หน้า 1 จากทั้งหมด 1

"เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ส.ค. 22, 2004 2:53 pm
โดย HALO
ถ้าเคยอ่านมาแล้วก็ขออภัยครับ ที่เสียเวลามาอ่านอีก
จาก bangkokbiznews
--------------------------------------------------------------------------------------
ชั่วโมงเซียน : ทางเดินความคิด...."Value Investor" หมายเลข 1 เฟ้นหุ้น "เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

"แก่นแท้" แห่งวิถีการลงทุน ของ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร"

สูตรการลงทุนให้ประสบความสำเร็จสำหรับ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.นครหลวงไทย ไม่ได้แตกต่างไปจากวิถีทางเดินชีวิตของดอกเตอร์เลยแม้แต่น้อย

ทางเดินความคิดของ...."Value Investor" หมายเลข 1 ผู้นี้ทั้งเรียบง่าย และสมถะ

ดอกเตอร์ไม่ได้เสแสร้ง หรือสร้างภาพลักษณ์โดยปราศจาก "แก่นแท้" ของความปกติพอดี..."ชีวิตคนเราจะต้องการอะไรไปมากกว่านี้"

แก่นแท้อย่างหนึ่งที่สรุปได้ในความหมายของดอกเตอร์ ก็คือ ความสำเร็จมันซ่อนอยู่ในความ "พอเพียง" ของการใช้ชีวิต และรู้จัก "เพียงพอ" ต่อความโลภ

กว่าชั่วโมงที่นั่งคุยในช่วงเวลาอาหารมือกลางวัน เริ่มต้นจากเทคนิคการเล่นหุ้น ไปจบที่วิถีความคิด และเส้นทางการใช้ชีวิต ขณะที่ดอกเตอร์ก็นั่งกินแซนด์วิชที่ออกจะแข็งกระด้างไปพราง ตามด้วยน้ำเปล่าเป็นระยะๆ มันเป็นอาหารที่ออกจะวิเศษสุดในมื้อนั้นสำหรับ Value Investor พันธุ์แท้ที่เน้นความเรียบง่าย

วันนี้ต้องบอกว่า ดร.นิเวศน์ "รวย" แล้ว แม้จะยังมีเงินไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ตามที่ตั้งใจ แต่ก็มีมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายไปตลอดชั่วชีวิต แต่เปล่าเลยดอกเตอร์กลับไม่เคยใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย

....ทุกสิ่งที่ ดร.นิเวศน์ จ่ายเงินออกไป จะต้องแลกกลับมาด้วยความ "คุ้มค่า" เสมอ

"คนชอบเข้าใจผิดว่า Value Investor ต้องใช้ของถูก จริงๆ แล้วเข้าใจผิด เรามองทุกอย่างที่ความคุ้มค่า "ดอกเตอร์บอกอีกว่า Value Investor จะไม่จ่ายอะไรที่แพงเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้น "การใช้จ่าย" เพื่อซื้อความสุข สำหรับ Value Investor จึงไม่ใช่ความสุข"

"....ไม่มี Value Investor พันธุ์แท้คนไหน ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยแล้วประสบความสำเร็จในการเล่นหุ้น(ในระยะยาว) ทั้งหมดเป็นวิธีคิดที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน" ดอกเตอร์บอก ดูอย่าง "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ซิ!!! พอเขาเป็น Value Investor ทั้งชีวิตและจิตใจ จะไม่มีความสุขกับการใช้เงิน

ความสุขทั้งหมดของเขาจะไปอยู่ที่การลงทุน เห็นราคาหุ้นเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง เอาเงินไปซื้อบ้านราคาแพง ไปซื้อรถเบนซ์ ของพวกนี้ใช้แล้วมันหายไป Value Investor พันธุ์แท้จะไม่ชอบ"

การค้นหาหุ้นของ ดร.นิเวศน์ เรียบเรียงจากวิธีคิดพอจะสรุปได้ว่ามาจากขบวนการภายใต้ "จิตสำนึก" โดยมองสินค้าที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน และทำความเข้าใจกับมันทุกวันจนกลายเป็นความเคยชิน

"เราเห็นมันบ่อยๆ เนื่องจากการใช้ชีวิตของเรา ผมจะเลือกซื้อหุ้นพวกนี้ก่อน"

เคล็ดลับเช่นนี้เองที่กลายเป็นพฤติกรรมแทรกซึมเข้ามาอยู่ในจิตใต้สำนึกที่เฟ้นแต่หุ้น "Value" เข้าพอร์ต "ทุกครั้งที่เห็นสินค้า เราอ่านหนังสือเจอ ทุกอย่างมันจะลิ้งเข้ามาที่เรื่องของหุ้น มันเข้ามาเองอัตโนมัติ"

