หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ทางรอดของชนชั้นกลาง (2)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. มี.ค. 26, 2015 10:08 pm
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    วิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายในยุค Baby Boomer นั้นส่งผลให้ชนชั้นกลางขยายตัวอย่างรวดเร็วสำหรับประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างไทย แน่นอนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตเพียงพอที่จะสร้างความสำเร็จของชนชั้นกลาง “ยุคแรก” แต่ความยากลำบากของชนชั้นกลางไทยสำหรับ GEN X, GEN Y ที่ในปัจจุบันที่มีสัดส่วนถึง 70% นั้นเริ่มเห็นภาพมากขึ้น แม้ว่าราคาบางสิ่งบางอย่างจะถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ทีวี ตู้เย็น โทรศัพท์ จนถึงราคาตั๋วเครื่องบิน แต่คุณภาพชีวิตกลับลำบากมากกว่าเดิม ภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ยากลำบากก็ยืนยันภาพนี้ได้เป็นอย่างดี มีการศึกษาปัญหานี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนในประเทศที่พัฒนาแล้วและพวกเขานำเสนอวิธีแก้มากมาย และผมอยากจะนำมาสรุปว่าทางรอดของชนชั้นกลางมีอะไรบ้าง

    สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องมี “ภาวะผู้นำ” และ “กล้าคิดใหญ่” เราพูดกันบ่อยครั้งว่าประเทศไทยมีภูมิศาสตร์และศักยภาพที่จะเป็น “ศูนย์กลาง” ของอาเซียน แต่น้อยครั้งที่จะมีคนคิดว่าเรา “อยาก” จะเป็น “ผู้นำ” อาเซียน  อดีตนายกฯ ลีกวนยูบอกว่าประเทศสิงค์โปร์ขึ้นมาถึงทุกวันนี้ได้ มีเหตุผลเดียวเพราะ “คน” พวกเขากำลังเฉลิมฉลองการก่อตั้งประเทศ 50 ปีในปีนี้ ประเทศที่ใช้เวลาสร้างมาแค่หนึ่งชีวิตคนสามารถก้าวขึ้นมาผู้นำอาเซียนและมุ่งสู่ระดับโลกได้ เพราะพวกเขามีภาวะผู้นำสูงในคนทุกระดับ ประเทศไทยเรามีนักศึกษาจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจำนวนมาก พวกเราเรียนอย่างหนัก แต่น้อยครั้งที่จะถูกปลูกฝังให้ “กล้า” เป็น “ผู้นำ” ที่จะคิดสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อะไรบางอย่าง

    สิ่งที่สอง คือการใช้ “ประสิทธิภาพ” และ “ประสิทธิผล” ในตัวเองอย่างเต็มที่ จงเลือกองค์กรที่ให้ “โอกาส” และมองศักยภาพคนที่ความสามารถ ในขณะเดียวกันเราต้องพยายามทำงานโดยการ “สร้าง” สิ่งใหม่ ๆ ทำงานให้มากกว่าเงินเดือนและความคาดหวังของทุกคนในบริษัท เพราะต้นทุนสำคัญของชนชั้นกลางคือ “แรง” “เวลา” และ “ไอเดีย” บ่อยครั้งเราจะทำงานน้อยกว่าศักยภาพเพราะคิดว่าทำงานหนักไปก็ไม่มีประโยชน์ ยังไงเราก็โตขึ้นไปตามลำดับอาวุโส ตามโครงสร้างบริษัทอยู่ดี ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เรามีทางเลือกสองทางคือ ไม่สนใจ และทำงานหนักจนกว่าบริษัทจะเห็นคุณค่า หรือไม่ก็หาบริษัทใหม่ที่เห็นคุณค่าของทำงานและสิ่งที่เราสร้างขึ้น จงอย่ายอมรับชะตากรรม แต่พยายามดึงศักยภาพทั้งหมดที่มีขึ้นมา

    สิ่งที่สามคือ พยายามสร้าง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในตัวเองให้ได้ก่อน อย่าไปใช้จ่ายตามกระแส ใช้ชีวิตต่ำกว่าความสามารถในการหารายได้ของคุณให้มากที่สุด และมองหาชีวิต “ที่มีอิสรภาพจากเงิน” อย่าตกกับดักการมีชีวิต “เพื่อบอกว่าเรามั่งคั่ง” กับดักเหล่านี้ทำให้เราสร้างภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคต ซึ่งเป็นการทำลายศักยภาพตัวเองอย่างช้า ๆ เลื่อนการเสพร้านอาหารแพง ๆ ท่องเที่ยวไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 10 ปีแรก เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การคิดเล็ก แต่เป็นการเริ่มต้นคิดใหญ่ต่างหาก การที่เราสามารถสร้าง “งบดุลของตัวเอง” ที่แข็งแรง เช่นการไม่มีหนี้ ไม่มีภาระ คือการปลดล็อค “ข้อจำกัด” ของตัวเองจาก “เงิน” เราไม่สามารถทำงานออกมาให้ดีได้ ถ้าเต็มไปด้วยหนี้ที่ต้องจ่ายทุกเดือน การกินอยู่อย่างประหยัดคือการสร้างฐานที่แข็งแรงในอนาคต และเราจะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เพราะบิลบัตรเครดิตปลายเดือน

