หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ตลาดหุ้นไทยไม่กังวลกับการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 27, 2021 1:03 pm
โดย Thai VI Article
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (ราคาหุ้น) ณ ขณะนี้ไม่ได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ในประเทศไทย

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (ราคาหุ้น) ซึ่งสะท้อนการคาดการณ์เกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตนั้นพูดได้ว่า ไม่ได้แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ทั้งนี้เพราะดัชนีปรับตัวเพียงเล็กน้อยและอาจมองในแง่ดีว่า ก็น่าจะสะท้อนการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วยว่า เศรษฐกิจไทยก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ทั้งนี้แม้วว่านักวิเคราะห์จะเริ่มทยอยปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีไทยในปีนี้ลงไปเหลือประมาณ 1.5-2.0% จากประมาณ 2.5-3.0% แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการปรับการคาดการณ์ลงไม่มากนัก

นักลงทุนมักจะคาดการณ์ไม่ผิดพลาดเพราะหากคาดการณ์ผิดพลาดก็จะได้รับความสูญเสียที่มหาศาล แต่นักลงทุนก็จะไม่ได้คาดการณ์ถูกต้องเสมอไป เช่นในช่วง 2-3 วันหลังจากการลอยตัวของค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 นั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยประเมินว่าการลอยตัวค่าเงินบาทจะเป็นการปลดล็อค ทำให้เศรษฐกิจไทย (โดยเฉพาะการส่งออก) สามารถฟื้นตัวได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงหนี้ต่างประเทศที่ทับถมบริษัทและสถาบันการเงินเมื่อเงินบาทอ่อนค่าเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้อย่างมาก ซึ่งนำไปสู่วิกฤติทั้งในส่วนของสถาบันการเงินและดุลชำระเงินของประเทศ

ครั้งนี้ผมเข้าใจว่าตลาดคงจะมองในแง่บวกว่าการระบาดรอบนี้น่าจะควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันใกล้เพราะ
  • ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่สมุทรสาครได้ภายในเวลาเพียง 1 เดือน
  • จำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมาได้ทรงตัวที่ระดับประมาณ 1,500 คนต่อวัน ซึ่งต่อไปก็น่าจะเริ่มลดลงเพราะมาตรการควบคุมต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้อย่างครอบคลุม
  • รัฐบาลไทยคงจะรับรู้ถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนให้รวดเร็วยิ่งขึ้นและยังมีวัคซีนเหลือให้นำไปฉีดอีก 1.3 ล้านเข็มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปก็ได้รับวัคซีนจำนวนหลายสิบล้านเข็มทยอยเข้ามาทุกเดือนทำให้ฉีดจนเกือบครบจำนวน 60 ล้านเข็มภายในปลายปีนี้
  • แม้ประเทศไทยจะฉีดวัคซีนช้ามาก (ประชากรเพียง 0.5% ได้รับการฉีดวัคซีน 1 เข็ม) แต่ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกสามารถฉีดวัคซีนได้คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ประเทศอังกฤษที่มีประชากรเท่ากับประเทศไทย ประชาชน 1/3 ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว ในขณะที่สหรัฐอเมริกาสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้วันละ 3 ล้านเข็มจึงจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างครบถ้วนภายในเดือนพฤษภาคม กล่าวคือเศรษฐกิจของประเทศหลักจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปีนี้ ซึ่งจะเป็นอานิสงค์ให้กับเศรษฐกิจไทยพร้อมกันไปด้วย เห็นได้จากการที่ราคาหุ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกขยับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และอาจมีส่วนช่วยพยุงราคาหุ้นไทยให้ปรับขึ้นตามไปด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นผมก็อดจะเป็นห่วงไม่ได้ว่ารอบนี้การระบาดของ COVID-19 นั้นแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เป็นการระบาดที่ทำให้รู้สึกว่าภัยอันตรายเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นกว่ารอบก่อนๆ อย่างมาก การระมัดระวังตัวมากขึ้นนั้นย่อมหมายความว่าจะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และการใช้จ่ายก็ย่อมจะต้องลดลงอย่างมากตามไปด้วย

