หน้า 1 จากทั้งหมด 1

รถ EV จะราคาเท่ากับรถยนต์ในปี 2022?/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 30, 2019 1:14 pm
โดย Thai VI Article
ทีมวิจัยด้านพลังงานของสำนักข่าว Bloomberg (Bloomberg New Energy Finance หรื NEF) ได้ปรับการคาดการณ์ที่สำคัญด้านพลังงานที่น่าจะมีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ และจะมีผลต่ออุตสาหกรรมพลังงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญเมื่อ 12 เม.ย.ได้แก่ การประเมินว่าต้นทุนการผลิตรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle) หรือรถ EV จะเท่ากับต้นทุนการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine หรือ ICE)ในปี 2022 เมื่อปี 2017 (2 ปีที่แล้ว) Bloomberg NEF คาดว่าราคาของรถทั้ง 2 ประเภทจะเท่ากันในปี 2026 และปรับเร็วเข้ามาเป็นปี 2024 ในปี 2018 แต่มาวันนี้หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องบอกว่า คนที่ผ่อนรถ ICE คันปัจจุบันเสร็จ (ใช้เวลาผ่อน 3-5 ปี) ก็น่าจะมีโอกาสเลือกได้แล้วว่า รถคันต่อไปที่จะผ่อนนั้นอยาก (ลอง) ใช้รถ EV หรือใช้รถแบบเดิมไม่ต้องกลัวว่าการมีรถ EV จะแปลว่าต้องจ่ายเงินแพงกว่า อย่างน้อยในกรณีของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันนั้นรัฐบาลจีนส่งเสริมการผลิตและการใช้รถไฟฟ้าอย่างเต็มที่และเป็นตลาดรถ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้

ประเด็นสำคัญคือรถ EV จะมาเร็วกว่าที่เราคาดหมายกัน ทั้งนี้เพราะสาเหตุหลักๆ 4 ประการคือ

- ในภาพรวมนั้นเครื่องไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่อง ICE อยู่แล้ว(รถ Tesla จึงมีอัตราเร่งเท่ากับหรือดีกว่ารถ super car) และเครื่องไฟฟ้ามีความทนทานสูงและมีต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำ นอกจากนั้นน้ำหนักยังกระจายอยู่ที่เพลาล้อหน้าและล้อหลัง (เพื่อให้เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อได้) แปลว่าจะเป็นรถที่เกาะถนนดีมาก เพราะจุดศูนย์ถ่วง(center of gravity)ต่ำ

- ปัญหาหลักของรถ EV คือราคาแบตเตอรี่ (ปัจจุบันใช้ลิเทียมไอออน)ซึ่งราคายังสูงอยู่ แต่ราคากำลังลดลงรวดเร็วเกินคาด ตัวอย่างเช่น ต้นทุนแบตเตอรี่ในรถ EV เมื่อปี 2015 ที่สำหรับรถขนาดกลางในสหรัฐเท่ากับ 57% ของต้นทุนการผลิตรถดังกล่าว แต่ในปี 2019 นั้น ราคาแบตเตอรี่ลดลงเหลือ 33% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในกรณีของรถ Tesla model 3 นั้น มีการประเมินว่าแบตเตอรี่ขนาดมาตรฐาน (เล็ก) คือ 50 kWh นั้น มีต้นทุนการผลิตเท่ากับ 8,750 เหรียญสหรัฐหรือ 25% ของราคาจำหน่ายรถ Tesla model 3 ที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ ราคาแบตเตอรี่ลิเทียมนั้นลดลงจาก 1,200 เหรียญต่อ 1 kWh ในปี 2010 มาเหลือเพียง 175 เหรียญในปี 2018 และกระทรวงพลังงานสหรัฐประเมินว่าเมื่อราคาลดลงไปถึง 125 เหรียญต่อ 1 kWh รถ EV ก็จะมีราคาจำหน่ายเท่ากับรถ ICE

- ในส่วนของระบบขับเคลื่อนและตัวถัง (chassis & body) ของรถ ICE นั้น Bloomberg NEF มองว่าต้นทุนการผลิตจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพราะจะต้องเพิ่มอุปกรณ์กรองมลพิษแต่ต้นทุนการผลิตรถ EV จะค่อยๆ ลดลงเพราะจะสามารถหาชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบากว่าเข้ามาทดแทนได้มากขึ้น

