โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 9 มิถุนายน 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น
“เงิน 1 ดอลลาร์ที่เก็บได้บนถนนนั้นให้ความพึงพอใจแก่คุณมากกว่าเงิน 99 เหรียญที่คุณได้จากการทำงาน และเงินที่คุณเล่นได้จากวงไพ่หรือในตลาดหุ้นก็สอดแทรกเข้าไปในหัวใจคุณในแบบเดียวกัน” นั่นคือคำกล่าวของ มาร์ก ทเวน นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน
ความสุขและความพึงพอใจจากเงินที่ได้จากการพนัน ซึ่งในสายตาของ มาร์ก ทเวน หรือคนทั่วไปรวมถึงการเล่นหุ้นนั้น ช่างมากมายเสียเหลือเกิน และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อย ที่มีเงินพอสมควร และคนที่มีเงินมาก ต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นนิจสิน
แต่ความพึงพอใจที่ “ได้เงิน” เท่านั้นหรือที่ทำให้คน “ติด” อยู่กับการเล่นหุ้น? ทำไมคนจำนวนมากที่วนเวียนเล่นหุ้นมายาวนานแต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้กำไร บางคนขาดทุนด้วยซ้ำ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่เลิกเล่น อะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากเล่นหุ้นจริง ๆ นอกเหนือจากเรื่องเงินที่จะได้? คำตอบก็คือ “ความสุขและความพึงพอใจจากการเล่นหุ้น”
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องของความสุขและความพึงพอใจของคนเรานั้นน่าจะอธิบายพฤติกรรมของคนที่ชอบ “เล่นหุ้น” ซึ่งในความหมายของผมก็คือ คนที่ชอบ “เก็งกำไร” นั่นคือ ซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นในระยะเวลาอันสั้นได้ ลองมาดูกันว่าเป็นอย่างไร
การศึกษาเรื่องของความสุขหรือความเพลิดเพลินหรือความพึงพอใจของคนเรานั้นพบว่ามันเกิดขึ้นใน “สมอง” นั่นก็คือ เวลาที่เรามีความสุข ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารบางอย่างไปจับกับตัวจับที่ต่อเข้ากับสมอง เราจะรู้สึก “ชอบ” และ “อยากทำ” อีก เพราะมัน “มีความสุข”
การดื่มน้ำ การกินอาหาร การมีเซ็กส์ หรือการออกกำลังกาย เหล่านี้ ร่างกายก็จะ “ส่งสัญญาณ” ผ่านเคมีบางอย่างไปที่ตัวจับเพื่อบอกสมองว่านี่คือ “ความสุข” และคุณจะอยากทำอีก นี่เป็นเรื่องจำเป็นทางชีววิทยาเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและสายพันธุ์ของมนุษย์
ยาเสพติดเช่น กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล่านี้ มีสารที่ก่อให้เกิด “ความสุข” สูงมาก และดังนั้น เมื่อคนเสพเข้าไปแล้วก็จะรู้สึกดีมาก บางครั้งคล้ายจะ “หลุดโลก” นักวิจัยคนหนึ่งเคยทดลองเสพเฮโรอีนเพื่อดูความรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาถึงกับบอกว่ามันเหมือนกับการ “ถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์พันครั้ง” ซึ่งทำให้คนอยากเสพอีก ปัญหาก็คือ เมื่อเสพไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกสุดยอดก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะตัวจับเคมีมันอาจจะ “ด้าน” ต้องใช้ยาเพิ่มขึ้น ๆ จนถึงจุดหนึ่ง “ความสุข” จากการเสพก็แทบจะหมดไป ความ “ชอบ” ก็ไม่มีเหลือ เหลือแต่ “ความต้องการ” คือถ้าไม่ได้เสพก็จะ “ลงแดง” ถึงจุดนี้ ความ “หายนะ” ก็จะเกิดขึ้นทั้งทางร่ายกายและจิตใจ บางคนต้องก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินมาซื้อยา
กิจกรรมบางอย่างของคนเราก็ก่อให้เกิดความสุขหรือความพึงพอใจได้ไม่น้อยและบางครั้งและ/หรือบางคนก็ “ติด” ได้เช่นเดียวกัน เช่น การดื่มสุรา การดื่มกาแฟ การเล่นการพนันเช่นในบ่อนกาสิโน การเล่นพนันบอล การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การออกกำลังหรือการมีเซ็กส์ ทั้งหมดนี้สามารถพิสูจน์ได้จากการตรวจสอบสารเคมีในสมองของคนที่กำลังทำ ประเด็นสำคัญก็คือ คนที่ “ติด” ก็คือคนที่ร่างกายมีสารเคมีหรือตัวรับที่ผิดปกติจากคนธรรมดาที่ทำให้พวกเขาต้องทำมากกว่าคนอื่นเพื่อที่จะมีความสุขหรือความพึงพอใจเท่ากัน แต่ในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ ยกเว้นสุราแล้ว คนจำนวนไม่น้อยก็สามารถ “เลิก” ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยาหรือปรึกษาแพทย์ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง ไทเกอร์ วูดส์ นักกอล์ฟชื่อก้องโลกที่เคยบอกว่าเขาเป็นโรค “ติดเซ็กส์” และต้องได้รับการบำบัด ทำให้ผมนึกต่อไปว่า คนที่ “ติด” ในเรื่องเหล่านี้นั้น นอกจากเป็นเรื่องของร่างกายแล้ว มันคงต้องอาศัย “สภาวะแวดล้อม” ที่ว่า คุณสามารถเข้าถึงมันได้ง่ายหรือมันอยู่ใกล้ตัวคุณมาก คุณมีกำลังซื้อพอ และมันไม่ผิดกฎหมาย ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น
