IPO Stock: "CHIC" ราคาเป้าหมาย 1.60 บาท/หุ้น - บล. ทิสโก้
Source - บจ.หลักทรัพย์ ทิสโก้ (Th)
Thursday, November 01, 2018 11:32
IPO Report| CHIC
บมจ. ชิค รีพับบลิค
ผู้บุกเบิก Home Fashion เฟอร์นิเจอร์ในไทย
Rating IPO
12 month Target Price Bt1.60
IPO Price n.a.
Upside/Downside n.a.
CG Rating n.a.
Thai CAC n.a.
Sector MAI(SERVICE)
เน้นสร้างความแตกต่างและเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน
บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) หรือ CHIC เป็นผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้านครบวงจร ซึ่งเน้นโฮมแฟชั่นสโตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีแบรนด์ CHIC เน้นกลุ่ม Upper-Middle-High และ RINA HEY เจาะกลุ่มตั้งแต่ระดับ Mass รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการจำหน่ายสินค้าในสาขา ซึ่งปัจจุบันมี 4 สาขาในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และมีแผนเพิ่มสาขาอีก 5 สาขาใน 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งเราคาดจะเห็นผลประกอบการมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR 2 ปี 2019-21F) ที่ 31% ตามการขยายสาขาและการเพิ่มสินค้าที่วางจำหน่ายในสาขา
เพิ่มสาขา 5 สาขาภายในปี 2022F และเพิ่มสินค้าวางจำหน่าย
ปัจจุบัน CHIC มี 4 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑลและพัทยา โดยแต่ละสาขาใกล้แหล่งชุมชนและกลุ่มลูกค้า และมีแผนการที่จะขยายสาขาอีก 5 สาขาในปี 2022F และขยายไปยังต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คาดพื้นที่ขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66,000 ตารางเมตร ในปี 2022F จาก 32,661 ตารางเมตร ในปี 2017 นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์แบรนด์ ASHELY มาเปิดเป็น shop-in-shop ในทุกสาขาของบริษัท และเพิ่มสินค้าในกลุ่ม Built-in ให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการ ซึ่งจะเริ่มใน 4Q18 และเพิ่มการเติบโตและกระจายรายได้ผ่านการขายงานโครงการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมี Backlog 156 ล้านบาท ณ สิ้น 2Q18 ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2020F และบริษัทอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่มูลค่ารวมราว 502 ล้านบาท ซึ่งคาดจะเริ่มรับรู้ผลการประมูลในช่วงปลายปี 2018-ต้นปี 2019 เป็นต้นไป
คาดรายได้และผลประกอบการเติบโตเฉลี่ย 16% และ 31% ต่อปี
จากการขยายสาขาและสินค้าใหม่ที่จะเข้ามาจำหน่าย เราคาดรายได้และผลประกอบการมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR 2 ปี 2019-21F) ที่ 16% และ 31% ตามลำดับ โดยคาดกำไรสุทธิสำหรับปี 2018-20F อยู่ที่ 36 ล้านบาท 73 ล้านบาทและ 101 ล้านบาท ตามลำดับ จากการรับรู้รายได้จากการเปิดสาขาใหม่และคาดรายได้จากการขายโครงการจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น คาดอัตรากำไรขั้นต้นของ CHIC อยู่ที่ระดับ 61.1% ในปี 2018-19F และคาดค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 50.9% และ 48.6% ตามลำดับ
มูลค่าที่เหมาะสม 1.60 บาท
เราประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ CHIC ที่ 1.60 บาท อิงจากการประเมินมูลค่าด้วยวิธี DCF บนสมมติฐาน WACC ที่ 9.2% จาก Risk Free Rate ที่ 2.3 %, Risk Premium 8.7%, Beta 1x ปัจจัยเสี่ยง 1) การขยายสาขาไม่เป็นไปตามแผนการ 2) การเปลี่ยนแปลงความนิยมของสินค้า 3) ความไม่ต่อเนื่องของรายได้จากการรับงานโครงการ และ 4) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ประเด็นการลงทุน
บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งในปี 2009 บริษัทดำเนินธุรกิจโฮมแฟชั่นสโตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย หรือ The First Home Fashion Store in Thailand เป็นผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และที่นอนและเครื่องนอน อย่างครบวงจร (One Stop Shopping) ในรูปแบบ "Stand Alone" ภายใต้ชื่อ "ชิค รีพับบลิค (CHIC)" และ "ริน่า เฮย์ (RINA HEY)" โดยเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับ Upper-Middle-High สำหรับแบรนด์ CHIC และตลาด Mass สำหรับแบรนด์ RINA HEY นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายในสาขา โดยล่าสุดร่วมมือกับแบรนด์ ASHLEY ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลกโดยจะเริ่มเปิดภายใน 4Q18 นี้เป็นต้นไป
จุดเด่นของ CHIC ได้แก่ 1) เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง จากแบรนด์สินค้า CHIC, RINA HEY ครอบคลุมทั้งตลาด Mass และตลาด Middle-High 2) เพิ่มพาร์ทเนอร์และสินค้าใหม่ จากนำแบรนด์ ASHELY มาเปิดเป็น shop-in-shop ในทุกสาขาของบริษัท และเพิ่มสินค้าในกลุ่ม Built-in ให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการ ซึ่งคาดจะเห็นใน 4Q18 เป็นต้นไป เพื่อสอดคล้องกับนโยบายในการนำเสนอสินค้าใหม่ทุก 4-6 เดือน 3) ขยายสาขาเพื่อครอบคลุมกลุ่มลูกค้า โดยปัจจุบันมี 4 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑลและพัทยา โดยแต่ละสาขาอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพใกล้แหล่งชุมชนและกลุ่มลูกค้า และมีแผนการที่จะขยายสาขาอีก 5 สาขาในปี 2022F และขยายไปยังต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66,000 ตารางเมตรในปี 2022F จาก 34,912 ตารางเมตรในปี 2017 4) กระจายรายได้ผ่านการขายงานโครงการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมี Backlog 156 ล้านบาท ณ สิ้น 2Q18 ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2020F และบริษัทอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่มูลค่ารวมราว 502 ล้านบาท ซึ่งคาดจะเริ่มรับรู้ผลการประมูลในช่วงปลายปี 2018-ต้นปี 2019 และ 5) นำเสนอสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีความยืดหยุ่นในการนำเสนอขายสินค้า จากการผลิตในรูปแบบ ODM (Original Design Manufacturing) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตตามที่บริษัทออกแบบ (Exclusive Design) ไม่มีโรงงานของบริษัท
เราคาดผลประกอบการมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR 2 ปี 2019-21F) ที่ 31% โดยคาดกำไรสุทธิปี 2018-20F อยู่ที่ 36 ล้านบาท (+10% YoY) 73 ล้านบาท (+101%YoY) 101 ล้านบาท (+40% YoY) และ 124 ล้านบาท (+22% YoY) ตามลำดับ เราคาดรายได้ของ CHIC จะเติบโตด้วย CAGR 2 ปี (2019-21F) ที่ 16% สำหรับปี 2018F เราคาดรายได้ของ CHIC ในปีนี้อยู่ที่ 590 ล้านบาท ซึ่งหดตัว -5.2% YoY เป็นผลมาจากรายได้จากโครงการที่หดตัวลงจากโครงการอสังหาริมทรัพย์เลื่อนการโอน ก่อนที่จะกลับมาเติบโต 33% YoY ในปี 2019F มาอยู่ที่ 782 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากการเปิดสาขาใหม่และคาดรายได้จากการขายโครงการจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น คาดอัตรากำไรขั้นต้นของ CHIC อยู่ที่ระดับ 61.1% ในปี 2018F-19F จากการขายหน้าร้านซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมีสัดส่วนที่สูงขึ้น เราคาดค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 50.9% และ 48.6% ตามลำดับ จากค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดสาขาใหม่
ประเมินมูลค่า
เราประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ CHIC ที่ 1.60 บาท อิงจากการประเมินมูลค่าด้วยวิธี DCF บนสมมติฐาน WACC ที่ 9.2% จาก Risk Free Rate ที่ 2.3 %, Risk Premium 8.7%, Beta 1x เนื่องจากเรามองว่าการประเมินมูลค่าด้วยวิธี DCF เป็นการสะท้อนการเติบโตของบริษัทในระยะยาวตามการขยายสาขา
ปัจจัยเสี่ยง
1) การขยายสาขาไม่เป็นไปตามแผนการที่จะขยาย 5 สาขาภายใน 5 ปี เพื่อให้รายได้และผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย 2) สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่เป็นสไตล์ของบริษัท และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนั้นจึงมีความเสี่ยงหากมีการเปลี่ยนแปลงของความนิยม 3) ความไม่ต่อเนื่องของรายได้จากการรับงานโครงการ หากไม่มีงานโครงการใหม่เข้ามารองรับ และ 4) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากบริษัทมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ประเมินมูลค่า
มูลค่าเหมาะสม 1.60 บาทต่อหุ้น
CHIC มีการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ซึ่งรายได้หลักกว่า 80 % เป็นการรับรู้รายได้ผ่านการขายผ่านสาขาทั้งสินค้าของบริษัทเองและสินค้าของคู่ค้า รวมทั้งมีรายได้จากการบริการพื้นที่ให้เช่า และการเติบโตมาจากการขยายสาขาจากปัจจุบันมีจำนวน 4 สาขา และวางแผนจะขยายสาขาอีก 5 สาขาภายใน 5 ปี โดยเรามองว่าการประเมินมูลค่าด้วยวิธี DCF เป็นการสะท้อนการเติบโตของบริษัทในระยะยาวตามการขยายสาขา ดังนั้น มูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 1.60 บาท/หุ้น บนสมมติฐาน WACC ที่ 9.2 % จาก Risk Free Rate ที่ 2.3 %, Risk Premium 8.7%, Beta 1x, Debt : Equity ที่ 70 %: 30%
ประเมินมูลค่าเหมาะสมด้วยวิธี PER Multiple ได้ 1.33 บาท/หุ้น
สำหรับการประเมินค่าที่เหมาะสมของ CHIC ด้วยวิธี PER Multiple โดยอ้างอิงจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านและงานปรับปรุงและตกแต่งบ้าน อาทิ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (HMPRO) , บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL) และบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MODERN) ซื้อขายด้วย PER เฉลี่ย 25 เท่า ดังนั้นมูลค่าที่เหมาะสมของ CHIC อยู่ที่ 1.33 บาท/หุ้น
ปัจจัยเสี่ยง
การขยายสาขาไม่เป็นไปตามแผน
บริษัทมีแผนการขยายสาขา 5 สาขาภายใน 5 ปี เพื่อให้รายได้และผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยกระทบต่อการพิจารณาการขยายสาขาของบริษัท อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้นกว่าประมาณการซึ่งใช้เงินลงทุนเฉลี่ยต่อสาขา 200-250 ล้านบาทต่อสาขา อาจจะส่งผลต่อการเลื่อนการขยายสาขา ซึ่งจะมีผลต่อรายได้และผลประกอบการของบริษัท
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความนิยมของผู้บริโภค
สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่เป็นสไตล์ของบริษัท และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังนั้นจึงมีความเสี่ยงหากมีการเปลี่ยนแปลงของความนิยม ซึ่งบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงนี้โดยการจัดหาสินค้าใหม่เข้ามาต่อเนื่องโดยจะมีสินค้าใหม่เข้ามาทุก 4-6 เดือนและมีการเปลี่ยนแปลง collection เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านทุก 4-6 เดือน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงความนิยมลูกค้า
การบริหารสินค้าคงคลัง
