หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ชะลอตัว/ถดถอยมากน้อยเพียงใด ดร ศุภวุฒิ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 04, 2019 7:51 am
โดย amornkowa
ดังที่ผมได้เขียนถึงในครั้งที่แล้วตอนปลายปี 2018 ราคาหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงทั่วโลก เพราะกลัวการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก

แต่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในเดือน ม.ค. ส่วนสำคัญน่าจะเกิดจากการที่นาย Jerome Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะ patient (อดทน รอดู ใจเย็น) เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและพร้อมรับฟังสัญญาณจากตลาดทุน

ประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาต่อไปสำหรับนักลงทุนน่าจะเป็นดังนี้คือ

ในเมื่อธนาคารกลางสหรัฐให้คำมั่นกับตลาดทุนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็น่าจะวางใจได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะ “ดูแล” นักลงทุน (Powell put)ดังนั้น จึงน่าจะซื้อหุ้นเพิ่มได้และหุ้นน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี
ประเด็นที่เป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่งคือการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นก็ดูเหมือนว่าจะหาข้อตกลงเพื่อสงบศึกได้ เพราะมีข่าวว่าประธานาธิบดีทรัมพ์อยากให้การเจรจาประสบผลสำเร็จ (เพราะที่ผ่านมามีผลงานน้อยมากหลังจากการลดภาษี) ซึ่งนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ ก็ได้เจรจากับนาย Liu He ไปแล้วรอบหนึ่งในวันที่ 30-31 มกราคมที่ผ่านมา และประธานาธิบดีทรัมพ์ ให้ความหวังว่า จะมีข่าวดี เมื่อเขาพบปะและเจรจากับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
กรณีปัญหา Brexitนั้น นักลงทุนเชื่อว่าหากหาข้อสรุปไม่ได้ อังกฤษก็จะขอชะลอการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งศาลยุโรปได้ตีความเปิดทางเอาไว้ให้ ทำให้ตลาดเชื่อว่ากรณีที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงรองรับ (hard Brexit) จะไม่เกิดขึ้น
หากทุกอย่างพัฒนาไปด้วยดีดังกล่าวข้างต้น การปรับขึ้นของราคาหุ้นในเดือน ม.ค.ก็จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวของตลาดหุ้น และความกังวลในปลายปีที่แล้วว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง โดยมีความเสี่ยงว่าจะเกิดภาวะถดถอยขึ้นมาได้นั้น ก็จะเป็นเพียงความเชื่อที่ขัดกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้หลายคนจะอาศัยตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือในการคาดการณ์อนาคตของเศรษฐกิจ เพราะผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นนั้นคือผู้ที่พยายามซื้ออนาคต (คาดการณ์ผลกำไรของบริษัทในอนาคต) นั่นเอง การปรับขึ้นของราคาหุ้นในเดือน ม.ค.จึงเป็นเรื่องที่ดีและหากนักลงทุนคาดการณ์ถูกต้อง ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจก็จะถูกทดแทนโดยตัวเลขเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวลงหมดสิ้นไปในที่สุด

แต่การมองในแง่ดีดังกล่าวดูจะ “ง่าย” เกินไป กล่าวคือเพียงธนาคารกลางสหรัฐยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะพลิกผันจากภัยกลายเป็นดี ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ข้อแม้ที่นาย Jerome Powell กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมาดังนี้

“As always, there is no pre-set path for policy. And particularly with muted inflation readings that we’ve seen coming in, we will be patient as we watch to see how the economy evolves”

คำพูดที่ตลาดทุนพึงพอใจมากที่สุดคือส่วนที่นาย Powell กล่าวว่า “We will be patient” (จะไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย) และ “there is no pre-set path for policy” (ไม่ได้กำหนดขั้นตอนการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างตายตัวเอาไว้แล้ว) เพราะ “We watch to see how the economy evolves” (จะต้องพิจารณาดูพัฒนาการของเศรษฐกิจพร้อมกันไปด้วย) แต่ประเด็นที่ผมจะให้ความสำคัญสูงสุดใน 3-6 เดือนข้างหน้าคือ แนวโน้มของเงินเฟ้อในสหรัฐ เพราะนาย Powell ตั้งข้อแม้เอาไว้อย่างชัดเจนว่าจะสามารถชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และรอสังเกตการณ์ภาวะเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังได้ ก็เพราะว่าข้อมูลเงินเฟ้อที่เข้ามานั้นอยู่ที่ระดับต่ำ กล่าวคือ “with muted inflation readings…, we will be patient.

แปลว่าเมื่อใดที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะต้องถูกกดดันในทันที่ให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ทั้งนี้ปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ระดับ 1.8-2.0% ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายนั้นปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐได้ขยายตัวเต็มที่แล้ว (จีดีพีโต 2% และอัตราการว่างงานต่ำกว่า 5% - ปัจจุบันอยู่ที่ 3.8%) ดอกเบี้ยนโยบายควรจะปรับขึ้นไปที่ 3% แปลว่าธนาคารกลางสหรัฐยังมีเป้าหมาย “ในใจ” ว่าน่าจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งจึงจะบรรลุถึงเป้าหมาย แต่ก็สามารถจะรีรอได้ตราบใดที่เงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2% อย่างไรก็ดีหากเงินเฟ้อ เร่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5-3.0% ผมเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะไม่มีทางเลือกและต้องรีบปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้เข้าไปอยู่ในสภาวะที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อไล่ตามเงินเฟ้อ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ดอกเบี้ยต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเป็นภัยอันตรายต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

ดังนั้นจึงจะต้องคาดหวังกันว่าเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2019 ครับ



*** ชื่อเรื่อง: เศรษฐกิจโลกจะเสี่ยงต่อการชะลอตัวอย่างรุนแรงและ/หรือภาวะถดถอย (recession) มากน้อยเพียงใด

Re: ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ชะลอตัว/ถดถอยมากน้อยเพียงใด ดร ศุภ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 11, 2019 7:48 pm
โดย iamsupat
ขอบคุณสำหรับบทความด้วยครับ