เคล็ดลับ+บทเรียน เพิ่มภูมิซื้อหุ้นไอพีโอ
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Sunday, June 24, 2012 08:23
59726 XTHAI XGEN DAS V%NETNEWS P%WKT
อุไรวรรณ ภู่วิจิตรสุทิน
[email protected]
ราคาหุ้นเฟซบุ๊ค โซเชียลมีเดียยอดฮิต มีผู้ใช้มากสุดเกือบพันล้านคนทั่วโลก ดิ่งลงไม่ต่ำกว่า 28% เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเปิดเทรดไอพีโอจากราคาตั้งไว้ 38 ดอลลาร์ และราคาดิ่งลงใกล้หลุด 25 ดอลลาร์สหรัฐ สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนซื้อหุ้นเฟซบุ๊คอย่างยิ่ง
ไม่ถึงสัปดาห์ก็ปรากฏข่าวว่า นักลงทุนยื่นฟ้องตลาดหุ้นแนสแด็ก อ้างละเลยจัดการคำสั่งซื้อหุ้นเฟซบุ๊คหลังไอพีโอทำนักลงทุนขาดทุน และยื่นฟ้องคดีแพ่งเฟซบุ๊คกับกลุ่มสถาบันการเงินผู้จัดจำหน่ายไอพีโอ ข้อหาละเมิดกฎหมายเทรดหลักทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลบริษัทเฉพาะลูกค้าบางกลุ่ม
กรณีเฟซบุ๊คเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ Fundamentals ฉบับนี้เชื่อว่า "เคล็ดลับการลงทุนไอพีโอ" ของ ซีเอ็นบีซี กับ "บทเรียนล้ำค่าก่อนลงทุนไอพีโอ" ของคลิปลิงเกอร์ น่าสนใจสามารถเก็บไว้เป็นคู่มือของนักลงทุนไทยทั่วโลก ไว้เพิ่มภูมิคุ้มกันปกป้องพอร์ตตัวเองจากความเสี่ยงเล่นหุ้นไอพีโอ
กระแสทำนักลงทุนหลง
ในช่วงคลั่งไคล้หุ้นดอทคอม นักลงทุนอาจปล่อยเงินไปง่ายๆกับการลงทุนในหุ้นเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) ของบริษัทไฮเทคโนโลยีหรือไอที และมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดสหรัฐหลายแห่ง เช่น วีเอ ลินุกซ์, เดอะ โกลบ ดอท คอม และล่าสุด เฟซบุ๊ค ล้วนเป็นตัวอย่างหุ้นไอพีโอมีราคาปรับขึ้นอย่างพรวดพราดในวันแรก แต่ท้ายที่สุดกลับสร้างความผิดหวังให้นักลงทุนในระยะยาว
สำหรับนักลงทุนคาดการณ์ล่วงหน้าในการเข้าและออกเพื่อเทรดไอพีโอได้ ย่อมทำให้การลงทุนดูแล้วเป็นเรื่องง่ายมาก อย่างไรก็ตามสัจจะธรรมอย่างหนึ่งในชีวิตการลงทุน คือไม่มีการลงทุนใดเป็นสิ่งมั่นใจเชื่อได้ 100% เช่นเดียวกับการเทรดหุ้นเทคโนโลยีจนทำให้ฟองสบู่ดอทคอมระเบิดเมื่อต้นปี 2543 จากวันนั้นถึงวันนี้ตลาดไอพีโอโดยเฉพาะไอพีโอไอที ดูเหมือนกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่นักลงทุนไม่อาจคาดหวังกำไรเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือ ตัวเลข 3 หลัก หลังหุ้นเสนอขายไอพีโอ 2-3 วัน
ขณะนี้ยังมีเงินเข้าไปลงทุนกับไอพีโอ แต่การลงทุนชาญฉลาดทำให้นักลงทุนเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากการกำไรเข้าเร็วออกเร็ว มาเป็นการลงทุนอิงกับแนวโน้มหุ้นในระยะยาว และแทนที่จะพยายามฉกฉวยประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาหุ้นช่วงแรก นักลงทุนหลายรายมีแนวโน้มจะพิจารณาระมัดระวังอนาคตของหุ้นไอพีโอมากขึ้น
