หน้า 1 จากทั้งหมด 1

หุ้น IPO สุดฮอตของปี/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: พุธ ก.พ. 10, 2021 9:53 am
โดย Thai VI Article
ระหว่างที่ในบ้านเรามีการเสนอขายหุ้น IPO (Initial Public Offering หรือหุ้นใหม่ที่จะเข้าซื้อขายในตลาด) สุดฮอตของ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ซึ่งจะใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า “OR” ที่มีหนังสือชี้ชวนที่มีความหนาของเล่มถึง 4.2 เซนติเมตร โดยประกาศผลการจัดสรรในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นั้น

ตลาดหุ้นฮ่องกงก็มีการเสนอขายหุ้น IPO ของ ไคว่ชู (Kuaishou) ซึ่งเป็น หุ้น IPO สุดฮอตของปี มีหุ้นเสนอขายรวม 365 ล้านหุ้น กันไว้ขายผู้ลงทุนสถาบัน 97.5% หรือ 355.875 ล้านหุ้น และจัดสรรให้ผู้ลงทุนรายย่อยเพียง 9.125 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 115 เหรียญฮ่องกง (หรือประมาณ 449 บาท) รวมมูลค่าเสนอขาย 41,975 ล้านเหรียญฮ่องกง และเมื่อรวมกับที่กันเอาไว้เสนอขายเพิ่มอีก จะเป็นมูลค่าการเสนอขายถึง 48,300 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 6,230 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในส่วนของรายย่อย มีผู้จองซื้อถึง 1.4 ล้านคน เมื่อรวมเงินจองซื้อของผู้ลงทุนสถาบันด้วยแล้ว กลายเป็นว่ามีเงินจองซื้อเข้ามาแช่อยู่รอการจัดสรรหรือคืนให้ผู้จอง เป็นเงินถึง 1.28 ล้านล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท หุ้นเข้าไปซื้อขายวันแรก 5 ก.พ. ปิดที่ราคา 300 เหรียญฮ่องกง หรือเพิ่มขึ้น 160%

ไคว่ชู ก่อตั้งในปี 2011 ชื่อ GIF Kuaishu โดย เช็งอี้เสี่ยว (Cheng Yixiao) ปัจจุบันเป็น Chief Product Officer เขาเป็นวิศวกรซอฟท์แวร์ สำเร็จการศึกษาจาก Northeastern University เคยทำงานที่ ฮิวเล็ตแพคการ์ด และบริษัทสื่อในจีนชื่อเหรินเหริน บริษัทเริ่มธุรกิจจากการเป็นแอพพลิเคชั่นให้ผู้ใช้ ทำและโพสต์วิดีโอสั้นของตนเองได้ ประกอบธุรกิจ บริการวิดีโอสั้น โดยเริ่มจากการให้ผู้ใช้สามารถทำวิดีโอสั้นๆของตัวเอง แล้วเอาไปโพสต์ให้คนอื่นดูได้

หลังจากนั้น มี angel investor เข้ามาร่วมทุน และผู้ร่วมทุนเห็นว่าต้องหา CEO มาช่วยบริหาร จึงมองหาจนพบ ซูหัว (Su Hua) ประธาน และ CEO ซึ่งเป็นวิศวกรซอฟท์แวร์ ระดับหัวกะทิ จบจากมหาวิทยาลัยชิงหัว เข้าทำงานที่ Google ประมาณหนึ่งปี ในปี 2006 หลังจากนั้นก็ออกมาตั้งบริษัทของตนเองในประเทศจีน ทำโครงการต่างๆมากมาย ล้มเหลวไป 30 โครงการ จึงไปทำงานกับ Baiduในตำแหน่งวิศวกรซอฟท์แวร์ อยู่ 2 ปี และออกมาตั้งบริษัททำแอพพลิเคชั่นค้นหาเว็ป ประสบความสำเร็จแลขายบริษัทให้ Alibaba ไป จึงมีอิสระและมีเงินที่จะทำงานธุรกิจของตัวเอง

ผู้ก่อตั้งหลักทั้งสองร่วมงานกัน และก็มีการหาผู้ร่วมลงทุนอื่นเพิ่ม จึงได้ Tencent มาถือหุ้นในสัดส่วน 20% ในปี 2013 ซูใช้แนวคิดของ YouTube แต่ทำให้ง่าย โดยผู้ใช้แอพสามารถทำวิดีโอสั้นจากโทรศัพท์มือถือ ในช่วงแรก ผู้ใช้หลักคือแรงงานจากต่างเมือง และคนส่งอาหาร ในปี 2014 จึงเริ่มใช้ AI ในการผลักเนื้อหาที่เกี่ยวข้องไปยังผู้ใช้ ทำให้มีผู้ใช้เพิ่มจำนวนเป็น 1 ล้านคน และเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในปี 2015 เป็น 100 ล้านคนในปี 2017

