พอร์ตหุ้นบัฟเฟตต์/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มี.ค. 03, 2019 2:23 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
พอร์ตลงทุนหุ้นจดทะเบียนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีความน่าสนใจในแง่ที่ว่ามันอาจจะแสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลาย ๆ อย่าง ว่าที่จริงมันคงค่อย ๆ เปลี่ยนมาพักใหญ่แล้วเพียงแต่ว่าคนที่ติดตามอาจจะไม่ตระหนัก คนจำนวนมากยังน่าจะจำเรื่องราวต่าง ๆ ของบัฟเฟตต์จากข่าวสาร บทความ และการศึกษาเกี่ยวกับบัฟเฟตต์ที่มักใช้ข้อมูลย้อนหลังไปไกลโดยเฉพาะในช่วงที่บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงสุดและร่ำรวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกและยังรวยที่สุดอันดับ 3 ของโลกในวันนี้ แต่จากสถิติผลงานการลงทุนของบัฟเฟตต์ในช่วงอย่างน้อยประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาคือหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาในปี 2009 นั้น ก็ดูเหมือนว่าผลงานของเขาจะไม่ได้โดดเด่นหรือมีความมหัศจรรย์อย่างที่เคยเป็นมาในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านั้น ตัวเลขผลตอบแทนที่วอเร็น บัฟเฟตต์ทำได้นั้นไม่ต่างจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดอย่าง S&P 500 หรือ ดัชนีดาวโจนส์คือผลตอบแทนแบบทบต้นที่ประมาณ 14-15% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หุ้นทำผลตอบแทนที่ดีมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ในขณะที่หุ้นในตลาด NASDAQ ซึ่งเป็นกิจการไฮเท็คนั้นให้ผลตอบแทนถึง 17-18%
พอร์ตหุ้นของบัฟเฟตต์ที่แสดงหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 15 ตัวนั้น พบว่าหุ้นแอบเปิลกลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดจำนวนถึงกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.2 ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ ที่บัฟเฟตต์เคยมีชื่อว่าเป็นคนโลว์เท็ค โทรศัพท์มือถือก็ยังใช้ของเก่าที่ไม่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหุ้นแนวไฮเท็คอื่น ๆ นั้น บัฟเฟตต์ก็ยังหลีกเลี่ยง นักวิเคราะห์และผู้ติดตามบัฟเฟตต์คิดว่าหุ้นแอบเปิลนั้น บัฟเฟตต์ไม่ได้ซื้อเพราะมันเป็นหุ้นไฮเท็ค แต่เขาซื้อเพราะโทรศัพท์ของแอบเปิลนั้นกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในอเมริกาและคนรวยในโลกนิยมใช้กันเพราะมันเป็นสิ่งที่เท่และพวกเขาคุ้นเคย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บริษัทแอบเปิลนั้นมีเงินสดมหาศาลที่จะใช้ในการวิจัยและต่อสู้ในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีไม่ตกยุคแน่นอน แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าก็คือ หุ้นแอบเปิลนั้นมีราคาไม่แพงเลย ค่า PE นั้นเพียง 10 กว่าเท่าเท่านั้น
หุ้นขนาดใหญ่เป็นอันดับสองและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กลายเป็นหุ้นกลุ่มใหญ่ที่สุดและใหญ่มากจนน่าตกใจก็คือหุ้นของแบ้งค์อเมริกาที่มีขนาดถึงกว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญหรือ 7 แสนล้านบาท ซึ่งก็ตามด้วยแบ้งค์อีกตัวหนึ่งที่บัฟเฟตต์ถือมานานมากคือหุ้นแบ้งค์ Wells Farco ที่มีขนาดประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนั้นเขาก็ยังมีหุ้นการเงินที่ถือมานานยิ่งกว่าคือตั้งแต่เขาเพิ่งจะดังก็คือหุ้น อเมริกันเอ็กซเพรสที่เขาถืออยู่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ไม่นับหุ้นสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่เป็นหุ้นเพื่อการลงทุนหรือเน้นทางด้านหลักทรัพย์อย่างหุ้นโกลด์แมนซ้าคและเจพีมอร์แกน รวม ๆ แล้วใน 15 อันดับนั้น เป็นหุ้นเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนถึง 7 บริษัท คิดเป็นมูลค่าหุ้นรวมกันถึงกว่า 7 หมื่น 6 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท
เหตุผลที่หุ้นในพอร์ตของบัฟเฟตต์เต็มไปด้วยหุ้นการเงินนั้น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่บริษัทเหล่านั้นมักจะเคยมีปัญหาที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาหุ้นตกลงมามโหฬารและต้องการคนเข้ามา “กู้” โดยการเข้ามาซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ที่สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ ซึ่งหนึ่งในคนที่มักจะมีเงินสดมากพอในยามนั้นก็คือบัฟเฟตต์ ซึ่งเขาจะเข้ามากู้กิจการโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปและทำกำไรได้มากมายเมื่อกิจการฟื้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หุ้นสถาบันการเงินนั้นมักจะมีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง การที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในจำนวนและปริมาณที่มากซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบัฟเฟตต์ที่มีเงินสดเพิ่มขึ้นมากทุกปีจากการรับปันผลจากบริษัทในอาณาจักรเบิร์กไชร์ก็เป็นไปได้ไม่ยาก และสุดท้ายก็คือ หุ้นสถาบันการเงินนั้น มักจะเข้าเกณฑ์การลงทุนของบัฟเฟตต์ที่ว่ากิจการจะต้องมีความมั่นคงเข้าใจง่ายและสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำพอสมควร ยังสามารถที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว การที่จะถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีก็ยังยาก ว่าที่จริงสถาบันการเงินอาจจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยซ้ำ และราคาหุ้นสถาบันการเงินเองนั้นก็มักจะไม่แพง ทั้งหมดนั้นทำให้บัฟเฟตต์ชอบลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้
หุ้นตัวใหญ่มากอีกตัวหนึ่งที่บัฟเฟตต์ถือมานานมากและเป็นเคยเป็นหุ้น “สุดรัก” ของบัฟเฟตต์ก็คือหุ้นแนว “ผู้บริโภค” ที่ในสมัยก่อนเป็นหุ้นที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนมากมายนั่นคือ หุ้นโค๊ก ซึ่งเขาถืออยู่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านเหรียญหรือเกือบ 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หุ้น Consumer ซึ่งเคยเป็น Signature หรือหุ้นที่เป็น “ยี่ห้อ” ของบัฟเฟตต์นั้น ในระยะหลัง ๆ ดูเหมือนว่าจะลดลงมาก ตัวสุดท้ายน่าจะเป็นหุ้นซอสมะเขือเทศไฮน์ที่เขาลงทุนไปมากแต่ดูเหมือนว่าหลัง ๆ กลายเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เป็นหุ้นที่อิงเทคโนโลยีอย่างหุ้นแอบเปิลมากกว่า
รวมแล้วหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 อันดับนั้น มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านเหรียญคิดเป็น 87% ของพอร์ตหุ้นทั้งหมดที่ประมาณ 1.7 แสนล้านเหรียญหรือ 5.4 ล้าน ๆ บาท นี่ก็แสดงให้เห็นถึงพอร์ตที่ Focus หรือเน้นหนักมากในหุ้นไม่กี่ตัวของบัฟเฟตต์ ว่าที่จริงหุ้นตัวใหญ่ที่สุดทั้ง 15 ตัวดังกล่าวนั้น จำนวนไม่น้อยต้องถือว่าบัฟเฟตต์เป็น “เจ้าของ” เพราะเขาถือหุ้นหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากถึงเกือบ 10% ของบริษัท และกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น เขาสามารถที่จะมีบทบาทหรือสั่งการให้ผู้บริหารดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น เช่น การซื้อหุ้นคืน ซึ่งมักจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นได้
นอกจากหุ้นที่ซื้อขายในตลาดแล้ว พอร์ตหุ้นของบริษัทที่ไม่อยู่ในตลาดของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ใหญ่โตไม่แพ้หุ้นในตลาดเช่นกัน โดยหุ้นเหล่านี้ วอเร็น บัฟเฟตต์มักจะถือหุ้นใหญ่เกิน 50% จำนวนมากถือหุ้น 100% เป็นเจ้าของคนเดียว หุ้นที่มีขนาดใหญ่มากที่อยู่ในพอร์ตนี้บางบริษัทก็เคยเป็นบริษัทจดทะเบียน แต่เมื่อบัฟเฟตต์เทคโอเวอร์มา เขาก็ถอนตัวออกจากตลาด ตัวอย่างหุ้นที่มีมากก็คือหุ้นพลังงานและหุ้นสาธารณูปโภคเช่น รถไฟ เป็นต้น ในขณะที่หุ้นตัวเล็กก็มีหลากหลายนับรวมกันน่าจะเกิน 100 บริษัท บัฟเฟตต์เองบอกว่าเขาชอบเป็นเจ้าของ 100% ในหุ้นทุกตัวที่เขาซื้อ แม้แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นถ้าเขาสามารถเป็นเจ้าของ 100% เขาก็อยากทำ เพราะเขา “ไม่เล่นหุ้น” ซื้อแล้วมักจะไม่ค่อยขาย หรือไม่ก็เก็บไว้นาน จะขายก็เมื่อพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไปจริง ๆ เท่านั้น
หุ้นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคเองนั้น ดูไปแล้วก็ออกนอกแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ที่เรารู้จักและเป็น Signature เดิมของบัฟเฟตต์ แต่ก็คล้าย ๆ กับสถาบันการเงิน มันสามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนมากได้ มันมีความสม่ำเสมอของรายได้และผลประกอบการ สามารถคาดการณ์ได้ใกล้เคียงพอสมควร อนาคตของธุรกิจเองก็ยังเติบโตไปได้ในระยะยาว การถูก Disrupt หรือทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็ยังทำได้ยาก และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ ราคาหุ้นไม่แพง
ข้อสรุปของผมก็คือ พอร์ตของบัฟเฟตต์บอกเราว่า การหาซุปเปอร์สต็อกแบบเดิมที่วอเร็น บัฟเฟตต์เคยทำสมัยที่พอร์ตยังมีขนาดเล็กนั้น ทำไม่ได้แล้ว เขาต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินขนาดมหึมาในหุ้นแต่ละตัว การหาหุ้นที่เข้าข่ายนั้นทำได้ยากมาก เพราะหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบรวมถึงยังโตได้นั้นดูเหมือนว่าจะต้องเป็นกิจการใน New หรือ Digital Economy ซึ่งคาดการณ์ยากโดยเฉพาะตัววอเร็น บัฟเฟตต์เองที่ไม่คุ้นเคยกับมันมากนัก ดังนั้น สิ่งที่เขาทำในช่วงหลัง ๆ จึงเป็นเรื่องของการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมและยังไม่ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยที่ราคาซื้อนั้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในระดับหนึ่ง ด้วยแนวทางแบบนี้ การที่จะสามารถทำผลตอบแทนเหนือตลาดมาก ๆ ก็เป็นไปได้ยาก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะสำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ต่อจากนี้จนถึงวันที่เขาตาย ถ้าเขาสามารถรักษาผลตอบแทนที่พอ ๆ กับตลาดได้ เขาก็น่าจะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนที่อาจจะไม่มีใครสามารถลบสถิติได้ อานิสงค์จากผลงานการลงทุนที่ชนะตลาด 10% ต่อปีแบบทบต้นติดต่อกันยาวนานกว่า 50 ปี