เสาหลักของการลงทุน/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 29, 2015 2:01 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
ถ้าจะเป็นนักลงทุนที่ดีนั้นเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง? นี่คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแต่ละคนจะตอบไม่เหมือนกัน—ขึ้นอยู่กับว่าเขามีแนวความคิดและกลยุทธ์การลงทุนแบบไหนและอย่างไร สำหรับผมซึ่งมีแนวทางการลงทุนระยะยาวที่เน้นพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก ผมคิดว่าความรู้และวิชาต่อไปนี้เป็น “เสาหลัก” หรือพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน
เสาที่หนึ่งหรือความรู้พื้นฐานกลุ่มแรกก็คือ “ทฤษฎีการลงทุน” นี่คือทฤษฎีเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะที่มีการศึกษาและพิสูจน์ว่ามีความถูกต้องเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแล้ว หัวใจที่สำคัญก็คือกลุ่มทฤษฎี “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” และ “การลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอสมัยใหม่” ที่บอกว่าตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์นั้นมีประสิทธิภาพสูงในการกำหนดราคาหุ้นทุกตัว พูดง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหาหุ้นหรือหลักทรัพย์ราคาถูกหรือราคาแพงได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ความเสี่ยง” ของหลักทรัพย์ กล่าวคือหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงก็จะเสี่ยงมาก ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงเช่น ลงทุนในหุ้นกู้ พันธบัตร หรือเงินฝากแบ้งค์ และการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอที่กระจายการลงทุนในหลาย ๆ กลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหุ้น พันธบัตร เงินฝากและทรัพย์สินอื่น ๆ ในระดับของ “ความเสี่ยง” ที่เรารับได้
นอกจากทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราก็ควรที่จะต้องเรียนรู้แนวความคิดของการลงทุนในสไตล์ต่าง ๆ ที่มีการอ้างกันว่าสามารถที่จะทำให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าปกติได้เช่น การลงทุนแบบ “Value Investing” หรือ VI หรือการลงทุนแบบ “Growth Investing” หรือการลงทุนในหุ้นโตเร็ว หรือแม้แต่การลงทุนแนว “Momentum” หรือแนว “เทคนิค” เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้และเข้าใจว่าแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดอย่างไรและเราจะเลือกแนวทางไหนในการลงทุน
เสาที่สองก็คือ “ประวัติศาสตร์ของการลงทุน” นี่คือความรู้ที่มักหาไม่ได้จากหนังสือตำราการลงทุนและมักจะไม่มีการสอนในหลักสูตร MBA ประวัติศาสตร์การลงทุนนั้นมักกระจายอยู่ในหนังสือพอกเก็ตบุคเกี่ยวกับการลงทุนต่าง ๆ เรื่องสำคัญที่เราควรจะต้องทำความเข้าใจเวลาอ่านประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นก็คือประวัติผลตอบแทนระยะยาวของหุ้น ความผันผวนที่เกิดขึ้น และที่สำคัญมากก็คือ ประวัติของการเกิดของ “ฟองสบู่” และการแตกของมัน รวมถึงสถานการณ์ที่ตลาดตกต่ำเนื่องจากความเจ็บปวดจากการลงทุนของนักลงทุนและ “โอกาส” ของการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น
เสาที่สามก็คือ “จิตวิทยาในการลงทุน” นี่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านของวิชาการลงทุนที่คนรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้นมีส่วนต่อราคาหุ้นมากกว่าเหตุผล ในระยะหลัง ๆ นั้น การศึกษาเรื่องจิตวิทยาที่กระทบกับการลงทุนก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเข้าใจในเรื่องนี้จะทำให้เราสามารถซื้อขายหุ้นได้ถูกต้องถูกเวลามากขึ้นและอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ผมเองยังคิดว่าจิตวิทยาของคนนั้น ยังเป็นตัวกำหนดความต้องการสินค้าและบริการที่เขาต้องการ และอุตสาหกรรมหรือกิจการหรือบริษัทแบบไหนจะเติบโตและแบบไหนจะถดถอย ในส่วนนี้ผมมักจะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านเรื่องของ “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์” และ “ยีนส์” ของมนุษย์ที่ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการกำหนดเรื่องของพฤติกรรมและจิตวิทยาของคน
เสาที่สี่ก็คือ “ความรู้ทางธุรกิจ” นี่คือความรู้และความเข้าใจในเรื่องการทำธุรกิจ ประการแรกเลยเราจะต้องรู้ “ภาษาธุรกิจ” หรือบัญชี นั่นก็คือ เราควรจะสามารถอ่านจากงบการเงินได้ว่าฐานะและผลประกอบการของธุรกิจเป็นอย่างไร ฐานะการเงินแข็งแกร่งแค่ไหน บริษัททำกำไรได้ดีหรือไม่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดวิธีการลงบัญชีแต่เราต้องรู้ตัวเลขหลัก ๆ ที่จะบอกว่าผลงานของบริษัทที่ผ่านมานั้นโดดเด่นหรือเลวร้ายแค่ไหน ในส่วนนี้คนที่ไม่ได้เรียนทางด้านบัญชีอาจจะกังวลแต่ผมคิดว่ามันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง หนังสือการอ่านบัญชีสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานนั้นมีมากมายและไม่ได้ใช้เวลามากที่จะเรียนรู้
ความรู้ทางธุรกิจที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าอุตสาหกรรมหรือบริษัทไหนดีหรือแย่นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตลาด ความรู้ทางด้านการตลาดที่ผมคิดว่าสำคัญสำหรับการเลือกอุตสาหกรรมหรือหุ้นนั้น จะเป็นเรื่องของ “ความสามารถหรือกลยุทธ์ในการแข่งขัน” ซึ่งน่าเสียใจว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ได้สอนกันในชั้นเรียนของ MBA ดังนั้น วิธีที่ดีก็คืออ่านจากหนังสือการตลาดที่เกี่ยวกับ “กลยุทธ์” หรือ “ตำแหน่ง” ทางการตลาด หรือ “Business Model” หรือรูปแบบการทำธุรกิจ ของบริษัทแต่ละแห่ง ประเด็นสำคัญก็คือ สุดท้ายเราควรจะต้องเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยอะไร มีปัจจัยอะไรที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทหนึ่งเอาชนะอีกบริษัทหนึ่งได้ และปัจจัยนั้นจะอยู่ต่อไปอย่างถาวรโดยที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้ หรืออยู่ได้แค่ชั่วคราว โดยสรุปแล้ว ความรู้ทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดก็คือรู้ว่า “คุณภาพ” ของบริษัทนั้นดีแค่ไหน
สุดท้ายของเรื่องธุรกิจก็คือ เราควรจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าที่ควรเป็นของกิจการ พูดง่าย ๆ แต่ละบริษัทที่เราสามารถกำหนด “คุณภาพ” ได้แล้ว เราควรจะซื้อในราคาเท่าไร เช่น จะให้ค่า PE ค่า PB ปันผลตอบแทน และมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. เท่าไร ซึ่งในส่วนนี้ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องมั่นใจว่าเรารู้จักคุณภาพของมันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการประเมินเรื่องของราคา คำเตือนของผมก็คือ หุ้นส่วนใหญ่นั้น เรามักจะไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ถูกต้องเนื่องจากตัวธุรกิจผันผวนเกินไป
เสาหลักสุดท้ายที่เราควรรู้ก็คือ “ธุรกิจของการลงทุน” นี่ก็คือคนที่ให้บริการและเกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงโบรกเกอร์ ผู้จัดการกองทุนรวม ตลาดและกลต. นักวิเคราะห์หุ้น หนังสือพิมพ์ เวบไซ้ต์ ไลน์ และรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับหุ้น บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็มี “Agenda” หรือ “วาระ” ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ตรงกับนักลงทุนที่ต้องการทำกำไรหรือได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน นอกจากนั้น บางคนอาจจะมีวัตถุประสงค์ตรงกันข้ามกับเรานั่นคือ เขาต้องการทำเงินจากเราโดยการพูดให้เราเชื่อและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขา การศึกษาในเรื่องนี้นั้นผมคิดว่าเราต้องวิเคราะห์ถึง “แรงจูงใจ” ของแต่ละคนโดยดูว่าผลประโยชน์ของเขาอยู่ตรงไหน เช่นเดียวกัน ในด้านของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น ผู้บริหารหรือเจ้าของเองบางทีเราก็อาจจะกล่าวได้ว่าเขาก็มีแรงจูงใจหรือมีวาระของตนเองที่อาจจะไม่สอดคล้องกับเรา ดังนั้น เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขายหุ้น IPO การออกตราสารเช่น วอแร้นต์ การลดพาร์ และอื่น ๆ นั้น เขาทำเพื่ออะไร เป็นประโยชน์และทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเพิ่มขึ้นหรือไม่
หลังจากที่ได้ศึกษาความรู้พื้นฐานทั้งห้ากลุ่มแล้ว การลงทุนของเราก็จะอยู่บนแนวทางที่เหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น ถ้าเรารู้ลึกซึ้งจริง ๆ ก็เป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จสูงกว่า “ปกติ” หรือในกรณีที่เราขาดความสามารถบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเป็นนักลงทุนที่โดดเด่นได้ อย่างน้อยเราก็น่าจะปลอดภัยกว่าคนที่มีพื้นฐานน้อยกว่า แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่คนจะเริ่มลงทุนหลังจากเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว แต่อย่างน้อย คนที่ลงทุนอยู่ รวมถึงคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็ควรที่จะศึกษาความรู้เหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ความรู้ “แน่น” ขึ้นซึ่งจะช่วยการลงทุนต่อไปในอนาคต จำไว้เสมอว่าการเรียนรู้นั้น เราไม่สามารถหยุดได้ตลอดชีวิต เพราะถ้าหยุด นั่นก็แปลว่าเราจะถอยหลัง และนั่นอาจจะกลายเป็นหายนะได้ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จมามากเพียงใด