หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (4)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ค. 02, 2019 8:13 pm
โดย Thai VI Article
ปี 2019 เป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐกับจีน แต่เราจะไม่เห็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้ง 2 แต่อย่างใด ตรงกันข้ามมีแต่ความเป็นห่วงว่าการทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะรุนแรงมากขึ้นและยืดเยื้อเพียงใด โดยไอเอมเอฟได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลงไป 0.5% จาก 3.8% เป็น 3.3% เพราะการทำสงครามการค้าดังกล่าวที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่ธนาคารชั้นนำของสหรัฐบางแห่งได้ออกมาเตือนแล้วว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยในปี 2020 และการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในวงการธุรกิจ 53 ราย พบว่า 60% เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยในปลายปี 2020

หลายฝ่ายยังเชื่อว่าเมื่อผู้นำทั้ง 2 ประเทศเห็นถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำสงครามทางการค้าระหว่างกันแล้ว ก็จะต้องหันหน้าเข้ามาเจรจาสงบศึกกันจนได้ในที่สุด โดยอาจต้องรอจนกระทั่งปลายปีนี้จึงจะเจรจาเพื่อยุติการตอบโต้กันทางการค้าและในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะช่วย “อุ้ม” เศรษฐกิจเอาไว้โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2-3 คน ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถหลีกเลี่ยงภาวการณ์ชะลอตัวลงที่รุนแรงได้

แต่หากมองในเชิงลึกและในกรอบกว้างแล้ว ก็น่าเป็นห่วงว่าการมองความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐในเชิงของการทำสงครามหรือการยุติการทำสงครามทางการค้านั้นอาจเป็นการมองความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนในกรอบที่แคบเกินไป เพราะหากอ่านการวิเคราะห์ในเชิงของนักวิชาการสหรัฐในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์ที่ผู้นำจีนสั่งให้ทหารปราบประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยขั้นเด็ดขาดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือน มิ.ย.1989 แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยอาจเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญๆ ของความสัมพันธ์ในมุมมองของสหรัฐสรุปดังนี้

1.การปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินสะท้อนให้เห็น “ธาตุแท้” ของผู้นำจีน (พรรคคอมมิวนิสต์จีน) ว่าจะผูกขาดอำนาจและไม่มีทางยอมที่จะปฏิรูปการเมืองให้มีประชาธิปไตยหรือให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นตรงกันข้ามภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้น มีการแก้รัฐธรรมนูญให้มีการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น

2.จีนแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีชั้นนำของโลก 10 แขนง ซึ่งในความเห็นของผมนั้น เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยี 5G นอกจากนั้นรัฐบาลจีนมีนโยบายและยุทธศาสตร์ชัดเจนว่ารัฐบาลจะผลักดันและสนับสนุนพัฒนาการดังกล่าวในจีนเป็นที่หนึ่ง (สหรัฐก็จะต้องเป็นที่ 2) รวมทั้งการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคความมั่นคงเพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญๆ ดังกล่าว

3.นโยบายสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในทวีปเอเชีย แอฟริกาและยุโรป เพื่อเชื่อมโยงให้จีนเป็นศูนย์กลาง (Belt and Road Initiative) นั้น นอกจากจะเป็นการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนแล้ว กระทรวงกลาโหมของสหรัฐก็ยังมองว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเป็นการรองรับการขยายอิทธิพลทางการทหาร (และการตั้งฐานทัพของจีน) ในประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิกอีกด้วย

4.หลักจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2008 นั้น นักวิชาการสหรัฐมองว่าจีนเห็นความอ่อนแอของระบบทุนนิยมแบบตะวันตก ทำให้มั่นใจอย่างยิ่งว่าจากวันนี้เป็นต้นไประบบทุนนิยมที่มีภาครัฐเป็นแกนนำ (state-led capitalism) ของจีนจะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจตามทันและแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐได้ จีนจึงได้ “เปิดตัวและเปิดใจ” ว่ากำลังก้าวสู่ความเป็นประเทศมหาอำนาจเทียบเท่ากับสหรัฐอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีสีจิ้งผิงรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012

ประเด็นคือชนชั้นนำและนักวิชาการของสหรัฐคงจะมีข้อสรุปแล้วว่าจะต้องล้มเลิก “ความฝัน” เดิมที่เคยคาดหวังเอาไว้กันจีนในช่วง 1980-2000 ว่าจีนจะพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ระบบทุนนิยมเสรีแบบตะวันตกและจะปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ตรงกันข้ามสหรัฐกำลังเห็นประเทศที่ขัดแย้งกับสหรัฐในเชิงของปรัชญาทางเศรษฐกิจและการเมืองกำลังไล่ทันสหรัฐได้ในทุกๆ ด้าน นอกจากนั้นจีนก็กำลังเร่งรัดการสร้างศักยภาพและอิทธิพลทางการทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกระทบกับสถานะและอิทธิพลทางการทหารและความมั่นคงของสหรัฐในภูมิภาคนี้ (ซึ่งเป็นภูมิภาคที่จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก)

ประเด็นต่อมาคือสหรัฐจะทำหรือไม่ทำอะไรกับแนวโน้มและพัฒนาการดังกล่าว ซึ่งในขั้นต้นนี้เราก็กำลังเห็นการกดดันจีนในด้านการค้าและด้านเทคโนโลยี ซึ่งจากการติดตามข่าวก็เห็นว่าจีนยอมตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของสหรัฐไม่ได้ ในความเห็นของผมนั้นยังมีด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เป็นข่าวมาก แต่อาจเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าสงครามการค้า คือการที่สหรัฐให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างออกนอกหน้าในฐานะประเทศที่มีอธิปไตย ไม่ใช่เป็นมณฑลหนึ่งของจีน เช่นการให้ประธานาธิบดีไต้หวันไปเยือนสหรัฐและทำกิจกรรมในมลรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนีย การให้ที่ปรึกษาความมั่นคงของไต้หวันเข้าพบที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐที่กรุงวอชิงตันดีซี การที่เรือรบสหรัฐเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นประจำและการที่สหรัฐกำลังพิจารณาขายอาวุธให้กับไต้หวันครั้งใหญ่ในปีนี้

กล่าวคือประเด็นอาจไม่ใช่เพียงเรื่องว่าสงครามทางการค้าจะสงบลงเมื่อไร แต่ประเด็นคือสหรัฐกับจีนกำลังจะแยกทางกัน (disengage, de-link) หลังจากที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์กันมานานถึง 40 ปีหรือไม่ เพราะหากจะแยกทางกันก็คงจะส่งผลกระทบที่รุนแรงอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและเศรษฐกิจโลกครับ