ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
LOSO
Verified User
โพสต์: 2512
ผู้ติดตาม: 0

ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ชำแหละนโยบายศก.แม้ว ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"ระวังเมกกะโปรเจ็คต์อาจเจ๊ง

"สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขยายตัวเร็วช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่จริงแล้วมาจากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก และไม่ใช่ไทยประเทศเดียว ประเทศอื่นๆ ในเอเชียขยายตัวสูงเหมือนกัน เป็นการขยายตัวแทบทุกภูมิภาคของโลก ฉะนั้น เมืองไทยเศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ได้แปลกกว่าคนอื่น"

เป็นคำวิพากษ์ต่อผลงานของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จากคนระดับประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทยชื่อ นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แล้วยิ่งการันตีความเผ็ดร้อน

บลจ.กสิกรไทยถือได้ว่า เป็น บลจ. ที่บริหารกองทุนที่ใหญ่ระดับต้นของเมืองไทย อาชีพหลักบริหารกองทุนประเภทต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนรวมทั้งเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับบริษัทต่างๆ และกองทุนส่วนบุคคล ฉะนั้น ที่นี่จึงเป็นแหล่งดูดซับข้อมูลจากทั่วทุกสารทิศ

"การส่งออกที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ไม่ได้มาจากการปรับตัวของประสิทธิภาพในการผลิตการปรับประสิทธิภาพอาจจะมีบ้างแต่ไม่มากเท่าไหร่"

เป็นอีกประโยคหนึ่งที่เหมือนบอกเป็นนัยว่า รัฐบาลทักษิณนั้นมากับ "ดวง" มากกว่า "ฝีมือ"

"หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (ปี 2540) เราลดการลงทุนเยอะ กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเหลือ ไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า ระบบธนาคารมีสภาพคล่องเยอะ ดอกเบี้ยต่ำ เพราะฉะนั้น การนำเข้าสินค้าทุนลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และรัฐบาลกระตุ้นให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจขายตัวเร็วขึ้น"

"ครั้นมาถึงจุดที่จะต้องลงทุนใหม่ มาเจอภาวะราคาน้ำมันแพง ทำให้ดุลการค้าขาดดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างรวดเร็ว จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมืองไทยจะกลับมาขาดดุล ปีนี้เป็นปีแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจประเทศในเอเชียยกเว้นจีน การค้าไม่เกินดุลอีกแล้ว ใกล้ๆ จะสมดุลทั้งที่ก่อนหน้านี้เกินดุลมาตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้ปรับประสิทธิภาพการผลิต ไม่ได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอลง น้ำมันราคาแพง ปัญหาจะกลับมาใหม่"

คำว่า "ปัญหาจะกลับมาใหม่" ในความหมายของเขาคือ การส่งสัญญาณถึงรัฐบาลทักษิณที่กำลังจะเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท และดอกเบี้ย ฯลฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในแสวงหาเงินตราต่างประเทศของเมืองไทย

แล้วอะไรคืออาการไข้ที่จะบ่งเป็นรูปธรรมว่า ปัญหาจะกลับมาใหม่

"ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเป็นอาการที่ไม่ดีแล้ว"

หากยึดถือตามคำแถลงของแบงก์ชาติ เท่ากับเมืองไทยเริ่มเจ็บป่วยมาแล้วหลายเดือน

ภูมิหลังของนายปิยะสวัสดิ์ หลายคนรับรู้ว่าเขาเป็นผู้ชำนาญที่รู้เรื่อง "น้ำมัน" ดีคนหนึ่งของเมืองไทย แต่เนื้อแท้แล้วนายปิยะสวัสดิ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ให้การยอมรับและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสม่ำเสมอ

เขาจบปริญญาโทและเอกทางเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics แล้วกลับมาทำงานที่สภาพัฒน์ยุค ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นหนึ่งในทีมงานของรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ปลดราคาน้ำมันออกจากการเมืองโดยใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน จากนั้นมาเป็นเลขาธิการสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักนโยบายพลังงานแห่งชาติ

นายปิยะสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า พฤติกรรมของเรายังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เรามีการออมที่ไม่เพียงพอ หากเราจะลงทุนเยอะเราต้องออมเยอะด้วย ไม่งั้นจะมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ผ่านเราเกินดุลไม่ใช่เพราะออมเยอะ แต่เราลงทุนน้อยต่างหาก สัดส่วนการออมไทยเทียบจีดีพีลดลงมาก อาจจะเพราะนโยบายรัฐ อีกส่วนเพราะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ประชาชนกู้เงินมาใช้จ่าย แต่ออมเงินน้อยลง

