หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า? (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์แล้ว: อังคาร ต.ค. 15, 2019 8:20 pm
โดย Thai VI Article
ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซึ่งเสียงส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวลงนั้น จะชะลอตัวลงเพียงชั่วคราวและกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปีหน้าเป็นต้นไป แต่ผมสงสัยว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะแม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะสงบลงชั่วคราวและธนาคารกลางลดดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่น่าจะกอบกู้ความมั่นใจของนักลงทุนได้และเมื่อการลงทุน (หมายถึงลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการไม่ใช่การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์) เข้าสู่สภาวะชะงักงันอย่างต่อเนื่องแล้ว ผมเชื่อว่าการหลีกเลี่ยงสภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปได้ยากในปี 2020

ในส่วนของประเทศไทยนั้นธปท.ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลงไปอย่างมากแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยลดการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงจาก 3.3% เป็น 2.8% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพ แต่ปรากฏว่ามีมติเอกฉันท์ที่จะคงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 1.5% ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือน ส.ค.นั้น ถือว่าได้ทำหน้าที่ในการ “กระตุ้น” เศรษฐกิจไปแล้ว ทว่าหากมองอีกแง่หนึ่งการลดดอกเบี้ยลงไป 0.25% หลังจากที่เพิ่มดอกเบี้ยไป 0.25% ในเดือน ธ.ค.2018 จะไม่ใช่การผ่อนคลายนโยบายการเงินมากนัก นอกจากนั้นนโยบายการเงินจะใช้เวลาส่งผ่านประมาณ 12 เดือน แปลว่าการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปีที่แล้วจะส่งผลในปีนี้ แต่การลดดอกเบี้ยปีนี้จะส่งผลในปีหน้า อย่างไรก็ดี กนง. ก็ยืนยันว่านโยบายการเงินปัจจุบันเหมาะสมแล้ว และดูเสมือนว่าจะไม่ต้องการลดดอกเบี้ยลงอีกในเร็ววันนี้ แม้จะกล่าวในแถลงการณ์ว่าตัวเลขเกือบทุกตัวสะท้อนว่า “ฟื้นตัวช้ากว่าคาด” หรือ “ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้” (ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่ากนง.จะต้องลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปลายปีนี้)

สำหรับปี 2020 นั้น ธปท.ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นเป็น 3.3% (จาก 2.8% ในปีนี้) แต่ก็ต่ำกว่าที่เคยประเมินว่า จีดีพี ปีหน้าจะขยายตัว 3.7% การขยายตัวที่สูงขึ้นในปี 2020 นั้น จากตัวเลขประมาณการของธปท. ผมสรุปว่ามาจากอุปสงค์ในต่างประเทศเป็นหลักเพราะ

*การบริโภคเอกชนขยายตัวลดลงจาก 3.8% ในปีนี้ เป็นขยายตัว 3.1% (ขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีโดยรวม) ในปี 2020 แม้ว่าการบริโภคของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นบ้างจากขยายตัว 2.3% ในปี 2019 มาเป็น 3.4% ในปี 2020

*ธปท.หวังมากจากการลงทุนของภาครัฐว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปีนี้เป็น 6.3% ในปีหน้า แต่การลงทุนของภาครัฐนั้นต่ำกว่าเป้ามาหลายปีแล้ว การลงทุนของเอกชนนั้นฟื้นตัวไม่มาก กล่าวคือขยายตัวจาก 3.0% เป็น 4.8% และอาจต่ำกว่าเป้าได้อีกเช่นกันหากการลงทุนของรัฐต่ำกว่าเป้า

*ธปท.ประเมินว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2020 จะเป็น 30,400 ล้านเหรียญเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ 26,300 ล้านเหรียญ การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นอีก 4,100 ล้านเหรียญนั้นถือว่าค่อนข้างสูง ทั้งนี้ในปี 2018 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่ากับ 32,400 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2019 สำหรับปีนี้นั้นธปท.ประเมินว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 34,200 ล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เดิมประเมินไว้ที่ 26,300 ล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ช่วยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปอีกเพราะประเทศไทยจะยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก กล่าวโดยสรุปคือเรื่องเงินบาทแข็งค่าก็น่าจะเป็นปัญหาอีกได้ในปี 2020

ผลสำรวจคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของซีอีโอของไทย (58 ราย) จากรายงานข่าวเมื่อ 30 ก.ย.นั้น ก็มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.เพียง 19.3% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว อีก 40.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวและ 42.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว (31.6%) หรือถดถอย (8.8%) แปลว่าเศรษฐกิจจะทรงหรือทรุด?

2.แต่ซีอีโอมองธุรกิจของตัวเองว่า 71.4% ยอดขายเพิ่มขึ้น 0-10% อีก 12.5% ยอดขายเพิ่มขึ้น 11-15% และที่เหลือยอดขายเพิ่มขึ้น 15-20% แปลว่าธุรกิจยังดีอยู่มากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในข้อ 1 ข้างต้น ทั้งนี้ 45.6% ประเมินว่ายอดขายจะทรงตัวและ 31.6% ประเมินว่ายอดขายจะดีขึ้น มีเพียง 15.8% บอกว่ายอดขายชะลอตัวและ 7% บอกว่ายอดขายถดถอย

3.มากถึง 75% บอกว่าจะลงทุนเพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจและอีก 13.6% จะขยายกำลังการผลิตรับดีมานด์ในประเทศ ซึ่งถือได้ว่าการลงทุนจะยังดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ได้ตกใจกลัวว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวดังที่กล่าวในข้อ 1 หรืออาจจะส่งผลให้คู่แข่งอื่นๆ (ที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจ) จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างมากในอนาคต เพราะเสียงส่วนใหญ่คือ 43.1% บอกว่ากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว

4.ประเด็นที่น่าสนใจคือการตอบคำถามว่าบริษัทจะรับมือกับเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างไร ซึ่ง 40% บอกว่าจะเจาะตลาดใหม่ทั้งในและนอกประเทศ และอีก 23.6% บอกว่าจะแตกไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง (แปลว่าจะพยายามไปกินส่วนแบ่งในตลาดอื่น) มีเพียง 12.7% เท่านั้นที่บอกว่าจะ “wait & see” ทั้งนี้ข้อเสนอแนะหลักให้กับรัฐบาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ (60.3%) และการดูแลค่าเงินบาท (24.1%)

กล่าวคือธุรกิจก็จะยังพยายามขยายตัวต่อไปและหวังว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างอุปสงค์มารองรับ แต่หากอุปสงค์โดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมากก็คงจะนำไปสู่การแข่งขันกันอย่างรุนแรงที่จะรักษาส่วนแบ่งของตลาดของแต่ละบริษัทเอาไว้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็เป็นไปได้ว่าจะมีการตัดราคากันหรือความสามารถในการปรับราคาสินค้าขึ้นจะแทบไม่มี ดังนั้นก็อาจหันมาพยายามลดต้นทุนการผลิต ทำให้เงินเฟ้อลดลงไปอีก ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อไปเพราะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นทุนอยู่แล้วและอัตราเงินเฟ้อของไทยก็ถือได้ว่าต่ำเกือบจะที่สุดในโลกอยู่แล้ว