หน้า 1 จากทั้งหมด 1

อย่าลงทุนเพราะ FOMO อย่าเลือกเพราะ TINA/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 13, 2020 12:39 pm
โดย Thai VI Article
คงไม่มีช่วงเวลาใดในชีวิตการลงทุนของท่านที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในเงินฝาก พันธบัตร และตราสารหนี้ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือดี อยู่ที่ระดับต่ำเหมือนที่เป็นอยู่ในปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของ รัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ 0.79% รัฐบาลอังกฤษ อยู่ที่ 0.28% รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.03% ส่วนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลเยอรมนี กับ สวิสเซอร์แลนด์ ในผลตอบแทนเท่ากัน คือ -0.52% ต่อปี

เมื่อเราอยู่ในโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง เราจะกังวลว่าต้องรักษาอำนาจซื้อด้วยการหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เงินออมของเราจะไม่ด้อยค่าลงไป

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเราอยู่ในสภาวะ “ไม่ปกติ” ไม่มีใครรู้แท้แน่นอนว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร กิจกรรมที่จะใช้เงิน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนในธุรกิจใหม่ จึงเกิดขึ้นน้อยกว่าปกติ ความต้องการใช้เงินทุนจึงต่ำ ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆลดน้อยลงไปด้วย ราคาของสินค้าจึงไม่ปรับขึ้น ตรงกันข้าม กลับลดลงไปด้วยซ้ำ ราคาปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น น้ำมัน เหล็ก แม้กระทั่งอาหาร ก็พลอยมีราคาลดลงไปด้วย คนจึงไม่กังวลกับภาวะเงินเฟ้อ เหมือนที่เคยกังวลมาในอดีต

ไม่ใช่เฉพาะคนทั่วไป แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆก็รู้สึก ณ ปัจจุบันนี้ หน้าที่หลักของรัฐบาลทุกประเทศ คือ ดูแลให้ประชาชน “อยู่ได้ มีกิน” ไม่ต้องถึงกับอยู่ดีกินดี แต่ขอเพียงไม่อดอยาก

เมื่อภาคเอกชน “หมดแรง” เพราะปรับตัวไม่ทัน เพราะยังวางแผนรับมือไม่ได้กับอนาคตที่คาดเดาไม่ถูก รัฐจึงเป็นหัวรถจักรตัวเดียว ที่พอจะมีแรงฉุดให้รถไฟของประเทศต่างๆขับเคลื่อนไปข้างหน้า

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความกังวลเรื่องอื่น ก็แทบจะสูญสลายไป เมื่อเทียบกับความกังวลว่า จะต้องพยายามลากฉุดรถไฟขบวนนี้ไปข้างหน้าให้ได้ ทฤษฎีนโยบายการเงินยุคใหม่ หรือ Modern Monetary Theory (MMT) จึงถูกนำมาอภิปราย และนำมาอธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลในการอัดฉีดเงินเข้าระบบกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในประเทศที่มีความน่าเชื่อถือทางการเงินสูง และสกุลเงินเป็นที่แพร่หลาย เช่นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายที่ดิฉันเขียนไว้ในช่วงต้น

ทฤษฎีนี้เชื่อว่า รัฐไม่ต้องออกพันธบัตรเพื่อหาเงินก็ได้ เพียงแค่พิมพ์เงินออกมา จะแจกให้ประชาชนใช้ หรือจะเอาไปซื้อของจากประเทศอื่น ก็ย่อมได้ ตราบใดที่เงินที่รัฐบาลประเทศนั้นได้รับการยอมรับ

นอกจากนี้ รัฐก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ เพราะตราบใดที่ทรัพยากร เช่น แรงงาน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ยังเพียงพอ เงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบก็สามารถนำไปซื้อ ใช้จ่ายหมุนเวียนได้ ปัญหาเงินเฟ้อจะเกิดเฉพาะเมื่อรัฐอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ เกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่เท่านั้น มีของให้ซื้อน้อย แต่มีเงินเยอะ ก็จะเกิดแย่งกันซื้อ ราคาจึงสูงขึ้น

