"อินทัช" กับบทบาทนักลงทุน 5 เทคสตาร์ตอัพไทยไปถึงไหน
Prev1 of 1Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 15 พ.ค. 2558 เวลา 23:00:53 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เป็นอีกบริษัทที่จริงจังกับการเฟ้นหาบริษัทดาวรุ่งเพื่อเข้าไปลงทุนด้วย สำหรับยักษ์สื่อสารโทรคมนาคม "อินทัช" ประสาคนเงินถุงเงินถัง การแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็นับเป็นเทรนด์ของทั่วโลก ทั้งในมุมของผู้ลงทุน และผู้ประกอบการหน้าใหม่
"ธนพงษ์ ณ ระนอง" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุน บมจ.อินทัชโฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บริษัทขนาดใหญ่นิยมลงทุนในเทคสตาร์ตอัพ ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เช่น คืนกำไรให้สังคม ลงทุนเพื่อซินเนอร์ยี่กับธุรกิจที่มีอยู่หรือเพื่อแสวงหากำไรในอนาคต การลงทุนในเทคสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องใหม่ อินทัชมีโครงการอินเวนต์ (InVent) มาแล้ว 3 ปี เช่นกันกับในกลุ่มโอเปอเรเตอร์มีการเฟ้นหาเทคสตาร์ตอัพ ทั้งเอไอเอส, ดีแทค และทรู
"ในความเข้าใจของคนทั่วไป อาจคิดว่าบริษัทที่จะเป็นนักลงทุนหรือวีซี ต้องเป็นบริษัทใหญ่ มีรายได้มากเป็นหลักพันล้าน แต่ความเป็นจริงไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้ เทคสตาร์ตอัพมีหลายระดับตั้งแต่ซีด (Seed) ที่เป็นแค่โครงร่างความคิด ไปจนถึงที่มีผลิตภัณฑ์ออกมาขายได้แล้ว ซึ่งแต่ละระดับมีความต้องการเงินทุนไม่เท่ากัน"
การที่จะเข้าไปลงทุน ควรพิจารณาว่า 1.มีผลิตภัณฑ์ หรือแนวคิดในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ทำตลาดหรือไม่ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ขายฝัน หรือไม่มีลูกค้ารองรับ 2.มีจุดแข็งที่จะนำมาสู้หรือเหนือคู่แข่ง หรือแตกต่าง 3.ทีมงานเข้มแข็งทั้งในแง่การสร้างผลิตภัณฑ์ การทำตลาด ต่อยอดธุรกิจ และบัญชี ซึ่งข้อนี้มักเป็นจุดอ่อนของสตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่ อีกสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ความเข้ากันได้ของผู้ลงทุน และเทคสตาร์ตอัพว่ามีวิสัยทัศน์ไปในทางเดียวกันไหม
นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่าการลงทุนในเทคสตาร์ตอัพมีความเสี่ยงและโอกาสของเทคสตาร์ตอัพทั่วโลกที่จะเติบโตยั่งยืนและคืนทุนได้จะมี10%จากทั้งหมด และต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ แนะนำแนวทางการทำตลาดให้บริษัทเหล่านั้นเพื่อส่งเสริมให้โตไปในทิศทางที่ดีด้วย
เทคสตาร์ตอัพไทยที่มีลักษณะโดดเด่นมีสองกลุ่มได้แก่1.กลุ่มผลิตเกมโมบายและ 2.กลุ่มที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความสร้างสรรค์ หากได้รับการสนับสนุนจากเอกชน หรือภาครัฐที่ช่วยเรื่องกฎระเบียบ ภาษีต่าง ๆ จะเกิดบริษัทใหม่อีกมาก สอดคล้องนโยบายรัฐด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
โครงการอินเวนต์ ได้ลงทุนใน 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท อุ๊คบี 57 ล้านบาท ถือหุ้น 27% (ทำอีบุ๊ก) 2.บริษัทเมดิเทค โซลูชั่น เป็นเงิน 5 ล้านบาท ถือหุ้น 30% (พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนพิการ) 3.บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี 29 ล้านบาท ถือหุ้น 25% (วิเคราะห์บิ๊กดาต้า) 4.บริษัท อินฟินิตี้ เลเวล สตูดิโอ 15 ล้านบาท พัฒนาโมบายเกม และ 5.บริษัท ซินโนส 22.5 ล้านบาทถือหุ้น 16.67% พัฒนาโมบายเกมเช่นกัน
ความคืบหน้าของแต่ละบริษัทเริ่มจาก "อุ๊คบี" ขยายกิจการไปยังเวียดนาม, สิงคโปร์ และมาเลเซียได้แล้ว รวมถึงได้ผู้ถือหุ้นใหม่ "ทรานคอสมอส" จากญี่ปุ่น ทำให้มีเงินทุนเพิ่มอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับบริษัท เมดิเทค โซลูชั่น เพิ่งระดมทุนจาก "แองเจิล ฟันด์ดิ้ง" ได้ 7 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์ตรวจจับการกะพริบตาที่นำไปใช้จริงที่โรงพยาบาลแล้ว บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี เพิ่งเปิดบริการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย Th3re ส่วนบริษัท อินฟินิตี้ เลเวล สตูดิโอ อยู่ระหว่างเตรียมปล่อยเกมใหม่ที่แคนาดา และซินโนสอยู่ระหว่างพัฒนาเกม Electrap
"ผลตอบแทนต้องรอ 5 ปี บางผลิตภัณฑ์นำมาซินเนอร์ยี่กับธุรกิจ เช่น อุ๊กบี, เกมแทร็ปสเตอร์ที่ช่วยเติมเต็มดิจิทัลคอนเทนต์"
ในปี 2558 นี้ กำลังพิจารณาอีก 4-5 บริษัทเน้นแอปพลิเคชั่นบริการ และอินเทอร์เน็ตของสิ่งของ (IoT-Internet of Things)
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat