โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 4 สิงหาคม 2555
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เงินคือพระเจ้า
ถ้าจะให้ผมจัดลำดับแนวความคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญที่สุดในโลกที่ทำให้โลกเรานี้เจริญก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้แล้วละก็ ผมคิดว่าหนึ่งในนั้นก็คือ “เงิน” ดังนั้น คำพูดที่ว่า “เงินคือพระเจ้า” นั้น น่าจะมีความเป็นจริงอย่างยิ่ง นี่ก็เป็นเรื่องที่พูดโดยรวม เป็นการพูดระหว่างเงินกับมนุษยชาติ คือมองว่าถ้าไม่มีเงิน มนุษยชาติก็คงยังล้าหลังและพวกเราทุกคนที่อ่านบทความนี้ก็น่าจะลำบากกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก ว่าที่จริงตัวผมเองก็คงจะต้อง “อดมื้อกินมื้อ” เพราะเรี่ยวแรงและความสามารถที่จะไป “ทำมาหากิน” นั้น ดูจะน้อยกว่าคนอื่น ผมเองนั้น น่าจะทำเก่งหรือทำเป็นเฉพาะอย่าง ส่วนอย่างอื่นรวมถึงอาหารนั้น ผมต้อง “ซื้อมากิน” และการซื้อนั้น มันต้องใช้เงินเป็นหลัก ดังนั้น สำหรับผมแล้ว “เงินคือพระเจ้า” อย่างแน่นอน มาดูกันว่าทำไม? และประวัติคร่าวๆ ของพระเจ้าองค์นี้
ก่อนที่จะมีเงินเกิดขึ้นในโลกนั้น มนุษย์มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน นี่เป็นเรื่องที่จะจำเป็น เพราะมันทำให้คนแต่ละคนสามารถสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างซึ่งทำให้เขามีประสิทธิภาพสูงขึ้น แทนที่คนสองคนต่างก็ปลูกข้าวและผลไม้เพื่อเอาไว้กิน ก็ให้คนหนึ่งปลูกข้าวและอีกคนหนึ่งปลูกผลไม้ แล้วเอาข้าวครึ่งหนึ่งมาแลกกับผลไม้ครึ่งหนึ่ง แบบนี้ทั้งคู่จะได้ข้าวและผลไม้มากขึ้นเนื่องจากแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในการปลูกมากกว่าต่างคนต่างปลูก การแลกเปลี่ยนสินค้านี้ มนุษย์เราทำมานานมาก น่าจะเป็นหมื่นปีนับจากที่เราเริ่มเป็นเกษตรกรและที่จริงน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดมนุษย์ขึ้นในโลกด้วยซ้ำ เพียงแต่เมื่อมนุษย์ตั้งถิ่นฐานแล้ว การแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้นมากมายเนื่องจากเราสามารถผลิตอาหารได้มากเกินกว่าการบริโภคส่วนตัวจึงต้องนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่นจากคนที่หันไปทำอาชีพอื่น สังคมของการแลกเปลี่ยนนั้นน่าจะดำรงอยู่เป็นพันๆ ปี
การเกิดขึ้นของเงินนั้น น่าจะมาจากความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เป็นรายการเล็กๆ ที่ทำให้การใช้สินค้ามาแลกกันนั้นไม่สะดวก ดังนั้น ก้อนโลหะที่หายากจึงเริ่มถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเมื่อประมาณ 6000 ปีมาแล้ว ซึ่งก็คงน่าจะเกิดขึ้นในย่านตะวันออกกลางเช่นที่อียิปต์ซึ่งเป็นแหล่งอารยะธรรมแรกๆ ของโลก ต่อมาในราวช่วง 2500-2700 ปีที่ผ่านมา โลหะเช่นบรอนซ์ เงิน และทองได้ถูกนำมาใช้เป็นเงินโดยการขึ้นรูปเป็นแบบต่างๆ เช่น ทำเป็นรูปมีด หรือพลั่ว ในจีน และเป็นเหรียญ ในตุรกี เป็นต้น โดยแต่ละแบบก็จะมีค่าที่แตกต่างกัน พูดถึงเรื่องนี้ แม้แต่ในประเทศไทยเอง เมื่อไม่นานมานี้ อาจจะแค่ 200 ปี เราก็ยังใช้เงินพดด้วงซึ่งก็น่าจะมีคุณลักษณะคล้ายๆ กันในการเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนสินค้า
เงินที่เป็นกระดาษหรือ “แบงค์” นั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นประมาณไม่เกิน 1000 ปี ในประเทศจีนตามที่มาร์โคโปโลได้เขียนบันทึกไว้เมื่อเขาเดินทางมาเมืองจีน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเงินกระดาษที่ว่านั้นก็ยังไม่ใคร่ได้รับความนิยมมากนัก คงคล้ายๆ กับเงิน “กงเต็ก” ค่าที่ว่าคุณภาพของกระดาษคงจะแย่มากจนมันขาดวิ่นได้ง่ายๆ เมื่อใช้ผ่านไปไม่กี่มือ ส่วนเงินกระดาษยุคใหม่นั้น ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และมันก็คือ “ใบรับฝากทอง” ที่คนเอามาใช้แลกสินค้าแทนทองและโลหะต่างๆ และนี่เองคือสิ่งเดียวที่ผมรู้จักและใช้มันเมื่อผมยังเป็นเด็ก
บัตรเครดิตเป็นนวัตกรรมของเงินที่สำคัญมากโดยเฉพาะในการซื้อขายแลกเปลี่ยนของผู้คนข้ามประเทศและทั่วโลก แนวความคิดเรื่องบัตรเครดิตนั้นเริ่มในอเมริกา โดยคนที่ออกบัตรแรกๆ ก็คือธุรกิจที่เห็นผลประโยชน์ที่จะให้เครดิตแก่ลูกค้าที่มาซื้อของ นั่นคือ ลูกค้าจะชอบและกลับมาซื้อของอีกเพราะสามารถ “ซื้อเชื่อ” ได้ ต่อมาก็มีร้านค้ามากขึ้นที่เข้ามาร่วมเป็น “ชมรม” โดยการรับบัตรเครดิตของบริษัทอื่นๆ ด้วยเวลาลูกค้ามาซื้อของที่ร้านตัวเอง แนวความคิดและการเริ่มใช้บัตรเครดิตนี้เพิ่งจะเริ่มไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง แต่บัตรเครดิตที่เป็นทางการหรือเป็นบัตรที่สามารถใช้ได้ทั่วไปอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้เพิ่งจะเริ่มเมื่อปี 1950 หรือประมาณ 60 ปีมานี้เองโดยบริษัท ไดเนอร์สคลับ และต่อมาบริษัท อเมริกันเอ็กเพรส ก็ได้ออกบัตรเครดิตที่สามารถใช้ได้ทั่วโลกในปี 1958 และนี่ก็คือ บริษัทที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้ซื้อหุ้นจำนวนมากแบบ “ตีแตก” ในช่วงต้นๆ ของชีวิตการลงทุนของเขา
ถ้าจะพูดถึงบทบาทของเงินนั้น นอกจากจะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว มันยังมีบทบาทสำคัญมากอย่างน้อยอีกสองสามเรื่อง เรื่องแรกก็คือ มันเป็นเครื่องมือในการเก็บสินค้าหรือข้าวของต่างๆ ที่เราทำได้มากเกินกว่าที่เราจะใช้ได้หมด นั่นคือ เราแปลงมันเป็นเงินแล้วเก็บรักษาและลงทุนให้มันงอกเงยขึ้นเพื่อที่ว่าในอนาคตเมื่อเราไม่มีแรงที่จะทำงานหรือทำมาหากิน เราก็สามารถเอาเงินที่เราเก็บไว้มาใช้ซื้อสินค้าที่เราต้องการได้ นอกจากนั้น เงินจะเป็นตัวบอกถึงความมั่งคั่งที่เรามี ทำให้เรารู้ว่าเรามีศักยภาพที่จะใช้สินค้าต่างๆ ได้เท่าไรซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าเรามี “อิสรภาพ” ในการที่จะสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องทำมาหากินได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ในสังคมที่ไม่มีเงินหรือมีเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น สังคมที่ยังใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือใช้เงินที่เป็นเหรียญโลหะอยู่ จะไม่สามารถทำได้ ลองนึกถึงมนุษย์ยุคหินที่ยังต้องหาของป่าล่าสัตว์อยู่ว่า คุณจะเป็นอย่างไรถ้าคุณเกิดมาไม่แข็งแรงหรือคุณเจ็บป่วยหรือแก่ตัวลงไม่สามารถหากินได้?
เงินทำให้คนทำงานหนักเพื่อเก็บสะสมสิ่งที่จะต้องใช้ในวันข้างหน้าไว้ เงินทำให้คนทำงานที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ เงินทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งที่มนุษย์ต้องการและสร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติ เพราะงานเหล่านั้น “ทำเงิน” มากกว่างานอื่น แน่นอน งานบางอย่างนั้น อาจจะไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรมากนักแต่ก็ทำเงินได้มาก เพราะมันเป็นเรื่องของการหลอกลวงและเอาเปรียบคนอื่น งานบางอย่างก็ดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างสบายๆ แต่ก็ได้เงินมากในขณะที่งานบางอย่างนั้นต้องทำอย่าง “อาบเหงื่อต่างน้ำ” แต่คนทำกลับได้เงินน้อยแทบไม่พอกิน ความแตกต่างกันของความมั่งคั่งที่เกิดจากการทำงานบ่อยครั้งทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีนักในสังคม เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การคิดว่าคนที่มีเงินมากนั้นมี “ความโลภ” มีเงินแล้วไม่รู้จักพอ หรือ เห็นเงินเป็น “พระเจ้า” หรือต้องทำทุกอย่างเพื่อเงิน เป็น “ทาส” ของเงิน แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็ยังต้องพึ่งเงิน อยากมีเงินมากขึ้น
ในฐานะของคนที่เคยเป็นคนที่แทบจะไม่มีเงินเลยและกลายเป็นคนที่มีเงินเหลือเกินพอ และในฐานะของคนที่เคยทำงานแบบอาบเหงื่อต่างน้ำแต่ได้เงินน้อยมากและกลายเป็นคนที่ทำงานอย่างที่ดูเหมือนว่าแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยแต่ได้เงินมากมาย ผมอยากจะบอกว่า เงินนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ว่าที่จริงมันช่วย “นำทาง” ให้รู้ว่าเราควรทำอะไรได้มากมาย การทำอะไรโดยไม่คิดถึงเงินเลยนั้น ผมคิดว่ามันไม่ยั่งยืน แต่ก็เช่นเดียวกัน การทำอะไรก็คิดถึงแต่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียวนั้น ผมก็คิดว่ามันไม่ยั่งยืนและจะนำไปสู่หายนะได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในประเด็นของเรื่องเงินก็คือ อย่าไปคิดว่าเงินกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน เงินนั้นจะซื้อความสุขได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว เงินที่มากเกินก็ไม่สามารถซื้อความสุขเพิ่มขึ้นได้ ว่าที่จริงอาจจะกลายเป็นความทุกข์ได้ถ้าเราหมกมุ่นกับมันมากเกินไป ดังนั้น เวลาคิดถึงเงิน คิดถึงว่ามันคือ “พระเจ้า” แต่เราจะต้อง “บูชา” อย่างถูกต้อง