ทฤษฎีนี้ยังบอกอีกว่า รัฐไม่ต้องกังวลถึงการใช้คืนหนี้ (พันธบัตร) ตราบเท่าที่พิมพ์เงินออกมาแล้วคนยอมรับเอาไปใช้ตามมูลค่า ทั้งนี้ รัฐใช้ภาษีและการออกพันธบัตรเป็นเครื่องมือในการดูดซับเงินออกจากระบบ หากคิดว่าเศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป

เจ้าของทฤษฎีนี้คือ วอเรน โมสเลอร์ (Warren Mosler) จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต โดยเขียนหนังสือชื่อ “The 7 Deadly Innocent Frauds of Economic Policy” ซึ่งทฤษฎีของเขาก็ได้รับการเห็นแย้งจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายท่าน รวมถึง พอล ครุกแมน (Paul Krugman) และ เคนเนท โรกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) ด้วย

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Federal Reserve หรือ FED) ออกมาประกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคมว่า ได้เปลี่ยนจากเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2% หมายถึงจะยอมให้มีเงินเฟ้อสูงกว่า 2% ไปได้ในบางช่วงนั้น แสดงให้เห็นว่า เฟด ตั้งใจจะอัดฉีดเงินเข้าระบบต่อไป และไม่กังวลกับเงินเฟ้อ

การเงินเป็นเรื่องของความเชื่อถือ (Trust) ค่ะ เมื่อใดที่ความเชื่อถือยังอยู่ ก็ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐบาลหรือธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น ไร้วินัย ก่อหนี้จนท่วม ความน่าเชื่อถือจะค่อยๆเสื่อมสลายไป และเมื่อถึงวันนั้น หากผู้ลงทุนใหม่ ไม่ยอมซื้อพันธบัตรใหม่ หรือหากผู้คน ไม่ยอมรับธนบัตรที่รัฐบาลโดยธนาคารกลางพิมพ์ออกมา เมื่อนั้นงานเลี้ยงก็ต้องเลิกรา

ดังนั้น การลงทุน จึงมีความเสี่ยงแฝงอยู่เสมอ อย่าวางใจว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมที่เคยเป็นมาหลายสิบปี

ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัทในประเทศพัฒนาแล้ว พุ่งขึ้นไปสูงลิบลิ่ว ค่าพีอี (ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น) 30-35 เท่า หลายเป็นค่าต่ำ หุ้นบริษัทโปรแกรมประชุมออนไลน์ ค่าพีอีจากกำไรเดิมสูงถึง 594 เท่า แม้จะมีการเติบโตของรายได้สูงมาก แต่ค่าพีอี ที่คำนวณจากกำไรในปีนี้ก็ยังสูงถึง 199 เท่า

สำหรับผู้ลงทุน หากถามตรงๆ หลายคนคงสารภาพว่า ที่ลงทุนอยู่ทุกวันนี้ ลงทุนเพราะไม่มีทางเลือกอื่น หรือ There is no alternative (TINA) หรือหลายๆคนรีบเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เพราะกลัวตกรถ (Fear of Missing Out--FOMO)

ตรงนี้อันตรายค่ะ ไม่มีใครบังคับให้เราลงทุนได้ หากเราไม่อยากลง เราก็เก็บรักษาเป็นเงินฝาก เช่น ฝากประจำสัก 10-12 เดือน เพราะยังสามารถรักษาอำนาจซื้อได้อยู่ หรือหากมีเงินเย็นเงินยาว อาจจะเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ทำเลดีๆที่ราคาลดลงมา 30% ฯลฯ

ดิฉันยังเชียร์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ค่ะ แต่หากท่านจะลงทุน แนะนำว่าซื้อผ่านกองทุนรวมดีกว่า เพราะได้กระจายลงทุนในหลายๆบริษัท มีผู้จัดการกองทุนคอยซื้อขาย สลับลงทุนหุ้นนี้หุ้นนั้นให้ หากเห็นว่าราคาสูงจนเกินไปก็ขายทำกำไรออกไป เห็นราคาตกลงมา ก็เข้าไปซื้อ เป็นต้น

เงินอยู่กับเราย่อมเป็นของเรา อย่าลงทุนเพราะกลัวตกรถ (FOMO) และอย่าเลือกลงทุนเพราะคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่น (TINA)