ทัศนะเรื่องเงินออมของนายปิยะสวัสดิ์ สอดคล้องกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติอย่างยิ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอกว่า ตอนนี้สัดส่วนการออมภาคครัวเรือนเทียบกับจีดีพี เหลือ 4% ขณะที่อดีตที่ผ่านมานั้นมีสัดส่วนสูงถึง 10% ตอนนี้เขากำลังทำแผนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการออมภาคครัวเรือน รวมทั้งแผนรณรงค์ให้บริษัทเอกชนที่มีเงินออมเยอะนำเงินกลับมาลงทุนใหม่

หนึ่งในแผนนั้นคือ การปรับนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามแนวทางใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีการเก็บภาษีของหลายๆ ประเทศ



ต่อนโยบายมงฟอร์ต และแนวทางการบริหารเศรษฐกิจตามทฤษฎีรักษาโรคเบาหวานของนายกฯ ทักษิณนั้น ประธานกรรมการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า นโยบายที่ดีขึ้นคือ เลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล เหลือแต่เรื่องราคาแก๊สหุงต้มกับค่าไฟฟ้าที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่นโยบายบางเรื่องที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นหากไม่มากเกินยังพอไปไหวและควรเลือกวิธีกระตุ้นให้เหมาะสม

"การลงทุน (สาธารณูปโภค) ควรเน้นเรื่องที่เกิดปัญหาขาดแคลนและเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แล้วต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพ ให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด บางโครงการในเมกะโปรเจ็คต์ 1.7 ล้านล้านบาท หากไม่ชัดเจนควรยกเลิก"

"อะไรก็ตามที่กระตุ้นการบริโภคควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะปัจจัยบวกหายไปแล้วมีแต่ปัจจัยลบเต็มไปหมด" เป็นคำเตือนระดับประธานที่มีถึงรัฐบาล เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่สัมผัสกับนักลงทุนต่างประเทศระดับโลกมากหน้าหลายตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเสร็จสิ้นจากงาน "ไทยแลนด์โฟกัส" งานขายโครงการลงทุนหรือขายฝันของรัฐบาล เขาย้ำว่า "ผมยังไม่เจอใครที่พูดในทางที่ดีขึ้นว่า เขาฟังแล้วมีความมั่นใจ มีแต่เจอในทางตรงข้าม เขาบอกว่าไปที่อื่นดีกว่า เช่น เกาหลี ผมถามว่าเกาหลีก็แย่ไม่ใช่หรือ เขาบอกว่าบรรยากาศตอนนี้ไทยไม่ต่างจากเกาหลี"

"การชี้แจงไม่ว่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การขายพันธบัตรรัฐบาล หรืออะไรก็แล้วแต่ ประเด็นที่ชี้แจงต้องแม่นชัดเจน หากไม่ชัดเจนอย่าชี้แจงดีกว่า"

"คุณปิยะสวัสดิ์ มองทุกอย่างในแง่ลบเกินไปหรือไม่" หากไม่ตั้งคำถามนี้แทนคนของรัฐบาล เราอาจจะไม่ได้รับฟังคำตอบนี้

"ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอมา เพียงแต่ตอนนี้มองค่อนข้างลบ อย่างราคาน้ำมันผมมองว่าจะลงเพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะลงเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ไม่เชื่อว่าจะขึ้นไป 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะระดับราคาที่เกินกว่า 40 ดอลลาร์จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนและมีการประหยัด"

เป็นคำตอบที่บ่งบอกว่า ยังมีแสงสว่างที่ปลายถ้ำ เพียงแต่รัฐบาลต้องรู้จักบริหารจัดการ ท่ามกลางปัจจัยลบที่แข่งแกร่งอย่างยิ่ง
ภาพประจำตัวสมาชิก
naris
Verified User
โพสต์: 6726
ผู้ติดตาม: 0

ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ถ้าว่าส่วนที่ดีเกิดจากดวงดี แล้วสิ่งที่ไม่ดีว่าเขาจัดการแย่ ผมว่ามันก็ไม่ยุติธรรม
มีหลายอย่างที่เขาทำดีก็ต้องว่าดี มีหลายอย่างที่เขาทำไม่ดีผมไม่ชอบก็เยอะ
มีหลายอย่างที่เขาก็มีดวงดีส่งเสริม แต่ก็หลายอย่างที่1-2ปีมานี้ดวงประเทศไทยเราไม่ค่อยดีจริงๆ
ราคาระยะสั้นตามข่าว--ราคาระยะยาวตามผลกำไร
ภาพประจำตัวสมาชิก
tummeng
Verified User
โพสต์: 3665
ผู้ติดตาม: 0

ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

โพสต์ที่ 3

โพสต์

รู้ตัวแล้วล่ะ กองทุนไหนขายเอ่ย

:lovl: :lovl: :lovl:
Price is what you pay. Value is what you get...
Aloha
Verified User
โพสต์: 29
ผู้ติดตาม: 0

ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

โพสต์ที่ 4

โพสต์

สร้างภาพสวย หลอกให้คนเชื่อมั่น แจกเงินชั่วคราว กระตุ้นให้รากหญ้าจับจ่ายเคยมือ แล้วอัดต่อด้วยดอกเบี้ยต่ำ ก็นิสัยเสียแล้ว จะแก้ให้รักการออมได้ไง

เมกะโปรเจค์ สร้างภาพสวยหรู หวังดึงเงินเข้าได้เร็วๆ แต่ฝรั่งไม่โง่ เสียดายเป็นรัฐบาลทีมีความมั่นคง น่าจะทำเรื่องยากๆ ที่เป็นพื้นฐาน แบบ ปรับโครงสร้างราชการ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้หลากหลาย ให้มีเทคโนโลยี่เพิ่ม ให้มีความเข้มแข็งเชิงเปรียบเทียบเพิ่ม อย่ามัวทำนโยบายประชานิยมหวังผลสั้นอยู่อีกเลย
chatchai
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 11443
ผู้ติดตาม: 0

ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

โพสต์ที่ 5

โพสต์

อ่านความเห็นของบุคคลอื่นประกอบด้วยครับ จะได้มีความเห็นรอบด้าน ไม่มีอคติ

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ มั่นใจปัญหาแค่ "ระยะสั้น" เชื่อการบริหารจัดการ "เอาอยู่"

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคมายาวนาน และเป็นผู้หนึ่งที่มักเป็นผู้คาดการณ์/ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะไปในทิศทางใด ดร.โอฬารบอกว่า "ในแง่การบริหารจัดการ อย่าหลงประเด็น ตามประเด็น มีเหตุมีผล ตามข้อมูลสนับสนุน ไม่มีใครวิเคราะห์ถูก 100% คุณก็ต้องดูประวัติของคนคนนั้นว่าที่ผ่านมาเขาวิเคราะห์ถูกกี่เปอร์เซ็นต์ สื่อต้องเป็นคนประเมิน และคุณก็ได้ยินผมมา 30 ปีแล้ว คุณก็วิเคราะห์เอาเองว่าผมถูกหรือผิด ฟังเหตุผลที่ผมเล่าแล้วมีความเป็นไปได้ไหม แต่เวลาจะเป็นเครื่องบอกว่าถูกหรือผิดกี่เปอร์เซ็นต์"

ดร.โอฬารตอบคำถามว่า ทำไมความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุนลดลง ว่าความเชื่อ มั่นลดลงคงจะเชื่อมโยงเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะสั้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และคงจะต้องมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและความรุนแรงให้น้อยลงหรือให้หายไป ให้เข้าสู่ภาวะปกติภายใน 6 เดือนที่เหลือของปีนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ดร. โอฬารบอกว่า "เป็นเรื่องระยะสั้นทั้งหมดในความเห็นของผม และจะต้องมีการจัดการกับมันให้ได้ภายใน 6 เดือนหลังปีนี้"

มั่นใจปัญหาที่รุมเร้า แค่ "ระยะสั้น"

ปัญหาระยะสั้นที่ว่าก็คือ 1.เรื่องสึนามิ ซึ่งกระทบกับการท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลที่จำเป็นต้องบูรณะ ซ่อมแซม เพื่อนำนักท่องเที่ยวกลับมาสู่สถานที่ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากๆ อีก ครั้งหนึ่ง

2.ภาวะอากาศแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นในปลายปีที่แล้วช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จนถึงตอนนี้ประมาณ 9 เดือนแล้วภาวะแห้งแล้งต่อภาคเกษตร การตกของฝนเริ่มปกติ แต่ผลผลิตเกษตร เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อย ทั้ง 3 ตัวนี้ถูกกระทบไปแล้วคือ ปริมาณผลผลิตลดลง กระทบการส่งออกสินค้าทั้ง 3 ตัวในปี 2548 ลดลง แม้ราคาของสินค้าทั้ง 3 จะดีขึ้นก็ตาม