สินค้าคงคลังของบริษัท (inventory day) อยู่ที่ 96 วันในปี 2017 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนานเนื่องจากบริษัทมีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องสั่งสินค้าจำนวนหนึ่งเพื่อบริหารต้นทุนการขนส่ง และมีการกำหนดการสั่งผลิตแบบมีจำนวนผลิตขั้นต่ำ (minimum order) ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทมีการสั่งผลิตสินค้าสำหรับการขายโครงการ ทำให้บริษัทต้องมีการจัดเตรียมสินค้าให้พร้อมกับการส่งมอบงานได้ทันเวลา ดังนั้น หากบริษัทไม่สามารถบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้ จะส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทจากเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสำหรับสินค้าที่เคลื่อนไหวช้า โดยบริษัทจะมีการตรวจสอบสินค้าคงเหลือและพิจารณายอดขายในทุกเดือนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการระบายสินค้า
ความไม่ต่อเนื่องของรายได้จากการรับงานโครงการ
ปี 2015-17 CHIC มีรายได้จากการรับงานโครงการในสัดส่วน 36.6%, 39.2% และ 17.28% ของรายได้รวมตามลำดับ สัญญาซื้อขายเฟอร์นิเจอร์สำหรับงานโครงการมีอายุประมาณ 1-1.5 ปีต่อโครงการ บริษัทจะรับรู้รายได้จากงานโครงการเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงจากความไม่ต่อเนื่องของรายได้จากโครงการ หากไม่มีงานโครงการใหม่เข้ามารองรับ โดยบริษัทมีการเข้าประมูลโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีการกระจายลูกค้าโครงการเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
CHIC มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 17.5%, 25.54% และ 22.05% สำหรับปี 2015-17 ตามลำดับ ซึ่งต้องชำระเงินเป็นสกุลต่างประเทศ เงินสกุลหลักที่ใช้คือ ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหากมีความผันผวน โดยบริษัทมีการบริหารโดยทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (forward contract) บางส่วนและติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
ประมาณการเติบโตผลประกอบการ
คาดผลประกอบการเติบโตเฉลี่ย (CAGR 2019-21F) 31% ต่อปี
เราคาดผลประกอบการปี 2018F อยู่ที่ 36 ล้านบาท เติบโต 11% YoY สำหรับปี 2019-21F เราคาดผลประกอบการมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR 2 ปี 2019-21F) ที่ 31% โดยคาดกำไรสุทธิปี 2019-21F อยู่ที่ 73 ล้านบาท (+101%YoY) 101 ล้านบาท (+40% YoY) และ 124 ล้านบาท (+22% YoY) ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ตามการขยายสาขาและช่องทางการจำหน่าย
คาดรายได้หดตัวในปีนี้ ก่อนจะกลับมาเติบโต 33% ในปี 2019F
เราคาดรายได้ของ CHIC จะเติบโตด้วย CAGR 2 ปี (2019-21F) ที่ 16% สำหรับปี 2018F เราคาดรายได้ของ CHIC ในปีนี้อยู่ที่ 590 ล้านบาท ซึ่งหดตัว -5.2% YoY เป็นผลมาจากรายได้จากโครงการที่หดตัวลงจากโครงการอสังหาริมทรัพย์เลื่อนการโอน ก่อนที่จะกลับมาเติบโต 33% YoY ในปี 2019F มาอยู่ที่ 782 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากการเปิดสาขาใหม่และคาดรายได้จากการขายโครงการจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
คาดรายได้จากการขายเติบโตตามการขยายสาขา
เราคาดรายได้จากการขายในปี 2018F จะอยู่ที่ 485 ล้านบาท ซึ่งลดลง -7.5% โดยเป็นผลมาจากยอดขายที่ลดลงสำหรับการจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าร้าน(Store Sale) และรายได้สินค้าจากบริษัทคู่ค้า ในรูปแบบของ consignment จากผลกระทบการชะลอตัวของตลาดเฟอร์นิเจอร์ สำหรับปี 2019-20F เราคาดจะเห็นการกลับมาเติบโตมากยิ่งขึ้น คาดรายได้อยู่ที่ 643 ล้านบาท และ 799 ล้านบาทในปี 2019-20F ตามลำดับ จาก 1)พื้นที่ขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47,000 ตารางเมตรในปี 2019F : CHIC มีแผนเปิดสาขากัมพูชาใน 4Q18 ด้วยขนาดพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร และมีแผนที่จะเปิดสาขารามอินทราในปี 2019 พื้นที่ 8,600 ตารางเมตร ทำให้พื้นที่ขายโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า +22% YoY ในปี 2019F และ +14% YoY ในปี 2020F จากมีแผนจะเปิดสาขาอุดรธานี ขนาด 6,500 ตารางเมตร 2)คาดการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ASHLEY และสินค้าใหม่เริ่มเห็นผลในปีหน้า : ใน 4Q18F CHIC จะเริ่มเปิด
Shop-in-Shop สำหรับพาร์ทเนอร์แบรนด์ ASHLEY ใน 4 สาขาของบริษัท และเริ่มนำเสนอสินค้าในกลุ่ม Builtin เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยเราคาดในปี 2018F จะมีรายได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากเริ่มในปลายปี แต่คาดจะเห็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นในปี 2019F เป็นต้นไป คาดรายได้อยู่ที่ 108 ล้านบาท และ 137 ล้านบาทในปี 2020F
คาดรายได้จากการขายงานโครงการดีขึ้นในปี 2019F จาก backlog 156 ล้านบาท และโอกาสได้งานเพิ่ม
ปี 2018F เราคาดรายได้จากการขายงานโครงการจะอยู่ที่ 87 ล้านบาท ลดลง -20% YoY เป็นผลมาจาก Backlog ที่น้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากโดยปกติแล้วงานโครงการจะมีอายุสัญญา 1-1.5 ปี ดังนั้นงานที่ส่งมอบในปี 2018F จะเป็นสัญญาที่ได้รับในปี 2016-17 ซึ่งบริษัทมีการรับงานโครงการที่น้อยจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร สำหรับปี 2019-20F เราคาดจะเห็นรายได้จากการขายงานโครงการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันบริษัทมี backlog ณ 2Q18 อยู่ที่ 156 ล้านบาท ซึ่งมีอายุสัญญา 1-2.7 ปี จะทยอยรับรู้รายได้ในปลายปี 2018-ปี 2020F และบริษัทอยู่ระหว่างการประมูลงานโครงการใหม่ใน 4Q18 รวมทั้งหมด 16 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 502 ล้านบาท โดยบริษัทมีสถิติในการรับงานประมูลที่ 47% ของงานที่เข้าประมูล ดังนั้นจาก Backlog ปัจจุบันและโอกาสที่จะได้รับงานใหม่เพิ่มเติม เราคาดรายได้จากการขายงานโครงการสำหรับปี 2019-20F อยู่ที่ 116 ล้านบาท และ 137 ล้านบาท ตามลำดับ
