หน้า 1 จากทั้งหมด 1

อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 10:57 am
โดย Thai VI Article
เรื่องของ “คน” หรือถ้ามอง “ภาพใหญ่” ก็คือ “ประชากร” ของประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ผมสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่กลายมาเป็นนักลงทุนแบบ “VI” ที่เน้นการลงทุนระยะยาว เหตุผลก็คือ ในระยะยาวแล้ว เรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งการผลิตและการบริการทั้งหลายนั้นก็ขึ้นอยู่กับคน ถ้าคนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และความสามารถหรือประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นเรื่อย ๆ เศรษฐกิจก็จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ตรงกันข้าม ถ้าคนมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ และความสามารถหรือประสิทธิภาพของคนไม่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็จะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งทั้งสองประการก็กระทบกับการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างรุนแรง ในกรณีแรกนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยมานานมากไม่ต่ำกว่า 60-70 ปีแล้วตั้งแต่ผมเกิดมาจนถึงวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยโตขึ้นตลอดอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วปีละเกือบ 10% มาเป็นเวลาเกือบ 46 ปี แล้ว

ในกรณีที่สองที่เศรษฐกิจจะถดถอยลงอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ผมกำลังวิตกว่ากำลังใกล้จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย นั่นก็เพราะว่าจำนวนคนหรือคนที่ทำงานได้ของประเทศไทยนั้น กำลังเข้าสู่จุดสูงสุดและจะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประสิทธิภาพหรือความสามารถของคนไทยที่จะไม่เพิ่มขึ้นอานิสงค์จากคุณภาพการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นและอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วของคนไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้และต่อไปในอนาคต โดยที่ผมเองก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครสนใจที่จะแก้ไขหรือชะลอปัญหาที่ยิ่งใหญ่และสำคัญขนาดนี้



ผมเองเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของประชากรไทยมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ผมอยากที่จะเน้นถึงปรากฏการณ์สำคัญที่ยังไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจังแต่จะมีความสำคัญมากในอนาคตนั่นก็คือ การลดลงแบบ “ถล่มทลาย” ของจำนวนเด็กที่เกิดในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะกระทบกับกิจกรรมทั้งหลายเกี่ยวกับทารกและเด็กเล็กซึ่งน่าจะรวมถึงงานของสูตินรีแพทย์ อาหารเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลและหนังสือเกี่ยวกับแม่และเด็กมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม กิจกรรมใหญ่และสำคัญยิ่งกว่าที่จะเริ่มเห็นผลกระทบอย่างแรงก็คือ “โรงเรียน” ซึ่งก็จะพบว่าจำนวนเด็กที่จะต้องเข้าโรงเรียนนั้น จะลดลงไปมากและจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขของเด็กที่เกิดเมื่อ 7-8 ปีก่อนนั้นอยู่ที่ประมาณเกือบ 8 แสนคนต่อปี หลังจากนั้น ก็ลดลงตลอดทุกปี ประมาณปีละ 30,000 คน ทำให้เด็กที่เกิดล่าสุดนั้นอยู่ที่ประมาณแค่ปีละ 550,000 คน หรือเป็นการลดลงถึงประมาณ 30% และตัวเลขนี้ก็น่าจะยังไม่ดีขึ้นเมื่อคำนึงถึงปัญหาโรคโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายที่ตามมาซึ่งน่าจะทำให้คนเลื่อนและลดการมีลูกลงไปอีก

ที่จริง เรื่องของการศึกษาของไทยนั้น ก่อนหน้านี้เราก็เริ่มเห็นว่านักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเริ่มที่จะลดลงเพราะจำนวนคนที่เกิดและอายุครบ 17-18 ปี นั้น เริ่มลดลงจากปีละ 1 ล้านคนเมื่อ 20 ปีก่อนซึ่งก็สอดคล้องกับความเฟื่องฟูของมหาวิทยาลัยที่มีการขยายตัวขึ้นมากทั้งของรัฐและเอกชนในขณะนั้น แต่พอถึงเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนที่อายุถึง 17-18 ปีก็ตกลงมาเหลือปีละ 9 แสนคน มหาวิทยาลัยเอกชนหรือของรัฐที่เน้นการเรียนทางด้านที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเริ่ม “ว่าง”

ผ่านมาจนถึงวันนี้ตัวเลขคนไทยที่อายุถึงเกณฑ์เข้ามหาวิทยาลัยลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 8 แสนคน นักศึกษาในหลักสูตรทางด้านศิลปศาสตร์ที่ไม่ทำเงินหรือหางานยากหายไปเกือบหมด มหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากต้องปิดแผนกเพราะจำนวนนักศึกษาบางแห่งน้อยกว่าอาจารย์ที่สอนเสียอีก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนคนที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังจากนี้จะคงที่ประมาณเกือบ 8 แสนคนไปอีก 10 ปี ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยที่ได้ลดขนาดและ “ปรับโครงสร้าง” หลักสูตรในช่วง 2-3 ปีนี้แล้วก็น่าจะยังสามารถรักษาขนาดของตนเองอยู่ได้อีก 10 ปี ก่อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป “อย่างสิ้นเชิง” อีกครั้งหนึ่งเมื่อจำนวนนักศึกษาจะลดแบบ “ตกหน้าผา” ตั้งแต่ปี 2573-74



แต่ก่อนจะครบ 10 ปีนั้น คนที่บริหารมหาวิทยาลัยก็คงไม่ได้อยู่อย่างสบายนัก เพราะด้วยอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีต่อกิจกรรมอย่างการศึกษานั้นสูงลิ่ว การเรียนการสอนมีโอกาสที่จะถูก Disrupt จากแอ็ปสื่อสังคมอย่างซูมและข้อมูลต่าง ๆ จากเว็ปไซ้ต์อย่างกูเกิลได้ มหาวิทยาลัย “รูปแบบใหม่” ที่อาจจะลงทุนไม่มากแต่สามารถสอนคนจำนวนมหาศาลและด้วยอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสุดยอด ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก อาจจะมาทำลายมหาวิทยาลัย “รุ่นเก่า” ได้ นอกจากนั้น “ค่านิยม” ใหม่ ๆ ที่ว่านายจ้างไม่สนใจใบปริญญาหรือความรู้ด้านอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ต้องการคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่สนใจความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะของคนที่จะเข้ามาทำงานมากกว่าโดยที่ไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งหมดนั้นทำให้ “อนาคต” ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยชั้นนำมีความไม่แน่นอนสูงมาก

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนเรียนมีศักยภาพหรือความสามารถเพิ่มขึ้น? สมัยที่ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมและไปทำงานในโรงงานนั้น ก็ต้องบอกว่าทำงานสายตรงกับที่เรียน 100% แต่ความรู้สึกก็คือ ที่เรียนมาทั้งหมดนั้นก็ใช้งานได้น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วต้องไปเรียนรู้เองจากงานที่ทำงาน ยังจำได้ว่า ไม่มีหัวหน้างานที่จะ “สอน” เป็นเรื่องเป็นราว ทำผิดบ้างถูกบ้างและก็ไม่สามารถพัฒนาความสามารถจนเป็นผู้ออกแบบหรือสร้างสรรค์อะไรได้เป็นเรื่องเป็นราว ความสามารถสูงสุดเป็นได้แค่ “Operator” หรือ ผู้ควบคุมเครื่องจักรอุปกรณ์ให้ทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ นาน ๆ ครั้งก็เป็นนัก “ก็อปปี้” หรือเลียนแบบคนอื่นหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ สุดท้ายถ้ายังทำงานอยู่ก็จะถึงจุด “ตัน” ก้าวหน้าต่อไปไม่ได้

ถ้าจะเปรียบเทียบตัวเองกับภาพใหญ่ของประเทศโดยรวมก็อาจจะคล้าย ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตไปเรื่อย ๆ เนื่องจากฐานที่ต่ำ แต่พอทำได้ดีถึงจุดหนึ่งก็ไปไม่ได้เพราะองค์ความรู้หรือศักยภาพจำกัด สุดท้ายก็ “ติดกับดัก” กลายเป็น “Middle Income Trap” ประเทศที่ “แก่ก่อนรวย” ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งนั้น คนของเขาน่าจะได้รับการศึกษาหรือความรู้ที่ดีกว่า ผมยังจำได้ว่าวันที่ผมอยู่โรงงานเป็น “วิศวกร” นั้น เรามี “ช่างเทคนิค” ที่มาจากบริษัทที่ขายเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนอย่างเครื่องเทอร์ไบนที่ใช้หมุนเครื่องจักรขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยดูแลเครื่องจักรด้วย ความน่าทึ่งก็คือ ช่างเทคนิคที่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยของเขานั้น รู้เรื่องเครื่องจักรดีกว่าเรามาก สามารถแม้กระทั่งแก้ไขปรับปรุงเครื่องจักรที่เราคิดว่า “สมบูรณ์แล้ว” จากโรงงาน หลังจากการแก้ไขและปรับปรุงจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานแล้ว ข้อมูลหรือความรู้นั้นถูกป้อนกลับไปสู่บริษัทที่ญี่ปุ่น เพื่อที่จะปรับปรุงเครื่องจักรรุ่นใหม่ให้ดีขึ้น และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญเติบโตและกลายเป็นประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว



ผมเองไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษาและก็ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เราสอนอะไรในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย จากการอ่านในบทความต่าง ๆ เขาบอกว่าการศึกษา “ยุคใหม่” จะต้องสอนคนให้รู้จักคิด รู้จักเรียนรู้เอง เพราะว่าโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก บางทีเรียนอะไรบางอย่างมาแต่ถึงเวลาเรื่องนั้นอาจจะ “ล้าสมัย” ไปแล้ว ดังนั้น นักศึกษาจะต้องรู้จักวิธีคิดและมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ ผมเองคิดถึงระบบการจัดการการศึกษาของไทยแล้วก็ได้แต่ถอนใจ ระบบการศึกษาของเรานั้นดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยสนใจให้นักเรียนคิด ครูส่วนใหญ่ก็จะ “รับนโยบาย”จากรัฐหรือส่วนกลางให้มาสอนให้นักเรียนทำหรือคิดตาม ครูเป็น “แม่พิมพ์” ของชาติ เด็กที่ “ถูกพิมพ์” ออกมาก็น่าจะคล้าย ๆ กับ “แม่พิมพ์” ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์จะมาจากไหน?

ก่อนหน้านี้ภาระของการให้การศึกษาแก่เด็กของเราคงจะหนักมาก งบประมาณถูกจัดให้สูงสุดในทุกกระทรวงแต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลดีอะไรมากนัก บางทีเราอาจจะมีจำนวนเด็กที่ต้องเรียนมากเกินไป เวลานี้เด็กกำลังลดลงมากมายผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาสนใจการพัฒนาระบบการเรียนการสอนของเราอย่างจริงจังและแบบ “ปฏิวัติ” เพื่อที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้โตต่อไปได้ในยามที่ทุกอย่างไม่เอื้ออำนวย ถ้าเราไม่ทำในวันนี้ ผมคิดว่ามันก็คงเป็น “อวสานของโรงเรียน”

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 12:59 pm
โดย stangst8
เห็นด้วยเลยครับ จากประสบการณ์ของพ่อตอนเรียนอยู่วิศวะมหาลัยหนึ่งเมื่อ30ปีที่แล้ว พ่อกลับมาดูหลักสูตรเด็กรุ่นใหม่ ณ ปัจจุบันเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนเลย ทั้งๆที่โลกมันพัฒนาไปตลอดแต่หลักสูตรการสอนเด็กแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 2:08 pm
โดย ส.สลึง
ประสบการณ์ส่วนตัว

คนไทยส่วนใหญ่รู้
เพราะคนไทยส่วนใหญ่ฉลาด

คนไทยส่วนใหญ่รู้
รู้ว่าต้องก้าวไปข้างหน้า
รู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทำ

คือป่าวประกาศ
ว่าองค์กรอื่น
หน่วยงานอื่น
รวมถึงคนอื่น

ต้องเปลี่ยนแปลง

ตัวผมเองก็ทำงานมาในสายงานที่เรียนมา
ร่วม 20 ปี

สิ่งที่ผมเจอก็ไม่ต่างกัน
ทุกคนรู้ว่าต้องเปลี่ยน
แต่ก็ไม่ยอมออกจาก comfort zone

แต่ผมไม่เลือก

สิ่งที่ผมเจอคือหัวหน้าให้ไปรับผิดชอบ
งานอื่นที่คนอื่นไม่ทำ
และเป็นงานที่ไม่ใช่สายวิชาที่เรียนมา
อบรมก็ไม่เคย
เหมือนหัดขับรถเอง
พอทำผิดก็โดนเรียกเข้าไปนั่งห้องเย็น

ในใจก็ได้แต่คิด
ว่าไม่เป็นไร
คงไม่อยู่ถึงเกษียณอะนะ

วกกลับเข้าเรื่อง

คล้ายๆ คนที่รู้ว่าการทานอาหารดี
พักผ่อนให้เพียงพอ
และหมั่นออกกำลังกาย
มีประโยชน์

แต่เลือกที่จะไปกินเหล้า
เที่ยงกลางคืนนั่นล่ะ

การเปลี่ยนแปลงมันมีองค์ประกอบ
ต่อให้คนที่มีอำนาจมาสั่ง
คนรับคำสั่งไม่เก็ต

บ้านหลังนี้มันก็จะย่ำอยู่ที่เดิมนะครับผม

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 2:18 pm
โดย Krasapkan
เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ
ผมมีคำแนะนำให้ผู้บริหารการศึกษา
1. กำหนดนโยบายให้โรงเรียนพัฒนา การประพฤติหรือการปฏิบัติตน และ ความรู้ทางวิชาการ ของนักเรียน ควบคู่กันไป
2. ให้โรงเรียนจัดทำแผนเพื่อให้บรรลุนโยบายอย่างชัดเจน
3. มีการประเมินผลโรงเรียนได้ทำตามแผนหรือไม่อย่างไร
4. หน้าที่ของครูคืออะไร ได้ทำตามนั้นหรือเปล่า
5. การประเมินผลการทำงานของครูมีประสิทธิภาพหรือเปล่า
6. วิธีการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษามีประสิทธิภาพไหม (ได้ผู้บริหารมืออาชีพหรือได้อดีตครูผู้สอนขึ้นมาเป็นผู้บริหาร)

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 5:34 pm
โดย ekarin_555
อ่านแล้วนึกถึงข่าวที่ให้เด็กร้องเพลงเพิ่มหลังเคารพธงชาติเลยคับ :(

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 6:11 pm
โดย ส.สลึง
ส่วนตัวผมคิดว่าการศึกษาที่ดี
เริ่มต้นได้จากที่บ้านครับ

phpBB [video]


และความรู้หลายๆ อย่าง
ผมก็ไม่ได้เรียนรู้จากในโรงเรียน

การลงทุนก็เช่นกัน

ปล.
ถ้าเนื้อหาไม่เหมาะสม
กดลบออกได้นะครับผม

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 07, 2021 8:13 pm
โดย Yaknoi
อาจารย์พูดถูกครับ และผู้ใหญ่หลายคนก็ทราบดี ผู้ใหญ่ก็มาจากเด็กเหมือนกัน เด็กมักคิดต่างตั้งคำถามเป็นมาหลายรุ่นเพียงไม่กล้าแสดงออกเท่ารุ่นนี้ พอโตมามีอำนาจแล้วรู้ทั้งรู้ว่าควรทำให้การศึกษาพัฒนาขึ้นแต่ก็ไม่ทำกัน จริงจังแปลกไหมครับ แล้วเด็กรุ่นปัจจุบันจะเดินตามรอยเดิมไหมก็น่าคิด ผมเห็นคนโพสต์คำคมทำนองว่าผู้ใหญ่มักกลัวเด็กจะรู้มากจึงปิดหูปิดตา แต่ผมก็ตั้งคำถามว่าเด็กที่ถูกปิดหูปิดตาเหล่านั้นสักวันก็ต้องโตมาเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่ปิดหูปิดตาเด็กก็ต้องตายไปตามกาลเวลา แล้วทำไมเด็กที่โตมาเหล่านั้นทราบแล้วว่าถูกปิดหูปิดตาโดนหลอกอะไรต่างๆนานามาตลอดยังจะไปปิดหูปิดตาเด็กรุ่นใหม่ต่อไปอีกและก็ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผมยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่นะแต่จะฝากผีฝากไข้คงไม่ได้ อย่างไรก็ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุดไว้ก่อน

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 08, 2021 9:13 am
โดย Tanukicho
ผมว่าการศึกษากับสถาบันในไทยถึงจุดจบแน่นอนครับ

ผมคงไม่เรียนมหาลัยไทยอีกแล้ว ไปลงเรียนคอร์สออนไลน์ หรือฝึกฝนด้วยตนเองดีกว่าครับ

จะเรียนคงมีเงื่อนไขเดียว คือ ได้ทุนการศึกษา หรือคงเรียนแบบมหาวิทยาลัยแบบเปิดแทน

ตอนนี้ผมก็เรียน มหาลัยเดียวกับอาจารย์ ผมสัมผัสได้ถึงคุณภาพการสอนที่ตกต่ำมาก หนังสือหรือวิธีการสอนของอาจารย์นั้น

ผมกลับรู้สึกหาอ่านได้เอง ฝึกได้เอง

และรู้สึกว่าอาจารย์ของผมไม่ได้รู้จริง หรือไม่สามารถทำสิ่งยากๆเป็นสิ่งที่ง่ายได้เลย เมื่อเทียบกับการเรียนป.ตรีของผม

ในแง่การคิดได้เอง ผมโชคดีได้เจออาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัย สอนให้หัดคิดเอง หลังจากนั้นความคิดเราและการเติบโตทางความคิดก็ก้าวไปไกลมาก และพร้อมแบ่งปันความคิดนั้นให้ผู้อื่นเสมอ

Re: อวสานของโรงเรียน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.พ. 09, 2021 10:53 am
โดย IndyVI
FM.96.5 | รายการ รู้ใช้เข้าใจเงิน | หุ้นอสังหาริมทรัพย์ | (08-02-64)

คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ประเด็นวันนี้ ความเห็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์และอวสานโรงเรียน

https://youtu.be/9azD2KlksEQ?t=1264

phpBB [video]