ค่าความนิยม หมายถึง คุณค่าของกิจการที่ไม่มีรูปธรรม ซึ่งอาจเป็นชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือการบริหารกิจการที่ดี ความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ซึ่งคุณค่านี้ทำให้ผลประกอบการของบริษัทนั้นดีอย่างที่เป็นอยู่
ค่าความนิยมถือเป็นสินทรัพย์รายการหนึ่ง ที่แสดงอยู่ภายใต้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในงบแสดงฐานะการเงิน ในทางบัญชี ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เดียวคือเมื่อการซื้อกิจการเกิดขึ้น การซื้อกิจการในที่นี้ หมายถึง การที่บริษัทใหญ่เข้าซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์สุทธิของบริษัทย่อย บริษัทใหญ่ต้องบันทึกค่าความนิยมเป็นสินทรัพย์เมื่อบริษัทใหญ่ให้ราคาจ่ายซื้อบริษัทย่อยสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิที่ได้รับ (ทั้งนี้สินทรัพย์สุทธิที่จะได้รับคือ สินทรัพย์มีตัวตนและไม่มีตัวตนที่สามารถระบุได้ ลบ หนี้สินที่เกิดขึ้นแล้วและที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ของบริษัทย่อยไม่ว่าสินทรัพย์หรือหนี้สินนั้นได้บันทึกในงบดุลของบริษัทย่อยหรือไม่) ส่วนต่างระหว่างราคาจ่ายซื้อที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธินี้คือ ค่าความนิยม ที่บริษัทใหญ่ต้องบันทึกเป็นสินทรัพย์ในงบการเงินรวม (เมื่อบริษัทใหญ่ซื้อหุ้นของบริษัทย่อย) หรืองบการเงินเฉพาะกิจการ (เมื่อบริษัทใหญ่ซื้อสินทรัพย์สุทธิของบริษัทย่อยแทนการซื้อหุ้น)
ในการเข้าซื้อกิจการนั้น ตามปกติแล้ว มักเริ่มต้นด้วยการที่ผู้ซื้อ (ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นบริษัทใหญ่) จะนำงบดุลของบริษัทผู้ขาย (ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นบริษัทย่อย) มาตรวจสอบดูว่าสินทรัพย์และหนี้สินในงบดุลนั้นมีมูลค่าตามบัญชี (book value) อยู่ทั้งสิ้นเป็นจำนวนเท่าไร เพื่อที่จะนำมาประเมินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์และหนี้สิ้น ณ วันนั้นๆ (เนื่องจากมูลค่ายุติธรรม (fair value) ของสินทรัพย์และหนี้สินแต่ละรายการมักจะแตกต่างไปจากมูลค่าตามบัญชีที่ระบุไว้ในงบดุล)
หลังจากที่รู้มูลค่ายุติธรรมแล้ว ผู้ซื้อกับผู้ขายก็จะเจรจาตกลงราคาจ่ายซื้อ ถ้าราคาจ่ายซื้อที่ตกลงกันสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิ ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นและบันทึกโดยบริษัทใหญ่ (ในกรณีที่การซื้อกิจการนั้นทำให้เกิดสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นที่ยังไม่ได้รับรู้ในงบดุลของบริษัทย่อย บริษัทใหญ่ต้องบันทึกสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นก่อน จากนั้นจำนวนที่เหลือจึงจะสามารถรับรู้เป็นค่าความนิยมจากการซื้อกิจการได้)
ตามปกติ บริษัทใหญ่อาจไม่อยากที่จะบันทึกสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้จากบริษัทย่อยเนื่องจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต้องถูกตัดจำหน่ายภายในระยะเวลาเป็นอย่างสูง 10 ปี แต่ค่าความนิยมนั้นไม่มีการตัดจำหน่าย
ดังที่กล่าวแล้วว่า เนื่องจากค่าความนิยมถือเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานไม่จำกัดจึงไม่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนของแต่ละปี อย่างไรก็ดี บริษัทใหญ่ต้องทำการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยมเช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ ถ้ามูลค่าของค่าความนิยมที่บันทึกไว้สูงกว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ บริษัทใหญ่ต้องบันทึกการด้อยค่าของค่าความนิยมเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนทันที หากในปีต่อมาบริษัทใหญ่ประเมินว่าค่าความนิยมที่เคยด้อยค่าไป กลับมาให้ประโยชน์ในอนาคตสูงกว่าราคาตามบัญชี บริษัทใหญ่จะไม่สามารถกลับบัญชีการด้อยค่าของค่าความนิยมได้อีก (ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติของสินทัพย์ชนิดอื่น)
ค่าความนิยมที่เป็นลบ
ในกรณีที่บริษัทใหญ่สามารถต่อรองราคาจ่ายซื้อบริษัทย่อยได้ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิ ส่วนต่างระหว่างราคาจ่ายซื้อกับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิถือว่าเป็น "กำไรจากการต่อรองราคาซื้อ (Bargain Purchase)" ที่บริษัทใหญ่สามารถรับรู้ในงบกำไรหรือขาดทุนทันทีในงวดที่การซื้อกิจการเกิดขึ้น
ถ้าสงสัยตรงไหนหรืออยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมถามได้เลยนะครับ
![big smile :B](./images/smilies/icon_bigsmile.gif)
![Mr. Green :mrgreen:](./images/smilies/icon_mrgreen.gif)
![Very Happy :D](./images/smilies/icon_biggrin.gif)