วิกฤติกำลังจะมา?/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ส.ค. 18, 2019 7:25 pm
สัปดาห์ก่อนตลาดหุ้นโลกและไทยค่อนข้างผันผวน บางวันดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง 3% เช่นเดียวกันตลาดหุ้นไทยบางวันก็ตกลงมาเกือบ 2% ทั้ง ๆ ที่ในช่วงหลายปีหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์บ้านเราค่อนข้างมั่นคงไม่ค่อยผันผวนมากนัก ที่สำคัญ หุ้นแบ้งค์ใหญ่ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยปรับตัวมากต่างก็ตกลงมาถึงประมาณ 3% ในวันเดียว การตกลงมาอย่างหนักของหุ้นนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวของตลาดเงินและพันธบัตรที่มีการปรับลดลงโดยธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยซึ่งก็ส่งผลไปถึงตลาดการเงินด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ทำให้อัตราผลตอบแทนหรือที่เรียกว่า Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นอายุ 2 ปีลดลงมาเหลือ 1.63% ต่อปี แต่ที่ลดลงหนักยิ่งกว่าก็คือผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีได้ตกลงมาเหลือเพียง 1.62% ต่อปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ผิดปกติที่เรียกว่า Inverted Yield Curve (IYC) ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก อาจจะ 10 ปีหนอะไรทำนองนั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นประมาณ 12 เดือน เศรษฐกิจก็เกิด “วิกฤติ” ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีเพียงครั้งเดียวที่เวลาเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Inverted Yield Curve นี้แล้วเศรษฐกิจไม่วิกฤติ ส่วนอีก 6 ครั้งนั้น เศรษฐกิจเกิดปัญหาหลังจากนั้นภายใน 7-24 เดือน ดังนั้น การเกิด IYC ครั้งนี้จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลกันมาก และตลาดหุ้นจึงตกลงมาแรง คำถามก็คือ วิกฤติกำลังจะมาใช่ไหม? และเราในฐานะของนักลงทุนจะทำอย่างไร?
ก่อนอื่นคงต้องดูว่า IYC หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรหรือการลงทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรหรือการลงทุนระยะยาวนั้นมีความหมายอย่างไร?
โดยปกติถ้าเราลงทุนระยะยาว เราต้องการที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น ถ้าฝากเงินออมทรัพย์หรือฝากแค่ 3 เดือน ผลตอบแทนก็อาจจะได้แค่ 1-2% ต่อปี แต่ถ้าเราฝากประจำหรือลงทุนในพันธบัตรอายุ 3 ปีที่ไม่มีความเสี่ยงเหมือนกันนั้น เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่น อาจจะ 3% ถ้ายาวกว่านั้นเช่น 10 ปี เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเช่น 5% ต่อปี นี่เป็นเรื่องปกติ แต่สถานการณ์ IYC ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในอเมริกานั้นกลับกลายเป็นว่าถ้าเราลงทุนแค่ 2 ปีกลับได้ผลตอบแทนสูงกว่าลงทุน 10 ปี ซึ่งเป็นเหมือนกับสัญญาณว่าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงและจะลดลงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเป็น 10 ปี นักลงทุนจึงยอมที่จะ “ล็อก” อัตราผลตอบแทนไว้ก่อน ว่าที่จริงผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีของอเมริกาในช่วงนี้อยู่ที่เพียง 2.015% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นการส่งสัญญาณโดยตลาดเงินว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยในอีก 30 ปีข้างหน้านั้นจะต่ำมากอย่างน่าตกใจคือเฉลี่ยปีละประมาณ 2%
เหตุที่ผลตอบแทนในอนาคตจะต่ำมากนั้นเป็นสัญญาณว่าคนที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนซึ่งต้องอาศัยเงินระยะยาวนั้นมีน้อยและคนที่จะปล่อยกู้หรือลงทุนมีมาก ซึ่งก็เป็นสัญญาณต่อไปว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย ธุรกิจจะไม่ค่อยลงทุน บริษัทไม่โต กำไรไม่โตหรืออาจจะตกลง ธุรกิจบางส่วนจะล้มละลายและอาจจะก่อปัญหาให้กับสถาบันการเงิน และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็น “วิกฤติ” ว่าที่จริงเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยกำลังเติบโตน้อยลง มีการปรับเป้าหมายการเติบโตลดลงกันทั่วโลก การส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประเด็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนและโลก และไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกและไทยกำลังชะลอลงและการแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ใช้ “เครื่องมือ” และทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น การลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยรัฐกันเกือบหมดแล้วตั้งแต่ปี 2008 ในช่วงวิกฤติรอบก่อน ดังนั้น การป้องกันปัญหาในรอบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ว่าที่จริงคนที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์บางคนทำนายมานานพอสมควรแล้วว่าอเมริกาจะเกิดวิกฤติในปี 