ดร.นิเวศน์ อธิบายว่า จริงๆ แล้ว Value Investor เวลาเลือกหุ้นก็แบบเดียวกัน หาหุ้นที่ "ดีมาก" แต่ใช้เงิน "นิดเดียว" (ซื้อตอนที่ราคายังไม่แพง หรือตอนที่หุ้นตกหนักๆ) เช่นเดียวกับการใช้ชีวิต ค้นหาสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตได้มากมาย ด้วยเงินเพียงนิดเดียว

"ถ้าศึกษาวิธีคิดของ Value Investor มันเกี่ยวกับข้องกับชีวิตนะ ถ้าคุณจ่ายเงินซื้อรถเบนซ์โก้หรู ผมยังไม่ค่อยเห็น ถ้าคุณคิดแบบนั้นคุณก็ไม่ใช่ Value Investor พันธุ์แท้"

Value Investor พันธุ์แท้ในมุมมองของ ดร.นิเวศน์ จะต้องมองที่ "คุณค่า" ของเงินที่จ่าย คุณอย่าซื้อหุ้นเพราะเห็นว่าราคา "ถูก" แต่ต้องซื้อหุ้นเพราะว่ามัน "ดี" แล้วจ่ายเงินซื้อในราคา "ยุติธรรม"

"ผมไม่เคยซื้อหุ้นราคา 3 บาท 5 บาท ชอบซื้อหุ้นที่คนพูดว่า "แพง" ในด้านราคา แต่ "ถูก" ในแง่ของ "Value" ถ้าสังเกตุดูหุ้นในพอร์ตผมราคาเป็น 100 บาทขึ้นไปทั้งนั้น หรือราคาหลายสิบบาทที่พาร์บาทเดียว (เช่น STANLY SE-ED IRC APRINT SSC PR และ TMD) หุ้นของผมราคาสูงหมดนะ แต่มันคุ้มค่า มันสร้างผลตอบแทนให้เราดีมาก"

ดอกเตอร์พูดว่าการเล่นหุ้นขาดไม่ได้จะต้องมีความสุขกับมัน....เพราะความสุขจะเป็น "ทุน" สร้างผลตอบแทน มันเป็น "เหตุ" ที่สร้างผลลัพธ์ของ "กำไร"

"จริงๆ ผมมีความสุขกับการได้ซื้อหุ้นที่เราพอใจมากๆ ดีมากๆ น่าสนใจมากๆ แล้วเก็บมากขึ้นๆ จนวันหนึ่งเรากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท"....ความสุขในที่นี้ของ ดร.นิเวศน์หมายถึงความ "ภาคภูมิใจ"

"ผมเชื่อมาตลอดว่า "การเดินทาง" สำคัญกว่า "เป้าหมาย" อยากบอกนักลงทุนทุกคนว่าอย่าไปกังวลกับเป้าหมาย แต่ควรใส่ใจใน "เส้นทาง" ที่เรากำลังเดิน ถ้าเราทำดีที่สุด และมีความสุขในเส้นทางของเราทุกวัน ในที่สุดเราก็จะไปถึงเป้าหมายนั้นเอง" ดร.นิเวศน์ เชื่อเช่นนี้ตลอด

".....เงิน 1,000 ล้าน สำหรับผมถ้าไม่ได้ ก็ไม่ใช่จะเป็นจะตาย เรามี "เป้าหมาย" เพื่อกำหนด "เส้นทาง" ไม่ให้เราไขว้เขว ถ้าเราแน่วแน่ ผลลัพธ์ที่ออกมามันจะสอดคล้องกันทั้งหมด"

ถามดอกเตอร์ว่าสมมติ ดร.นิเวศน์ ทำเงินถึง 1,000 ล้านบาท จริงๆ เป้าหมายต่อไปคืออะไร?

"ถ้าตัดเรื่องเงินออกไป เป้าหมายของผมก็ยังต้องการเป็น "นักลงทุน" และใช้ชีวิต "สมถะ" เช่นนี้ตลอดไป(จนตาย) คนเราอย่าไปคิดว่ามีเงิน 1,000 ล้าน แล้วจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนที่คิดก่อนแล้วว่า จะทิ้ง "วิถี" ชีวิตดั้งเดิมของตัวเองก่อนที่ตัวเองจะไปถึงเส้นชัย....ผมคิดว่าเขาคงจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริงหรอก"

ความเร้นลับของ "กำไร" และ "ความสุข" สำหรับ ดร.นิเวศน์ สะท้อนออกมาในแง่มุมของการเลือกหุ้น ก็เหมือนกับการเลือก "คู่แต่งงาน" คุณต้องคิดเสมอว่าต้องหาคู่ที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุดกับคุณ เพื่อจะครองคู่กันไปจนแก่เฒ่า....โดยเน้นย้ำว่า Value Investor จะไม่เลือกหุ้น "ฉาบฉวย" หวังขายในอีก 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนข้างหน้า แต่ต้องเลือกหุ้นที่ดีที่สุด และมีอนาคตในอีกหลายๆ ปีข้างหน้า

"ผมจะซื้อหุ้นที่ตัวเองรู้สึกพอใจมากๆ แล้วอยากจะเก็บมันไว้นานๆ" นี่คือปฐมบทของความสำเร็จที่ดอกเตอร์สรุปให้ฟัง

ดร.นิเวศน์ คิดถึงขนาดที่ว่าสักวันหนึ่งหุ้นที่ "พ่อ" ถือก็จะถูกส่งต่อไปให้กับ "ลูก" เพื่อเป็น "มรดก" ด้วยซ้ำ

"จริงๆ แล้วหุ้นที่ผมซื้อส่วนใหญ่ส่งต่อไปเป็นมรดกได้ แต่ไม่รู้ว่าถ้าเวลาผ่านไปนานๆ ปัจจัยบางอย่างเปลี่ยนไป เราอาจต้องเปลี่ยนหุ้นตัวอื่น แต่ทุกกิจการที่ลงทุนตั้งต้นจากวิธีคิดที่ว่าสามารถถือไปจนถึงลูกถึงหลานได้"

ดอกเตอร์ย้อนกลับมาที่คำพูดคำเดิม การเล่นหุ้นจะต้องเริ่มที่ "ความสุข" มันเป็นเหตุเป็นผลกัน

"ถ้าผมซื้อหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ มีผู้บริหารดี ในที่สุดราคาหุ้นจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็มีความสุขกับ Score (ผลตอบแทน) ที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นคนละส่วนกับการเอากำไรมาซื้อความสุขนะ"

ดร.นิเวศน์ อธิบาย Score แห่งความสุขเพิ่มเติมว่า เราซื้อไปแล้วราคาหุ้นเพิ่มขึ้น จ่ายปันผลมาเราก็ "ทบต้น" ขึ้นไป แล้วเห็นผลตอบแทนแต่ละปีที่ผ่านไปดีกว่าตลาดโดยรวม รู้สึกพอใจเมื่อเห็นมันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

"จนวันหนึ่งเราสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้เราก็มีฐานะ มีความมั่นคง และเป็นอิสระพอที่จะไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ สามารถมีปันผลที่เลี้ยงเราตลอดชีวิตไปจนถึงลูกถึงหลานได้ นี่คือ ความสุขของผม"

ถามว่า ดร.นิเวศน์ เคยรู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดเรื่องการลงทุนบ้างหรือไม่!!!

ดร.นิเวศน์ เล่าให้ฟังว่า ผมเคยซื้อบ้านราคานับสิบล้านบาทด้วย "กิเลส" ที่มันซุกอยู่ภายในเหมือนกับคนทั่วๆ ไป แต่นั่นไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าเลย ท้ายที่สุดก็ขายบ้านหลังนั้นทิ้งไป

"ตอนที่ผมยังไม่มีความคิดแบบ Value Investor เคยสนใจซื้อที่ดิน เราเห็นเลยว่าที่ดินมันก็อยู่ที่เก่า มันไม่เคยจ่ายปันผลให้เรา ราคาก็ไม่ได้ไปไหน 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าขายราคาเดิม...ผมขาย แต่มันขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ชำนาญทางด้านนี้ ให้ซื้อเพื่อเก็งกำไรคงไม่ทำแน่"

ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง เป็นแค่บ้านชั้นเดียวเล็กๆ บนเนื้อที่ไม่กี่ตารางวา ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของแม่ยาย ทุกคนอยู่รวมกัน เห็นหน้ากันทุกวัน ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นส่วนตัว ไม่มีคนรับใช้ แต่บ้านหลังนี้ไม่เคยปราศจากอบอุ่นเลย

"ความสะดวกสบายในบ้านจริงๆ มีน้อย บ้านหลังเล็กมาก แต่ผมก็ไม่ได้ต้องการมากกว่านี้ เพราะมาคิดดูอีกทีถามว่าไปอยู่บ้านหลังใหญ่ๆโตๆได้มั๊ย!!..."มันก็ได้" แต่บ้านใหญ่โตมันก็ไม่ได้ให้ความสุขกับเรามากไปกว่าบ้านหลังเล็ก ทุกคนใกล้ชิดกัน เจอหน้ากันทั้งวัน"

ส่วนรถยนต์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นรถประจำตำแหน่ง(ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.นครหลวงไทย)ไม่มีเป็นของตัวเอง ถ้าออกจากงานวันไหน วันนั้นค่อยไปหาซื้อมาเป็นของตัวเอง