รายได้จากการบริการเติบโตจากการเปิดโครงการใหม่
รายได้จากการบริการของบริษัทเป็นรายได้จากการให้เช่าพื้นที่สำหรับร้านค้าและร้านอาหาร เช่น ร้านลูกไก่ทอง ร้าน MAGURO ร้านแมคโดนัลด์ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งรูปแบบค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ ณ 2Q18 CHIC มีพื้นที่ให้เช่า 2,250 ตารางเมตร โดยเราคาดรายได้จากการบริการจะเติบโตต่อเนื่อง ปี 2018F คาดอยู่ที่ 18 ล้านบาท (+0.2% YoY) 22 ล้านบาท (+25.1% YoY) ในปี 2019F และ 26 ล้านบาท (+17.7% YoY) ในปี 2020F
คาดอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ระดับ 61% ในปี 2018F
เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นของ CHIC อยู่ที่ระดับ 61.1% ในปี 2018F และ 61.1% ในปี 2019F จากอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60.7% และ 61.0% ตามลำดับ จากการขายหน้าร้านซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และการขายงานโครงการลดลง สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับงานบริการคาดจะยังคงรักษาระดับอัตรากำไรไว้ที่ 74-75% ได้
ค่าใช้จ่ายการขายและบริหารลดลงจากการลดค่าการตลาดและค่าบริหาร
ในปี 2017 บริษัทมีค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A/sale) อยู่ที่ 49% หรือมูลค่า 305 ล้านบาท สำหรับปี 2018-20F เราคาดค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 50.9% , 48.6% และ 48% ตามลำดับ หรือ 300 ล้านบาท, 380 ล้านบาท และ 462 ล้านบาท ตามลำดับ จากค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดสาขาใหม่
ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงหลังจากชำระคืนเงินกู้
ปี 2017 CHIC มีค่าใช้จ่ายทางการเงินจำนวน 19 ล้านบาท จากภาระหนี้สิน 360 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ยืมสำหรับการขยายสาขาใหม่ สำหรับปี 2019-20F เราคาดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลงหลังจากบริษัทชำระคืนเงินกู้หลังจากระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ CHIC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย ประมาณ 130-200 ล้านบาทต่อปี
วิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
ในปี 2015-17 กำไรสุทธิอยู่ที่ 69 ล้านบาท 52 ล้านบาทและ 32 ล้านบาท ตามลำดับ โดยกำไรสุทธิของบริษัทที่ลดลงในปี 2016-17 สอดคล้องกับรายได้ สำหรับปี 2016 รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 698 ล้านบาทจากการปิดสาขาหัวหินและ เมกาบางนา โดยหันมาเน้นการขยายสาขาแบบ Stand alone สำหรับรายได้ในปี 2017 ลดลงมาอยู่ที่ 622 ล้านบาท หลักๆ เนื่องมาจากรายได้จากการขายงานโครงการที่ลดลงจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่รายได้จากการขายหน้าร้านปรับตัวดีขึ้นทั้งสินค้าของบริษัทเองและสินค้า consignment และรายได้จากบริการ ตามการเปิดสาขาราชพฤกษ์ในปลายปี 2016 โดยอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทขึ้นอยู่กับสัดส่วนรายได้แต่ละช่องทาง โดยอัตรากำไรขั้นต้นระหว่างปี 2015-17 อยู่ที่ 54.8% 48.8% และ 57.8% ตามลำดับ โดยอัตรากำไรขั้นต้นปรับขึ้นมาในปี 2017 จากรายได้จากการขายหน้าร้านเพิ่มขึ้นจากการขยายสาขาราชพฤกษ์และเปิดตัวสินค้าใหม่ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายระหว่างปี 2015-16 อยู่ระดับ 38-40% แต่ปรับตัวขึ้นสูง 49% ในปี 2017 จากค่าใข้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือน จำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายสาขาและค่าเช่าคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายสาขาในอนาคต
กำไรสุทธิของ CHIC ใน 6M18 อยู่ที่ 13.7 ล้านบาท ลดลง 40% YoY ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลงมาอยู่ที่ 263 ล้านบาท จาก 327 ล้านบาทใน 6M17 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นปรับขึ้นมาอยู่ที่ 65.3% จาก 56.4% จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่อัตรากำไรสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 5.2% จาก 6.9% จากค่าใช้จ่ายการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายสาขาและปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน
แนวโน้มบริษัท
ขยายฐานลูกค้า จับตลาดทั้ง Mid to High-End และ Mass Market
รายได้ของ CHIC กว่า 83% มาจากการขายผ่านหน้าร้านของบริษัท (Store sale) โดยสินค้าจะประกอบด้วย 1)สินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง ได้แก่ CHIC จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน (upper-middle to high) ที่ต้องการเฟอร์นิเจอร์หรูหรา เหมาะสำหรับบ้านเดี่ยวหรือบ้านที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งแบรนด์ CHIC มีสัดส่วนรายได้ 83% ของรายได้จากการขายผ่านหน้าร้าน และแบรนด์ RINA HEY ซึ่งเริ่มเปิดตัวใน 4Q16 จับตลาด Mass (economy-middle) โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มที่ต้องการเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กสำหรับพื้นที่จำกัด เช่น คอนโดมิเนียม เป็นต้น ซึ่งรายได้ส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วน 84% ของยอดขายผ่านหน้าร้าน
