หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ย้อนดูประวัติการลงทุนของฮง เมื่ออายุ25ปี พอร์ตหลายสิบล้าน

โพสต์แล้ว: จันทร์ ม.ค. 04, 2021 3:40 pm
โดย amornkowa
ทฤษฎีลงทุน 10 เด้ง 'สถาพร งามเรืองพงศ์' เซียนหุ้นวัย 25 ปี

เจาะลึกเทคนิคลงทุน 'เซียนหุ้นวัยเบญจเพส' เจ้าของพอร์ตหลายสิบล้านบาท 'ฮง' สถาพร งามเรืองพงศ์ เล่นหุ้นให้ 'รวย' ต้องดูพื้นฐาน 70% เทคนิค 30%
ฮงคุยว่าเงินลงทุนของเขาเพิ่มขึ้นราวๆ 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี (2552-2553) ขณะที่พอร์ตลงทุนขยายตัวประมาณ 40-50 เท่า ภายในเวลา 7 ปี (2547-2553) หลังประสบความสำเร็จอย่างแรงฮงพัฒนาตัวเองไปเป็น "วิทยากร" เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน มีนักลงทุน "รุ่นพี่-รุ่นอา" จองที่นั่งเข้าฟังจำนวนมาก อีกทั้งนามแฝง Hongvalue ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างดีใน "เว็บบอร์ด" แวลูอินเวสเตอร์
แม้ฮงแฝงตัวกลมกลืนกับแวลูอินเวสเตอร์ (VI) แต่เขาก็นิยามตัวเองเป็น "ลูกครึ่ง Value Investor"
"ผมจะลงทุนกึ่งแวลู จะผสมผสานระหว่างปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งต่างจากนักลงทุน Value ทั่วไป แต่วันนี้มีนักลงทุน VI รุ่นใหม่ยึดแนวทางนี้เพิ่มขึ้น เพราะพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดีมาก"
ฮงกล่าวว่า การจะซื้อหุ้นสักหนึ่งตัว นักลงทุนควรต้องดูทั้งปัจจัยพื้นฐานและกราฟเทคนิคควบคู่กันไป เพราะการดูกราฟย้อนหลังจะทำให้เห็น Demand และ Supply ของหุ้นในอดีต ที่สำคัญจะเห็นจุด "นิวไฮ" ของหุ้นด้วย
"สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เหมือนนักลงทุนหุ้นคุณค่าทั่วไปคือ ผมยอมรับการขาดทุนได้บ้าง แต่ถ้าเป็นนักลงทุน VI แท้ๆ ต้องไม่มีคำว่า Cut Loss (ตัดขาดทุน) แต่ผมคิดแบบนั้นไม่ได้ตราบใดที่ยังชื่นชอบการเล่นหุ้นคอมมูนิตี้ (สินค้าโภคภัณฑ์) ที่สำคัญนักลงทุน VI จะไม่ดูกราฟดูปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว เขามองว่าดูกราฟเหมือนมองกระจกหลัง มันเกิดขึ้นไปแล้ว ไม่สามารถสะท้อนธุรกิจในปัจจุบันหรือในอนาคตได้"
สำหรับเทคนิคการลงทุนฮงจะเน้นดูปัจจัยพื้นฐาน 70% อีก 30% จะดูเทคนิเคิล และกราฟหุ้นย้อนหลัง หลายครั้งเขาบอกว่ากราฟหุ้น "ช่วยชีวิต" ไว้ ทำให้ไม่ต้อง "ขายหมู" (ขายถูก) ให้คนอื่น โดยเขายอมลงทุนเสียเงินปีละ 20,000 บาท ติดตั้งโปรแกรม APEX เพื่อดูกราฟราคาหุ้นโดยเฉพาะ
ยกตัวอย่างผลดีจากการดูกราฟ เช่น ราคาหุ้นทำนิวไฮ 10 บาท อยู่ดีๆ ลงมา 8-9 บาท แล้วซื้อขาย 8-9 บาทนานพอสมควร อยู่ๆ ก็วิ่งขึ้นไป 10 บาท โดยมีวอลุ่มเข้ามาเยอะมาก เหตุการณ์ลักษณะนี้ทำให้คิดได้ว่าบริษัทนี้ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง "ผมก็จะเริ่มตรวจสอบข้อมูลทันที" บางครั้งฮงเริ่มแกะรอยจากหุ้นที่มี "วอลุ่มผิดสังเกต" จากนั้นก็จะคัดเลือกหุ้นที่ "สวย" (ผลประกอบการดีที่สุด) เข้าพอร์ต
สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเลือกหุ้นที่ "เพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ของกำไร" และต้องอ่านเกมต่อไปว่า "ไตรมาสที่เหลือ" ของปีนั้นๆ ต้องสามารถรักษากำไรสุทธิระดับนี้(ดี) ได้ต่อเนื่อง ขั้นตอนจากนั้น ต้องเลือกหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 6-7% ต่อปี และข้อสุดท้าย ต้องเลือกหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่า P/E ของกลุ่ม...เหล่านี้คือคุณสมบัติเบื้องต้นของหุ้นที่จะสร้างผลตอบแทนได้สูงจากการลงทุน
เมื่อได้หุ้นที่เข้าข่ายกำไรสุทธิทำจุดสูงสุดใหม่ จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และค่า P/E ไม่สูง (ราคาหุ้นยังไม่แพง) ได้แล้ว ฮงก็จะเริ่มปฏิบัติการวิเคราะห์เจาะลึก "งบการเงิน" ทันที โดยเน้นหนักไปที่ "กระแสเงินสด" ของกิจการ พยายามดูย้อนหลังให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะในส่วนของความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของกิจการ (EBITDA) ต้องมีตัวเลขใกล้เคียงกับกำไรสุทธิ ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ต้องไม่เกิน 1 เท่า และควรเป็นหนี้สิน (หมุนเวียน) ที่ไม่มีดอกเบี้ย
เท่านั้นยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฮงจะทำการวิเคราะห์ "โครงสร้างธุรกิจ" ผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ทำกำไรให้บริษัท รวมทั้งอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ที่เขียนถึงหุ้นตัวนี้ รวมทั้งค้นหาบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารมาอ่านเพื่อให้แน่ใจว่าหุ้นที่จะวางเดิมพันราคาต้อง "วิ่ง" ชัวร์!
"ผมจะอ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่โบรกเกอร์ส่งมาในอีเมล์ทุกเช้า รวมถึงอ่านบทสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อให้เห็นทิศทางของบริษัท ส่วนใหญ่จะใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนเพียง 2 วัน"
เมื่อหาข้อมูลครบถ้วนแล้วก็จะเริ่มทำ "ประมาณการผลประกอบการล่วงหน้า" เพื่อประเมินราคาที่เหมาะสมในอนาคต สำหรับวิธีการเข้าเก็บหุ้นจะใช้สูตร 30:30:30:10 ซื้อแล้วหุ้นขึ้นถึงซื้อ "สเต็ปที่สอง" "สเต็ปที่สาม" และ "สเต็ปที่สี่"
หมายความว่าซื้อครั้งแรก 30% สเต็ปที่สอง (อีก 30%) จะซื้อเพิ่มก็ต่อเมื่อราคาหุ้นขยับตัวเพิ่มขึ้น 7-8% ถ้าซื้อ 30% แรกแล้วราคาไม่ขึ้นก็จะรอไปก่อน "ยังไม่ซื้อ" ตรงกันข้ามถ้าซื้อแล้ว 30% ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 8% ก็จะ Cut Loss (ตัดขายขาดทุน) ทิ้งทันที ถ้าทิ้งไว้นานเดี๋ยว "ออก(ของ)ไม่ได้"