บริษัทขยายไปทำธุรกิจบริการ livestreaming ในปี 2016 และ ธุรกิจ e-Commerce solution ต่อมา

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจของบริษัทรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะคนต้องกักตัวอยู่บ้าน และดูรายการบันเทิงออนไลน์ ในเดือนกันยายน 2020 บริษัทมีผู้ใช้งานแอพที่เป็นแบบ active 305 ล้านคน และแต่ละคนใช้เวลากับแอพพลิเคชั่นของ ไคว่ชู เฉลี่ย 86 นาทีต่อวัน และหนึ่งในสี่ของผู้ใช้งาน หรือประมาณ 76 ล้านคน ยังเป็นผู้เสนอเนื้อหาของตัวเอง

ในปี 2019 บริษัทมีรายได้รวม 39,120 ล้านหยวน และขาดทุนสุทธิ 19,651 ล้านหยวน (เนื่องจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิ์แปลงสภาพ) โดยบริษัทแสดงให้เห็นว่าหากไม่ปรับส่วนนี้ บริษัทจะมีกำไร 1,033 ล้านหยวน

62% ของรายได้ของบริษัท มาจาก Livestreaming โดยเป็นคู่แข่งของ TikTok ท่านคงสงสัยว่า คนโพสต์ก็โพสต์ฟรี คนดูก็ดูฟรี แล้วบริษัทจะได้เงินรายได้มาจากไหน

คำตอบก็คือ ได้จากการขายของ virtual คือของที่มีในโลกเสมือน ให้กับคนโพสต์ค่ะ เช่น ท่านเห็นวิดีโอเด็กน่ารักร้องเพลง หรือ แม่บ้านมาสอนวิธีทำอาหาร ท่านดูแล้วชอบใจ ก็อาจจะอยากให้รางวัลเขา ท่านก็ใช้ “เงินไคว่” ซื้อช่อดอกไม้ ราคา 1 ไคว่ ให้ (1 หยวน มีค่าเท่ากับ 10 ไคว่) ชอบใจมากก็มอบให้หลายช่อหน่อย ชอบใจสุดๆก็อาจจะให้รางวัลเป็นมงกุฎ ราคา 188 ไคว่ หรือประมาณ 86 บาท เป็นต้น แต่รัฐก็มีการปรามๆว่า ให้เพลาๆ อย่ามีของรางวัลราคาสูงมากนัก (ดิฉันเขียนรายละเอียดไว้เผื่อใครจะนำแนวคิดไปทำธุรกิจในโลกเสมือนบ้าง รวมถึงรัฐบาลที่อาจนำไปเป็นแนวทางเก็บภาษีการค้าออนไลน์)

การขายของในโลกเสมือนนี้ไม่ใช่ธุรกิจเล็กๆนะคะ ในปี 2019 บริษัทประมาณว่า ขนาดของตลาดของขวัญบนโลกเสมือนนี้ มีมูลค่า 140,000 ล้านหยวน และคาดว่าจะเพิ่มไปถึง 400,000 ล้านหยวนในปี 2025

ทั้งนี้ ใน 100 บาทของของขวัญและรางวัลที่มอบให้ผู้โพสต์ รัฐบาลเก็บภาษี 20% แพลทฟอร์ม (ไคว่ชู) ได้ส่วนแบ่ง 40% และผู้รับจะได้รับ 40%

สำหรับรายได้อีก 33% ของบริษัทไคว่ชู มาจากการตลาดออนไลน์ค่ะ เช่น การลงภาพโฆษณา การมี link ไปยังคอนเทนท์ ของผู้สนับสนุนรายการ และ e-commerce เป็นต้น โดย e-commerce มียอขายเพิ่มจาก 96.6 ล้านหยวนในปี 2018 เป็น 59,600 ล้านหยวนในปี 2019 ซึ่งปัจจุบันไคว่ชูได้ค่านายหน้าเพียง 1% เทียบกับอัตราทั่วไป 5% ที่แพลตฟอร์มอื่นได้ ถือว่ายังมีโอกาสที่รายได้จะเติบโตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี มีคำเตือนเรื่องความเสี่ยงไว้ว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่รัฐอาจเข้ามาควบคุม โดยเฉพาะ การให้นำเนื้อหาที่มีความรุนแรง โป๊ หรืออันตราย ออกไป และมีรายงานว่า ผู้ใช้บางรายอาจมีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงประกอบวิดีโอของค่ายเพลงต่างๆ

หมายเหตุ : การลงทุนมีความเสี่ยง บทความนี้เป็นเพียงกรณีศึกษา มิได้มีจุดประสงค์จะเชิญชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหลักทรัพย์นี้แต่อย่างใด ข้อมูลส่วนใหญ่จาก Week in China และหนังสือชี้ชวน