- Bloomberg NEF ประเมินว่าต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของระบบขับเคลื่อนรถ EV จะต้องถูกลงอย่างต่อเนื่องเมื่อมีการเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น (economy of scale) Bloomberg NEF เชื่อว่าภายในปี 2030 ต้นทุนการผลิตส่วนประกอบสำคัญๆ ของระบบขับเคลื่อนรถ EV (ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า, อินเวอร์เตอร์ และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิคส์) น่าจะปรับลดลงได้อีก 25-30% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน (ซึ่งผมประเมินเองว่าน่าจะทำให้รถ EV ราคาถูกลงประมาณ 10% ในขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าราคารถ ICE จะต้องปรับขึ้นประมาณ 5-6% ในช่วงเวลาดังกล่าว)

แต่เรื่องจะไม่จบที่รถยนต์ส่วนตัว เพราะเมื่อแบตเตอรี่ที่ราคาถูกลงก็สามารถนำไปใช้งานได้ในอีกหลายแขนงของอุตสาหกรรม (ทั้งนี้ไม่รวมว่าหากพัฒนาแบตเตอรี่ให้เก็บไฟได้มากกว่าและราคาถูกลงนั้น จะทำให้ประชาชนมีความสุขใจมากขึ้นเพียงใดหากจะต้องชาร์จแบตเตอรี่มือถือสัปดาห์ละ 1 ครั้งไม่ใช่ทุกวัน)

- บริษัทKomatsu ผู้ผลิตพาหนะและเครื่องจักรเพื่อการก่อสร้าง กำลังจะผลิตรถขุด (excavator) เพื่อใช้ในการก่อสร้างในเมืองหรือใกล้เคียงกับโรงพยาบาลและโรงเรียน

- บริษัทเดินเรือStena Line ซึ่งเดินเรือระหว่างสวีเดนกับเดนมาร์ค มีแผนที่จะค่อยๆ เพิ่มการใช้เครื่องไฟฟ้าเพื่อเดินเรือ โดยในขั้นแรกจะใช้ 1 megawatt-hour เพื่อเดินเรือได้ 10 ไมล์ทะเล และในที่สุดเพิ่มเป็น 50 megawatt-hour สำหรับเดินเรือได้ 50 ไมล์ทะเล ทั้งนี้เมื่อราคาแบตเตอรี่จะปรับลดลงก็จะทำให้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

- บริษัทเดินอากาศ Harbour Airที่แคนาดา (British Columbia) กำลังวางแผนที่จะใช้เครื่องบินไฟฟ้าเพื่อการบินระยะสั้น ทั้งนี้ไฟฟ้าอาจเป็นอนาคตของการบิน เพราะหากสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ให้ราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อใช้กับเครื่องบินที่บินเที่ยวละ 1,000 กิโลเมตรได้ ในกรณีดังกล่าวก็จะทดแทนการใช้น้ำมันในการบินได้ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในโลกลงไปถึง 15%

แล้วความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะสร้างปัญหาในการจะต้องปั่นไฟเพิ่มขึ้นอย่างมากหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่” เพราะในขณะเดียวกันต้นทุนในการผลิตและจัดส่งไฟฟ้า (ที่เรียกว่า Levelized cost of electricity) ได้ปรับลดลงอย่างมากสำหรับการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และจากลม กล่าวคือต้นทุน LCOE ต่อ 1 megawatt-hour ของการผลิตไฟฟ้า โดยลมบนบก (onshore wind) ลดลง 49% โดยแสงอาทิตย์ลดลง 84% และโดยลมในทะเลลดลง 56% ในช่วงปี 2010 ถึง 2018 แต่พลังงานดังกล่าวนั้นมีปัญหาว่าการผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้นตามภาวะอากาศและช่วงเวลา ดังนั้นต้นทุนสำคัญคือแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟดังกล่าวมาใช้เมื่อเวลาจำเป็น แต่การลดลงของราคาแบตเตอรี่ก็เป็นการตอบโจทย์ดังกล่าว ทำให้ต้นทุนในการขายไฟจากพลังงานทางเลือกนั้น ลดลงไปถึง 35% ใน 1ปีที่ผ่านมา ทำให้การผลิตพลังงานทางเลือกบวกกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอาจจะสามารถแข่งขันได้กับการปั่นไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปั่นไฟด้วยน้ำมันหรือน้ำมันดีเซล

ทั้งนี้ยังไม่รวมความเป็นไปได้ที่จะมีการคิดค้นแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ดีกว่าลิเทียมทุกประการ เช่น ที่โตโยต้าและ Volkswagen คาดหวังว่าจะสามารถผลิตแบตเตอรี่แบบไร้ของเหลว (solid state) มาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2025 แต่หากไม่สำเร็จโตโยต้าก็เพิ่งประกาศร่วมลงทุนกับ Panasonic เมื่อต้นปีในการตั้งโรงงาน 2 โรวเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถ EV 5.5 ล้านคันในปี 2020 ครับ