เทคนิคที่ทำให้พอร์ตโตเร็ว 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี (2552-2553) เวลาตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ "กระทิง" หรือ "ขาขึ้นใหญ่" และมั่นใจหุ้นสุดๆ เขาจะใช้ "เงินกู้มาร์จิน" เพิ่มพลังบวกให้กับพอร์ต
ทุกวันนี้ศูนย์บัญชาการของฮงอยู่ที่บ้านแล้วสั่งซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ที่บ้านย่านพระราม 2 จะกั้นห้องไว้สำหรับนั่งดูหุ้นโดยเฉพาะภายในมีทีวี LCD 60 นิ้วตั้งอยู่กลางห้อง กิจวัตรประจำวันฮงจะตื่นนอนมานั่งในห้องนี้ตั้งแต่ 9 โมงเช้าแล้วอ่านข้อมูลทุกอย่างเริ่มตั้งแต่บทวิเคราะห์ หนังสือพิมพ์ เข้าเว็บบอร์ด Thaivi.org เหตุที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะเสียค่าคอมมิชชั่นเพียง 0.1% ถ้าโทรศัพท์สั่งผ่านมาร์เก็ตติ้งต้องจ่าย 0.15% (รายย่อยต้องจ่าย 0.25%)
"โดยปกติผมจะปรับพอร์ตลงทุนทุกไตรมาส (3 เดือน) เพราะสถานการณ์มักมีการเปลี่ยนแปลง ทุกครั้งที่งบการเงินประจำไตรมาสออก ผมจะนำข้อมูลที่ผู้บริหารบอกผ่านสื่อกับบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์มานั่งคำนวณตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสถัดไป"
อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จฮงจะ "เล่นหุ้นเป็นกลุ่ม" ประมาณ 7-8 คน เทคนิคการเล่นจะคล้ายๆ กัน พวกเขานัดเจอกันที่ "สโมสรทหารบก" ทุกๆ 2 สัปดาห์ ไม่วันเสาร์ก็วันอาทิตย์ เว้นว่าช่วงไหนตลาดหุ้นดีๆ ก็จะเจอกันสัปดาห์ละครั้ง กิจกรรมที่ทำจะเช่าห้องฉายโปรเจ็คเตอร์เพื่อแชร์ข้อมูลกัน คนไหนถนัดดูกราฟก็จะมาบอกว่าเส้นกราฟเทคนิคหุ้นตัวไหนสวย ใครถนัดพื้นฐานก็จะนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง
ส่วนการซื้อขายแต่ละคนจะตัดสินใจเอาเองไม่ค่อยบอกกัน ถ้ามีหุ้นตัวไหนเข้าตาฮงชอบสั่งซื้อหุ้นวันจันทร์ ซื้อเสร็จไม่เคยกำหนดว่าต้องถือยาวหรือสั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะเป็นตัวบอก แต่เขาจะเตือนตัวเองเสมอว่า "เล่นหุ้นต้องเล่นแบบ "ไร้ใจ" ถ้าใช้อารมณ์เล่นหุ้น (รัก-โลภ-โกรธ-หลง) มีโอกาสขาดทุนสูง ผมจะพยายามคิดเสมอว่าหุ้นตัวนี้ไม่ใช่ญาติเรา ไม่รัก ไม่เกลียด"
ในยามที่ตลาดหุ้นไม่น่าไว้วางใจฮงจะเล่นหุ้นด้วยบัญชีเงินสด ปัจจุบันซื้อขายประจำอยู่ที่ บล.เคทีซีมิโก้ ตามมาร์เก็ตติ้งคู่ใจย้ายมาจาก บล.พัฒนสิน
ล่าสุดในพอร์ตมีหุ้นอยู่ 3 ตัว ได้แก่ BCP ต้นทุน 21 บาท มองว่าหุ้นบางจากราคายังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ถ้าผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาสวยเหมือนไตรมาสแรก ก็อาจปรับราคาเป้าหมายขึ้นไปอีก บางจากถือเป็นหุ้นโรงกลั่นตัวเดียวที่มีค่า P/BV ต่ำที่สุด
อีกตัวที่ลงทุนอยู่คือหุ้น HEMRAJ ซื้อมาได้เดือนกว่าๆ แล้ว ต้นทุนแถว 2.10 บาท ชอบเพราะปี 2555 จะมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าทำให้บริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น และหลังเกิดสึนามิทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทย เหมราชก็จะได้ประโยชน์
