http://www.thairath.co.th/thairath1/254 ... onomic.php
สินค้าจีนยึดตลาดโลก ญี่ปุ่นพลิกเกมชูไทยสร้างเศรษฐกิจใหม่
บนเส้นทางของตลาด ที่มหาอำนาจโลกกำลัง จะเปลี่ยนโฉมหน้า จากสหรัฐฯไปเป็นจีน
ด้วยเพราะจีนสะสมความเข้มแข็งภายใน ที่มีพร้อมสรรพทุกอย่าง ทั้งกำลังทุน ทรัพยากรภายในประเทศ และคน พร้อมทั้งมีแผนการพัฒนาประเทศ ที่จะยิ่งใหญ่ในตลาดโลก อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
กำลังเป็นสงครามทางเศรษฐกิจที่ประเทศใด ไม่ยอมปรับตัวก็มิอาจจะอยู่รอดได้ กองทัพสินค้าจีนที่เปิดตัวออกสู่ตลาดโลก เป็นบทพิสูจน์อย่างดี ว่า อิทธิพลของจีนกำลังคืบคลานไปทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โทรศัพท์มือถือจากฟากยุโรป ทั้งโนเกีย และโมโตโรล่า ถูกโทรศัพท์มือถือจากจีน ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด อาโมอิ แพนดา และทีซีแอล ตีตลาดอย่างยับเยินด้วยรูปทรงที่ทันสมัยและราคาถูกกว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ฟากโทรศัพท์มือถือของยุโรปต้องปรับกลยุทธ์จริงจัง เพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมาก
ขณะที่เครื่องใช้ภายในบ้านของจีนยี่ห้อไห่เออร์ (Haier) กำลังเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันมากขึ้น โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 16% รองจากจีอีที่มีส่วนแบ่ง 36% และเวิร์ลพูล 25%
แม้ในช่วงเริ่มต้น ผู้ผลิตสินค้าจีนจะใช้กลยุทธ์การขายสินค้าราคาถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่บัดนี้ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะปรับปรุงการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และขายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กรณีของไห่เออร์ ที่สามารถตั้งราคาขายได้ถูกกว่าสินค้าญี่ปุ่นเกือบครึ่ง แต่คุณภาพใกล้เคียงกัน
ความพยายามของจีนมิได้หยุดยั้งอยู่เพียงแค่นั้น เพราะจีนกำลังเรียนรู้ว่าจะต่อสู้กับการแข่งขันได้อย่างไร และจะโฆษณาอย่างไรให้ได้ยอดขายมหาศาล เมื่อจีนใช้เงินถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีก่อน ทำให้วงการโฆษณาของจีนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
สถานการณ์เช่นนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าจีนจะไม่หยุดยั้ง การพัฒนาสู่การเป็นมหาอำนาจโลก สงครามการตลาดที่จะงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบออกมาใช้จะมีเพิ่มขึ้น
จึงเกิดคำถามว่า ไทยซึ่งเป็นประเทศที่เล็กมากเมื่อเทียบกับจีนจะรับมือได้อย่างไร โดยเฉพาะกองทัพสินค้าจีนที่บุกยึดไปทุกหัวหาด ขนาดบริษัทระดับโลกเองก็ยังหนักใจ ได้บุกเข้าสู่ตลาดไทยเรียบร้อยแล้ว
เพื่อช่วยหาทางออกให้กับกรณีนี้ "ทีมเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ออกมาฟันธงก่อนหน้านี้ว่า "อีก 7 ปี สินค้าจีนยึดไทย"
วิจัยตลาดผู้บริโภคเชิงลึก
"ผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากโตเกียว เห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ๆ บิลบอร์ดนีออนสินค้าอุปโภค บริโภคที่สำคัญ แถวๆถนนกินซ่า เป็นป้ายของสินค้าเครื่องไฟฟ้าชื่อไห่เออร์ ผมบอกกับข้าราชการญี่ปุ่นว่า เมื่อคนญี่ปุ่นได้เห็นป้ายนี้ต้องช็อก เพราะจีนมาขายสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้เกาหลีพยายามแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้ทุกคนกำลังรอดูว่าสินค้าไห่เออร์ ที่บุกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกจะอยู่ได้หรือไม่"