และแม้นักลงทุนมีเป้าหมายระยะยาวขึ้นในการลงทุน แต่การค้นหาหุ้นไอพีโอดีๆ สักตัวนับว่ายากเวลานี้ เพราะหุ้นไอพีโอแต่ละตัวมีความเสี่ยงเฉพาะของหุ้นแต่ละตัวที่แตกต่างกันไป ดังนั้นซีเอ็นบีซีจึงฉวยจังหวะนี้ นำเสนอ "5 เคล็ดลับลงทุนไอพีโอ" หวังนักลงทุนไทยที่อยู่ทุกมุมของโลก มีข้อมูลเก็บไว้หากมีโอกาสเข้าไปเล่นตลาดไอพีโอ
ค้นหาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง
การได้มาซึ่งข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่จะเสนอขายไอพีโอเป็นเรื่องยากลำบาก ขอให้จำไว้ว่าแม้บริษัทส่วนใหญ่พยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างอย่างเต็มที่ไว้ในหนังสือชี้ชวน แต่หนังสือชี้ชวนย่อมเขียนขึ้นมาโดยบริษัทเหล่านั้นเอง และไม่มีคนที่สามเข้ามาร่วมนำเสนอข้อมูลด้วย ดังนั้นใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวคุณเองเช่นกัน
ไม่ว่าจะค้นหาข้อมูลบริษัทในอินเทอร์เน็ต และดูว่าคู่แข่งบริษัทคือใครบ้าง การเงินของบริษัท และข่าวแจกที่บริษัทเคยเผยแพร่ก่อนหน้านี้ รวมถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นอยู่ว่าแข็งแกร่งหรือไม่เพียงใด ถึงแม้ข้อมูลที่ได้มาอาจดูน่ากลัว แต่คุณต้องเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับบริษัทที่สนใจ เคล็ดลับข้อแรกนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการลงทุนอย่างชาญฉลาด เพราะอีกด้านหนึ่งของการค้นคว้าหาข้อมูล อาจนำนักลงทุนไปสู่การค้นพบแนวโน้มของบริษัทกำลังล้ม และไม่ได้ให้โอกาสการลงทุนที่เป็นภาพลวงตาแต่อย่างใด
อ่านหนังสือชี้ชวนเสมอ
นักลงทุนไม่ควรละเลยการลองอ่านหนังสือชี้ชวนซึ่งอาจดูแล้วไม่น่าสนใจ แต่หนังสือชี้ชวนบอกถึงโอกาสและความเสี่ยงของบริษัท พร้อมกับวัตถุประสงค์การใช้เงินระดมทุนได้จากการออกไอพีโอ ที่สำคัญนักลงทุนมีสิทธิขอหนังสือชี้ชวนจากโบรกเกอร์ที่นำไอพีโอบริษัทเข้าตลาด
ในหนังสือชี้ชวน หากระบุถึงเงินที่ได้จากการระดมทุนนำไปชำระหนี้ หรือซื้อหุ้นจากผู้ก่อตั้งบริษัทหรือนักลงทุนส่วนบุคคล ขอให้ระวังว่านี่เป็นสัญญาณไม่ดี หากบริษัทไม่สามารถคืนหนี้เงินกู้โดยไม่ต้องเสนอขายหุ้น แต่หากเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้เพื่อการวิจัย การตลาดหรือการขยายตลาดใหม่ ย่อมให้ภาพสดใสดีกว่า
บริษัทส่วนใหญ่เรียนรู้ว่า การให้สัญญามากเกินจริง และการให้น้อยเกินไป ล้วนเป็นความผิดพลาดมักจะเกิดจากการแข่งขันเข้าถึงตลาดให้เป็นผลสำเร็จ และสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่สุดต้องระวังขณะอ่านหนังสือชี้ชวนคือการมองแนวโน้มกำไรบริษัทในอนาคตไว้ดีเกินไป หมายความว่านักลงทุนต้องอ่านคาดการณ์ตัวเลขทางบัญชีด้วยความรอบคอบ
รอบคอบระมัดระวัง