แต่แนวโน้มของน้ำที่จะมาช่วยภาคเกษตรจนถึงวันนี้เป็นปกติ ไม่แล้งจนเกินไป ขณะเดียวกันผลกระทบที่น้ำในเขื่อนมีน้อยและไม่ได้เสริมไว้ ที่กระทบต่อการใช้น้ำอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่กระทบทั้งประเทศ คำว่าน้ำอุตสาหกรรมคือ ในบริเวณระยอง นิคมมาบตาพุด ซึ่งในมาบตาพุดมีโรงงานหลายประเภท โรงงานที่ผลิตของที่ไม่ใช่น้ำก็มีเยอะ เช่น โรงงานผลิตยาง โรงงานประกอบรถยนต์ แต่มีโรงงานปิโตรเคมี 10 กว่าโรง กระทบบางโรงในด้านการผลิต บางโรงก็มีเรือขนน้ำมาใช้ คงจะช่วยทุเลาความรุนแรงของน้ำขาดแคลนของโรงงานปิโตรเคมีคอลจนกว่าฝนจะตกตามปกติในหน้าฝน ซึ่งอันนั้นเป็นเรื่องระยะสั้นมากไม่ได้กระทบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งประเทศ และแม้แต่ในมาบตาพุดก็ไม่ได้กระทบทุกโรงงาน

อันนี้เป็นบทเรียนว่าจะต้องบริหารการจัดการน้ำในภาคตะวันออก เพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อเกษตร และอื่นๆ เป็นแผนบูรณาการและต้องมีมาตรการในการเสริมสร้าง เช่น ต่อท่อจากเขื่อนที่มีน้ำเยอะๆ ซึ่งระยะทางในภาคตะวันออกไม่เกิน 200 กิโลเมตร อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ในอีก 1 ปีข้างหน้า ขณะนี้เข้าใจว่ามีการยกร่างแผนการแก้ไขในปีต่อไป เช่น การขุดน้ำบาดาล การต่อท่อจากแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลเยอะๆ ใน จ.ตราดก็มีเยอะ เพียงแต่ไม่มีท่อ การวางท่อจึงไม่ใช่เรื่องยากแค่ 200 กิโลเมตรทำปีหนึ่งก็เสร็จ

นี่เป็นการแก้ไขปัญหาในปีต่อไป เป็นเรื่องการบริหารจัดการ รวมทั้งปัญหาการไม่มีระบบที่จะคาดคะเนการขาดแคลน และไม่มีเครื่องมือที่จะผันน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ได้ทันการ เพราะไม่คาดว่าความแล้งจะติดต่อกัน 2-3 ปี หากมีระบบเสริมก็น่าจะดูแลเรื่องอุตสาหกรรมได้เพียงพอ ซึ่งกระทบเฉพาะโรงงานปิโตรเคมีคอลพร้อมกับยืนยันว่า "เป็นปัญหาระยะสั้นที่มีความแห้งแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี"

3.ปัญหาอีกเรื่องที่อาจจะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นระยะสั้น แต่เวลาจะเป็นเครื่องวัดว่าประเมินถูกหรือไม่ คือการขาด แคลนน้ำมันและราคาน้ำมันแพง หากวิเคราะห์ในระดับโลกทำไมราคาน้ำมันแพงในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา กล่าวคือ เศรษฐกิจในประเทศผู้ที่ไม่เคยใช้น้ำมันมากนัก มีการใช้น้ำมันสูงมาก ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียโดยเฉพาะจีนที่เติบโต 9.5% ต่อปี และอินเดียเติบโตในอัตราสูง ความต้องการน้ำมันดิบจากแหล่งต่างๆ ของโลกในปี 2547 ขยายตัวปริมาณ 30% ทำให้เกิดการคาดคะเนว่าจะขยายตัวสูงมาก มีคนประมาณการไว้ว่า ความต้องการน้ำมันดิบของโลกที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว ปกติจะต้องการประมาณ 80 ล้านบาร์เรล/วัน ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นอีกวันละ 3 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งใน 83 ล้านบาร์เรล ประมาณ 44% คือประมาณ 13-14 ล้านบาร์เรลมาจาก 5 ประเทศในเอเชียคือ จีน อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน และไทย

