หน้า 1 จากทั้งหมด 1

วิกฤติอากาศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ม.ค. 25, 2019 11:48 pm
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ผมเพิ่งกลับจากการพูดในการสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  และก็แน่นอนว่าผมได้มีโอกาสท่องเที่ยวเล็ก ๆ  น้อยในเมืองหลวงแห่งนี้  ภาพทั่ว ๆ  ไปของ KL ในความรู้สึกของผมก็คือ  มันเป็นเมืองที่ถูกออกแบบมาค่อนข้างดี  อานิสงค์จากการที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม  ถนนหนทางมีมากซึ่งทำให้รถไม่ค่อยติดยกเว้นบางจุดใจกลางเมือง  ตึกรามเก่าที่มีศิลปะเฉพาะมีกระจายไปทั่วเมืองควบคู่ไปกับตึกระฟ้าที่ทันสมัย  สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับประชาชนที่รัฐสร้างขึ้นเช่น “สวนนกแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก”  ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนในช่วงสั้น ๆ  นั้น  ดูดีและห่างจากใจกลางเมืองแค่รถวิ่ง 15 นาที  ดูเหมือนว่ารอบ ๆ  เมือง KL นั้น  ยังมีต้นไม้เต็มไปหมดคล้าย ๆ  กับ  “ป่า”  แต่ที่สำคัญที่ผมพยายามสังเกตหลังจากที่กรุงเทพต้องประสบกับปัญหาหมอกควันรุนแรงก็คือ  บนท้องฟ้าที่ดูสดใสเป็นสีฟ้าสลับกับเมฆสีขาวที่เห็นขอบเขตอย่างชัดเจน  เวลาเดินกลางแดดก็จะพบว่ามันร้อนเปรี้ยงเพราะไม่มีหมอกมาบดบัง  โดยรวมแล้วผมคิดว่า KL เป็นเมืองที่น่าอยู่และสมศักดิ์ศรีของการที่จะเป็นเมืองหลวงของประเทศที่ใกล้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

    กลับมากรุงเทพในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาผมพบว่ากรุงเทพนั้นมีอาการที่น่าห่วงมาก  อากาศน่าจะเต็มไปด้วยมลพิษเนื่องจากฝุ่นละอองจากควันของไอเสียรถยนต์และฝุ่นดินที่มาจากการก่อสร้าง  การเผาขยะ  และอื่น ๆ  อีกมาก  มองขึ้นไปบนฟ้าก็พบว่ามันขมุกมัวไม่ชัดเจน  อาคารที่อยู่ไกลออกไปก็จะมองไม่ค่อยเห็น  สีของฟ้านั้นเป็นสีขาวของหมอกควันพิษและมองแทบไม่เห็นเมฆ  “ผู้เชี่ยวชาญ” และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบอกว่ามันเกิดเนื่องจากอากาศไม่ถ่ายเทเพราะไม่มีลมอันเป็นผลจากฤดูกาล  “รอสักระยะเมื่อลมมาแล้วมันก็จะหายไป”  ตอนนี้ก็ต้องอดทนแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ปัญหาอยู่  ตัวเลขความรุนแรงของมลภาวะถูกนำมาประกาศวันต่อวัน  ดูเหมือนว่ามันกำลังจะดีขึ้นแต่แล้ววันต่อมาก็อาจจะเลวลงอีก  การแก้ไขปัญหาที่ทำอยู่นั้นผมดูแล้วแทบจะไม่มีผลต่อมลภาวะเพราะมันอาจจะแก้ไม่ถูกจุดจริง ๆ   ผู้รู้บางคนบอกว่าตัวการสำคัญที่สุดคือรถโดยเฉพาะที่ใช้น้ำมันดีเซล  แต่การแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งก็คือจะพิจารณาให้มีน้ำมัน B20 ที่ผสมน้ำมันปาล์มมากขึ้นเป็น 20% ในน้ำมันดีเซล  แต่นี่ดูเหมือนว่าจะลดควันเสียได้น้อยมากและคงใช้เวลาอีกเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะเห็นผล  บางคนก็เสนอให้ใช้น้ำฉีดจากตึกสูงเป็นละอองเพื่อดักจับฝุ่น   บางคนก็เอาน้ำมาล้างถนนเพื่อลดฝุ่น  แต่ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าคงแก้ไขหรือลดมลภาวะอะไรไม่ได้