2) สินค้าจากบริษัทคู่ค้า ในรูปแบบของ consignment สินค้าหลักเช่น ที่นอน เครื่องนอน โซฟาปรับนอนได้ และกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน (Home Decor) และของใช้ในบ้าน อาทิแบรนด์ Sealy, SANTAS, Omazz, TEMPUR, LOTUS,IMG, Bedgear และ Ocean เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายสินค้าของบริษัท โดยรายได้ในส่วนนี้คิดเป็น 16% ของยอดขายผ่านหน้าร้าน
ใน 4Q18 บริษัทจะมีการจัดจำหน่ายสินค้าของพาร์ทเนอร์แบรนด์ ASHLEY ซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีประสบการณ์มามากกว่า 70 ปี ในลักษณะของ American Living Lifestyle "ASHLEY HOME STORE" รูปแบบ Shop in Shop ขนาดประมาณ 1,000 ตารางเมตรใน 4 สาขาของบริษัทได้แก่ สาขาประดิษฐ์มนูธรรม สาขาบางนา สาขาราชพฤกษ์และสาขาพัทยา ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเพิ่มสินค้าในกลุ่ม Built-in ให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ขายหน้าร้านสำหรับงาน Built-in โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 และคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 4Q18
วางแผนขยายสาขาอีก 5 สาขาภายใน 5 ปี เจาะตลาดหัวเมืองใหญ่
ปัจจุบัน CHIC มีสาขารวมทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ 1) สาขาประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ขายสุทธิ 6,404 ตารางเมตร 2) สาขาพัทยา ขนาด 7,059 ตารางเมตร 3) สาขาบางนา ขนาด 7,586 ตารางเมตร และ 4) สาขาราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุด ด้วยขนาด 11,610 ตารางเมตร ซึ่งมีพื้นที่ขายสุทธิรวม 32,659 ตารางเมตร CHIC อยู่ระหว่างการขยายสาขาใหม่อีก 5 สาขา ได้แก่
1) สาขาประเทศกัมพูชา : เป็นร้านค้าในห้างสรรพสินค้า Aeon Mall 2 Sen Sok City กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ขนาดพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร คาดว่าเปิดดำเนินการได้ภายใน 4Q18 นี้ โดยใช้งบลงทุน 30 ล้านบาท
2) สาขารามอินทรา : ขนาดพื้นที่ 8,600 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินแล้วระยะเวลา 30 ปี (ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม 2017 - 10 พฤษภาคม 2047) โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ใน 2019F ใช้งบลงทุนราว 250 ล้านบาท
3) สาขาอุดรธานี : ขนาดพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร โดยบริษัทได้ทำสัญญาเช่าที่ดินระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2020 ด้วยงบลงทุน 196 ล้านบาท
4) สาขาเชียงใหม่ : ขนาดพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดหาพื้นที่
5) และอีก 1 สาขาใหม่ : บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาทำเลที่เหมาะสม
หากการขยายสาขาเป็นไปตามแผนการ พื้นที่รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 32,659 ตารางเมตรในปี 2017 มาอยู่ที่ 36,159 ตารางเมตรในปี 2018F และ 64,258 ตารางเมตรในปี 2022F หรือเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR 5 ปี 2017-2022F) 14%
เพิ่มการเติบโตโดยรับงานโครงการเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากการขายผ่านหน้าร้านของตนเอง CHIC ยังมีการรับงานโครงการ โดยเป็นการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์พร้อมติดตั้ง ในลักษณะเฟอร์นิเจอร์แบบติดผนัง (Built in) และเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว (Loose Furniture) และสินค้าตกแต่งบ้าน ให้กับโครงการห้องชุด คอนโดมิเนียม โครงการบ้านจัดสรร ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 17% ในปี 2017 และ 18% ใน 1H18 โดยปัจจุบันมี Backlog 156 ล้านบาท ณ สิ้น 2Q18 ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2020F และบริษัทอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่มูลค่ารวมราว 502 ล้านบาท ซึ่งคาดจะเริ่มรับรู้ผลการประมูลในช่วงปลายปี 2018-ต้นปี 2019 ซึ่งจากข้อมูลในอดีต บริษัทมีโอกาสชนะการประมูล 47% ของงานที่เข้าประมูล
ตัวอย่างบริษัทที่ CHIC ทำงานโครงการให้ เช่น บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอรตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บริษัท บิลท์ แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีเอฟ เรียลตี้ (2015) จำกัด เป็นต้น
เริ่ม O2O (Online to Offline) เพิ่มตลาด Mass
ใน 2Q18 CHIC เริ่มการตลาดแบบ O2O หรือ Online Marketing to Offline Marketing และ Offline Marketing to Online Marketing โดยกลุ่มเป้าหมายตลาดออนไลน์สามารถเข้ามาซื้อสินค้าในตลาดออฟไลน์ (ซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านของบริษัท) ได้ ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตลาดออฟไลน์ อาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าในตลาดออนไลน์ได้ สำหรับกลยุทธ์การทำการตลาดแบบออนไลน์ (Online) โดยเน้นการขายออนไลน์สำหรับสินค้าภายใต้แบรนด์ "RINA HEY" เป็นหลักก่อน เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ RINA HEY จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มเริ่มทำงาน กลุ่มเพิ่งสร้างครอบครัว มีไลฟ์สไตล์ที่มีความเป็นอิสระ ไม่ปิดกั้นความคิดตัวเอง ต้องการความแปลกใหม่ และใช้ความ creative ในการเลือกซื้อสินค้า และมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าทางสื่อออนไลน์มากขึ้น