5 ประเทศนี้มีความต้องการน้ำมันดิบ 44% ของน้ำมันทั้งหมด และใน 3-4 เดือนแรกของปีนี้ความต้องการดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นไปอีกเล็กน้อย เป็น 83.5 ล้านบาร์เรล/วัน แต่มีเทิร์นนิ่งพอยต์เกิดขึ้น ดร.แอนดี้ ซี แมเนจิ้งไดเร็กเตอร์ของมอร์แกน สแตนเลย์เป็นคนจีน เคยมาพูดเมืองไทยหลายครั้ง บอกว่าปีนี้ความต้องการน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นอีก 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มันจริงแค่ 5 เดือนแรก ในเดือนมิถุนายนเขารายงานว่า ความต้องการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนลดลงประมาณ 3% ประเทศเกาหลี ไต้หวัน อินเดีย ไทย ลดลงประมาณ 1%

สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าหมายนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามาไม่เกิน 850,000 บาร์เรลต่อวัน เรานำเข้าน้ำมัน 1% ของตลาดโลก (83.5 ล้านบาร์เรล/วัน) ตัวเลขนำเข้าเริ่มลดลง สาเหตุหนึ่งเพราะการปรับราคาน้ำมันขึ้นให้สะท้อนความจริงที่มีส่วนช่วยให้น้ำมันที่รั่วไหลไปประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาวที่ขายดีเซลลิตรละ 26 บาท ที่เขมรราคาลิตรละ 28 บาท ขณะที่ก่อนปรับลอยตัวดีเซลของเราลิตรละไม่ถึง 20 บาท น้ำมันไหลออกไปอย่างไม่เป็นทางการแถวชายแดน เพราะราคาต่างกันเยอะ การปรับราคาของเราขึ้น ไม่กระทบราคาน้ำมันบ้านเขา ทั้งนี้เพราะต้นทุนดีเซลของเราต่ำจึงไหลเข้าไป ตอนนี้ปรับขึ้นเท่าบ้านเขา เขาก็ไปซื้อจากแหล่งปกติใช้

เราจึงแน่ใจว่า 850,000 บาร์เรล/วันจะเพียงพอประคับประคองให้เศรษฐกิจเราเติบโตในอัตราพอสมควร ไม่ต้องลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้มีการนำเข้าน้ำมันเกินกว่า 850,000 บาร์เรล/วัน เพราะราคาขึ้นไปอยู่คนจะประหยัดและลดการรั่วไหล

เชื่อนำเข้าน้ำมันลดแน่

ครั้งนี้เป็นการบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมันใน 6 เดือน ตอนนี้เรามีการติดตามตัวเลขการนำเข้าน้ำมันรายวัน เป็นการบริหารจัดการเป็นรายวัน ต้องไม่ให้เกิน 850,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นเงิน 50 ล้านเหรียญ/วัน หรือ 1,500 ล้านเหรียญ/เดือน อันนี้คือการบริหารจัดการนำเข้าน้ำมันเพื่อให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่ดีพอสมควร เมื่อปรับราคาลอยตัวแล้วจะต้องใช้อย่างประหยัด เพราะราคาแพงและไม่ให้รั่วไหลไปประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้บริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ครึ่งหลังของปีจะ "บริหารจัดการ"

4.สถานการณ์เหล็ก ในเดือนมิถุนายน 2548 ราคาตก 25% จนถึงวันนี้ยังไม่ฟื้น เพราะฉะนั้นการนำเข้าเหล็กมากในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาก็น่าจะเริ่มระบายออก ก็ไม่น่าจะนำเข้าเพิ่ม นี่ก็เป็นการบริหารจัดการอีกตัวหนึ่ง ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการพูดคุยกับผู้นำเข้าเหล็กแล้ว และปัจจุบันราคาก็ลดลงด้วย ก็คาดว่าครึ่งปีหลังไม่คิดว่าเพิ่มมากเหมือนครึ่งปีแรก ส่วนทองคำก็ไม่มีปัญหาแล้วว่าจะนำเข้าเท่าไร

นอกจากนี้ มีรายการนำเข้าอย่างอื่นคือ เครื่องบิน 8 ลำของการบินไทย ลำละ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ทยอยเข้ามาเดือนละ 1 ลำหลังจากนี้ไป

โดย ดร.โอฬารเน้นว่านี่คือการลงทุน ในที่สุดจะได้เงินคืนหมด

ที่เหลือเป็นการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการลงทุนต่างๆ ก็เติบโตในอัตราประมาณ 20% ใกล้เคียงกับปีที่แล้วซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่ใช่เมกะโปรเจ็กต์

ชี้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ไม่ใช่ผลเมกะโปรเจ็กต์

ดังนั้น โดยสรุปการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดใน 6 เดือนแรกมาจากน้ำมัน ทั้งปริมาณและราคา มาจากเหล็ก ทองคำที่เก็งราคา ส่วนสินค้าทุนเข้ามาปกติตามแผนการลงทุนที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต เป็นการเพิ่มขนาดของถังน้ำคือ supply creation มันต้องมีการลงทุนถาวร รวมทั้งเครื่องบิน หรือระบบขนส่ง และอื่นๆ ซึ่งปี 2548 ภายใต้เมกะโปรเจ็กต์ยังไม่ได้จ่ายเลยสักสตางค์แดงเดียว

เพราะฉะนั้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดใน 6 เดือนแรกไม่ได้มาจากเมกะโปรเจ็กต์ แต่เป็นการลงทุนต่อเนื่องมาจากของเก่า หากเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะมีผลกระทบในปี 2549 เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นอย่าโยงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกับเมกะโปรเจ็กต์...ไทม์เฟรมมันคนละช่วง

และการขาดดุลบัญชีในช่วง 6 เดือนแรกเป็นระยะสั้น มาจากเหตุผลที่กล่าวข้างต้น ในครึ่งปีหลังบางอย่างได้มีการบริหารจัดการ เช่น เรื่องน้ำมัน บางอย่างตลาดก็ปรับตัวของมันเอง เช่น เหล็ก บางอย่างก็ต้องหาอย่างอื่นมาเสริมคือ เรื่องน้ำในมาบตาพุด และมีธรรมชาติช่วยบ้างอย่างการปลูกข้าว

นี่เป็นด้านนำเข้า ด้านซัพพลายยอดส่งออกเพิ่มแน่

บริษัทแม่ข้ามชาติสั่งเพียบ

ส่วนด้านดีมานด์ต่อเนื่องจากฝนแล้ง มีผลผลิตข้าว อ้อย มันสำปะหลังน้อยลง การส่งออกปี 2548 ซึ่งเป็นผลผลิตที่ออกในปลายปี 2547 ปริมาณส่งออกลดลง แต่ราคาอาจจะดีขึ้น เราผลิตได้ไม่พอเพราะฝนแล้งปีที่แล้ว

การส่งออกด้านอื่นในสินค้าที่มีความต้องการน้อย หรือมีคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนผิดธรรมชาติ ทำให้เราขายของได้น้อย กลุ่มนี้มีการแข่งขันจากคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าเราเยอะ เช่น จีน เขาก็ถูกบ่นทั่วโลกให้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นมาสมเหตุสมผล ก็ทำให้สินค้าที่เราใช้แรงงานมาก เราผลิตของโหลขาย เราสู้เขาไม่ได้ สินค้าเหล่านี้มีปัญหา แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากที่ปรับตัวไม่ทันให้ทันเร็วขึ้น ส่วนสินค้าบางอย่างที่ผู้ส่งออกเป็นต่างชาติที่ผลิตขายในเน็ตเวิร์กของเขา เช่น รถยนต์ ดิสก์ไดรฟ์ อันนี้เราไปคุยกับผู้ส่งออก ของเขาดีมากเพราะมีออร์เดอร์มาจากบริษัทแม่ของเขา ผู้ประกอบการเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นแหล่งการเพิ่มของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไฮเทค คาดว่าจะเพิ่มในไตรมาส 3 ทำให้ความสามารถในการส่งออกเป็นบวก

ส่วนสินค้าที่แข่งขันไม่ได้ต้องปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มการแข่งขัน ซึ่งค่าเงินที่ไม่แข็งจนเกินไปจะช่วยอุตสาหกรรมประเภทนี้เพราะว่าประเทศคู่แข่งหลักของเรามีค่าเงินที่อ่อนจนเกินไป เราจะช่วยผู้ส่งออกประเภทนี้บ้างหากค่าเงินบาทเราไม่แข็งจนเกินไป