2020 คือปีหน้าตั้งแต่เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่มีปัญหา ยังไม่มีเรื่องสงครามการค้าและปรากฎการณ์ IYC เหตุผลผมจำไม่ได้ชัดแต่น่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจอเมริกาไม่สมดุลเช่นการขาดดุลการค้าและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องกันยาวนานเป็นต้น แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นอาจจะมาจากการที่เศรษฐกิจดีต่อเนื่องมายาวนานจนเกินไปคือเกิน 10 ปีซึ่งตามประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเกิดขึ้นและมักจะจบลงด้วยการถดถอยหรือวิกฤติ ในตอนนั้นก็แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ให้น้ำหนักมากเพราะว่าเรื่องการทำนายทายทักเรื่อง “โลกาวินาศ” นั้น มีอยู่ตลอดเวลา คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “Doomsayer” หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำนายเรื่องร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แม่นยำนั้นมีอยู่มากมายและพวกเขาก็ “ทำนายอยู่เรื่อย ๆ” จนคนไม่ค่อยสนใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลาย ๆ เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ก็น่าจะทำให้คนหลายเริ่มสนใจและอาจจะเชื่อมากขึ้นว่า “วิกฤติกำลังจะมา” และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างแรงในสัปดาห์ก่อน
ในฐานะของ VI เราคงไม่สรุปว่าวิกฤติจะมาแน่ ความเชื่อที่ว่า “วิกฤติมักจะมาโดยที่เรามักจะไม่คาดคิดหรือไม่รู้ตัว ถ้าทุกคนคาดว่าจะเกิดมันก็คงไม่เกิดเพราะเราจะแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงก่อน” นั้น ดูเหมือนว่าจะฝังอยู่ในความคิดของนักคิดจำนวนไม่น้อย คนมักจะพูดกันว่าในอดีตที่เกิดวิกฤติแต่ละครั้ง ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มี “เซียน” คนไหนบอกก่อน สำหรับประเด็นนี้ผมเองก็มีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกัน เพราะผมเองก็เคยผ่านมาหลายวิกฤติ ผมยอมรับว่าวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 นั้น เกิดขึ้นโดยผมแทบไม่รู้ตัวเลย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะมันอยู่ไกลตัวมาก แต่วิกฤติของไทยในปี 2540 ซึ่งผมเองอยู่ใน “ศูนย์กลาง” ของปัญหานั้น ผมรู้ดีมากว่ามันจะต้องเกิดก่อนที่มันจะเกิดจริงไม่น้อยกว่า 1 ปี เพียงแต่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ และ “พูดไม่ได้”
ในตอนนี้ที่เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหาและไม่มีข้อมูลที่ดีพอ เราก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าในที่สุดจะเกิดวิกฤติหรือไม่ แต่ด้วยปรากฎการณ์และสัญญาณที่เราเห็นอยู่หลายเรื่อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็น่าจะมีอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนนั้น เราคงไม่ได้ให้น้ำหนักว่าวิกฤติจะต้องเกิดแน่นอน เพราะถ้าคิดอย่างนั้น เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมดซึ่งไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเลย สิ่งที่ควรจะทำก็คือ เตรียมปรับพอร์ตการลงทุนในลักษณะ Defensive หรือแนวอนุรักษ์นิยมที่อาจจะไม่ได้ถือหุ้น 100% และหุ้นที่ถืออยู่นั้นจะไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเกินไป ราคาหุ้นก็ไม่ควรแพง เพราะถ้าเกิดวิกฤติจริง ราคาอาจจะตกลงมาได้มาก ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ วิกฤติอาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้นยาวนาน ดังนั้น ควรเลือกหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลได้ดีพอสมควรแม้ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ การได้รับปันผลในยามที่หุ้นตกลงมาหรือภาวะตลาดซบเซานั้นผมคิดว่าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือ หุ้นที่ยังสามารถจ่ายปันผลได้ดีนั้นก็คือกิจการที่แข็งแกร่งและไม่ล้มหายตายจากไปง่าย ๆ และพร้อมกลับมาเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤติผ่านไป
คำถามสุดท้ายก็คือ ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าปัญหาคงจะมีแน่แม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่วิกฤติ ทำไมเราไม่ถือเงินสด? คำตอบของผมก็คือ เงินสดนั้นก็คือการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนน้อยมากน่าจะแค่ไม่เกิน 1-2% ต่อปี และจะน้อยต่อไปอีกน่าจะเป็น 10 ปีขึ้นไป ดังนั้น ถ้าเราสามารถเลือกหุ้นที่ให้ปันผลได้ซัก 3-4% ต่อปีขึ้นไปในระยะยาวแม้ในยามที่เศรษฐกิจยากลำบาก การถือเป็นหุ้นก็น่าจะดีกว่า และในกรณีแบบนี้ เราคงต้องลืมเรื่องของราคาหุ้นไปก่อน
ก่อนอื่นคงต้องดูว่า IYC หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรหรือการลงทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรหรือการลงทุนระยะยาวนั้นมีความหมายอย่างไร?
โดยปกติถ้าเราลงทุนระยะยาว เราต้องการที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น ถ้าฝากเงินออมทรัพย์หรือฝากแค่ 3 เดือน ผลตอบแทนก็อาจจะได้แค่ 1-2% ต่อปี แต่ถ้าเราฝากประจำหรือลงทุนในพันธบัตรอายุ 3 ปีที่ไม่มีความเสี่ยงเหมือนกันนั้น เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่น อาจจะ 3% ถ้ายาวกว่านั้นเช่น 10 ปี เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเช่น 5% ต่อปี นี่เป็นเรื่องปกติ แต่สถานการณ์ IYC ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในอเมริกานั้นกลับกลายเป็นว่าถ้าเราลงทุนแค่ 2 ปีกลับได้ผลตอบแทนสูงกว่าลงทุน 10 ปี ซึ่งเป็นเหมือนกับสัญญาณว่าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงและจะลดลงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเป็น 10 ปี นักลงทุนจึงยอมที่จะ “ล็อก” อัตราผลตอบแทนไว้ก่อน ว่าที่จริงผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีของอเมริกาในช่วงนี้อยู่ที่เพียง 2.015% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นการส่งสัญญาณโดยตลาดเงินว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยในอีก 30 ปีข้างหน้านั้นจะต่ำมากอย่างน่าตกใจคือเฉลี่ยปีละประมาณ 2%
เหตุที่ผลตอบแทนในอนาคตจะต่ำมากนั้นเป็นสัญญาณว่าคนที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนซึ่งต้องอาศัยเงินระยะยาวนั้นมีน้อยและคนที่จะปล่อยกู้หรือลงทุนมีมาก ซึ่งก็เป็นสัญญาณต่อไปว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย ธุรกิจจะไม่ค่อยลงทุน บริษัทไม่โต กำไรไม่โตหรืออาจจะตกลง ธุรกิจบางส่วนจะล้มละลายและอาจจะก่อปัญหาให้กับสถาบันการเงิน และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็น “วิกฤติ” ว่าที่จริงเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยกำลังเติบโตน้อยลง มีการปรับเป้าหมายการเติบโตลดลงกันทั่วโลก การส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประเด็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนและโลก และไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกและไทยกำลังชะลอลงและการแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ใช้ “เครื่องมือ” และทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น การลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยรัฐกันเกือบหมดแล้วตั้งแต่ปี 2008 ในช่วงวิกฤติรอบก่อน ดังนั้น การป้องกันปัญหาในรอบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ว่าที่จริงคนที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์บางคนทำนายมานานพอสมควรแล้วว่าอเมริกาจะเกิดวิกฤติในปี 2020 คือปีหน้าตั้งแต่เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่มีปัญหา ยังไม่มีเรื่องสงครามการค้าและปรากฎการณ์ IYC เหตุผลผมจำไม่ได้ชัดแต่น่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจอเมริกาไม่สมดุลเช่นการขาดดุลการค้าและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องกันยาวนานเป็นต้น แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นอาจจะมาจากการที่เศรษฐกิจดีต่อเนื่องมายาวนานจนเกินไปคือเกิน 10 ปีซึ่งตามประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเกิดขึ้นและมักจะจบลงด้วยการถดถอยหรือวิกฤติ ในตอนนั้นก็แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ให้น้ำหนักมากเพราะว่าเรื่องการทำนายทายทักเรื่อง “โลกาวินาศ” นั้น มีอยู่ตลอดเวลา คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “Doomsayer” หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำนายเรื่องร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แม่นยำนั้นมีอยู่มากมายและพวกเขาก็ “ทำนายอยู่เรื่อย ๆ” จนคนไม่ค่อยสนใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลาย ๆ เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ก็น่าจะทำให้คนหลายเริ่มสนใจและอาจจะเชื่อมากขึ้นว่า “วิกฤติกำลังจะมา” และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างแรงในสัปดาห์ก่อน