    สิ่งที่สี่คือ “จงสร้างครอบครัว” การสร้างครอบครัวคือการสร้างฐานที่แข็งแรงในชีวิต มีบทวิจัยมากมายที่บอกว่า คนที่มีครอบครัว มักจะมีผลผลิตสูงกว่าโดยสถิติ มีชีวิตที่มีเป้าประสงค์มากกว่า การมีลูกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ ครอบครัวถ้าแปลความหมายให้ถูก มันต้องเป็นแรงขับดัน เป็นการสร้างแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ การมีเพื่อนคู่คิด ครอบครัวไม่ใช่ภาระ เพราะการเลี้ยงลูกดูแลครอบครัวแบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มันไม่ได้แพงเลย เมื่อเทียบกับ Synergy ที่คุณจะมีกับคู่ชีวิตและลูก แต่คุณเพียงจะต้องเหนื่อยบ้างในวันนี้ เพื่อวันข้างหน้า ซึ่งนี่คือปรัชญาของการลงทุน และมีบทวิจัยจำนวนมากบอกว่า ยิ่งคุณประหยัดต่อลูกเท่าไหร่ โอกาสที่คุณและลูกของคุณจะเป็นเศรษฐีจะสูงขึ้นเท่านั้น

    สิ่งที่ห้าคือ “อย่าหยุดเรียนรู้” และหาโอกาสใหม่ ๆ เราต้องมองสิ่งรอบตัวให้เป็นโอกาส อย่าเดินตามกระแส ชนชั้นกลางต้องรู้จักความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยง จงเริ่มทำให้เร็ว เริ่มเล็ก ๆ และค่อย ๆ สร้าง ทุกสิ่งมันต้องเริ่มจาก “ตลาดเฉพาะ” จงหามันให้เจอและเชี่ยวชาญในตลาดนั้น ๆ ปลาเล็กสามารถมีชีวิตที่แข็งแรงได้ ถ้ายืดหยุ่นกว่า เร็วกว่า และอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองชำนาญ ระบบเศรษฐกิจใหม่หรือดิจิตอลอีโคโนมี สร้างโอกาสมากมายให้ชนชั้นกลางยุคปัจจุบัน  และหาโอกาสใหม่ ๆ ตลอดเวลา การทำงานมากกว่าหนึ่งอย่างก็เป็นทางออกที่ดีในยุคนี้

    สิ่งที่หกคือ การลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น ซึ่งช่วยให้ชนชั้นกลาง สามารถเกาะ “ชนชั้นนายทุน” ได้ดีที่สุด แนวคิดการลงทุนที่สำคัญที่สุดคือ จงลงทุนให้เร็ว อย่าจับจังหวะตลาด ค่อย ๆ ลงทุนตามสัดส่วนอย่างน้อย 20% ของรายได้ มีระบบ สร้างวินัยการออมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือ “ห้าม” แตะต้องเงินก้อนนี้เป็นอันขาดจนกระทั่งวันที่คุณจะเลิกทำงานหรือเกษียณ หุ้นจะดีหรือร้ายคุณก็ยังคงต้องลงทุน  ถ้าคุณทำไม่ได้ควรมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ดีเป็นที่ปรึกษา เพราะ 90% ของคนลงทุนในตลาดหุ้นมักไม่ประสบความสำเร็จด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่าง และคนส่วนมากต้องการโค้ชด้านการเงิน เพียงแต่พวกเขาไม่รู้เท่านั้น

    ถ้าทำได้ตามนี้อีก 10-15 ปีข้างหน้า คุณจะเป็นชนชั้นกลาง “ที่รอด” ในเศรษฐกิจทุนนิยมยุคนี้แน่นอน และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่แค่ทางรอดของชนชั้นกลาง แต่นี่คือ “ทางรอดของประเทศไทย” ครับ
[/size]

Re: ทางรอดของชนชั้นกลาง (2)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 27, 2015 10:43 am
โดย ลูกหิน
ขอบคุณมากครับ

Re: ทางรอดของชนชั้นกลาง (2)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์แล้ว: ศุกร์ มี.ค. 27, 2015 9:50 pm
โดย saroj saethu
บทความเยี่ยมมากครับ :D

Re: ทางรอดของชนชั้นกลาง (2)/วีระพงษ์ ธัม

โพสต์แล้ว: เสาร์ มี.ค. 28, 2015 1:14 am
โดย benhurr672
ภาวะผู้นำ ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มีความมุ่งมั่นในจุดยืนของตัวเองในความก้าวหน้าและมั่นคงในชีวิต ต้องมีรากฐานจากวัฒนธรรม ค่านิยม ทัศนคติ ที่มาจากสังคมเปิดกว้างในเสรีภาพทางความคิดที่หลากหลายแตกต่าง และวัฒนธรรมที่กล้าลองผิดลองถูก ยอมรับความผิดพลาดและคำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับปรุงแก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้น ลองย้อนดูสังคมไทยว่าเรามีและพร่องอะไรที่มันกดศักยภาพที่แท้จริงอยู่