ตัวสุดท้ายที่ลงทุนคือหุ้น CENTEL ตัวนี้ต้นทุน 7.30 บาท เก็บเพราะเห็นว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 ปีนี้พลิกจากปี 2553 ขาดทุน 51 ล้านบาท มาเป็นกำไรสุทธิ 400 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิวไฮในรอบ 5 ปี เพราะธุรกิจอาหารเติบโตมากขึ้น ธุรกิจโรงแรมก็ยังขยายตัวได้ดีอัตราการเข้าพักเพิ่มจาก 50-60% เป็น 70%
นอกจากหุ้นทั้ง 3 ตัวนี้แล้ว หุ้นตัวอื่นๆ ฮงบอกว่า ตอบตรงๆ ตอนนี้ยังหาตัวที่ถูกใจไม่เจอเลย วันนี้ยอมรับว่าสนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศ แต่ยัง "เล่นยาก" เคยถามคนที่ลงทุน "หุ้นจีน" เขาบอกว่า "น่ากลัวมาก" บริษัทจีนมีการลงบัญชีไม่ค่อยโปร่งใสถ้าสุ่มสี่สุ่มห้ามีหวังขาดทุน ถ้ามีประสบการณ์แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
ถามว่าเคยคิดอยากเป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ เด็กหนุ่ม ตอบว่า แม้การซื้อหุ้นคือ "การซื้อธุรกิจ" แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากเข้ามาบริหาร "ผมไม่คิดที่จะ “ผูกพัน” กับหุ้นตัวไหน แค่ต้องการเข้ามา “เสพสุข” (จากกำไร) เท่านั้น ได้ตามเป้าหมายแล้วก็จะไป"
ฮงเล่าว่า ตลาดหุ้นสมัยนี้คนอายุ 22-23 ปีขึ้นไป เข้ามาเล่นหุ้นกันค่อนข้างมาก จบปริญญาโทมาเล่นหุ้นก็มีเยอะ ส่วนตัวอยากแนะนำ "มือใหม่ที่เพิ่งหัดคลาน" ว่า ควรเริ่มลงทุนด้วยเงิน "ก้อนเล็กๆ" ก่อนสัก 100,000 บาท หากยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วหุ้นที่ใช้ "ฝึกมือ" ควรเป็นพวกหุ้น "โรงไฟฟ้า-ค้าปลีก" เพราะธุรกิจเข้าใจง่าย ราคาหุ้นไม่ผันผวนมาก เมื่อมีประสบการณ์แล้วก็ค่อยขยับมาเล่นหุ้นยากๆ อย่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหุ้นพวกนี้ถ้าจับจังหวะถูกจะได้กำไรเยอะ (รวยเร็ว)
"หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ผมจะถนัดกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทแผ่นฟิล์ม สินค้าเกษตร กลุ่มอื่นๆ ยอมรับว่ายังไม่ค่อยชำนาญ"
ฮงย้ำว่า ข้อผิดพลาดของนักลงทุนจำนวนมากชอบซื้อหุ้นตามคำแนะนำของเพื่อน หรือซื้อตามโบรกเกอร์โดยที่คุณไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย เท่าที่พบ 90% จะขาดทุน คนที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้น (ยุคนี้) ต้องศึกษาหาความรู้ รู้ทุกซอกทุกมุมของหุ้น
"ผมโชคดีที่เล่นหุ้นตั้งแต่เรียนปี 1 ม.กรุงเทพ กว่าจะจับจุดได้ (รู้ความลับตลาดหุ้น) ใช้เวลานาน 2-3 ปี ผมจะยึดอาชีพนักลงทุนเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เรียนจบก็ไม่เคยไปทำงานบริษัท ทุกวันนี้ผมมีเงินทำอะไรได้หลายๆ อย่าง อย่างที่เพื่อนๆ ไม่มี" เซียนหุ้นวัยเบญจเพส กล่าวทิ้งท้าย
เครดิต : เนชั่นกรุ๊ป