การตั้งข้อสงสัยเป็นเรื่องดีสำหรับการฝึกลงทุนในตลาดไอพีโอ และภาวะแวดล้อมในตลาดไอพีโอมีแต่ความไม่แน่นอนอยู่มากมายเสมอ และความไม่แน่นอนส่วนใหญ่เนื่องมาจากการขาดแคลนข้อมูลใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นนักลงทุนควรเข้าหาไอพีโอแต่ละตัวด้วยความรอบคอบระมัดระวังเสมอ
หากโบรกเกอร์แนะนำไอพีโอตัวใด นักลงทุนควรยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น คำเตือนนี้เป็นตัวชี้วัดชัดเจนว่า บริษัทต่างๆ ดำเนินการอย่างสง่างามด้วยการส่งผ่านความพยายามของบริษัทไปให้แก่อันเดอร์ไรเตอร์หรือผู้รับประกันจัดจำหน่ายช่วยขายหุ้นแก่พวกเขา
ในสถานการณ์เช่นนี้ นักลงทุนส่วนบุคคลมีแนวโน้มจะได้เศษๆ ไอพีโอ ซึ่งเป็นของเหลืออยู่ที่กลุ่มลงทุนมีเงินก้อนใหญ่ไม่ต้องการ หากโบรกเกอร์รายใดเข้าไปกว้านซื้อหุ้นไว้มาก ย่อมเป็นไปได้ว่ามีเหตุผลอยู่เบื้องหลังการซื้อหุ้นไอพีโอจำนวนมากนั้น เรื่องนี้นำไปสู่จุดสำคัญ ในกรณีที่นักลงทุนมองบริษัทจะออกไอพีโอซึ่งคิดว่าเป็นการลงทุนคุ้มค่า เป็นไปได้ที่นักลงทุนจะไม่สามารถซื้อหุ้นไอพีโอได้ โบรกเกอร์มีนิสัยชอบเก็บงำการจัดสรรไอพีโอให้กลุ่มนักลงทุนชื่นชอบ
รอพ้นช่วงห้ามขาย
ช่วงห้ามคนในบริษัทซื้อขายหุ้น (lock-up period) หมายถึงสัญญาตามกฎหมายระหว่างอันเดอร์ไรเตอร์กับคนในบริษัท ที่ห้ามคนภายในบริษัทขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจนาน 3-24 เดือน เมื่อกำหนดเวลาที่ห้ามบุคคลภายในบริษัทซื้อขายหุ้นหมดลง บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ในบริษัทได้รับอนุญาตให้ขายหุ้นได้
ประเด็นเสนอคำแนะนำในข้อนี้ คือต้องการให้นักลงทุนรอคอยจนกว่าคนวงในหรือพวกอินไซเดอร์ มีอิสระที่จะขายหุ้นของบริษัท จุดนี้ไม่ใช่กลยุทธ์ไม่ดี เพราะเป็นการพิสูจน์ให้รู้ว่า ผู้บริหารของบริษัทที่ออกไอพีโอจะยังถือหุ้นบริษัทต่อไปหรือไม่เมื่อพ้นช่วงห้ามซื้อขายแล้ว ซึ่งอาจเป็นตัวชี้วัดได้ว่าบริษัทมีอนาคตสดใสไปได้ดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่
แต่ช่วงห้ามการซื้อขาย ไม่มีทางที่จะบอกได้ว่าอินไซเดอร์พึงพอใจที่จะรับราคา ณ ปัจจุบันของหุ้นได้หรือไม่ ดังนั้นปล่อยให้ตลาดทดสอบไอพีโอก่อน ก่อนนักลงทุนหลวมตัวเข้าไปทดสอบเสียเอง อย่างไรก็ตามบริษัทที่ดีก็ยังคงเป็นบริษัทที่ดีอยู่ และการลงทุนก็ยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แม้ช่วงกำหนดห้ามอินไซเดอร์ซื้อขายหมดไปแล้วก็ตาม
ซีเอ็นบีซีฝากเตือนไว้ว่าหากคิดลงทุนไอพีโอ ขอให้นักลงทุนทำตัวเป็นผู้ซื้อกระหายข้อมูลช่างสังเกตและตั้งข้อสงสัยเสมอ
อย่าซื้อหุ้นเทรดดุเดือดวันแรก
เป็นบทเรียนล้ำค่าข้อแรกก่อนลงทุนไอพีโอของคลิปลิงเกอร์ ซึ่งยกตัวอย่างหุ้นกรุปปองที่เคยมีชะตากรรมเส้นทางเดียวกันกับหุ้นเฟซบุ๊คขณะนี้ หุ้นกรุปปองพุ่งขึ้นจากระดับ 20 ดอลลาร์ ที่เป็นราคาเสนอขายไอพีโอ ไปอยู่ที่ 31 ดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดเทรดวันแรก
แต่ทว่าก่อนตลาดปิดสำหรับการเทรดวันแรก ราคาหุ้นกลับแผ่วลงเหนือระดับ 26 ดอลลาร์ และปลายปี ที่ผ่านมาหุ้นของกรุปปองปิดที่ 24.41 ดอลลาร์ ต่ำกว่าราคาสูงสุดช่วงเปิดขายไอพีโอวันแรกประมาณ 22%
เหมือนเป็นกฎที่ว่าการออกไอพีโอ ส่วนใหญ่ให้ประโยชน์กับอินไซเดอร์และลูกค้ารายใหญ่ของเหล่าโบรกเกอร์ที่ช่วยขายไอพีโอ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่เข้าถึงหุ้นในราคาไอพีโอ แต่โอกาสเข้าถึงนี้มักไม่ใช่ของนักลงทุนรายย่อย ขณะที่คนวงในจ่ายไม่มากสำหรับราคาเสนอขาย นักลงทุนหลายรายเข้าไปซื้อหุ้นเทรดวันแรกในราคาสูงขึ้น เพราะพวกเขาเข้าไปซื้อในเวลาที่ดีมานด์มีมากที่สุด และต้องหดหู่กับราคาหุ้นลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่วันหลังจากออกไอพีโอ
ระวังหุ้นมีจำนวนจำกัด
นักวิเคราะห์หลายรายตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลหนึ่งทำให้ราคาหุ้นกรุปปองพุ่งขึ้นเร็วอย่างบ้าระห่ำ ทั้งๆที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพิจารณาสิ่งที่ทำให้รูปแบบธุรกิจของกรุปปองดูไม่แข็งแรงนั้น เนื่องจากหุ้นเสนอขายมีน้อยมาก บริษัทขายไอพีโอเพียง 35 ล้านหุ้น ประมาณ 5% ของที่มีอยู่
ลิงค์อินทำเช่นเดียวกันดับกรุปปองแม้จำนวนหุ้นมากกว่า แต่การเสนอขายหุ้นได้ไม่มากพอกระตุ้นราคาหุ้นตก ยิ่งลิงค์อินประกาศว่าจะออกหุ้นใหม่อีก 500 ล้านหุ้นผ่านการเสนอขายรอบสองต้นเดือนพ.ย. ปีก่อน ราคาหุ้นก็เริ่มตกลงและตกลงอีกจากนั้นเป็นต้นมา คือจาก 91 ดอลลาร์ มาเป็น 82.37 ดอลลาร์ และลงอีกที่ 80.18 ดอลลาร์ การลดลงของหุ้นยังไม่หยุดมาอยู่ที่ 78.70 ดอลลาร์ สุดท้ายที่ได้ข้อมูลราคาหุ้นมาอยู่ที่ 75.82 ดอลลาร์
จับตาพื้นฐานหุ้น
แพนโดราเป็นหุ้นกลุ่มไอทีเหมือนกับกรุปปอง เผชิญปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทั้งๆ ที่การออกไอพีโอในเดือนมิ.ย. ขึ้นอยู่กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้บริการกับรายได้ แต่เมื่อแพนโดราแจ้งตลาดหุ้นแนสแดกว่าขาดทุน 3.2 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสองปี 2554 ทำให้ครึ่งแรกของปีนั้นขาดทุนรวม 12.3 ล้านดอลลาร์ นักลงทุนจึงรู้สึกเย็นชาอคติกับหุ้นแพนโดราทันที พากันเทขายจนราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ ต่ำกว่าราคาไอพีโอ 6% และต่ำกว่าราคาสูงสุดในช่วงวันแรกออกไอพีโอถึง 42%
บริษัทขาดประสบการณ์อย่างกรุปปอง ซึ่งไม่โชว์กำไรหรืออย่างน้อยแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการจำกัดสกัดตัวเลขขาดทุน อาจต้องกู้ยืมเงินหรือเสนอขายหุ้นเพิ่ม แต่ทั้งสองทางเลือกไม่มีทางเลือกใดดีสำหรับผู้ถือหุ้นเลย
นาธาน ไวท์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของพารากอน เวลธ์แมเนจเมนท์ ยอมรับว่าบรรดานักลงทุนต่างตั้งใจจะยอมแบกสภาพการขาดทุนของกรุปปองได้ช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาคิดว่า กรุปปองต้องการเวลาสักหน่อยเพื่อกลับมาทำกำไรได้อีก
แต่ไวท์เตือนว่า ความอดทนและยอมรับสภาพมีแนวโน้มจะคงอยู่ได้นานตราบเท่าที่บรรดานักลงทุนมองเห็นอนาคตความสามารถทำกำไรได้ชัดเจน เขาย้ำว่าคำสัญญาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง บริษัทก็ต้องทำให้ได้ตามคำสัญญา
รอคอยโอกาส
ลี ซิมมอนส์ ผู้เชี่ยวชาญตลาดหุ้นไอพีโอ ให้บทเรียนข้อสุดท้ายหากใครสนใจลงทุนหุ้นไอพีโอ ว่า บ่อยครั้งราคาหุ้นไอพีโอตกลงในทันทีภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังราคาขึ้นพรวดพราดในวันแรกออกไอพีโอ จังหวะนี้แหละที่ซิมมอนส์ถือว่านักลงทุนต้องรอ ปล่อยให้ราคาหุ้นอยู่ตัวสัก 2-3 เดือน เวลาที่ผ่านไปจะช่วยให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปซื้อในราคาดีและน่าสนใจกว่า
Do&Don't เทรดหุ้นไอพีโอ
ไม่รีบซื้อมาขายไป ไม่ซื้อมาขายไปแบบเก็งกำไรระยะสั้น อย่าทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ขอให้วิเคราะห์พอร์ตลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำต่อเนื่องตลอดเวลาแบบนักลงทุนระยะยาว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นักลงทุนจะคาดการณ์จุดสูงสุดหรือต่ำสุดของตลาดได้
ซื้อหุ้นบริษัทคุณภาพสูงหนี้ต่ำ บริษัทที่มีการเติบโตเหนือเกณฑ์เฉลี่ย มีแนวโน้มจะโดดเด่นดีสุดในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทการเงินแกร่งย่อมกู้เงินได้ง่ายกว่า ในภาวะสินเชื่อตึงตัวและมีเงินสดนำไปซื้อสินทรัพย์หรือควบรวมกิจการ เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ
ไม่ถือหุ้นค่าพี/อีเกิน 24 เพราะหุ้นเทรดกันที่ค่าพี/อี มากกว่า 1.5 เท่าของค่าพี/อีหุ้นในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ซึ่งปกติอยู่ที่ 16 เท่านั้น ย่อมอ่อนไหวต่อการขาดทุนอย่างมาก เมื่อแนวโน้มของตลาดกลับแปรเปลี่ยนไม่สดใส
เก็บหุ้นโตเหนือเกณฑ์เฉลี่ย แต่อย่าโลภซื้อไว้มากเกินไปและให้เลือกซื้อ เพราะระยะยาวหุ้นมีอัตราโตแท้จริง 13-14% มีแนวโน้มเด่นกว่าหุ้นที่คาดว่าจะมีอัตราโต 20-30% เพราะปกติแล้วหุ้นคาดการณ์อัตราโตไว้สูงมาก จะไม่สามารถคงอัตราเติบโตสูงตามที่คาดหวังได้
ตามข้อมูลเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ คอยประเมินมูลค่าตลาดที่สามารถสะท้อนราคาหุ้นสูงหรือต่ำได้ดี และสุดท้าย คอยคำนวณดูต้นทุนการลงทุนไว้เสมอ
ที่มา : มันนี่ แมกกาซีน--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เคล็ดลับ+บทเรียน เพิ่มภูมิซื้อหุ้นไอพีโอ
-
- Verified User
- โพสต์: 40089
- ผู้ติดตาม: 1
เคล็ดลับ+บทเรียน เพิ่มภูมิซื้อหุ้นไอพีโอ
โพสต์ที่ 1
-
- Verified User
- โพสต์: 1822
- ผู้ติดตาม: 0
Re: เคล็ดลับ+บทเรียน เพิ่มภูมิซื้อหุ้นไอพีโอ
โพสต์ที่ 3
ผมว่าหลายคนโดยเฉพาะชาววีไอเราจะเกลียดหุ้นไอพีโอมาก เพราะว่า หุ้นใหม่เรายังไม่เห็นผลงานและไม่รู้ว่าผู้บริหารจะมาไม้ไหน และในหนังสือแนววีไอก็บอกว่าอย่าไปสนใจมัน
ผมว่ามันก็เหมือนใส่ร้ายเกินไป เพราะว่าถ้าเป็นหุ้นบริษัทที่เราเข้าใจกิจการ ซื้อตอนไอพีโอถือไปยาวๆก็กำไรได้ ไอ้ที่ขาดทุนก็มี แต่เป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจมากพอมากกว่าจะโทษว่าพวกคนวงการการเงินมันปั่นราคาให้แพงเพื่อได้ค่าธรรมเนียมเยอะ
อย่างล่าสุดหุ้นบริษัทที่ถือหุ้นบริษัทสายการบินอีกที ก็เห็นหลายกระทู้ คนออกมาด่ากันโครมๆนั่นเพราะไม่ได้ศึกษาอย่างดีพอนั่นเอง สมน้ำหน้าแล้ว ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ คนที่ประสบความสำเร็จเค้าทุ่มเทอย่างหนักถึงมีวันนี้
แต่ใครจะไปรู้ อนาคตข้างหน้าอาจจะไป 20 บาทก็ได้
ผมว่ามันก็เหมือนใส่ร้ายเกินไป เพราะว่าถ้าเป็นหุ้นบริษัทที่เราเข้าใจกิจการ ซื้อตอนไอพีโอถือไปยาวๆก็กำไรได้ ไอ้ที่ขาดทุนก็มี แต่เป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจมากพอมากกว่าจะโทษว่าพวกคนวงการการเงินมันปั่นราคาให้แพงเพื่อได้ค่าธรรมเนียมเยอะ
อย่างล่าสุดหุ้นบริษัทที่ถือหุ้นบริษัทสายการบินอีกที ก็เห็นหลายกระทู้ คนออกมาด่ากันโครมๆนั่นเพราะไม่ได้ศึกษาอย่างดีพอนั่นเอง สมน้ำหน้าแล้ว ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ คนที่ประสบความสำเร็จเค้าทุ่มเทอย่างหนักถึงมีวันนี้
แต่ใครจะไปรู้ อนาคตข้างหน้าอาจจะไป 20 บาทก็ได้
- pongo
- Verified User
- โพสต์: 1075
- ผู้ติดตาม: 0
Re: เคล็ดลับ+บทเรียน เพิ่มภูมิซื้อหุ้นไอพีโอ
โพสต์ที่ 4
VI ไม่ได้เกลียดหุ้น IPO นะครับ แต่ให้ใช้ความระมัดระวังให้มากกว่าปกติหากจะซื้อ IPO ตะหาก
เหตุผลหลักๆ คือ การนำหุ้นมาขายให้บุคคลอื่นๆ นั้น
1. เจ้าของเดิมอยากขายให้ได้ในราคาแพงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะ ได้เงินสูงสุด
2. IB ที่ทำการการะจายหุ้น ก็อยากขายหุ้นให้ได้มูลค่าสูงสุด เพราะ ได้ค่าคอมฯ มากสุด
(เหตุผลรองๆ มีอีกเพียบ)
การซื้อหุ้น IPO จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ ราคา IPO นั้น เป็นราคาที่เต็มหรือเกินมูลค่ากิจการในขณะนั้นๆ ไปแล้ว
ซึ่งหลักการ VI คือซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า
เหตุผลหลักๆ คือ การนำหุ้นมาขายให้บุคคลอื่นๆ นั้น
1. เจ้าของเดิมอยากขายให้ได้ในราคาแพงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะ ได้เงินสูงสุด
2. IB ที่ทำการการะจายหุ้น ก็อยากขายหุ้นให้ได้มูลค่าสูงสุด เพราะ ได้ค่าคอมฯ มากสุด
(เหตุผลรองๆ มีอีกเพียบ)
การซื้อหุ้น IPO จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ ราคา IPO นั้น เป็นราคาที่เต็มหรือเกินมูลค่ากิจการในขณะนั้นๆ ไปแล้ว
ซึ่งหลักการ VI คือซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า