ในขณะที่ตลาดหุ้นเริ่มสดใส ผู้คนมากมายก็เดินเข้าตลาดด้วยความหวัง ความหวังของแต่ละคนก็ต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้างตามกิเลสของคน เมื่อมีคนมากหน้าหลายตา ข้อมูลข่าวสารก็เริ่มมากขึ้น นักวิเคราะห์เริ่มเนื้อหอม ใครๆก็อยากฟังความเห็น ใครๆก็อยากได้คำแนะนำ คำถามคำตอบเกิดขึ้นในสมอง ลองฟังดูเพลินๆนะครับ
แล้วทำไมเราถึงต้องฟังนักวิเคราะห์?

ก็คงเนื่องจาก (1) เราไม่มีข้อมูลที่เขามี (2) เราวิเคราะห์ไม่เป็น (3) เราไม่มีเวลาพอที่จะวิเคราะห์หุ้นทั้งหมดได้ (4) หลายหัวดีกว่าหัวเดียว
เนื้อหาเชื่อได้แค่ไหน?

ก็คงขึ้นอยู่กับความถูกต้องแม่นยำของนักวิเคราะห์นั้นๆ
แล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไรล่ะ?

นั่นสิน่ะ ก็ดูคนที่เขาพอมีหลักมีฐานมีผลงานที่ผ่านมามั้ง แต่สี่เท้ายังรู้พลาด กิ้งกือยังหกล้ม
ไม่เอาสิ เอาแน่ๆ?

ถ้าจะให้แน่ ก็คงต้องเสียเหงื่อแล้วล่ะ ต้องทำการบ้านไง หลังจากได้บทวิเคราะห์แล้วเราก็ต้องมานั่งทำการบ้านต่อ มาดูว่าเขาคิดอะไรอย่างไร ถูกต้องแค่ไหน หาหลายๆที่มาเปรียบเทียบและสรุปเป็นความคิดเราเอง
คิดแล้วๆ ไม่เห็นจะต่างจากที่เขาเขียนเท่าไหร่เลย ไม่มีอะไรใหม่ เสียเวลาจริงๆ!

ถ้างั้นลองมาเปรียบเทียบดูว่าก่อนและหลังเรื่องพวกนี้คุณรู้ต่างกันอย่างไร (1) ความรู้เรื่องธุรกิจของบริษัท (2) ความรู้เรื่องผลประกอบการ (3) การเคลื่อนไหวของราคา (4) ความสมเหตุสมผลของราคาเป้าหมาย (5) ราคาที่สมเหตุผลของเราเอง (6) ข้อมูลและแหล่งข้อมูลที่จะหาหลังจากที่ลงทุนไปแล้ว
ก็มีต่างบ้าง แล้วไงล่ะ?

ก็พร้อมมากขึ้นไง สิ่งที่เราควรจะตอบให้ได้ก่อนซื้อคือ ข้อ (5) เพราะต้องใช้มันในการตัดสินใจซื้อ และการขายในอนาคต
ราคาที่สมเหตุผล คือหุ้นมันจะขึ้นไปที่ราคาเท่าไหร่เหรอ?

ไม่เชิงนัก ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนถึงพื้นฐานของกิจการ บางทีก็สูงกว่า บางทีก็ต่ำกว่า ราคาที่สมเหตุผลต้องดูที่กิจการของบริษัท และสิ่งที่บริษัทจะคืนมาให้เรา เช่นปันผล เป็นต้น ราคาหุ้นที่ขึ้นมานั่นถือเป็นค่าเหนื่อยที่ถือนานนน
ราคาเป้าหมายที่เขาบอกก็มีเหตุผลดีนี่?

ก็ถ้าเราได้คิดถี่ถ้วนแล้ว และคิดว่าราคาเป้าหมายที่เขาบอกนั้นถูกต้อง ก็เป็นสิ่งดี นั่นแสดงว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขาคิด อันนี้สำคัญ ถ้าเรารับแต่ข้อมูลโดยที่ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่นั่นอันตราย
อันตรายยังไงเหรอ?

ก็ไม่มีใครมานั่งบอกตั้งแต่ต้นจนจบได้น่ะสิ พอซื้อแล้วก็ตัวใครตัวมัน จะไปหวังพึ่งให้เขาหมดจะได้หรือ วันหนึ่งเขาเลิกสนใจแล้วแต่เรามีอยู่จะทำอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรถึงสรุปมาได้อย่างนั้น ก็เป็นการยากที่เราจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจะมีผลต่อหุ้นที่เราซื้ออย่างไร เมื่อราคามันแกว่ง ใจเราอาจจะกระโดดออกมาเต้นข้างนอกได้ นอกจากนั้นการรู้ราคาที่สมเหตุผล ทำให้เราต่อรองได้
ต่อรองอะไรเหรอ?

ก็ต่อรองราคาสิ เขาเรียกว่า Margin Of Safety ซื้อให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ของดีและถูกใช่ว่าจะหาไม่ได้น่ะ
ก็เมื่อมันดีขนาดนั้น สนใจทำไมว่าแพง?

ถ้าจะลงทุนระยะยาว เราไม่ได้คิดจะขายวันนี้พรุ่งนี้ สิ่งที่เราต้องการส่วนหนึ่งคือปันผล ที่จะให้เราแทนดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนแบบอื่นๆที่เราได้รับ ถ้าซื้อในราคาแพง ผลตอบแทนก็จะน้อยไปด้วย ผีซ้ำด้ามพลอย ตลาดหัวทิ่มหัวต่ำ งานนี้ทุนก็หด ปันผลก็ได้น้อย ตอนนั้นน้ำตาจะเช็ดหัวเข่า อีกอย่าง กิจการที่ดีมากๆในวันนี้ ปีหน้าอาจจะไม่เหมือนเดิมได้ ดังนั้น ซื้อถูกๆๆๆๆๆๆ ได้เปรียบ
ฟังก็เบื่อแล้ว ไม่ค่อยมีเวลาหรอก บอกๆมาเถอะ?

เฮ้ย!เป็นเจ้าของกิจการแล้วบอกว่าไม่มีเวลา บริษัทเขายกหนีไปไหนต่อไหน จะรู้มั๊ยเนี่ย
ข้อมูลมีดาษดื่น บทวิเคราะห์มีมากมาย ข่าวสารที่ไหลมาเทมาจนบริโภคไม่ไหว การรู้จักเลือก จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ถอดความจาก.... สมองผมเอง อิ อิ