มั่นใจครึ่งปีหลังส่งออกโต 20%

ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งออกครึ่งหลังของปีเติบโตเทียบกับครึ่งหลังของปีที่แล้วในระดับ 20% ผมจะตีความหมายไม่ใช่ทั้งปี 20% นะ ผมตีแค่ครึ่งหลังของปี ครึ่งแรกของปีจบไปแล้วโตแค่ 13-14% ผมจะไม่พูดเรื่องที่จบไปแล้ว แต่พูดถึงอนาคต 6 เดือนข้างหน้าถ้าการส่งออกสินค้าเราได้ 20% ก็เป็นทิศทางที่ดีสำหรับการส่งออกไทย

กลุ่มที่ critical มากคือ รายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากสึนามิที่รู้สึกไม่เชื่อในความปลอดภัยของประเทศไทย แต่ผลกระทบหลักจากการท่องเที่ยวมาจากคนเอเชียมาเที่ยวน้อยลง ยุโรปไม่ได้มาน้อยลง ดังนั้นต้องโปรโมตให้คนไทยและคนที่ไม่กลัวผีที่อยากจะได้ของดีราคาถูกให้มาเที่ยวเยอะๆ ญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้น แต่เอเชียบางประเทศกลัวผี ก็คาดว่าในครึ่งปีหลังน่าจะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น แม้ทั้งปีอาจจะไม่ได้ 13.5 ล้านคน เพราะ 6 เดือนแรกตกไปเยอะ

เชื่อมั่นการบริหารจัดการ "เอาอยู่"

โดยสรุปว่าหากมีการบริหารจัดการนำเข้า การบริหารจัดการเรื่องส่งออก การบริหารจัดการเรื่องท่องเที่ยว ก็น่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้อาจจะขาดดุลเล็กน้อย หรือเกินดุลได้ แม้ครึ่งปีแรกจะขาดดุลไปแล้ว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ถ้าแนวโน้มเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น หากการบริหารจัดการมีผลพอสมควร ความเชื่อมั่นว่าบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลน้อยลงและจะสมดุลในที่สุด ความเชื่อมั่นก็จะกลับคืนมา ซึ่งคุณต้องติดตามดู ผมเพียงแต่เล่าเหตุและผลว่าทำไมความเชื่อมั่นหายไป มันมีเหตุ และเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของเศรษฐกิจ และเรื่องน้ำ ก็จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเมื่อ 12 กรกฎาคม เป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้พนักงานที่บริษัทจ่ายให้เพิ่มขึ้นและนำมาหักภาษีได้ ก็เพื่อให้มี productivity ดีขึ้น ก็ต้องช่วยกันปรับปรุงประสิทธิภาพ

นโยบายลงทุน 3-5 ปีต้องทำ

ชี้ต้องขยาย "ถังน้ำ"

การชดเชยรายได้โดยการขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ค่าครองชีพ เรียกว่านโยบาย income compensation policy เติมให้คนมีรายได้ไม่ถูกกระทบมากนัก แต่ต้องปรับตัวด้วยการประหยัด อาทิ เรื่องราคาน้ำมัน และเราไม่เลิกการลงทุนถาวรที่จะสร้างขยายถังน้ำให้ใหญ่ขึ้นและมีคุณภาพเหล็กที่แข็งแกร่ง ระเบิดตกไม่แตก ต้องทำต่อไป อันนั้นหยุดไม่ได้เพราะเป็นนโยบายระยะกลาง 3-5 ปี

ส่วนเงินเฟ้อก็ต้องขึ้น นั่นเป็นนโยบายที่มาของการขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าจ้าง อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจาก cost push ไม่ใช่ demand pull ปัญหาเงินเมืองไทยมีแต่ cost push ซึ่งมาจาก 1.ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นมา 2.ลดค่าเงินบาท 3.ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากฝนแล้ง

ซึ่งแอนดี้ ซี บอกว่า ใครที่ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไป 80-90 เหรียญต่อบาร์เรลในปีนี้ โดยอ้างว่าการนำเข้าจากจีน อินเดียจะเพิ่มขึ้น อาจจะไม่เป็นไปตามที่อ้าง และมีสถาบัน IEA ที่ลอนดอนออกมาวิเคราะห์ว่า ประเทศในเอเชียจะสั่งซื้อน้ำมันดิบขึ้นเหมือนปีที่แล้วจะ "ไม่จริง"

เมื่อไรก็ตามที่ข้อมูลเริ่มประจักษ์ จากความต้องการในเอเชียเริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อนั้นกระแสจะเปลี่ยน เมื่อนั้นพวกที่ซื้อกระดาษน้ำมันล่วงหน้าเขาจะต้องหากินโดยการปั่นลง คนส่วนใหญ่ในโลกตระหนักว่าดีมานด์น้ำมันไม่ได้ขยายอย่างที่ขยายเมื่อปีที่แล้ว และซัพพลายดูเหมือนจะออกมามากขึ้นๆ เมื่อนั้นจะกลับด้าน ผมไม่รู้ว่ามันเป็นวันไหน

อย่าตระหนกเรื่องขาดดุล

ณ วินาทีนี้ประเทศไทยไม่ได้มีการเกินดุลเหมือนเดิม และค่าเงินบาทไม่แข็งเหมือนจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เพราะเราไม่ได้มีการเกินดุลมากเหมือน 6 เดือนที่ผ่านมา เมื่อไรที่เราสะวิงกลับมา (กลับมาเกินดุล) เราก็เข้ากลุ่มเดียวกับเขาได้ เราเชื่อว่าเป็นเรื่องระยะสั้นที่เกิดจาก 4 ปัจจัยที่พูดมา

ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีจริง คนที่ตระหนกมากหากเข้าใจ มีสมุทัย และมีนิโรธ และปฏิบัติให้เกิดมรรคผล หากไม่รู้สาเหตุอยู่ในห้องมืดแล้วอาการหนาว หากมีใครตะโกนว่าไฟฟ้าก็ต้องรีบวิ่งออก แต่ในห้องเดียวกันอีกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้ว่ามีคนเปิดแอร์ลดอุณหภูมิชั่วคราว แม้คนตะโกนไฟฟ้าก็ไม่วิ่งออก ดังนั้นหากไม่รู้สาเหตุของความทุกข์ ก็ไม่รู้ทางดับทุกข์ ก็ไม่มีวิธีการดับทุกข์ ก็ต้องตกใจเป็นธรรมชาติ

ยันไม่ได้มองบวก

เมื่อถามว่ารัฐบาลมองบวกเกินไปหรือไม่... "ผมไม่ได้มองบวก ผมเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น บางอย่างอาจจะมองผิด เดี๋ยวตัวเลขก็โผล่มาเองว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดก็ต้องหาเหตุว่าที่เรานึกว่าเป็นสาเหตุอาจจะหลงไปหน่อยหนึ่ง สาเหตุที่แท้จริงคืออะไรก็หากันใหม่ นี่คือการบริหารจัดการธรรมดาๆ"

ในแง่การบริหารจัดการ อย่าหลงประเด็น ตามประเด็น มีเหตุมีผล ตามข้อมูลสนับสนุน ไม่มีใครวิเคราะห์ถูก 100% คุณก็ต้องดูประวัติของคนคนนั้นว่าที่ผ่านมาเขาวิเคราะห์ถูกกี่เปอร์เซ็นต์ สื่อต้องเป็นคนประเมิน และคุณก็ได้ยินผมมา 30 ปีแล้ว คุณก็วิเคราะห์เอาเองว่าผมถูกหรือผิด ฟังเหตุผลที่ผมเล่าแล้วมีความเป็นไปได้ไหม แต่เวลาจะเป็นเครื่องบอกว่าถูกหรือผิดกี่เปอร์เซ็นต์

วันนี้ปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วและมีผลกระทบกับเราในทางลบ จะมีการปรับนโยบายแก้เกมอย่างไร

ดร.โอฬารมั่นใจว่ามาตรการของรัฐบาลเมื่อ 12 กรกฎาคม มีผลที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมากๆ มาขาดดุลน้อยลงเรื่อยๆ ในระยะเวลา 6-12 เดือนข้างหน้า และเมื่อดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นความมั่นใจก็จะค่อยๆ กลับมา

อย่างไรก็ตาม ให้รอดู 2-3 เดือนข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร จะถูกหรือไม่...


ถ้าจะอ่านครบถ้วนที่ http://www.matichon.co.th/prachachart/p ... tus=&show=
จงอยู่เหนือความดี อย่าหลงความดี
ภาพประจำตัวสมาชิก
naris
Verified User
โพสต์: 6726
ผู้ติดตาม: 0

ไร้ฝีมือ มากับ"ดวง"

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณครับพี่ฉัตรชัย :mrgreen:
ราคาระยะสั้นตามข่าว--ราคาระยะยาวตามผลกำไร
ล็อคหัวข้อ