การศึกษาที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของ “ผลตอบแทน” นั่นก็คือ การทำอะไรก็ตาม โดย “ธรรมชาติ” มนุษย์ก็น่าจะทำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อร่างกายและสืบเผ่าพันธุ์ แต่การทดลองพบว่า ความสุขหรือความพึงพอใจนั้นเกิดขึ้นได้แม้จะไม่มีผลตอบแทนอะไรมา “ล่อ” พูดง่าย ๆ สมองมีการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันเวลาที่เราทำบางสิ่งบางอย่างทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีผลตอบแทนอะไรเลยเช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การทดลองยังพบว่า คนเรานั้น ชอบ “ลุ้น” นั่นก็คือ เราชอบเล่นกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าเรามีส่วนในการที่จะก่อให้เกิดผลตามที่เราต้องการ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ความสุขหรือความพึงพอใจที่จะเล่นหวยหรือลอตเตอรี่นั้น จะเพิ่มขึ้นถ้าเรามีสิทธิเลือกเบอร์ที่จะแทง นอกจากนั้น เรื่องผลลัพธ์ก็มีส่วนต่อความสุขหรือความพึงพอใจที่จะเกิดขึ้น ถ้าผลลัพธ์ออกมาถูกต้อง แน่นอน เราจะมีความสุขมากและอยากเล่นอีก ถ้าผลลัพธ์ “ห่างไกล” ความพึงพอใจก็น้อย แต่ถ้าผลลัพธ์ใกล้เคียงกับตัวที่เราเลือก ซึ่งเราก็เสียเงินเท่ากัน แต่ผลทางสมองนั้นจะแตกต่างกัน เคมีที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ตัวเดียวกับเคมีความสุขแต่มันก็ใกล้กันมาก และมันทำให้เรา “อยากแทงอีก” พูดภาษาชาวบ้านผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความรู้สึก “เจ็บใจ” และเราอยาก “เอาคืน”
และนั่นทำให้ผมนึกถึงเรื่องของการเล่นหุ้น ซึ่งผมคิดว่าเข้าข่ายที่จะก่อให้เกิดความสุขหรือความพึงพอใจให้แก่คนเล่นไม่น้อย ข้อแรกก็คือ มันเป็นเกมที่มีความไม่แน่นอนสูง ข้อสอง มันมีผลตอบแทนที่เป็นเงิน “เดิมพัน” ข้อสาม คนเล่นสามารถเลือกหุ้นหรือมีส่วนในการที่จะกำหนดผลลัพธ์ที่จะออกมาได้ในระดับหนึ่งที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเกมอื่น ๆ ข้อสี่ ผลลัพธ์ที่ออกมา นั่นก็คือ กำไรหรือขาดทุนในหุ้นแต่ละตัวหรือแต่ละครั้งหรือแต่ละช่วงเวลานั้น มักจะเป็นเรื่องของการผิดพลาดที่ “ใกล้เคียง” กับที่ “แทง” ไว้ ความหมายก็คือ ในยามปกตินั้น นักเล่นหุ้นก็จะมีได้มีเสียในบางตัว ผลตอบแทนก็มักจะกลับไปมาตามภาวะของตลาดหุ้น เวลาของการ “ลุ้น” มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ใคร่ที่จะมีช่วงเวลาที่เล่นหุ้นแล้วเสียทุกตัวและพอร์ตมีแต่ลดลงต่อเนื่องยาวนานยกเว้นในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่ ดังนั้น คนเล่นหุ้นนั้น ถึงแม้ว่าจะขาดทุนก็ยังอยากกลับมาเล่นใหม่อีกเสมอ ๆ เพราะเขาคง “เจ็บใจ” และอยาก “เอาคืน”
ความสุขที่เกิดจากการ “เล่นหุ้น” ดังที่กล่าวนั้น น่าเสียดายที่ในระยะยาวแล้ว คนเล่นมักจะขาดทุนเนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้หรือความสามารถที่จะควบคุมผลลัพธ์ที่จะออกมาได้จริง เขาเพียงแต่คิดว่าเขารู้เขาคุมได้ ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว เขาจะต้องเสียค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายและขาดทุนในส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย นั่นก็คือ เวลาซื้อเขามักจะต้องซื้อแพงขึ้นเล็กน้อย และเวลาขาย เขามักจะขายได้ถูกลงเล็กน้อย แต่ผลจากการซื้อ ๆ ขาย ๆ จำนวนมาก เขาก็จะขาดทุน และนี่ก็คือ ความทุกข์ของการ “เล่นหุ้น” หนทางที่จะหลีกเลี่ยง “กับดัก” นี้ก็คือ เราต้องเปลี่ยนการเล่นหุ้นเป็น “การลงทุน” ซึ่งจะต้องใช้แนวความคิดอีกชุดหนึ่งของความสุขและความพึงพอใจของคนเรา