"ทุกวันนี้กิจกรรมที่ผมทำอยู่จริงๆ ชีวิตมันมีความสุขอยู่แล้ว การออกกำลังกายเป็นความสุขยิ่งใหญ่ ผมไม่ต้องใช้เงินเลย มีรองเท้าคู่เดียว ถามว่า "ฟิตเนส" มันดีกว่ามั๊ย!! สำหรับผมวิ่งในสวน (สาธารณะ) มันก็สดชื่นไปอีกแบบหนึ่ง...นี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าพื้นฐานความคิดของ Value Investor "เงิน" มันไม่ใช่โจทย์ของ "ความสุข" ตรงกันข้ามกับการเลือกหุ้นคุณต้องเลือกหุ้นที่คิดว่าดีเยี่ยมที่สุด"

ดอกเตอร์ บอกว่า เกือบ 10 ปีที่ผมลงทุนในแนวทางนี้ พิสูจน์แล้วว่ามันประสบความสำเร็จ ยังจำได้ว่าวันแรกที่ลงทุนตามแนวคิด Value Investor หนี้สินผมมากกว่าสินทรัพย์สภาพคล่อง สมัยนั้นผมคิดว่าอยากจะมีบ้านหลังใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ไปก่อหนี้ขึ้นมา 10 กว่าล้านบาท แต่โชคดียังพอมีเงินสดเหลืออยู่ แม้จะน้อยกว่าตัวหนี้ ผมเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนจนถึงวันนี้เงินก้อนนั้นเติบโตขึ้นมาเกือบ 20 เท่าตัว"

แม้วันนี้ Score แห่งความสุขของดอกเตอร์จะทะยานผ่านพรมแดนแห่งคำว่า "อิสรภาพ" ทางการเงิน(รายรับจากเงินลงทุนมากกว่ารายจ่ายประจำ)ไปแล้ว แต่ ดร.นิเวศน์ ก็หาไม่ที่จะนำเงินเก็บส่วนของการลงทุนมาซื้อความสุข "กาย" ในชีวิต มากไปกว่าสิ่งที่มีอยู่

รางวัลในชีวิตของ ดร.นิเวศน์ จึงแตกต่างจากคนทั่วไป ดอกเตอร์พูดว่า "รางวัลของชีวิต ก็คือ สิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน" คำๆ หนึ่งที่ ดร.นิเวศน์ เน้นย้ำน่าสนใจอย่างยิ่ง คำว่า "การเดินทาง" กับ "เป้าหมาย" ในชีวิตของคนทุกคน...นักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง เขาควรเฟ้นหาเฉพาะหุ้นระดับ "เฟิร์สคลาส"...มีวิถีชีวิตแบบ "อีโคโนมี"

ทั้งหมดคือ ทางเดินความคิดของ "Value Investor"หมายเลข 1 ที่ชื่อ"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร"

"เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ส.ค. 22, 2004 6:36 pm
โดย buglife
ขอบคุณครับ

"เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ส.ค. 22, 2004 7:53 pm
โดย mey
ขอบคุณมากมากนะคะ

"เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 23, 2004 2:19 am
โดย noone
บางทีแวลาผมทำงานเหนื่อยๆ ขยายงานไปทำนู่นทำนี่ พอได้มีเวลามานั่งนึกว่าอยากได้อะไรที่สุด กลับอยากได้แค่มีเวลานั่งสงบๆแล้วก็ได้อ่านหนังสือเงียบๆ งิบชาอุ่นๆ ได้นั่งคุยกับคนที่รัก มีหมานอนอยู่ใกล้ๆซักตัว แค่นี้ก็สุขแล้ว

เลยมักจะสับสนอยู่บ่อยๆว่าเรากำลังต้องการอะไรอยู่ อยากจะทำตัวเหมือนเด็กๆบ่อยๆ เพราะตอนเป็นเด็กไม่เคยสับสนว่าตัวเองอยากได้อะไร

"เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 23, 2004 3:13 pm
โดย gvi
ผมสงสัยว่าทำไม ดร.นิเวศร์ถึงเลือกหุ้นที่มีหนี้เยอะด้วยเช่น irc เพื่อนๆมีความคิดเห็นยังไงกับบริษัทที่มีหนี้เยอะๆบ้างครับ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบเลย

"เฟิร์สคลาส"...ใช้ชีวิต "อีโคโนมี"

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 23, 2004 8:10 pm
โดย ^_^
ผมว่ารูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด,ทัศนคติและวิธีการทำงานของคนเราด้วยนะครับ คือมันจะมีรูปแบบสอดคล้องกัน อันนี้สังเกตได้จากคนส่วนใหญ่เลย
ผมเองก็เป็นคนสมถะแบบเดียวกับท่านอ.นิเวศน์ เอ๊ะ นี่ผมจะประสบความสำเร็จในการลงทุนเหมือนท่านไหมนี่ :roll: