่าต่อ ก็เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ผู้ฟังต่างก็มีความเข้าใจและจุดเน้น(ที่ตนสนใจ)ต่างกัน แม้จะอยู่บ้านเดียวกันก็ตาม
     
      สำหรับคนที่อยู่คนละบ้าน คนละค่าย คนละมุ้ง(การเมือง) คงจะยิ่งกว่านี้ เมื่อได้รับโทรศัพท์จาก ผู้จัดการ ผมเลยขอให้ลูกมาช่วยเปิดเว็บไซ้ต์ต่างๆที่มีผู้โพสต์เรื่องพระราชดำรัสเข้ามา อ่านแล้วสนุกเป็นบ้า และรู้ว่ามีคนบ้าจำนวนมากที่รับจ้างโพสต์เข้ามาด่าพวกตรงกันข้ามและเชียร์รัฐบาล โดยการบิดเบือนพระราชดำรัสอย่างไม่อาย
     
      ก่อนวันที่ 4 ผมเองได้ครุ่นคิดอยู่หลายวัน ว่าในหลวงจะทรงเลือกหัวข้ออะไรมาดำรัสหนอ อย่างเช่นเรื่องความขัดแย้งระหว่างสนธิกับทักษิณ พระองค์จะตรัสว่าอย่างไร
      ใครๆก็บอกว่า วันที่ 4 นี้ ฟ้าจะมาโปรด ทักษิณจะมีระฆังช่วย จะจริงหรือไม่
     
      พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณา ให้ วิจารณ์ พระองค์ท่านได้
     
      ผมไม่ขออาจเอื้อม แต่ หากจะขอวิเคราะห์พระราชดำรัสที่ผมเห็นว่าลึกซึ้งที่สุด
      ตรงเป้าที่สุด และเมตตาหามิได้ที่สุด นี้ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ผมอยากจะนำเทคนิคที่เดี๋ยวนี้โบราณไปแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้อยู่และไม่เคยเห็นมีผู้ใดนำมาใช้ในเมืองไทย นั่นก็คือวิธีที่เรียกว่า content analysis ได้แก่การนำคำพูดทั้งหมดมาวิเคราะห์ จัดหมวดหมู่ หาความหมาย โดยดูจากตัวหนังสือถ้ามีแต่ตัวหนังสือ แต่ถ้ามีเสียงและภาพไม่ว่าจะเป็นนิ่งหรือเคลื่อนไหวของผู้พูดประกอบด้วยก็ยิ่งดี
     
      แต่การนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้อย่างประณีตและบริบูรณ์กระทำไม่ได้ ทำได้เพียงแค่สังเขปหยาบๆว่าทรงพูดอะไรบ้าง ทั้งหมดกี่คำ มีคำใดที่ซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้จะนำไปสรุปเป็นตุเป็นตะเสียเลยทีเดียวก็คงไม่ดี
     
      ความยาวของพระราชดำรัสมิได้นับเป็นนาที แต่นับเป็นคำ พระราชดำรสทั้งหมดมี 4,591 คำ คำที่ปรากฏบ่อยที่สุด ลดหลั่นกันไป โดยมิได้จำแนกหรือจัดกลุ่มตามประเภทหรือลักษณะแต่อย่างใด มีดังนี้
     
      คำว่า นายกหรือนายกรัฐมนตรี 57 ครั้ง คำว่า พูด 55 ครั้ง ติ 27 ครั้ง
      วิจารณ์ 23 ครั้ง พอเพียง 23 ครั้ง ไม่ดี 18 ครั้ง ด่า 16 ครั้ง ระวัง 14 ครั้ง คิด 9 ครั้ง ห่วง 9 ครั้ง ตาย 7 ครั้ง ฯลฯ
     
      เช่นนี้ เราควรสรุปได้หรือไม่ว่า เป้าหมายในพระราชดำรัส คือ ตัวนายกรัฐมนตรี และเรื่องที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี คือ เรื่องของการ ติ ด่า หรือ วิจารณ์
     
      ผมจะไม่สรุปแต่ขอให้ท่านผู้อ่าน คิด เอาเอง
     
      ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผม คิด อาจจะไม่ตรงกับพระราชดำรัส ซึ่งมีความลุ่มลึกเกินพรรณนา มีทั้งความที่ชัด ทั้งที่เป็นความนัย และที่แฝงไว้ให้ทำความเข้าใจ (explicit) ผมจะไม่วิจารณ์ แต่จะอาศัยพระราชดำรัส วิจารณ์การเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากจะรุนแรงไปบ้าง ผมต้องขออภัย และเรียนว่า ผมไม่มีเจตนาร้ายแอบแฝง นอกจากจะกระตุ้น ต่อมคิด เพื่อช่วยให้การเมืองไทยดีขึ้น
     
      ผมคิดว่าสิ่งที่ในหลวงทรงห่วงที่สุดก็คือเรื่องการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
      ไม่รับฟังคำวิจารณ์ เรื่องคอรัปชั่น และเศรษฐกิจที่หลงทางมิได้ยึดถือหลักเศรษฐกิจพอเพียง
     
      ตรัสว่า พระองค์เอง ถ้าไม่ระวัง ป่านนี้ก็คงตายแล้ว มันลำบาก ต้องระวัง ถ้าไม่ระวังก็ตาย ไอ้นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติของ ที่เรียกว่าการเมือง ฯลฯ คนที่อยู่ในที่นี้ ยศศักดิ์ทั้งนั้น ไม่ระวังตัวก็ตายเหมือนกัน ถ้าไม่ระวัง ฯลฯ ทุกคนตั้งแต่แถวแรกนี่ฯลฯทุกคนถ้าไม่ระวังก็มีอันตรายฯลฯ เพราะว่าถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย
     
      รัฐบาลนี้คุยใหญ่คุยโต มีเมกะโปรเจกต์โน่นนี่ แต่โครงการในพระราชดำริกลับต้องกระเบียดกระเสียน และโครงการพระราชดำริแท้ๆ บางทีเงินก็ไปเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้ บางทีก็บอกไม่มีเงิน แต่เงินนะมี เพราะว่าในงบฯ มี ถ้าไม่มีก็หมายความว่างบประมาณทำไม่ถูก แต่ทีนี้ 100 ล้านใช้ไป ใช้ดีแล้ว ใช้ถูกต้องไม่เสียหาย ทำให้ประชาชนได้กำไร ถ้าไม่ได้ใช้ไปก็ไม่รู้ใครใส่กระเป๋าไปได้ แต่ว่าประชาชนไม่ได้

     ทรงย้ำเศรษฐกิจพอเพียงถึง 23 ครั้ง เพราะอะไรเล่า เพราะที่แล้วมารัฐบาลสนองพระราชดำริแต่ปาก แนวทาง ปรัชญาและโครงการของรัฐบาลล้วนแล้วแต่สวนทางกับพระราชดำริทั้งสิ้น ทรงแนะนำและวิงวอนว่า ถ้าทุกคนเลื่อมใส ว่าจะต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะว่าถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โพสต์ที่ 3

โพสต์

หากจะสรุปเป็นข้อๆ พระราชดำรัสครอบคลุมเรื่องใหญ่ๆ และย่อย ผมอยากจะให้วกเรากลับไปอ่านและคิด และจะไม่ขออธิบายโดยพิสดารแต่อย่างใดดังต่อไปนี้
     
      1. เรื่องประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงอธิบายฐานะและ
      บทบาทขององค์พระประมุขและความหนักหนาของพระราชภารกิจ ซึ่งจะต้องทรงคิดแล้วคิดเล่า เพื่อให้แน่นอนว่าไม่มีอะไรผิด ถึงกระนั้นก็ยัง แต่ที่เห็นอยู่ข้างหน้านี่ มีคนที่พูด ก็คงรู้ว่าแล้วใครพูด มีคนที่พูดว่าข้าพเจ้าไม่ดี พระเจ้าอยู่หัวฯไม่ดี ทำอะไรผิด
      ซึ่งพระองค์มิได้ระบุว่าเป็นผู้ใดเรื่องอะไร แต่พวกเรารู้ว่ามีพระราชบัญญัติที่ทรงส่งคืน และคำสั่งที่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเรื่องอะไรบ้าง แทนที่จะยอมรับผิด มือกฎหมายของรัฐบาลกลับไปโทษในหลวง
     
      2. เรื่องเสรีภาพ เรื่องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่มี
      พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในหลวงทรงพระมหากรุณาลดพระองค์ลงมาเป็นตัวอย่างให้วิจารณ์พระองค์ได้ นายกรัฐมนตรีหรือค.ร.ม.มาจากสวรรค์ชั้นไหนจึงจะทนคำวิจารณ์ไม่ได้ คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายก็สอนๆนายกฯ บอกว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็นี่ขอก็สอนนายกฯ ว่าใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯ เดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน
     
      รัฐบาลแท้ๆปล่อยให้บริวารไปเที่ยวฟ้องสื่อโดยดึงในหลวงลงมาเป็นข้ออ้าง ในหลวงทรงกล่าวถึงการกระทำและการ พูดไม่มีสติ ขาดสติ คือไม่ระวังตัว อันเป็นสาเหตุให้เข้าใจว่าถูกเขาติเตียนเรา แล้วเราไม่พอใจก็เสียหาย ทำให้ส่วนรวมทั้งหมดก็เกิดปั่นป่วน ทรงยกตัวอย่างของพระองค์เองว่าฝรั่งต่างประเทศเขาก็เฝ้ามอง ถึงเขาจะไม่เข้าใจและวิจารณ์อย่างผิดๆก็ยังทรงฟัง และอนุเคราะห์ให้เป็นคุณต่อผู้ที่ละเมิดพระองค์ทั้งในและนอกประเทศ ดูเอาเถิด ถ่อมพระองค์ถึงเพียงนี้ แล้วพวกท่านที่นั่งยู่แถวหน้าเป็นเทวดามาจากไหน
     
      3.เรื่องเมืองไทยจะต้องรีบหาพลังงานทดแทน เช่นไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม
      และอื่นๆ
     
      4. เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทรงย้ำว่าบัดนี้ เมืองไทยจำเป็นแล้วที่จะต้องใช้
      เศรษฐกิจพอเพียง แม้นายกฯจะพอเพียง(เพราะเป็นอภิมหาเศรษฐี-ผู้เขียน) รัฐบาลทั้งรัฐบาล โครงการต่างๆ รวมทั้งประชาชนและชุมชนจะต้องพอเพียงด้วย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะอันตราย อันนี้สำคัญยิ่งนัก ผมคิดว่ารัฐบาลต้องสังคายนาโครงการต่างๆ และตั้งคณะกรรมการศึกษาและถอดรหัสคำแนะนำของพระองค์ เพื่อจะให้ทุกฝ่ายเข้าใจและนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้
     
      5. เรื่องป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมโดยชลประทานตามพระราชดำริ
     
      6. สิ่งที่ควรนำไปคิด ความนัย ปริศนา และคำแนะนำต่างๆ สำหรับเรื่องนี้
      กระจัดกระจายอยู่ในพระราชดำรัสทั้งหมด เช่น ตรัสว่าการแก้ตัวแทนนายกฯอย่างพร่ำเพรื่อทำให้ผู้คนเอือม ครั้งเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องถึง 10 ครั้ง เปลืองไฟฟ้า เสียเวลาคนเขาจะดูละคร ในหลวงทรง ขอร้องอย่างเดียวว่า มาวันนี้ให้ระวัง ๆ ระมัดระวังที่คิด ที่พูด ที่ทำ ถ้านึกว่าทำถูกต้อง ทำ
     
      ในหลวงตรัสคำว่าตัวและแก้ไขเพียงอย่างละ 2-3 ครั้ง แต่ที่ผมติดใจเป็นพิเศษ อยากให้พวกเราคิดและ ถาม กันต่อๆไป ก็คือประโยคข้างล่าง
      กลัว คนที่พยักหน้าเนี่ยไม่ได้แก้ไข นี่ผิดตรงนี้ ไม่ได้แก้ไข หลบหลบความ
      รับผิดชอบ
มันเป็นอย่างนั้น คือมัน ในเมืองไทยนี่ คนไหนที่ทำอะไรไม่ค่อยเข้าร่องเข้ารอยก็ลาออก ลาออกแล้วไม่มีอะไรผิดเลย
     
      ในตอนหนึ่ง ตรัสว่า ลงท้ายไม่ใช่นายกฯ เดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน อาจจะอยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนไหมล่ะ ไม่รู้นะ
     
      และตรัสปิดท้ายว่า เราต้องให้พรทุกฝ่าย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ก็ให้กำลังใจ ทำอะไรก็ทำ ทำได้ดี แต่วันนี้จะไม่พูดว่าให้ทำอะไร เพราะว่าทะเลาะกันไม่เอา ไม่ทะเลาะ ให้ทำอะไรที่ดูจะดี และอย่าเกิน อย่าเลยเถิด แต่ถ้าทุกคนทำงานให้เหมาะสมบ้านเมืองจะไปได้

     
      พวกเราทุกคนที่บาปหนา เกิดมาชาตินี้โชคดีที่มีในหลวง พระองค์ท่านพระราชทานพรให้เราแล้ว น้อมรับเถิด
     
      ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน!
ภาพประจำตัวสมาชิก
ปรัชญา
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 18252
ผู้ติดตาม: 0

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โพสต์ที่ 4

โพสต์

:P  :P  :P
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โพสต์ที่ 5

โพสต์

พระบรมราโชวาท

คอลัมน์ เดินหน้าชน มติชน 7/12/48

โดย นงนุช สิงหเดชะ

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่คณะรัฐมนตรีและคณะบุคคลต่างๆ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอย่างรอบด้าน เปี่ยมด้วยความรอบรู้ ภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญา ทศพิธราชธรรม

พระบรมราโชวาทในครั้งนี้ หากสดับตรับฟังอย่างพินิจพิจารณา จะเห็นว่าพระองค์ท่านทรงเน้นถึงการมีสติ การรู้จักระวังตัว การรู้จักเปิดใจกว้างยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในที่แจ้ง หรือบุคคลสาธารณะ จะต้องมีสิ่งที่กล่าวมาแล้วเป็นพิเศษ

ทรงยกตัวอย่างว่า พระองค์ท่านในฐานะพระมหากษัตริย์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุว่าพระมหากษัตริย์ "ไม่มีวันผิด" หรือ The King can do no wrong แม้ท่านจะไม่ทรงเห็นด้วยว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีวันผิด เพราะพระมหากษัตริย์ก็เป็นคน การมากำหนดไว้เช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ แต่ท่านก็ทรงเข้าพระทัยดีว่าทำไม The King can do no wrong

ท่านว่าก่อนที่ท่านจะเป็นพระมหากษัตริย์ ท่านทรงทำผิดหลายเรื่อง แต่เมื่อมาเป็นพระมหากษัตริย์แล้วท่านต้อง "ไม่ทำผิด" เหตุที่ท่านไม่ทำผิดก็เพราะท่าน "ระมัดระวังตัว" และมี "สติ" อยู่เสมอในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยเข้าพระทัยดีว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นตำแหน่งที่อยู่ในที่แจ้ง คนมองเห็นง่าย

หากใครฟังอย่างมีสติ จะได้ยินพระองค์ท่านทรงย้ำอยู่หลายครั้งในเรื่องการระมัดระวังตัว การมีสติ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าบรรดาคณะรัฐมนตรีและผู้มีหน้าที่บริหารประเทศที่นั่งฟังในวันนั้น จะ "ตระหนัก" ในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ท่านยังทรงแสดงให้เห็นถึงการเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการไม่เห็นด้วยนักที่มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์จะละเมิดมิได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ใดจะวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้

ท่านว่าถ้าพระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แล้วพระมหากษัตริย์จะรู้ได้อย่างไรว่าทำผิดหรือทำถูก ท่านทรงยินดีและอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ แต่การวิจารณ์นั้นควรจะเป็นการวิจารณ์ในทางที่ถูกที่ควร

อาจเป็นครั้งแรกที่พสกนิกรชาวไทยได้ยินพระเจ้าอยู่หัวของเราตรัสในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ว่าท่านทรงยินดีให้วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ท่านได้ ซึ่งบทเรียนและตัวอย่างประชาธิปไตยไหนๆ ก็คงไม่สามารถอธิบายให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยได้เท่าสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสในวันนี้ได้ เพราะท่านเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ท่านทรงมีพระทัยกว้าง ที่จะเปิดรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งติและชมได้ ไม่ใช่ต้องการเพียงคำชมอย่างเดียว

ในเรื่องการ "ระมัดระวังตัว" ที่พระองค์ท่านตรัสไว้นั้น มีความลึกซึ้งมาก ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่ได้ทรงอรรถาธิบายไว้อย่างละเอียด แต่วิญญูชนเมื่อฟังแล้วย่อมสามารถคิดได้เองว่าทรงหมายถึงอะไร

"การระมัดระวังตัว" ของบรรดาบุคคลที่อยู่ในที่แจ้ง หรือบุคคลสาธารณะ ย่อมมิได้หมายถึงว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมาย(Legality) หรือเดินไม่ให้ตกหลุมเท่านั้น แต่ถูกกำกับด้วยสิ่งที่มีมาตรฐานสูงกว่ากฎหมาย นั่นก็คือ ความชอบธรรม จริยธรรม และหิริโอตตัปปะ

เช่นว่าแม้กฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ของเราดูเหมือนจะอนุญาตให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้เช่นว่า การแต่งตั้งเครือญาติดำรงตำแหน่งสำคัญๆ จะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ผิดในเชิงกฎหมายนัก โดยเราอาจจะอ้างว่าเครือญาติหรือพวกพ้องเป็นคนเก่งมีฝีมือ แต่หากวัดด้วยความเหมาะควร ถูกต้องเหมาะสมแล้ว สิ่งนี้หากมากเกินไปจะทำให้สังคมเกิดความรู้สึกไม่พอใจได้ และท้ายสุดก็จะทำให้เราเสียความเชื่อมั่นและศรัทธาจากสังคม

กฎหมายอาจไม่ห้ามให้นายกรัฐมนตรีของไทยซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่งราคา 2,200 ล้านบาท บินฉุยฉายไปทั่วโลก แต่เรื่องนี้หากเรานำองค์ประกอบเรื่องความเหมาะควร เหมาะสม มากำกับ เราก็อาจจะรู้สึกว่าเราไม่ควรซื้อ เพราะเป็นเรื่องที่เกินฐานะของประเทศ และหากคิดย้อนกลับไปว่าทำไมนายกรัฐมนตรีของไทยคนอื่นๆ จึงเดินทางด้วยเครื่องบินของการบินไทย ของกองทัพอากาศได้ ก็อาจจะทำให้เราฉุกคิดว่า เครื่องบินที่ว่านี้จำเป็นหรือไม่จำเป็น

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน มีข่าวชิ้นหนึ่งของอังกฤษ บอกว่ารัฐมนตรีคลังของอังกฤษไม่เห็นด้วยที่นายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรี จะซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่ง เพื่อความสะดวกสบายใจการเดินทางไปรอบโลก โดยเครื่องบินนี้จะมีความหรูหราและอุปกรณ์คล้ายเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ของประธานาธิบดีสหรัฐ เครื่องบินดังกล่าวจึงถูกเรียกในเชิงล้อเลียนว่า "แบลร์ ฟอร์ซ วัน"

รัฐมนตรีคลังบอกว่า จงภูมิใจเถิดว่าอังกฤษเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 8 ชาติ หรือจี-8 ที่ผู้นำฝ่ายบริหารไม่มีเครื่องบินหรูหราประจำตำแหน่ง(กลุ่มจี-8 คือกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกนี้) รัฐมนตรีคลังยังพูดตรงๆ อีกว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับรองรับหรืออวดอ้าง "อภิสิทธิ์พิเศษหรือบารมี" ของนักการเมือง

