หน้า 1 จากทั้งหมด 1

การเมืองกับตลาดหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.พ. 09, 2019 3:18 pm
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สองสามวันที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวการเมืองที่คนทั่วประเทศต่างก็จับตามองและรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและจบลงในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่เราตื่นเต้นนั้นเนื่องจากมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและอาจจะมีผลต่อการแข่งขันในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าหลังจากที่ประเทศไทยห่างเหินจากการเลือกตั้งมานาน  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรนัก  ดัชนีตลาดเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงปิดตลาด  และนี่ก็อาจจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผลกระทบจากการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นแม้ว่าในทางการเมืองแล้วถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญหรือรุนแรงหรือน่ากลัวก็ตาม

    ตัวอย่างของเหตุการณ์สำคัญหรือรุนแรงหรือน่ากลัวในทางการเมืองก็เช่น  การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะเลือกตั้ง  การลดภาษีนิติบุคคลในอัตราสูงของทรัมป์  สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน   และเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  หรืออย่างในเมืองไทยก็เช่น  การประท้วงของคนเสื้อเหลือง-แดง  การเกิดการรัฐประหาร  การเลือกตั้งใหญ่  เป็นต้น  ทั้งหมดนี้ในระยะสั้น ๆ  มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวแรงในระดับหนึ่งทั้งทางขึ้นและลงขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเหตุการณ์ทางการเมืองนั้นจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อการลงทุนและบางทีก็ดูว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนที่จะได้รับผลกระทบ—ในระยะสั้น  ส่วนในระยะยาวนั้น  ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอดเป็นสิบ ๆ  ปีก็มักไม่จะไม่กระทบเท่าไร  เหตุผลก็เพราะว่า  โลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่ประเทศต่าง ๆ  เปลี่ยนหรือยึดถือนโยบาย  “เปิดตลาด”  การค้า  ไม่มีประเทศสำคัญไหนที่นักการเมืองหรือเหตุการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การทำลายการทำงานของธุรกิจหรือการค้าขายระหว่างประเทศอย่างที่โลกเคยเกิดขึ้นในสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

    ในเมื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องถึงธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ  ในระยะยาวที่มาจากการเมืองนั้นมีน้อย  ผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองต่อตลาดหุ้นในระยะยาวจึงมีน้อยตามไปด้วย  คนที่ลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจึงไม่ค่อยกังวลอะไรนักกับเรื่องทางการเมือง  ตราบใดที่การเมืองนั้นไม่ทำลาย  “บรรยากาศ”  หรือสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจของเอกชนในระยะยาวแล้วละก็  เราก็ไม่มีอะไรต้องวิตก  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนนั้นก็คือคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศ  และการเมืองเองนั้นแม้ว่าจะไม่ทำลายเรื่องของธุรกิจ  แต่มันก็อาจจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราแย่ลงได้  คนนั้นไม่ใช่แค่ว่าขอให้มีเงินแล้วก็มีความสุข  เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งรวมถึงสภาวะอย่างอื่นเช่น  อากาศที่ดีไม่มีฝุ่นละอองเป็นพิษ  เราต้องการเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น  เราต้องการอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับคนอื่น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้บางทีก็มักจะมาจากการเมือง

    ดังนั้น  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI จึงต้องสนใจการเมือง  การเมืองที่ดีสำหรับคนที่อยู่ในประเทศนั้นก็คือการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงซึ่งเคารพสิทธิของคนทุกคนโดยการยอมรับว่าทุกคนนั้นมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย  ไม่มีการบังคับว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ถ้าไม่ไปรบกวนคนอื่น  มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและมีการแข่งขันโดยเสรี  และด้วยหลักการแบบนี้  เราก็จะได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่  ซึ่งรัฐบาลนั้นเองจะต้องทำการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกเขาเข้ามา  และนั่นจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตขึ้นและความเหลื่อมล้ำของคนจะน้อยลง  เพราะถ้ารัฐบาลไหนไม่ทำแบบนั้น  เขาก็จะไม่สามารถได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้

    แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางแบบที่กล่าว  หลายคนไม่อยากให้เสียงส่วนใหญ่เป็นคนกำหนดว่าใครควรเป็นรัฐบาล  เขาอาจจะคิดว่ารัฐแบบเผด็จการนั้นสามารถทำงานได้ดีกว่าเพราะผู้นำสามารถ “สั่งได้” การรับฟังคนส่วนใหญ่ที่ “ไม่มีความรู้”  หรืออาจจะ  “เห็นแก่ได้”  หรือ “ถูกหลอก” ให้ลงคะแนนเลือกคนที่ไม่เหมาะสมนั้น  จะไม่สามารถเลือก  “คนดี”  ให้เป็นรัฐบาลได้  แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าแนวคิดแบบประชาธิปไตยนั้นมีความเหนือกว่าระบบเผด็จการอย่างเห็นได้ชัด  และประเทศในโลกก็ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาเป็นประเทศแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนเหลือแต่ประเทศที่ยัง  “ล้าหลังมาก ๆ”  เท่านั้นที่ยังคงระบบแบบเผด็จการอยู่  และระบบประชาธิปไตยที่ผมพูดนั้นก็คือระบบประชาธิปไตยแบบ  “สากล” ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตามชื่อของรัฐหรือประเทศที่มักจะมีหลักหรือวิธีการที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ  ซึ่งมักจะไม่ใช่ประชาธิปไตยจริง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมคิดว่าไม่มีรัฐหรือประเทศไหนในโลกนี้ที่บอกว่าประเทศตนเองไม่ใช่ประชาธิปไตย  แม้แต่ประเทศที่เผด็จการที่สุดก็ยังบอกว่าตนเองปกครองระบอบประชาธิปไตย

    แม้กระนั้นก็ตาม  บางคนก็อาจจะเถียงว่าทำไมจีนหรืออาจจะรวมถึงเวียตนามจึงเจริญเร็วมากทั้งที่ระบบของเขาก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย  เขายังพูดต่อด้วยว่าที่เจริญเร็วนั้นเป็นเพราะจีนนั้นเขาสามารถ  “สั่งได้” จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ  ผมเองอยากจะเถียงว่าถ้าจีนและเวียตนามเป็นประชาธิปไตยเขาจะยิ่งเจริญเร็วและคนมีความสุขกว่านี้  ว่าที่จริงในสมัยแค่ไม่กี่สิบปีก่อนที่ทั้งสองประเทศยังเป็นเผด็จการอย่างหนักนั้น  เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเขาแย่มาก  คนไทยที่ไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นต่างก็รู้ซึ้งถึงความจนและความยากลำบากของญาติที่น่าจะมีศักยภาพเท่าเขา  แต่หลังจากที่จีนและเวียตนามปรับประเทศมาเป็นแบบประชาธิปไตยมากขึ้น  พวกเขาก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนทุกวันนี้คนจีนรวยกว่าคนไทยไปแล้ว  เวียตนามเองก็ตามรอยจีนและในที่สุดก็อาจจะรวยไม่แพ้ไทยถ้าเขาปรับตัวเองเป็นประชาธิปไตยแบบสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ

    นอกจากสองประเทศนี้แล้ว  ผมคิดว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จะเป็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่าประชาธิปไตยนั้นเหนือกว่าระบบเผด็จการอย่างชัดเจนเพราะสองประเทศนี้เริ่มต้นพร้อมกันเมื่อประมาณ 70 ปีก่อนที่ทุกอย่างเหมือนกันทั้งเรื่องของคุณภาพของคนและทรัพยากรของประเทศ  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  เกาหลีใต้ที่เป็นประเทศประชาธิปไตยแม้ว่าในช่วงแรก ๆ  ยังมีปักจุงฮีเป็นเผด็จการอยู่ในระดับหนึ่ง  แต่หลังจากการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของนายพลชุนดูวานในปี 1980 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้วและการกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งประมาณ 5-6 ปีหลังจากนั้น  เกาหลีใต้ก็ไม่มีรัฐประหารอีกเลย  และประเทศก็เจริญขึ้นเร็วมากจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน  ในขณะที่เกาหลีเหนือนั้นยังคงเป็นเผด็จการมาตลอดจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งก็ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโตและระดับการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันก็แทบจะถือว่าต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่งยกเว้นในทางทหารที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไปเลย

    ถ้าประเทศไทยจะเจริญเติบโตต่อไปจนกลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว”  ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบสากลในการปกครองประเทศ  ตัวอย่างในโลกนี้มีเต็มไปหมด  ว่าที่จริงแทบจะไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  คนที่คิดว่าเรามีวัฒนธรรมและขนบประเพณีเฉพาะตนเป็นเอกลักษณ์และเราไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบคนอื่นนั้นผมคิดว่าควรศึกษาประเทศอื่น ๆ  ที่ก็เคยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นเดียวกัน  สำหรับผมแล้ว  ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนนั้น  เป็นเรื่อง “สากล”  คล้าย ๆ  กับอีกหลายเรื่องเช่น  การใช้สื่อสังคมดิจิตอล  การดูแลสิ่งแวดล้อม  และอื่น ๆ  อีกมาก  โลกทุกวันนี้จริง ๆ  แล้วมี  Civilization หรืออารยะธรรม เดียว  มันหมดยุคอารยะธรรมอียิปต์  อารยะธรรมจีน หรือแม้แต่อารยะธรรมตะวันตกไปแล้วไม่ต้องพูดถึงอารยะธรรมไทย  เดี๋ยวนี้มีแต่ “อารยะธรรมโลก” ที่อาจจะนำโดยกูเกิล เฟซบุค  อะมาซอน และไมโครซอฟท์

    ข้อสรุปสุดท้ายของผมเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก็คือ  ผมจะคอยดูและวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าพัฒนาการทางการเมืองของไทยในระยะยาวจะพัฒนาไปทางไหน  ในบางครั้งผมเองก็กลัวเหมือนกันว่าระบบการปกครองของประเทศไทยอาจจะ  “ถอยหลัง” ไปจากระบบประชาธิปไตยแบบสากลซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการลงทุน—และชีวิต  แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้  ผมก็มักจะไม่แคร์และไม่สนใจมากนัก  แต่ถ้าจะให้เข้าไปเล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง  ผมคงไม่ทำ  ผมเองยอมรับว่าตนเองไม่ใช่ “นักสู้”  ที่จะเข้าไปต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นอย่างที่ตนเองต้องการ  แต่เป็นแค่  “นักเลือก” เวลาเขาให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
[/size]

Re: การเมืองกับตลาดหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 11, 2019 3:00 pm
โดย nut776
น่าจะเพราะ ทุนนิยม มั้งคับ

Re: การเมืองกับตลาดหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.พ. 15, 2019 10:07 am
โดย suwicha
ถูกต้องอย่างยิ่งครับ อาจารย์