ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน 2/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
โพสต์แล้ว: อังคาร ม.ค. 22, 2019 4:07 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงกลุ่มผู้นำทางความคิด (thought leaders) ของสหรัฐที่ผมเชื่อว่า กลุ่มนี้จะไม่สามารถยอมรับสถานะปัจจุบัน (status quo) ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนได้ กล่าวคือเชื่อว่า มีฉันทามติในกลุ่มผู้นำของสหรัฐ ทั้งในพรรคเดโมแครท พรรครีพับลิกัน ข้าราชการและกลุ่มนักวิชาการว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์กับจีนครั้งใหญ่อย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นแล้วสหรัฐก็จะไม่เป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งเดียว แต่จะมีจีนเป็นคู่แข่งหรือคู่ปรปักษ์ภายใน 10 ปีข้างหน้า กล่าวคือความสัมพันธ์สหรัฐกับจีนนั้นอาจไม่เป็นความสัมพันธ์แบบ win-win หรือ positive sum game แต่จะเป็น zero sum game คือจะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะในที่สุด เพราะเป็นการช่วงชิงกันว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จีนหรือสหรัฐจะเป็นที่ 1 ของโลก
ผมเอาข้อสรุปดังกล่าวมาจากไหน?
1.ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐ จัดทำเอกสารสำคัญทุกปี 2 ฉบับคือ US National Security Strategy (NSS) ในกรอบใหญ่และ National Defense strategy ซึ่งจะกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงจากข้อสรุปของเอกสาร NSS ซึ่งในปี 2018 ที่ผ่านมา มูลนิธิ Carnegie Endowment for International Peace วิเคราะห์ว่ามีสาระสำคัญดังนี้
1.1) เอกสารทั้ง 2 กล่าวถึงจีนอย่างกว้างขวางในเชิงลบ โดยสรุปว่าจีนเป็น “near existential threat to the US and the West” แปลว่าจีนเกือบจะเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของสหรัฐและโลกตะวันตก และในฉบับปี 2018 มิได้กล่าวถึงบทบาทในเชิงบวกของจีนในการเป็นหุ้นส่วนในการสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลกเช่นที่เคยทำมาในสมัยประธานาธิบดีโอบามา
1.2) รายงานทั้ง 2 มีบทสรุปว่าประเทศสหรัฐและประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ กำลังเผชิญหน้ากับจีน “in a zero-sum competition for dominance”
1.3) จะเห็นได้ว่าแผนความมั่นคงของสหรัฐนั้นปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญจากการมุ่งเน้นการปราบปรามการก่อการร้าย (ซึ่งต้องพึ่งพาความร่วมมือจากจีน) มาเป็นการชิงดีชิงเด่นของประเทศมหาอำนาจ เพื่อสกัดภัยจากการผงาดขึ้นของจีน (traditional emphasis on great power rivalry and the threat of a rising China)
2.ในการประชุมของคณะกรรมการด้านความยุติธรรม (Judiciary Committee) ของวุฒิสภาของสหรัฐเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2018 ได้มีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมาประเมินปัจจัยที่คุกคามความมั่นคงของสหรัฐ สรุปได้ดังนี้ (โปรดดูการรายงานของ Voice of America วันที่ 12 ธันวาคม 2018)
2.1) จีนเป็น “the most severe counter intelligence threat facing our country today…Beijing was using Chinese tech workers and students to help target US companies, universities and other research institutions. They think of them as simply an extension of their power” เป็นข้อสรุปของ Bill Priestap, FBI assistant director for counter intelligence
2.2) จีนเป็นภัยอันตรายต่อสหรัฐมากกว่ารัสเซีย เพราะทำการแทรกแซงสหรัฐแบบมีระบบ (methodical) และมีความเชี่ยวชาญสูง “prowess in cyberspace” ข้อสรุปดังกล่าวเป็นคำเตือนจาก Dan Coats US Director of National Intelligence
2.3) นาย Chris Krebs, director of Homeland Security’s Cyber Security ประเมินว่าภัยคุกคามจากจีนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐรายงานว่าในช่วง 2011-2018 กว่า 90% ของคดีที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมความลับของชาติ (nation-state espionage) เกิดจากจีน กล่าวคือจีนจะขโมยเทคโนโลยีสหรัฐเอาไปลอกเลียนและแทนที่เทคโนโลยีสหรัฐ (rob US company of its intellectual property, replicate that technology and replace the American company in the Chinese market and one day in the global market)
3.ในเดือน ก.ย. 2018 ฐานข้อมูลของโรงแรม Marriott ถูกแฮกซึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า แหล่งข่าวจากรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่า เป็นการกระทำของกลุ่มนักแฮกที่ทำงานให้กับ Ministry of State Security ของจีน (ซึ่งทางการจีนปฏิเสธและขอให้ฝ่ายสหรัฐนำส่งหลักฐานเรื่องนี้มาให้พิจารณา)
4.บทความเชิงวิเคราะห์ของ Bloombergวันที่ 28 ธันวาคม 2018 Lighthizer: Thrump’s Trade War General วิเคราะห์แนวคิดของนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมพ์มอบหมายให้เป็นหัวหน้าเจรจาการค้ากับจีน (แทนนาย Mnuchin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
4.1) นาย Lighthizer เคยคัดค้านการที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนการเข้าเป็นภาคี WTO ของจีน โดยกล่าวคาดการในครั้งนั้นเอาไว้ว่า “Trade cannot douse the flames of international rivalry. In fact, prosperity often contribute to conflict” แปลว่ายิ่งค้า-ขายมากและเก็บความมั่งคั่ง ก็อาจขัดแย้งกันมากขึ้น
4.2) นาย Lighthizer เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเคยว่าความให้กับบริษัทเหล็กสหรัฐในการสกัดกั้นการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ แต่ก็เป็นผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้เคยกล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจของเยอรมันและญี่ปุ่นเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็มิได้นำไปสู่ความสงบและความมั่งคั่ง แต่กลับนำไปสู่สงครามโลก เขาสรุปว่า “It is foolish to think that more trade between the US and China will resolve the political tensions between us.”
4.3) บทวิเคราะห์ของ Bloomberg สรุปในตอนท้ายว่า “There’s little doubtthat if anyone in this administration has the knowledge and skills to make a deal with China stick and end this great-power trade war, it’s probably Lighthizer. The question is: Does he want to?”