การที่รัฐบาลขยายมาตรการเยียวยาที่เคยทำมาแล้ว 2-3 รอบนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายเพราะมีความคุ้นเคยในทางปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว แต่ในความเห็นของผมนั้นครั้งนี้โจทย์เปลี่ยนไปแล้ว จึงควรเปลี่ยนแนวทางของมาตรการให้สอดคล้องไปด้วย เห็นได้จากการที่ภาคธุรกิจออกโรงมาผลักดันให้รีบเร่งการระดมซื้อวัคซีนเข้ามาในประเทศและนำไปฉีดให้กับประชาชนให้รวดเร็วที่สุด โดยภาคธุรกิจบอกว่าพร้อมจะสั่งซื้อเองและช่วยทางการในการนำเอาวัคซีนมาเร่งฉีดให้กับประชาชน ทั้งนี้เพราะปี 2021 แตกต่างจากปี 2020 เนื่องจากปีที่แล้วไม่มีวัคซีน รัฐบาลต่างๆ จึงเน้นมาตรการเยียวยา แต่ในปีนี้มีวัคซีนแล้ว รัฐบาลต่างๆ จึงหันเมาเน้นการซื้อและฉีดวัคซีนไม่ใช่การเยียวยา

แต่ในกรณีของไทยนั้นการจัดหาวัคซีนก็ยังล่าช้า การฉีดวัคซีนก็ล่าช้า ซึ่งการเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือของภาคธุรกิจนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็จะต้องคำนึงว่าจะกระทบกับการให้ลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มต่างๆ ได้เช่น
  • หลายคนคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้กับบุคคลที่เป็นแนวหน้าของการควบคุม COVID-19 ก่อนคือหมอ พยาบาล และ อสม.ก่อนกลุ่มอื่นๆ นอกจากนั้นก็คงต้องรีบฉีดให้กับกลุ่มอื่นๆ ที่สัมผัสกับสาธารณชนในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ตำรวจและครูบาอาจารย์
  • แต่สำหรับกลุ่มต่อๆ ไปนั้นอาจต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการฉีดวัคซีนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหรือเพื่อปกป้องกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อันไหนมีความสำคัญมากกว่า หากต้องการฟื้นเศรษฐกิจก็จะต้องปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่เกาะภูเก็ต กระบี่ พัทยา ฯลฯ เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเสรีภายในเดือนกรกฎาคม ตามมาด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลักต่างๆ เช่น พนักงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทุกคนที่กรุงเทพ เชียงใหม่และพัทยา เป็นต้น
  • ในกรณีดังกล่าวนั้นผู้สูงอายุและ/หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องรอไปก่อน แต่เมื่อมีกลุ่มนักธุรกิจรวมตัวกันขอเร่งซื้อวัคซีนเพื่อระดมฉีดให้กับพนักงานของกลุ่มบริษัทของตัวเองก่อน (โดยจะออกเงินซื้อเองและจัดการฉีดกันเอง) กลุ่มนี้ก็อาจได้รับวัคซีนก่อนกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว (เว้นแต่คนที่มีโรคประจำตัวจะเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าว) ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นไปได้อีกว่าพนักงานในบริษัทขนาดใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนพนักงานที่ทำงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม

ปัจจุบันนี้การจะขอรับฉีดวัคซีนนั้นประชาชนคนไทยต้องเข้าไปขึ้นทะเบียนเพื่อขอฉีดวัคซีน แต่ในความเห็นของผมนั้นในหลักการประชาชนคนไทยทุกคนได้ลงทะเบียนกับรัฐบาลแล้วโดยการถือบัตรประชาชน จึงน่าจะมีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนโดยอัตโนมัติ เพียงแต่รัฐบาลแจ้งในหลักการว่ากลุ่มใดมีลำดับความสำคัญที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนหรือหลังและในรายละเอียดนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งส่งจดหมายหรือแจ้งประชาชนทุกคนที่มีบัตรประชาชนว่าตนจะมีสิทธิมาฉีดวัคซีนเมื่อใด โดยให้เดินทางไปรับการฉีดวัคซีนที่หน่วยที่จัดตั้งขึ้นใกล้ที่พักอาศัยตามที่ระบุเอาไว้ในบัตรประชาชน

เสมือนกับการที่ประชาชนคนไทยไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลสามารถจัดการให้คนจำนวน 48 ล้านคนสามารถไปใช้สิทธิของตัวเองได้ภายในวันเดียว แต่ละคนใช้เวลาทำภารกิจดังกล่าวให้เสร็จสิ้นได้ภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง ซึ่งหากทำได้ดังนี้ก็จะดียิ่งครับ.