จัดกลุ่มหุ้นจากผลประกอบการ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 01, 2015 3:00 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
เทคนิคการวิเคราะห์และคัดเลือกหุ้นที่จะซื้อ—และขาย ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากอย่างหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์และแยกแยะหุ้นออกเป็น 6 แบบในสไตล์ของปีเตอร์ ลินช์ เซียนหุ้น “ในตำนาน” ชื่อดัง โดยหุ้นแต่ละตัวนั้นจะถูกคัดแยกหรือกำหนดออกมาว่ามันเป็น 1 ใน 6 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ 1 หุ้นโตช้า 2 หุ้นโตเร็ว 3 หุ้นแข็งแกร่ง 4 หุ้นทรัพย์สินมาก 5 หุ้นวัฎจักร หรือ 6 หุ้นฟื้นตัว ในกรณีที่เป็นหุ้นโตช้า ปีเตอร์ ลินช์บอกว่าเราไม่ควรซื้อเลย เขาจะชอบหุ้นโตเร็วเพราะราคาหุ้นจะขึ้นไปมากซึ่งเขาก็จะถือไว้จนกระทั่งหุ้นหรือบริษัทเริ่มหยุดโตซึ่งก็มักจะใช้เวลาหลาย ๆ ปี และนี่คือหุ้นที่ทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตเพิ่มขึ้นมาก บางครั้งเขาก็ซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งในเวลาที่มันไม่แพงและจ่ายปันผลที่ดีและจะขายเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไป 20-30% ต่อปี หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่เขามักจะต้องซื้อเก็บไว้บ้างเพราะมันช่วย “ถ่วง” ไม่ให้พอร์ตผันผวนเกินไป หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมากนั้นเมื่อเราเจอว่าทรัพย์สินมีค่ามากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นและเป็นทรัพย์สินที่จะสามารถนำมาขายได้กำไรมากในเวลาไม่นาน ก็เป็นหุ้นที่ลงทุนได้ ในกลุ่มหุ้นวัฏจักรนั้น เราต้องซื้อในยามที่หุ้นกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำสุดแล้วและกำลังจะขึ้นซึ่งก็เป็นช่วงที่บริษัทไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยมากทำให้ค่า PE สูง และควรขายเมื่อกำไรดีขึ้นมาก ๆ ค่า PE ต่ำ ในกลุ่มสุดท้ายที่เป็นหุ้นฟื้นตัวนั้น ควรซื้อบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและการฟื้นตัวนั้นเป็นไปได้สูง ขายเมื่อบริษัทฟื้นตัวและมีกำไรแล้ว
ประเด็นก็คือ นักลงทุนจำนวนมากนั้น วิเคราะห์ไม่ออกหรือวิเคราะห์ผิดพลาดว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นกลุ่มไหน ข้อผิดพลาดที่เกิดมากที่สุดนั้นอยู่ที่ “หุ้นโตเร็ว” ที่ทุกคนอยากจะซื้อเนื่องจากมันเป็นหุ้นที่จะทำกำไรได้มากและเร็ว นักลงทุนมักจะมองว่าถ้ากำไรและยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นในปีล่าสุดในระดับที่สูงเช่น 30-40% และยิ่งถ้าเพิ่มมาแล้ว 2 ปี แบบนี้เขาก็จะสรุปเลยว่ามันเป็นหุ้นโตเร็วและจะเข้าไปซื้อ “ไล่ราคา” ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปแรงซึ่งก็ยิ่งทำให้คนอื่นเชื่อกันว่านี่คือ “หุ้นโตเร็ว” และเข้าไปร่วมซื้อด้วยทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีก แต่นี่อาจจะไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริง เพราะหลังจากนั้น กำไรของบริษัทอาจจะลดลงและราคาหุ้นก็ตกตามกันไป คนที่เข้าไปเล่น “หุ้นโตเร็ว” หลังจากที่หุ้นขึ้นไปโดยที่มันไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริงก็จะขาดทุนได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะแบ่งกลุ่มหุ้นจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และต่อไปนี้ก็คือวิธีดูว่าหุ้นตัวไหนควรอยู่กลุ่มไหนจากข้อมูลผลประกอบการของบริษัท
การดูผลประกอบการที่จะพอบอกได้ว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนนั้น จำเป็นที่เราจะต้องดูข้อมูลย้อนหลังซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยต้อง 4-5 ปีขึ้นไปในทุกกรณี โดยที่ถ้าเราพบว่ายอดขายและ/หรือกำไร ของบริษัท
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าในหลายกรณีจะมีกำไรทุกปี แต่การเติบโตมีน้อยเฉลี่ยไม่เกิน 5-6% หรือบางทีมองย้อนกลับจากปีล่าสุดไป 4-5 ปีนั้น ตัวเลขกำไรก็เท่าเดิม แบบนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นโตช้าหรือไม่โต ในบางกรณีกำไรกลับลดลงด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มเดียวกัน และถ้าเราเจอแบบนี้ วิธีที่ดีก็คือ อย่าไปซื้อแม้ว่าบางทีเขาอาจจะจ่ายปันผลใช้ได้และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดด้วยซ้ำ เพราะถ้าเราซื้อไว้ อนาคตกำไรอาจจะลดลงและปันผลก็จะลดลงด้วย
ถ้าเราดูข้อมูลพบว่ายอดขายและกำไร “ปกติ” ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี บางทีแม้ว่าภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ดีแต่ผลประกอบการของบริษัทก็ยังโต โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นการเติบโตต่อปีเกิน 10% หรือบางทีเกิน 15% แบบนี้เราก็อาจจะกำลังเจอหุ้นโตเร็วเข้าแล้ว ถ้าเราวิเคราะห์ต่อและพบ “แหล่งของการเติบโต” เช่น เกิดจากอุตสาหกรรมที่เติบโต หรือการกินส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่ง ไม่ใช่ราคาของสินค้าที่เพิ่มขึ้น แบบนี้ก็อาจจะชัดเจนว่ามันเข้าข่ายเป็นหุ้นโตเร็วที่เราจะซื้อได้ บางทีในราคาที่อาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดนั่นก็คือ เราอาจจะให้ค่า PE ที่สูงถึง 20-30 เท่าในบางกรณีก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่กำลังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้นานโดยมีความเสี่ยงต่ำ
หุ้นตัวใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูง เป็นธุรกิจที่อยู่มานาน มีผลประกอบการที่ดีมีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ และมีการเติบโตพอใช้ประมาณ 5-10% ต่อปี ในปีที่ “เลวร้าย” ก็มักจะยังมีกำไรแม้ว่าอาจจะลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก อาจจะซัก 20-30% มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในระดับเฉลี่ยของตลาดเช่น 2.5-3.5% ต่อปี แบบนี้มักจะเข้าข่ายเป็น “หุ้นแข็งแกร่ง” ที่เรามักจะมีโอกาสได้ลงทุน และจังหวะที่ดีก็คือช่วงที่ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวลงมาจนค่า PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตหรือต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอย่างอื่นเช่นการฝากเงิน เมื่อซื้อหุ้นไว้แล้วก็อาจจะต้องรอจนหุ้นปรับตัวขึ้นไปทำกำไรให้เราคุ้มค่าเช่นได้กำไรเฉลี่ยปีละ10-15% เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้ง เพราะโดยปกติราคาหุ้นแข็งแกร่งนั้นมักจะปรับตัวหรือโตขึ้นไปไม่สูงมากเนื่องจากมันอาจจะตัวใหญ่เกินไปและกำไรก็มักจะไม่สามารถโต “ก้าวกระโดด” แบบหุ้นโตเร็ว
ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทแล้วพบว่าในช่วง 5-6 ปีหรือถ้าให้ดีดูย้อนหลังไป 10 ปี นั้น ในบางช่วงบริษัทมีกำไรดีมากติดต่อกันหลายปี แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แล้วก็ย้อนกลับมากำไรอีก แบบนี้เราก็อาจจะเจอกับหุ้นวัฏจักรเข้าให้แล้ว แน่นอน ในบางครั้งเราอาจจะไม่เห็นการขาดทุน แต่กำไรในบางช่วงมักจะสูงและบางช่วงก็มักจะต่ำ ช่วงเวลาของการขึ้นลงในแต่ละบริษัทก็อาจจะไม่เท่ากัน บางบริษัทนั้นเวลาดีอาจจะหลายปีเช่นเดียวกับเวลาที่ไม่ดี บางบริษัทก็อาจจะดีแค่ปีหรือสองปีแล้วก็กลับไปแย่ ในกรณีแบบนี้ เราต้องรู้ว่าเวลาซื้อหุ้นนั้น อย่าไปดูว่าบริษัทกำลังกำไรดี เราต้องดูว่า “วัฏจักร” มันอยู่ในช่วงไหน การเล่นหุ้นวัฏจักรนั้นไม่ง่ายโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้อยู่ในวงการของธุรกิจ ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ อย่าซื้อในราคาที่สูงเกินไปและอย่าไปเข้าใจผิดว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว
ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการแล้วพบว่ากำไรก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจนัก แต่ข้อมูล PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชีนั้นต่ำมาก เช่น ในปัจจุบันที่ค่าเฉลี่ยของตลาดประมาณ 2.1 เท่าและบริษัทใน MAI เท่ากับ 4.3 เท่า แต่ของบริษัทเท่ากับแค่ 0.7 เท่า แบบนี้ก็อาจจะสงสัยว่าบริษัทอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นทรัพย์สินมาก ถ้าเราศึกษาต่อแล้วพบว่าทรัพย์สินที่ลงบัญชีไว้นั้น น่าจะมีค่าหรือมีราคาตลาดที่สูงไม่น้อยกว่ามูลค่าในบัญชีหรืออาจจะสูงกว่าด้วยซ้ำ เช่น เป็นที่ดินในทำเลที่ดีมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาหรือขายต่อได้ไม่ยาก และกำไรที่ได้นั้นอาจจะมากกว่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดบวกหนี้สินทั้งหมดของบริษัทมาก แบบนี้ เราก็อาจจะพิจารณาซื้อหุ้นแล้วก็รอว่าวันหนึ่งผู้บริหารจะขายทรัพย์สินนั้นออกไปซึ่งจะส่งผลให้ได้กำไรและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากซึ่งก็จะเป็นวันที่เราจะขายหุ้นทิ้ง อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นทรัพย์สินมากนั้น ถ้าผู้บริหารไม่ทำอะไรกับทรัพย์สินและปล่อยทิ้งไว้นาน เราก็อาจจะขาดทุนจากการเสียโอกาสทางการเงินได้
สุดท้าย ถ้าเราพบหุ้นที่เคยกำไรแต่ต่อมาขาดทุนอย่างหนักและขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดูไปแล้วไม่รู้ว่าธุรกิจจะ “รอด” หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หนี้สินของบริษัทเปรียบเทียบกับขนาดของทรัพย์สินแล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูงเกินไป สินค้าของบริษัทเองก็ยังขายได้ แข่งขันได้พอสมควร ถ้ามองลึกลงไปแล้วพบว่าปัญหาของบริษัทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเป็นสาเหตุจากปัจจัยที่พอแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องระดมทุนใหม่มากมายมาแก้ปัญหา เราก็อาจจะได้พบกับหุ้นฟื้นตัวแล้ว เวลาซื้อหุ้นก็น่าจะเป็นว่าบริษัทได้เริ่มกระบวนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตอบรับการฟื้นฟูแล้วในขณะที่มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของบริษัทนั้นอยู่ในระดับต่ำสุด