ไม่ทราบว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลทักษิณ 1 ที่มีการอนุมัติซื้อเครื่องบินลำนี้ รวมถึงนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน จะรู้สึกอย่างไร เมื่อได้อ่าน ได้ยินการแสดงความคิดเห็นของรัฐมนตรีคลังอังกฤษเช่นนี้

เราจะมีรัฐมนตรีคลังที่กล้าทัดทาน คัดง้างนายกรัฐมนตรี อย่างที่รัฐมนตรีคลังอังกฤษทำหรือไม่ หากเห็นว่าสิ่งที่หัวหน้ารัฐบาลทำไม่ถูกต้อง ไม่สมควร

เรื่องเครื่องบินประจำตำแหน่งของนายกฯไทย หรืออาจจะเรียกว่า "ทักษิณ ฟอร์ซ วัน" นี้ไหนๆ ก็ดันทุรังซื้อไปแล้ว หากวันนี้คิดได้ว่าเป็นเรื่อง "ไม่สมควร" ก็ควรที่นายกฯจะควักเงินส่วนตัวจ่ายค่าเครื่องบินลำนี้ แล้วบริจาคให้หลวง หรืออีกอย่างหนึ่งก็ควรจะควักเงินส่วนตัวเป็นค่าซ่อมบำรุงลำนี้ ซึ่งว่ากันว่าตกปีละประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อเป็นการคืนกำไรแก่สังคม เพราะท่านนายกฯร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับ 14 ของโลก

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก บริจาคเงินให้สังคมไปแล้ว 4 ล้านล้านบาท หรือเกินครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศไทย(ประเทศไทยมีขนาดจีดีพี 7 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้บิล เกตส์ บอกว่าเขาจะกันทรัพย์สินไว้ให้ลูกเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นายกฯของไทยต้องการเอาอย่างหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่ทรงเน้นย้ำมากก็คือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งมีพระประสงค์ให้คณะรัฐบาล ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียง อย่าดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องใช้ "เงินมาก" ท่านได้ทรงย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ชาติไปรอดได้อย่างยั่งยืน แม้ว่าจะไม่สะดวกสบายนัก แต่ก็พออยู่ได้

หากพิจารณาแล้ว นโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่นี้ สวนทางค่อนข้างมากกับเศรษฐกิจพอเพียง เพราะแต่ละโครงการใช้เงินมากเหลือเกิน โดยเฉพาะอภิมหาโปรเจ็คต์หรือเมกะโปรเจ็คต์ ที่จะเปิดประมูลให้ฝรั่งเข้ามาวางแผน ออกความคิดพัฒนาประเทศไทยแบบก้าวกระโดด

หากบรรดาคณะรัฐมนตรีและนักการเมือง ฟังพระบรมราโชวาทแล้ว แต่เมื่อพ้นจากศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต แล้ว พวกเขาลืมสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสโดยเฉพาะเรื่องความพอเพียง ก็เป็นหน้าที่ของพสกนิกร ที่จะพินิจพิจารณาว่า การดำเนินชีวิตแบบไหน จึงจะทำให้ชีวิตมีมงคล ร่มเย็น มั่นคงและยั่งยืน
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ระวัง ลืมพระราชดำรัส : ถ้าไม่ระวัง เมืองไทยตาย

โพสต์ที่ 6

โพสต์

รัฐบาล"ทักษิณ"ต้องปรับตัว

บทนำมติชน 8/12/48

คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคนในรัฐบาลที่บอกว่า จะน้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใส่เกล้าใส่กระหม่อมและน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ แม้จะเป็นท่าทีที่ดีอันแสดงถึงการเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่คำพูดอย่างเดียวย่อมไม่อาจบันดาลให้บังเกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนได้ อีกทั้งสิ่งที่รัฐบาลพูดและทำมาโดยตลอดก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็น ไม่น่าจะสอดคล้องกับแนวพระราชดำริและพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาโดยตลอด

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะสั่งให้ทนายความถอนฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการทั้งทางแพ่งและทางอาญาอาจจะเป็นการลดทิฐิและคลายความเป็นผู้มีอัตตาสูงลงไปได้บ้าง แต่ต้นเหตุมาจากการไม่เปิดใจกว้างรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป การเรียกขานบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเองว่าเป็น "ขาจร" และ "ขาประจำ" ย่อมเท่ากับเป็นการตราหน้าผู้อื่นให้ถูกสังคมมองไปในทางลบ ทั้งๆ ที่ความเป็นบุคคลสาธารณะของนายกรัฐมนตรีซึ่งยืนอยู่ในที่แจ้งและอำนาจหน้าที่เกี่ยวพันกับผลได้ผลเสียต่อประเทศชาติควรจะมีความอดทน อดกลั้น สำรวจสติและระมัดระวังการพูดและการกระทำดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม

ดังนั้น จึงไม่เพียงแต่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเคารพในการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการตรวจสอบตัวเองและรัฐบาลแล้ว รัฐบาลยังต้องให้เสรีภาพกับสื่อมวลชนด้วยการปฏิบัติให้เห็นด้วย รายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ที่ประชาชนเคยดูทางช่อง 9 ซึ่งถูกคณะกรรมการบริหารช่อง 9 ถอดออกไปอย่างง่ายดาย เวลาได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่นายสนธิพูดนั้นชอบแล้ว รายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" จะหวนคืนกลับมาอีกครั้งเมื่อไรเพื่อมิให้รายการนี้ต้องสัญจรไปที่สวนลุมพินีและที่อื่นๆ ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและกลายเป็นวิกฤตต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล รวมทั้งรายการที่เป็นเวทีของประชาชนได้พูดแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่มีให้ดูทางโทรทัศน์ รัฐบาลจะดำเนินการให้โทรทัศน์เสนอรายการดังกล่าวนี้ได้หรือไม่

การบริหารราชการที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่มีการปล่อยให้คนใกล้ชิดที่เป็นพวกพ้องและเครือญาติใช้ตำแหน่งและอำนาจของรัฐบาลไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ สร้างความร่ำรวยให้กับคนที่ใกล้ชิดเพียงหยิบมือเดียว ปล่อยให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไป ไม่มีพวกพ้อง ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลได้รับความไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ การสนับสนุนส่งเสริมพวกของตนเองให้มีตำแหน่ง ก้าวหน้าในทางราชการ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณควรจะแสดงความชัดเจนว่าจะมีมาตรการอะไรและจะให้ประชาชนรอนานอีกแค่ไหนถึงจะได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้น

การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง การเตรียมการที่จะแสวงหาพลังงานทดแทนเพื่อประเทศไทยในอนาคตจะได้ไม่มืดมนอนธการกับการเป็นหนี้เป็นสินต่างชาติที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและคนไทยก็เผาผลาญกันอย่างเมามันปีละจำนวนมหาศาล โดยหารู้ไม่ว่า นี่คือการทำลายประเทศชาติและคนไทยในวันนี้กำลังปล่อยให้ลูกหลานที่จะเกิดและเติบโตในวันข้างหน้ามีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก รัฐบาลที่เดินหน้าด้วยนโยบาย "ประชานิยม" ซึ่งประชาชนมีความชื่นชมในระยะสั้นๆ และส่งผลบวกในคะแนนเสียง แต่ในระยะยาว หาได้สร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเองไม่

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือเป็นมงคลชีวิตสูงสุดถ้าหากรัฐบาลน้อมนำไปปฏิบัติได้จริงดังที่คนในรัฐบาลพูด ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะน้อมรับพระราชดำรัสแต่เพียงคำพูด แต่การกระทำยังคงเป็นไปเหมือนเดิมดังที่ประชาชนได้เห็นมา รัฐบาลจะปรับตัวได้หรือไม่ อย่างไรเป็นเรื่องของรัฐบาลโดยแท้ จึงต้องติดตามดูพฤติกรรมในปฏิบัติตนและการบริหารราชการของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีกันต่อไป
ล็อคหัวข้อ