หน้า 1 จากทั้งหมด 1

การพัฒนาเศรษฐกิจ (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 29, 2019 9:45 am
โดย Thai VI Article
ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่(แต่อาจจะไม่ใหม่มาก)เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเมื่อกระบวนการทางรัฐสภาและในทางการเมืองผ่านพ้นไปจนเสร็จสิ้น และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็คงจะมีการเรียกร้องให้เร่งรัดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ผมจะไม่ขอกล่าวถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ว่าปรับตัวลดลงมากน้อยเพียงใด เพราะมีการปรับลดลงอย่างกว้างขวางจนไม่มีข้อถกเถียงในเรื่องนี้แต่อย่างใด ประเด็นสำคัญคือควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใด

หลายคนคงจะเข้าใจว่าเศรษฐกิจนั้นมีอยู่ 4 เครื่องยนต์คือ การบริโภค การลงทุน ภาครัฐบาลและภาคการส่งออก ซึ่งเป็นการมองภาพเศรษฐกิจตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของเคนส์และเป็นการมองภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นว่า มีตัวเลือกถึง 4 ตัวเลือก ในการขับเคลื่อนให้จีดีพีขยายตัว แต่ผมจะขอมองต่างมุมว่าหากจะต้องการเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจที่แท้จริงแล้ว จะมีตัวเลือกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงปัจจัยเดียวคือการลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัจจัยที่เหลืออีก 3 ปัจจัยนั้นจะไม่สามารถทำได้และจะไม่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

มาดูสาขาเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจไทยก่อน คือการส่งออก ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนคือการส่งออกสินค้าและการส่งออกบริการ (ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่การท่องเที่ยว) ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของจีดีพี โดยเป็นการส่งออกสินค้าประมาณ 55% ส่งออกบริการประมาณ 20% ของจีดีพี การผลิตสินค้าและบริการนั้นถือว่าเป็นเสมือนการทำยอดขายโดยรวมของบริษัท ซึ่งจะต้องมีการ “นำเข้า” วัตถุดิบ เครื่องจักรและพลังงาน และบริการมาใช้ในการผลิตการ“ส่งออก” สินค้าและบริการดังกล่าว ดังนั้นหากดูการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิแล้วจะเห็นว่าที่จริงแล้วเพียง 7-8% ของจีดีพี

อย่างไรก็ดีการส่งออกที่ขยายตัวได้สูงนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการสะท้อนว่าสินค้าและบริการของไทยมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันและขยายยอดขายในตลาดต่างประเทศได้ แต่ก็มีประเด็นที่มองได้ว่าการผลักดันการส่งออกจะไม่เป็นประโยชน์มากนักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศในระยะยาวหากส่งออกมากเกินไป เพราะ

1.เมื่อส่งออกสุทธิมากๆ เป็นเวลาหลายปี ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นกลไกตลาดที่จะทำให้ดุลต่อไปบัญชีเดินสะพัดกลับมาสมดุล กล่าวคือการผลักดันให้ส่งออกมากๆ ซึ่งทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างยืดเยื้อ ไม่สามารถเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวได้ เพราะจะต้องนำเอาส่วนเกินดังกล่าวไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับต่างประเทศไม่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย

2.หากขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยแทรกแซงชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ก็จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่การสะสม “กระดาษ” (เงินทุนสำรองที่เป็นเงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยน ฯลฯ) นั้น ไม่ได้ทำให้ประชาชนคนไทยอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และยังเลี่ยงที่จะถูกสหรัฐกล่าวหาว่าบิดเบือนอัตราการแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้าอีกด้วย

3.จริงอยู่การผลิตเพื่อการส่งออกก็มีการจ้างงานและสร้างรายได้ แต่หากผู้ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่ต้องเข้ามาแสวงหากำไร ส่วนที่น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าก็คือการส่งกำไรคืนกลับประเทศที่นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย

สาขาเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากการส่งออกคือการบริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี ส่วนนี้รัฐบาลมักจะนิยมกระตุ้นเพื่อหวังผลในระยะสั้น ซึ่งแปลว่าไม่มีประโยชน์ในระยะยาว แต่อาจเป็นโทษต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ เช่น การสนับสนุนให้ซื้อสินค้าคงทนในปัจจุบันโดยการส่งเสริมให้เป็นหนี้ ซึ่งการมีหนี้สินที่เป็นภาระในการผ่อนส่งเป็นเวลาหลายๆ ปีนั้น จะกระทบกับกำลังซื้อในระยะยาว เพราะการกู้เงินคือการเอารายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายในวันนี้ และการบริโภคนั้นแม้ว่าทำให้เกิดความอยู่ดีกินดี แต่ก็จะหมดไปในอนาคต ต้องหาใหม่ การบริโภคมากๆ จึงไม่ใช่หนทางไปสู่การสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ภาคเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนจะสร้างความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองให้กับเศรษฐกิจและประชาชนอย่างแท้จริงนั้นมีอยู่ปัจจัยเดียวคือ การลงทุน ซึ่งความสำคัญของการลงทุนนั้น ผมจะขอนำมาเล่าอย่างละเอียดในครั้งต่อไปครับ