    ผมคิดว่าอากาศกรุงเทพนั้นแท้จริงแล้วอาจจะเลวร้ายมานานและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   ฤดูกาลอาจจะมีส่วนบ้าง  เช่นช่วง  “หน้าหนาว”  ซึ่งอากาศเย็นลงมาปกคลุมและไม่ค่อยมีลมจะเป็นช่วงที่อากาศแย่ที่สุด  ในช่วง “หน้าร้อน” ที่มีลมพัดแรงและช่วง “หน้าฝน” ที่มีฝนตกเกือบทุกวันนั้น  ภาวะอากาศเสียฝุ่นละอองอาจจะน้อยลงไปเพราะลมหอบฝุ่นไปที่อื่นและฝนตกช่วยจับฝุ่นลงมาอยู่บนพื้นดิน   ที่จริงแล้วเราอาจจะดูดหรือหายใจเอาฝุ่นละอองที่อันตรายเข้าปอดมานานแล้วแต่เราไม่รู้เพราะร่างกายมักจะไม่แสดงอาการอะไรออกมาทันที  มันอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ  หรือหลายสิบปีก่อนที่เราจะเจ็บป่วย  ดังนั้น  เราไม่ตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในอันตรายในเรื่องของสุขภาพ  จนกระทั่งปีนี้ที่มลภาวะอากาศรุนแรงประกอบกับสื่อในยุคดิจิตอลที่กระจายข่าวสารไปได้แพร่หลายและเร็วมากได้ทำให้คนเริ่มรู้ถึงอันตรายของการสูดเอาอากาศที่มีฝุ่นโดยเฉพาะที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากที่มองไม่เห็นและสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศที่เรียกว่า PM2.5   การออกมาประกาศว่าระดับของ PM2.5 ในกรุงเทพในช่วงเร็ว ๆ  นี้สูงเกินกว่ามาตรฐานที่ 50 หน่วยมาก  เช่น  บางวันเกิน 100 นั้น  ได้ทำให้หลายคนรวมถึงตัวผมเองตื่นตระหนก   เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะนี้โดยเฉพาะบ้านผมที่มีเด็กอายุยังไม่ถึง 2 ขวบซึ่งหมอบอกว่าเป็นคนที่เสี่ยงที่สุดเพราะปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่

    ในฐานะของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายโดยเฉพาะถ้าคนที่พูดนั้นมี Conflict of Interest หรือมีแรงจูงใจที่จะทำให้คนฟังแล้วเชื่อในอีกแบบหนึ่ง  นอกจากนั้น  ผมก็ยังต้องระวังว่าคนที่พูดนั้นอาจจะไม่รู้จริงและอาจจะคิดว่าตนเองรู้เพราะ “ใคร ๆ  เขาก็คิดแบบนั้น”  ดังนั้น  ผมจึงพยายามศึกษาและทดลองดูตามหลักวิทยาศาสตร์โดยมีเป้าหมายว่า  เราจะหลีกเลี่ยงภาวะเลวร้ายของอากาศนี้ได้อย่างไร?  ในยามที่การแก้ไขในระดับเมืองซึ่งมักต้องอาศัยพลังหรืออำนาจรัฐนั้นยังไม่เกิดผล

    เรื่องแรกที่ผมคิดและทำก็คือ  ความรุนแรงของมลภาวะ สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้มิฉะนั้น  เราจะไม่สามารถบอกได้ว่ามันร้ายแรงแค่ไหนและเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงมัน   สิ่งจำเป็นสำหรับเรื่องนี้ก็คือ  เราต้องมีเครื่องวัดค่าคุณภาพของอากาศหรือค่า AQI แบบพกพา  การดูจากเวบไซ้ต์นั้น  บางทีก็มีประโยชน์น้อยและบางแห่งอาจจะเชื่อถือไม่ได้เพราะมันอยู่ห่างจากจุดที่เราอยู่และมันอาจจะติดตั้งในระดับที่ไม่ใช่ระดับที่เราหายใจ  การมีเครื่องวัดที่ติดตัวหรือใกล้กับตัวเรานั้นจะทำให้เรารู้ว่าเราจะทำอย่างไร  เช่น  จะหนีไปให้พ้นหรือใช้หน้ากากกันฝุ่นเป็นต้น  จากการวัดค่า AQI พกพาของผมนั้น  ผมพบว่าทุกครั้งมีค่าสูงกว่าค่าที่อ่านจากเวบไซ้ต์มาก  บางครั้งเกิน 50%

    นอกจากเรื่องค่า AQI แล้ว  เรามักจะได้รับคำบอกเล่าหรือคำแนะนำผิด ๆ  โดยที่เราไม่รู้  ตัวอย่างเช่น  ให้อยู่ในบ้านในยามที่อากาศเสียหนัก ๆ   อย่าไปออกกำลังในที่โล่งหรือริมถนน  ถ้าทำในสวนสาธารณะอากาศก็จะดีกว่าเพราะต้นไม้ช่วยซับอากาศเสีย  ผมเองในช่วงแรก ๆ  ที่เกิดข่าวเรื่องอากาศเป็นพิษ  ผมได้เปลี่ยนไปออกกำลังในยิมที่เป็นร้านฟิตเนสจนกระทั่งมาค้นพบว่าอากาศในยิมก็สกปรกพอ ๆ  กับข้างนอก  ประเด็นของผมก็คือ  หลังจากที่ผมสงสัยในทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ทั้งหลายที่แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงอากาศเสีย  ผมก็นำเครื่องวัดอากาศไปวัดทุกแห่งที่ผมไป  ผลปรากฏว่าทุกแห่งหนนั้น  คุณภาพอากาศใกล้เคียงกันหมด  ทั้งในบ้าน  ในสวนและบนทางเท้าริมถนน  เช่นเดียวกับในช็อปปิ้งมอลหรู  ว่าที่จริงถ้าเราคิดถึงหลักทางวิทยาศาสตร์ว่าอากาศนั้นไปได้ทุกแห่งและฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศก็ไปตามอากาศแล้ว  ที่ไหนมีอากาศที่นั่นก็น่าจะมีฝุ่นพอ ๆ  กัน

    ผมค้นพบอีกว่า  วิธีที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นก็คือ  การอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดแล้วเปิดเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กเช่น PM2.5 ได้  และถ้าเราอยู่ในที่เปิดโล่งหรือในอาคารที่คนเข้า ๆ  ออก ๆ  และไม่มีเครื่องกรองอากาศ  วิธีที่น่าจะสามารถป้องกันฝุ่นจะอยู่ที่การสวมหน้ากากที่ป้องกันฝุ่นขนาด PM2.5 ได้เท่านั้น  และต้นไม้ในสวนนั้นไม่สามารถที่จะดูดซับฝุ่นได้และอากาศในสวนเองนั้นก็น่าจะถ่ายเทหรือไหลมาจากที่อื่น  ผมเองไม่รู้ว่าการสวมหน้ากากจะป้องกันฝุ่นได้ 90% ขึ้นไปตามที่มีคนพูดหรือไม่  แต่การใช้เครื่องกรองฝุ่นในบ้านที่ปิดค่อนข้างมิดชิดอย่างที่บ้านผมนั้นสามารถกรองฝุ่นได้เกือบ 100%  ค่า AQI ที่วัดได้นั้นอยู่ระหว่าง 0-4 เมื่อเปิดนานพอในขณะที่อากาศข้างนอกค่า AQI อยู่ที่ 100 กว่า

    ถึงวันนี้  ผมเองไม่แน่ใจว่ากรุงเทพจะมีวันที่อากาศมีคุณภาพดีจริง ๆ หรือเปล่า   เราคงต้องติดตามไปเรื่อย ๆ  จนครบทุกฤดูกาล  ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะในระยะยาว   ในสมัยที่โลกยังไม่เจริญและประเทศผู้นำอย่างอังกฤษเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนถึงวันหนึ่งก็พบว่าสภาพแวดล้อมทั้งน้ำและอากาศเลวร้ายมาก  หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มตระหนักและแก้ไขจนกระทั่งประสบความสำเร็จและนี่ก็คือประเทศที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง  ประเทศไทยเราเอง  ถ้าจะนำชาติไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น

    ในระหว่างที่ยังไปไม่ถึง  หน้าที่ของเราก็คือ  อย่าสร้างมลภาวะโดยไม่จำเป็นและปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยนี้เท่าที่จะทำได้  ผมเองคิดว่าบางทีเราอาจจะต้องทนและยอมรับการสูดอากาศที่ไม่สะอาดในช่วงที่จำเป็น  แต่ในช่วงที่อยู่บ้านและตอนนอนหรือตอนออกกำลัง  เราอาจจะต้องอยู่ในอากาศที่บริสุทธิเพราะมีการกรองอากาศอย่างดีเพื่อชดเชย  ด้วยวิธีการนี้  ร่างกายของเราก็อาจจะรับได้  การไม่ทำอะไรเลยและ “เชื่อ” ข้อมูลของหน่วยงานโดยเฉพาะที่พยายามบอกว่า “อากาศดีแล้ว”  ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ดีและเป็นความเสี่ยงที่คาดการณ์ไม่ได้
[/size]

Re: วิกฤติอากาศ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ม.ค. 26, 2019 4:02 pm
โดย vim
ขอบคุณครับ

มีเรื่องต้องระวังเรื่องนึง เครื่องวัดอากาศแบบพกพาอาจวัด PM2.5 ได้ไม่แม่นยำ หรือในหลายๆกรณีก็วัดไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่จะใช้เซ็นเซอร์วัดการหักเหของแสงง่ายๆ (
Particulate matter sensors) วิธีแบบนี้จะไม่สามารถแยกได้ชัดว่าอากาศที่นั้นจะมีฝุ่นขนาดใด หรือเป็นพิษแค่ไหน ต่างกับเครื่องวัดที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์

ในต่างประเทศก็มีงานวิจัยถึงความแม่นยำของเครื่องวัดเหล่านี้ เช่น
https://www.epa.gov/air-sensor-toolbox/ ... erformance
ผลสรุปคือ เครื่องส่วนมากวัดไม่ตรงกันกับเครื่องวัดมาตรฐาน หลายๆเครื่องนั้นวัดได้ไม่ใกล้เคียงเลย ดังนั้นเวลาซื้อเครื่องวัดอากาศแบบพกพาต้องเลือกประเภทและรุ่นที่มีการทดสอบมาด้วยครับ