แต่ที่แน่ชัดก็คือ ถ้าไห่เออร์ ยังยึดปรัชญาการขายของแบบ ที่ขายที่จีนก็อยู่ได้ ที่เมื่อขายสินค้าให้ใคร จะโทร.ไปตามที่บ้าน เพื่อถามว่าเจ๊งรึยัง มีปัญหาอะไรมั้ย สัญลักษณ์อันนี้บอกว่า จีนกำลังผลิตสินค้าใกล้ๆ กับไทยหรือดีกว่า ในราคาที่ถูกกว่า โดยมีกระบวนการตามติด ทั้งด้านการตลาด และบริการต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้นได้บอกแต่ต้นว่า ต้องมีจีนและบุกจีน สิ่งที่เรียกร้องและขอให้ทำกันมานาน คือขอให้ไปทำกระบวนการวิจัยด้านการตลาดของผู้บริโภคที่ลึกและในเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างน้อย7-8 เมืองใหญ่ ซึ่งเท่ากับขนาดของประเทศไทย 5 เท่า โดยใช้กระบวน การวิจัยเชิงชนชั้นของรายได้ และความต้องการทางรสนิยม ซึ่งตลาดจีนสำหรับไทยมี 2 อย่าง คือ เอาสินค้าเปิดแอล/ซีแล้วไปลงที่เมืองจีน หรือผลิตสินค้าเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทย
กรณีของประเทศจีน เราหยุดไดนาโมที่ยิ่งใหญ่ตัวนี้ของโลกไม่ได้ เขาก็หยุดตัวเขาไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ว่าเราจะมีเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับจีนหรือไม่มี สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น ที่สำคัญไดนาโมอันนี้มหากาฬ เวลามันปั่น เกิดกระแสไฟ กระแสแม่เหล็กทั้งเอเชีย จึงบอกว่าอย่าผลิตสินค้าที่แข่งขันกับจีนโดยส่วนประกอบของการแข่งขันไม่มี และให้ผลิตสินค้าที่มีความต้องการในจีน
รสนิยมของคนจีนเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาดูมากๆ และวิเคราะห์ตลอดเวลา เพราะจะก่อให้เกิดคู่แข่งของไทย คืออุตสาหกรรมและการให้บริการในจีนเอง จะเริ่มผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ หรือมีอารมณ์ของสินค้าและบริการคล้ายๆไทย เพื่อขายให้คนจีนเอง อย่างไรก็ตาม ในระยะปีครึ่งที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการลงทุนบอกว่า สินค้าที่ผลิตในไทยไม่ชนกับของจีนตรงๆ ยอดส่งออกของประเทศไทยถึงได้เพิ่มขึ้น
พลิกสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในการรับมือตลาดจีน เราจะต้อง "สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ" หรือ Value Creation Economy ที่จะนำมาเป็นหลักการนโยบายของรัฐบาล 4 ปีข้างหน้า
หมายความว่า เรามีข้อได้เปรียบ ในเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) แล้ว เราต้องเพิ่มมูลค่า ของเศรษฐกิจไทย โดยการเพิ่มมูลค่าสูงสุด แก่แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ซึ่งครอบคลุมถึง มูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา ในสินค้า และบริการ รวมถึงมูลค่าด้านวัฒนธรรม และทักษะ ซึ่งจะเป็นวิธีใหม่ของการอยู่รอด ของการค้าโลก ในศตวรรษที่ 21 นี้
ที่สำคัญในประเทศ เราต้องเริ่มออกแบบการเพิ่มมูลค่าให้ถูกต้อง ให้กับของที่มีมูลค่าลงบัญชีไม่ได้ อย่างนายพันศักดิ์ต้องลงบัญชีได้ หัวสมองมูลค่า 1,000 กว่าล้านดอลลาร์ หมายความว่าต้องทำ 2 อย่างให้เจอกัน ระหว่าง Value กับ Creation ยอมรับความเป็นจริงของคุณค่า 2 ส่วนที่จะบวกเข้าไปในสินค้าและบริการ พัฒนาส่วนที่จะบวกเข้าไป นอกเหนือจากเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่ของคุณ เพราะเทคโนโลยีเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้เกิดความสะดวกในการผลิต แต่ไม่ใช่เพิ่มมูลค่า และจำไว้ว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมอเมริกัน ที่ยอมรับได้ว่าคนอายุ 45 ปี แล้วตกงานหางานทำใหม่ไม่ได้ เพราะเขาอ้างว่าเขาเป็นสังคมพื้นฐานองค์ความรู้ ที่เขาขายแต่ความรู้ ซึ่งเมื่อใช้ความรู้ คนก็ต้องตกงานแน่
แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อมโยง ที่ดิน ทุน แรงงาน ทักษะ วัฒนธรรม สังคมไทยจะมีการขยายตัวก็จะต้องมีการจ้างงานเพิ่ม
เดี๋ยวนี้ความต้องการของมนุษย์มันเป็นความต้องการของคนที่มีสตางค์แล้ว และสังคมข่าวสารเข้าไปในจีนมาก เรื่องของสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต การกินของที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ที่ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ก็มีซุปเปอร์มาร์เกตที่ขายของเฉพาะที่ไม่ใช่สินค้าจีเอ็มโอ เป็นสังคมที่ก้าวเร็วมาก แล้วเราจะลำบาก
คนไทยศูนย์กลางธุรกิจบริการ
สำหรับวิธีคิดของคนไทยต้องเปลี่ยน รัฐบาลเปลี่ยนให้ไม่ได้ ตอนนี้เงินยังเหลือในระบบธนาคารเยอะไปหมด แบงก์อาจรอใครที่หัวคิดฉลาดๆทำผลิตภัณฑ์ ออกไปขายเมืองจีนบ้าง แต่ไม่ค่อยมี แสดงว่าพี่ๆน้องๆรุ่นใหม่ คิดไม่ออก เรื่องนี้ใหญ่กว่าเลือกตั้งอีกนะ และผมเชื่อว่าจนเลือกตั้งเสร็จก็ยังคิดกันไม่ออก แล้วผมจะทำงานยังไง ซีเรียสจริงๆ
ถามว่าจะใส่อะไรลงไป ทางจีนมีรสนิยมในเชิงที่เรามี สิ่งที่เรียกว่าข้อได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบ คือ การให้บริการของไทย เช่น รพ. บำรุงราษฎร์ มีออฟฟิศที่เซี่ยงไฮ้ ที่จะเอาเศรษฐีจีนมาเป็นลูกค้า นั่นคือ ธุรกิจให้บริการและสุขภาพ ที่เราจะทำได้ดีมาก และให้จีนช่วยเติมเต็มให้บริการสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เช่น มีการรักษาโดยฝังเข็ม ถือเป็นการนำข้อได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของไทยมาบวกกับจีน
มาถามตัวเองเราจะทำอะไรขาย เราคือฐานธุรกิจบริการที่สำคัญ เหมือนกับจีอีมาบอกว่าไทยเป็นประเทศที่ซ่อมเครื่องยนต์เจ็ทจีอีที่ดีที่สุดในโลก เพราะเครื่องยนต์เจ็ทจีอีแต่ละสายการบินไม่เหมือนกันซักลำแล้วแต่จะสั่ง ทีนี้เวลาเอากลับไปบริการวิศวกรสหรัฐฯปวดกระบาลมากเลย มันขี้บ่น แต่วิศวกรไทยให้บริการที่ไม่บ่น เรากลายเป็นสถานที่บริการที่ดีมากๆที่เขาเรียก "บริการดัดแปลงตามความต้องการของลูกค้าและผลิตภัณฑ์"
สังคมไทยมีคนเกิดใหม่เสมอ และมีคนแก่ วัยอย่างผมที่ปรับตัว ซึ่งคนที่ออกไปจีนจริงๆจังๆ ตอนนี้ก็เริ่มมีแล้ว แต่พวกเอสเอ็มอีรุ่นใหม่
ยังมองและมุ่งตลาดสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่เอสเอ็มอีควรจะได้ น่าจะเป็นจากตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างหลากหลาย น่าเรียนรู้ และเป็นตลาดที่ช่ำชอง แล้วเขาจะดัดแปลงผลิตภัณฑ์ของเขาไปเอง
ประเด็นของเราต้องมีความนิ่งทางจิตวิญญาณที่รู้ว่าในอนาคตใครจะทำอะไร แล้วก็สู้โดยการศึกษาก่อนว่าความต้องการคืออะไร ถ้าประเทศเราผลิตของได้เป็น 1,000 ชนิด แน่นอนว่า 300-400 ชนิดต้องส่งจีนได้ ไม่ใช่คิดขายแค่ข้าวหอมมะลิก็พอแล้ว ทั้งๆที่ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่เศรษฐีจีนกินปลูกได้ปีละหนเดียว
ตอนนี้เศรษฐีจีนมี 50 ล้านคน จากประชากรกว่า 1,000 ล้านคน เอามาเป็นลูกค้าเราแค่ 20 ล้านคนก็พอแล้ว แต่ถ้ายังหลงระเริงขอให้คนมาลงทุนในประเทศเพื่อขายยุโรป สหรัฐฯ อยู่ จะเห็นได้จากการลงทุน 7 ปีย้อนหลังไปไม่ได้คำนวณความยิ่งใหญ่ของจีนที่จะเกิดขึ้น บางอย่างลงทุนไปแล้ว สะพรึงกลัว พยายามให้รัฐบาลปิดบังไม่ให้สินค้าจีนเข้ามา ถ้าเป็นอย่างนี้จีนบอกไม่ค้าขายในไทยก็ได้ ไปขายที่สหรัฐฯแข่งกับเรา เราก็ตายอยู่ดี
ญี่ปุ่นชมเปาะไทยมีทางออก
สำหรับปรากฏการณ์ของโลกขณะนี้ สินค้ามีมากกว่าความต้องการ เทคโนโลยีสำหรับกระบวนการผลิตเปลี่ยนแปลง เร็วกว่าความสามารถของตลาด ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ เทคโนโลยีคืนเงินธนาคารได้
เป็นปรากฏการณ์ที่โหดมากสำหรับเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีกระบวนการนำเงินทุนมาหมุนเวียนใช้ไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาในสหรัฐฯและญี่ปุ่นมาก
ตัวอย่างเช่น ทีวีจอแบน แอลซีดี โฮมเธียเตอร์ ซื้อกันใหญ่ ทั้งๆที่ไทยเพิ่งลงทุนจอแก้วซีอาร์ที ก็ยังไม่พอ แอลซีดีก็มีหลายรุ่น รุ่น 2 และรุ่น 3 ออกมาขายพร้อมกัน ทั้งๆที่เทคโนโลยีธรรมดา ต้องอั้นเอาไว้ก่อน ให้คืนเงินแบงก์ แล้วเทคโนโลยีใหม่ ค่อยออกมา นี่ดันเอา 2 เทคโนโลยีออกมาพร้อมกัน ยังไม่พอมีจอพลาสมาด้วย ทั้งโลกก็แข่งกัน เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน จะอยู่ได้อย่างไร
ฉะนั้น เศรษฐกิจที่ผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภคจำนวนมาก จึงอันตรายมาก ญี่ปุ่นจึงมองจีนว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ จึงต้องปรับตัวโดยเปลี่ยนนโยบายตัวเองเป็น Value Creation Economy หรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทางกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (มิติ) ได้มาพบและมาขอให้ทำงานร่วมกันสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา
ญี่ปุ่นได้ออกสมุดปกขาว ชื่อ The Value Creation Economy Model ซึ่งยกตัวอย่างประเทศเดียวที่เป็นทางออก คือ ไทย จากที่มีการใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจคู่ขนาน หรือ Dual-track Economy ซึ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกควบคู่กันไป แทนที่จะพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว
วิธีการของญี่ปุ่นที่คุยกันมา 1 ปี ได้ไปหากลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและพัฒนา (โออีซีดี) ล็อบบี้ 6-7 ประเทศ ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการย่อยร่วมกันศึกษา เพื่อให้คำจำกัดความมูลค่าของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพื่อจะลงบัญชีให้ได้ โดยหาประเทศสนับสนุนจำนวนหนึ่ง คือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีแต่ทรัพย์สินทางปัญญา และทักษะความชำนาญ ไม่มีของหนักๆ ไม่ได้สร้างเครื่องบินใหญ่ๆ
แนวคิดนี้ต้องใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะทำเสร็จ ฉะนั้น ญี่ปุ่นมีทางออกแล้ว และมีการทำแผนงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมิติของญี่ปุ่นกับองค์กรเพื่อการเรียนรู้ (Office of Knowledge Management) ที่มีผมเป็นประธาน เมื่อญี่ปุ่นทำถึงขั้นนี้ ทั้งเกาหลี ไต้หวัน ก็คงจะลำบาก
************
ความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะรับมือมหาอำนาจจีน ด้วยการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ร่วมกับญี่ปุ่น จะทันกับการรับมือกับสงครามการค้าของจีนที่บุกเข้าไปทุกหัวระแหงแล้วได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู
ในระหว่างนี้ภาคเอกชนก็ต้องทำการศึกษา พร้อมกับคิดกลยุทธ์ปรับแต่งสินค้าไทย เพื่อบุกและดึงส่วนแบ่งตลาดจีนมาครอบครองไว้ส่วนหนึ่ง
เป็นโอกาสที่ใครมีสมองดี มองการณ์ไกล มีตลาดยักษ์ใหญ่รออยู่ข้างหน้า.
ทีมเศรษฐกิจ