ในฐานะของ VI เราคงไม่สรุปว่าวิกฤติจะมาแน่ ความเชื่อที่ว่า “วิกฤติมักจะมาโดยที่เรามักจะไม่คาดคิดหรือไม่รู้ตัว ถ้าทุกคนคาดว่าจะเกิดมันก็คงไม่เกิดเพราะเราจะแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงก่อน” นั้น ดูเหมือนว่าจะฝังอยู่ในความคิดของนักคิดจำนวนไม่น้อย คนมักจะพูดกันว่าในอดีตที่เกิดวิกฤติแต่ละครั้ง ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มี “เซียน” คนไหนบอกก่อน สำหรับประเด็นนี้ผมเองก็มีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกัน เพราะผมเองก็เคยผ่านมาหลายวิกฤติ ผมยอมรับว่าวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 นั้น เกิดขึ้นโดยผมแทบไม่รู้ตัวเลย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะมันอยู่ไกลตัวมาก แต่วิกฤติของไทยในปี 2540 ซึ่งผมเองอยู่ใน “ศูนย์กลาง” ของปัญหานั้น ผมรู้ดีมากว่ามันจะต้องเกิดก่อนที่มันจะเกิดจริงไม่น้อยกว่า 1 ปี เพียงแต่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ และ “พูดไม่ได้”
ในตอนนี้ที่เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหาและไม่มีข้อมูลที่ดีพอ เราก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าในที่สุดจะเกิดวิกฤติหรือไม่ แต่ด้วยปรากฎการณ์และสัญญาณที่เราเห็นอยู่หลายเรื่อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็น่าจะมีอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนนั้น เราคงไม่ได้ให้น้ำหนักว่าวิกฤติจะต้องเกิดแน่นอน เพราะถ้าคิดอย่างนั้น เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมดซึ่งไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเลย สิ่งที่ควรจะทำก็คือ เตรียมปรับพอร์ตการลงทุนในลักษณะ Defensive หรือแนวอนุรักษ์นิยมที่อาจจะไม่ได้ถือหุ้น 100% และหุ้นที่ถืออยู่นั้นจะไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเกินไป ราคาหุ้นก็ไม่ควรแพง เพราะถ้าเกิดวิกฤติจริง ราคาอาจจะตกลงมาได้มาก ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ วิกฤติอาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้นยาวนาน ดังนั้น ควรเลือกหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลได้ดีพอสมควรแม้ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ การได้รับปันผลในยามที่หุ้นตกลงมาหรือภาวะตลาดซบเซานั้นผมคิดว่าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือ หุ้นที่ยังสามารถจ่ายปันผลได้ดีนั้นก็คือกิจการที่แข็งแกร่งและไม่ล้มหายตายจากไปง่าย ๆ และพร้อมกลับมาเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤติผ่านไป
คำถามสุดท้ายก็คือ ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าปัญหาคงจะมีแน่แม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่วิกฤติ ทำไมเราไม่ถือเงินสด? คำตอบของผมก็คือ เงินสดนั้นก็คือการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนน้อยมากน่าจะแค่ไม่เกิน 1-2% ต่อปี และจะน้อยต่อไปอีกน่าจะเป็น 10 ปีขึ้นไป ดังนั้น ถ้าเราสามารถเลือกหุ้นที่ให้ปันผลได้ซัก 3-4% ต่อปีขึ้นไปในระยะยาวแม้ในยามที่เศรษฐกิจยากลำบาก การถือเป็นหุ้นก็น่าจะดีกว่า และในกรณีแบบนี้ เราคงต้องลืมเรื่องของราคาหุ้นไปก่อน