ODM สร้างความยืดหยุ่นในการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย
สินค้า House Brand ของบริษัททั้ง CHIC และ RINA HEY เป็นสินค้าที่มีการผลิตในรูปแบบ ODM (Original Design Manufacturing) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตตามที่บริษัทออกแบบ (Exclusive Design) ซึ่งเรามองว่าการที่บริษัทไม่มีโรงงานผลิตเป็นของบริษัทเองเป็นข้อดีในแง่การสร้างความยืดหยุ่นในการจัดหาสินค้าในการจำหน่ายและสามารถคัดเลือกผู้ผลิตที่มีความชำนาญเฉพาะได้ และทำให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าใหม่ให้แก่ลูกค้าได้ถี่ ทุก 4-6 เดือนได้ ซึ่งมากกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
แนวโน้มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เติบโตตามอสังหาริมทรัพย์
ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงเปิดตัวโครงการใหม่ต่อเนื่อง และยังมีอุปทานเหลือในตลาด
จากข้อมูลของบริษัทเอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพและปริมณฑล ปี 2017 มีจำนวนทั้งสิ้น 114,500 ยูนิต เพิ่มขึ้น 3.53% YoY โดยคอนโดมิเนียมมีสัดส่วนสูงสุดประมาณ 56% ของโครงการที่เปิดใหม่ ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 5.5% YoY มาอยู่ที่ 103,579 ยูนิต โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมสัดส่วน 54.7% ส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสม ณ สิ้นปี 2017 อยู่ที่ 195,200 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.91% YoY โดยอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือเยอะสุดคือคอนโดมิเนียม 76,790 ยูนิต รองลงมาได้แก่ ทาวน์เฮาส์ 62,571 ยูนิต และบ้านเดี่ยว 36,971 ยูนิต และในช่วง 1H18 จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดมีประมาณ 180,635 ยูนิต ลดลง 7.6% จากสิ้นปี 2017 ซึ่งเป็นสัญญาที่ดีที่เริ่มเห็นยอดขายที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ในแง่ของมูลค่าโครงการที่เปิดขายในปี 2017 เพิ่มขึ้น 14.2% YoY มาอยู่ที่ 436,300 ล้านบาท จากราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของโครงการที่เปิดใหม่ในปี 2017 เพิ่มขึ้น 11.6% มาอยู่ที่ 3.858 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ 3.456 ล้านบาท จากการพัฒนาสินค้าระดับราคาปานกลาง-สูงของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
จากข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์รอการขายทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม ณ กลางปี 2018 พบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีราคาเฉลี่ย >3 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ CHIC ดังนั้น CHIC จึงมีโอกาสการเติบโตจากอสังหาริมทรัพย์นี้
เริ่มเห็นการโอนที่มากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก
จากข้อมูลของบริษัทเอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) รายงานการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เฉพาะจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2018 มีจำนวน 64,944 หน่วย เพิ่มขึ้น 29.2% YoY สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 20% YoY
สต๊อกอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสของ CHIC
จากจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมที่ยังอยู่ในจำนวนที่สูง รวมทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้มีกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากยิ่งขึ้น เช่น กลยุทธ์การแจกของสมนาคุณ อาทิ แถมเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้น เราว่าจะส่งผลดีต่อ CHIC เนื่องจากการที่บริษัทเริ่มเข้าสู่การรับงานโครงการ น่าจะเห็นการที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แถมเฟอร์นิเจอร์ให้แก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้นเพื่อระบายสต๊อก
คาดอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางฟื้นตัว
เราคาดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะเติบโตมากยิ่งขึ้น จากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มมีการโอนมากยิ่งขึ้น และทิศทางการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นจาก 73.7 ในปี 2016 เป็น 79.2 ในปี 2017 โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และสถานการณ์การเมืองที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต
ข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญ
CHIC เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 360 ล้านหุ้น ด้วยพาร์ 0.5 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 26.47% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ โดยจำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านหุ้นมาอยู่ที่ 1,360 ล้านหุ้น
วัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุน
บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ (ภายหลังหักค่าธรรมเนียมการจัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) ไปใช้ตามแผนงานของบริษัทเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 1) ใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายสาขา 2) เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวกับสถาบันการเงิน และ 3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ภาพรวมธุรกิจ
บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) (CHIC) เป็นผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และที่นอนและเครื่องนอน อย่างครบวงจร (One Stop Shopping) ในรูปแบบ "Stand Alone" หรือร้านค้าเดี่ยวขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ "ชิค รีพับบลิค (CHIC)" และ "ริน่า เฮย์ (RINA HEY)"
บริษัทจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2009 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 3,000,000 บาท โดยผู้ก่อตั้งบริษัท คือ นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้บริหารของบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ จำกัด โดยนายกิจจาได้ขายหุ้นของบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ จำกัด ที่นายกิจจาถือครองหุ้นออกทั้งหมด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง มอลล์ นับตั้งแต่ที่คุณกิจจาก่อตั้งบริษัท นายกิจจาเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการออกแบบ จัดหา จัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และที่นอนและเครื่องนอนอย่างครบวงจร (One Stop Shopping) ยาวนานกว่า 30 ปี
โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2018 บริษัท ชิค รีพับบลิค จำกัด (มหาชน) มีการลงทุนในบริษัทย่อย 1 บริษัท โดยบริษัทลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศกัมพูชา คือ CHIC REPUBLIC CO., LTD. โดยบริษัทถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าวในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียนของ CHIC REPUBLIC CO., LTD.
บริษัทย่อย
CHIC REPUBLIC CO., LTD. : จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 เพื่อดำเนินธุรกิจเป็นศูนย์รวมจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และที่นอนและเครื่องนอน อย่างครบวงจร (One Stop Shopping) .ในประเทศกัมพูชา ภายใต้ชื่อ CHIC REPUBLIC โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ Room 3, No. 6R, Street 208, Sangkat Boeung Raing, Khan Duan Penh, Phnom Penh ปัจจุบันมีทุนชำระแล้วเท่ากับ 20,000,000 เรียล หรือประมาณ 156,328 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 20,000 เรียล หรือ 156.33 บาท โดยบริษัทเข้าถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียนของ CHIC REPUBLIC CO., LTD. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า Aeon Mall 2 Sen Sok City กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา คาดว่าเปิดดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561
2 แบรนด์ของบริษัท CHIC และ RINA HEY
สินค้าของบริษัทมี 2 แบรนด์ ได้แก่ สินค้าภายใต้แบรนด์ "CHIC" เพื่อรองรับลูกค้าระดับกลางถึงบน และ "RINA HEY" หรือ ริน่า เฮย์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่าง (Mass Market) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ CHIC สามารถครอบคลุมส่วนแบ่งการตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ CHIC ให้ได้มากที่สุด โดย CHIC ได้เริ่มสร้างแบรนด์ RINA HEY เมื่อปี 2016
CHIC : รองรับลูกค้าระดับกลาง - บน
บริษัทวางตำแหน่งทางการตลาดของ CHIC สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระต่างๆ มีไลฟ์สไตล์ในการซื้อสินค้าที่แสดงถึงความภูมิฐาน สะท้อนตัวตนที่หรูหรา ไม่เหมือนใคร ใช้เวลากับครอบครัวเป็นหลัก ลูกค้าของ CHIC จะเน้นมาเลือกซื้อสินค้าที่ร้าน ประกอบไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นวัสดุที่ทำจากไม้จริง มีรูปแบบเท่ห์ เก๋ไก๋ (CHIC) มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (UNIQUE) มีสไตล์เป็นของ CHIC ไม่เหมือนใคร โดยมีการจัดหาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ ODM (Original Design Manufacturing) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตตามที่บริษัทออกแบบ (Exclusive Design) และมีสัดส่วนประมาณ 80% ของจำนวนสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่จำหน่ายทั้งหมด นอกจากนี้ สินค้าในแบรนด์ "CHIC" ยังรวมถึง สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และที่นอนและเครื่องนอน โดยสัดส่วนของสินค้าเฟอร์นิเจอร์จะมีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 70% ของยอดขาย ทั้งนี้ จุดแข็งที่สำคัญของบริษัท คือ บริษัทมีผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Supplier) ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเภทของสินค้า (Category) อยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ สินค้ารูปแบบเดียวกัน บริษัทสามารถสั่งผลิตได้จาก Supplier หลายราย ส่งผลให้บริษัทสามารถคัดเลือกผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และราคาสินค้ามีความสมเหตุสมผลและสามารถแข่งขันในตลาดได้
ตัวอย่างสินค้าเฟอร์นิเจอร์ภายใต้แบรนด์ CHIC
สไตล์/ลักษณะผลิตภัณฑ์/ตัวอย่างสินค้า
Romantic Vintage หรือCountry French Vintage