Re: ย้อนดูประวัติการลงทุนของฮง เมื่ออายุ25ปี พอร์ตหลายสิบล้าน

โพสต์แล้ว: จันทร์ ม.ค. 04, 2021 5:35 pm
โดย amornkowa
มองวิกฤตในมุมVIปัจจุบัน
หลังจากเขียนบทความเมื่อ10ปีที่แล้ว

เราต้องรอด กับ คุณฮง สถาพร งามเรืองพงศ์

สรุปจากความเข้าใจของ เพจ Seminar Knowledge

คุณฮง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในภาวะวิกฤต Covid-19 ว่า
ปกติ ธรรมชาติของตลาดหุ้น ยกตัวอย่าง
ตลาดหุ้นสหรัฐ ตอนที่อยู่วิกฤตซึ่งเกิดจากภาค Financial sector ตลาดหุ้นจะลงอย่างรวดเร็ว
ถ้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งใช้เวลานาน กว่าการจ้างงานจะกลับมา ดัชนีของตลาดหุ้นจะขึ้นไปแล้ว30%
ดังนั้นควรลงทุนตอนช่วงอยู่ในวิกฤต เพราะตลาดหุ้นจะสะท้อนในอนาคต(6-12เดือน)
ตัวอย่างเช่น วิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 1973 ที่สหรัฐ เศรษฐกิจซึ่งอยู่ในช่วง Stagflation
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ได้ลงทุนในวอชิงตัน โพสต์ 10ล้าน$ และมูลค่าหุ้นเพิ่มเป็น 1500 ล้านเหรียญในอีก 30 ปีต่อมา
ดังนั้น การลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเร็วๆ ก็ไม่เหมาะกับการลงทุนในหุ้น เพราะตอบไม่ได้ว่า
อีก 3-6 เดือนจะกำไรไหม แต่ถ้าถือลงทุนในระยะยาว มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง
คุณฮง ถือหุ้นเต็มพอร์ตตั้งแต่ช่วงก่อนหุ้นลง ดังนั้นได้ผลกระทบพอสมควร
แต่ก็ไม่ท้อถอย หมั่นทำการบ้าน ศึกษาหุ้นอย่างน้อยวันละ 4ชม ซึ่งถ้าเทียบกับตอนช่วงไฟแรงๆ
วันละศึกษาหุ้นไม่ต่ำกว่า 8-9 ชม แต่เนื่องจาก ประสบการณ์การลงทุนเพิ่มขึ้น
หุ้นบางตัว พอเห็นข้อมูลบางอย่างก็สามารถตัดสินใจเลิกศึกษาต่อได้
และช่วงนี้ก็หมั่นทบทวนงบการเงินปัจจุบันเทียบกับในอดีตว่าแตกต่างกันอย่างไร

คุณฮงบอกว่า ช่วงก่อนวิกฤต หลายๆคนก็ตั้งเป้าว่า จะทำกำไรมากๆ ในช่วงวิกฤต
ให้เหมือน กูรูที่ประสบความสำเร็จ เช่น ดร นิเวศน์ หรือ คุณ โจ ลูกอีสาน
แต่พออยู่ในวิกฤต โดนกระทบจากหุ้นลดลงมามากๆ หลายๆคนก็ท้อ และหยุดลงทุน
เปรียบเหมือน เราผลัดกันชกกับเพื่อน ซึ่งเราถูกชกมารอบแรก พอถึงรอบที่เราจะชกกลับ
ปรากฏว่าเราถอดใจ และเลิกชกกลับเพื่อนไป

ภาวะหุ้นในปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ถูกมาก แต่ด้วยDividend Yield 4%กว่า ซึ่งไม่เห็นมาหลายปีแล้ว
ก็ยังดูน่าสนใจ แต่ไม่ได้บอกว่ากลุ่มไหนน่าสนใจ แนะนำให้ศึกษาหุ้นเป็นรายตัวดีกว่า เพราะ
ในแต่ละอุตสาหกรรมถึงแม้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ดี ก็จะมีบริษัทที่แข็งแกร่ง ผ่านประสบการณ์วิกฤตมาแล้ว
และ บริษัทที่ไม่เคยเจอวิกฤต มีหนี้เยอะ ไม่เผื่อถ้าเกิดพลาดเลย ดังนั้น การศึกษาหุ้นเป็นรายตัวจะเหมาะสมกว่า
เช่น กลุ่มสายการบินและโรงแรม ที่โดนกระทบโดยตรง บางบริษัทอาจถูกกระทบจนเกือบล้มละลาย
แต่บางบริษัทยังมีโอกาสรอด เราอาจดูจากหนี้สินต่อทุน ดูจากปีที่แล้วและมาเทียบกับปีนี้
กำไรก่อนจ่ายดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ว่าพอจ่ายดอกเบี้ยหรือเปล่า ถ้าไม่พออาจมีการเพิ่มทุน
ซึ่งกระทบกับผู้ถือหุ้น
คุณฮงศึกษาหุ้นที่โดนกระทบจากวิกฤตที่ผ่านมา และมีความแข็งแกร่ง หลังวิกฤตก็ฟื้นตัวมาหลายเท่า
ในช่วงแค่3-4ปี แต่หุ้นบางตัวขึ้นมาเท่าเดียว และกลับลงไปใหม่
ดังนั้นอย่าพึ่งไปเหมากลุ่มไหนดี ให้เจาะเป็นรายตัวดีกว่าว่า สร้างกำไรได้เท่าไหร่จะได้ประเมินราคาได้ถูก

หลักการเลือกหุ้นในภาวะวิกฤต
เลือกหุ้นที่เก่งกว่าหุ้นตัวอื่นในกลุ่ม โดย
ดูหุ้นที่มี ROE สูงๆเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่ม เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
หุ้นที่ฟื้นตัวเร็วในภาวะวิกฤตจะมีROEสูง
ราคาหุ้นก็ดูว่าฟื้นตัวไปมากหรือยัง แต่ก็ตอบยาก และขึ้นกับการมองสั้นหรือมองยาว
บางตัวก็ฟื้นเร็วเกินไป ถ้าเทียบกับกำไรที่ประมาณการได้ในปีนี้ ตลาดอาจมองไปถึงปี 64-65 หรือไป
บางตัวกำไรลดลงบ้าง แต่กำไรมีประสิทธิภาพ ราคายังไม่ฟื้นตัว
ดังนั้นเราต้องดูเรื่องหุ้นที่น่าสนใจ นำมาศึกษาเป็นอันแรกก่อน

คุณฮง แนะนำว่า เลือกหุ้นต้องมองระยะยาวแบบว่า เกษียณได้ในอีก10ปีข้างหน้า
การนั่งทำสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกลม ทำให้เรามีสติ ควบคุมอารมณ์ได้ดีมาก
เปรียบกับ การรัดเข็มขัดตอนขับรถ จะใช้ตอนเกิดอุบัติเหตุ
พอร์ตตอนช่วงจุดต่ำสุด ลงเกือบ40%จากจุดสูงสุด แต่เคยเจอรอบหนักกว่านี้โดนไป 50%
ช่วงนั้นมีความตึงเครียดมาก และไปอยู่สถานปฏิบัติธรรม 7วัน
แต่รอบนี้ เริ่มชิน เพราะโดนไปหลายรอบแล้ว
เคยฟัง หลวงพ่อไพศาล เล่าเรื่องเด็กโดนมิจฉาชีพมาหลอกครั้งแรกกลัว แต่โดนอีกครั้งเริ่ม
ชินแล้ว ผมก็เลยเชื่อว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่าเด็ก
วิกฤตรอบนี้ เราก็เรียนรู้มาแล้ว
หุ้นตกแรงๆก็ไม่ใช่รอบแรก และ รอบสุดท้าย
อยู่กับมันเหมือนเป็นส่วนนึงในชีวิตการลงทุน

แนะนำคนที่เคยผ่านครั้งแรก อย่าซีเรียส วันนึงก็ผ่านไป และ กลับมาใหม่
หลังที่คุณเจอ กลับไปnew highได้ อย่ากู้ลงทุนเยอะเกินไป

คุณ เฟิร์นได้สรุปหลังสัมภาษณ์ให้เราฟังว่า
1. ตลาดหุ้นนำเศรษฐกิจ ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะคาดการณ์เศรษฐกิจ
2. ให้ระวัง ว่าถอดใจผิดจังหวะ หุ้นอาจต่ำสุดไปแล้วถ้าไม่มีอะไรมากระทบ
3. ความรู้ ทำให้ มั่นใจลงทุน ถ้าลงทุนได้นานสิบปี ก็สามารถรวยได้
4. หลักการเลือกหุ้น ดูหุ้นคุณภาพ ROE สูงสม่ำเสมอ และ ราคาเหมาะสม
5. ความผันผวน กับ การลงทุน คู่กันเสมอ การทำสมาธิใช้กับตลาดช่วงนี้ได้

ขอบคุณ คุณ ฮง และ น้องเฟิร์น ศิรัถยา มากๆครับ