เฟอร์นิเจอร์จะเป็นแนวคลาสสิค ทำจากวัสดุไม้จริงเป็นส่วนใหญ่ เน้นงานฝีมือ ทำให้บ้านมีลักษณะเป็นศิลปะสมัยโบราณ (Antique) หูจับจะทำจากทองเหลือง เฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้จะสามารถใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ล้าสมัย (Timeless)
English Classic
เฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์แบบยุโรป เน้นเส้นลายโค้งมน มีการแกะสลัก ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ สีขาว มีความเป็นหลุยส์อยู่ในตัว วัสดุทำจากไม้จริง เฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้จะสามารถใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ล้าสมัย (Timeless)
American Colonial
เฟอร์นิเจอร์มีขนาดใหญ่ หรูหรา สง่างามเหมาะกับบ้านหลังใหญ่ วัสดุส่วนใหญ่ทำจากไม้จริง เน้นวัสดุสีเข้ม ขาของเฟอร์นิเจอร์กลึงกลม ดูเรียบ ไม่มีการแกะสลัก เฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้จะสามารถใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ล้าสมัย (Timeless)
Modern Chic
เฟอร์นิเจอร์จะมีความทันสมัย ดีไซน์จะเป็นเส้นตรง เป็นเหลี่ยม เน้นความเรียบง่าย เน้นวัสดุที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะใช้โลหะเงา เช่น อลูมิเนียม ทั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนวัสดุตามสมัยนิยม และเน้นกระจกสี วัสดุสีขาว วัสดุที่มีความวาว
Industrial Chic
ถือเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจ จะเน้นผิวไม้มีลายเส้นบนผิว (Scratching) เพื่อให้ดูเก่า ใช้โลหะที่ขาโต๊ะ เหมือนดึงเอาโครงสร้างของโรงงานมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ วัสดุจะเน้นไม้สีเข้ม ผิวขรุขระ เพื่อให้มองว่าเป็นการนำวัสดุในโรงงานมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์
ที่มา: CHIC, TISCO Research
RINA HEY : รองรับลูกค้าตลาด Mass
RINA HEY สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮ้าส์ อพาร์ทเม้นต์ เป็นต้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการพื้นที่ทำงานชั่วคราวแก่บุคคลทั่วไป หรือ Co-Working Space กลุ่มเป้าหมายลูกค้าของ RINA HEY จะเลือกซื้อสินค้าที่ร้าน และมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น บริษัทวางแผนการเปิดช่องทางการขายแบบออนไลน์ (Online) โดยบริษัทได้พัฒนาระบบให้มีการซื้อขายแบบ E-Commerce แล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 โดยเน้นการขายออนไลน์สำหรับสินค้าภายใต้แบรนด์ "RINA HEY" เป็นหลักก่อน ประกอบไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบ Knock Down วัสดุที่ใช้ทำจากปาร์ติเกิ้ลบอร์ดปิดผิวด้วยเมลามีน มีรูปแบบเรียบง่าย เป็นสไตล์แบบ Loft โดยมีการจัดหาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ ODM มีสัดส่วนประมาณ 70% ของจำนวนสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่จำหน่ายทั้งหมด นอกจากนี้ สินค้าในแบรนด์ "RINA HEY" ยังรวมถึง สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน โคมไฟตกแต่ง และที่นอนและเครื่องนอน โดยสัดส่วนของสินค้าเฟอร์นิเจอร์จะมีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 85% ของยอดขาย
สินค้าภายใต้ตราสินค้า RINA HEY จะเป็นสไตล์แบบ Loft เน้นรูปแบบ Open Space ซึ่งลักษณะผลิตภัณฑ์ จะดูเรียบง่าย มีความทันสมัยในตัวเอง เน้นการผสมผสานของสไตล์ต่าง ๆ (Mix and Match) สินค้าของ RINA HEY จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก เหมาะกับพื้นที่ที่จำกัด
สินค้า 4 กลุ่มหลัก
สินค้าที่จำหน่ายภายในโฮมแฟชั่นสโตร์ของ CHIC และ RINA HEY สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก
1. กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Furniture) เป็นสินค้าที่มีการจัดหาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ ODM (Original Design Manufacturing) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตตามที่บริษัทออกแบบ (Exclusive Design) สำหรับ CHIC และ RINA HEY
กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Furniture) สามารถแบ่งกลุ่มย่อยได้ดังนี้
1) เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนั่งเล่น (Living Room)
2) เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องอาหาร (Dining Room)
3) เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องนอน (Bedroom)
4) เฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องทำงาน (Home Office)
5) เฟอร์นิเจอร์สำหรับภายนอกอาคาร (Outdoor)
2. กลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน (Home Decor) และของใช้ในบ้าน เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์และแจกัน เครื่องหอม - เทียนหอม
น้ำหอม รูปปั้น อุปกรณ์ในห้องน้ำ เช่น ที่ใส่สบู่ Dispenser ตะกร้าลวดที่ใช้ในห้องน้ำ เป็นต้น
3. กลุ่มโคมไฟ (Lighting) เช่น โคมไฟเพดาน โคมไฟตั้งพื้น และโคมไฟตั้งโต๊ะ
4. กลุ่มที่นอนและเครื่องนอน (Mattress and Bedding Accessories) ตัวอย่างแบรนด์สินค้า ได้แก่ Sealy, Tempur, Omazz, Lotus, Bedgear, Santas, Nice และ Dunloppillo เป็นต้น
Sirilak Konwai (ID: 051012)
(66) 2633 6422
[email protected]
โทรศัพท์: (66) 2633-6999 โทรสาร: (66) 2633-6490 E-mail:
[email protected]
โดย สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ประจำวันที่ 1 พ.ย. 2561
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว