หน้า 1 จากทั้งหมด 1
อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ย. 10, 2014 3:39 pm
โดย Thai VI Article
โค้ด: เลือกทั้งหมด
อนาคตเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นนั้นดูจะไม่ค่อยสดใสมากนักและการประเมินก้าวต่อไปก็เป็นเรื่องยากเพราะมีความไม่แน่นอนสูงทั้งในและนอกประเทศทั้งนี้ผมจะขอแบ่งการประเมินเป็นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยในวันนี้ผมจะขอกล่าวถึงการประเมินในระยะสั้น ซึ่งเป็นช่วงที่พยายามขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
จะเห็นว่ามีการคาดหวังกันสูงว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างปลอดโปร่งหลังการยึดอำนาจที่ทำให้การเมืองสงบและรัฐบาลจะเป็นแกนนำในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ (1 ต.ค. 2014) เป็นต้นไป แปลว่ามีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2 ของปี 2014 นี้และจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 แต่จะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนและต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป
แต่สภาวการณ์ปัจจุบันเริ่มทำให้เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัวแม้จะล่วงเข้าถึงปลายเดือนตุลาคมแล้วก็ตาม (ซึ่งเป็นช่วงที่ส่งมอบบทความนี้) ตัวอย่างเช่นผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 64 คน (ภาครัฐ 33 คน เอกชน 21 คนและสถาบันการศึกษา 10 คน) ในช่วง 9-21 ต.ค. 2014 พบว่า
1. ความเชื่อมั่นในการบริโภคเอกชน การลงทุนเอกชนและการส่งออกยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากคือ 23.81, 19.84 และ 12.70 ตามลำดับ ทั้งนี้ 50 หรือสูงกว่าเป็นระดับที่มีการขยายตัว ภาคการบริโภค การลงทุนและการส่งออกนั้นมีสัดส่วนประมาณ 55%, 20% และ 65% ของจีดีพีตามลำดับ กล่าวคือเป็น 3 ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย
2. ปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่ามีแนวโน้มดีขึ้นและตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ แต่ก็ยังอยู่ที่ 42.62 หรืออยู่ในช่วงหดตัว ซึ่งผมเชื่อว่าการดำเนินการยังไม่ได้คืบหน้ามากนักเพราะงบประมาณปี 2015 เพิ่งผ่านสภาและการโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจก็เพิ่งกระทำเสร็จสิ้นไปไม่นาน อย่างไรก็ดีผมมีข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นมีสัดส่วนเพียง 20% ของจีดีพีและการตั้งงบประมาณปี 2015 ก็กำหนดการขาดดุลเอาไว้เพียง 2% ของจีดีพี แต่ก็มีความเชื่อมั่นในบางกลุ่มว่ารัฐบาลปัจจุบันที่มีอำนาจเต็มจะสามารถสั่งการให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ในทันที รวมทั้งหากจำเป็นจะต้องการเร่งการใช้จ่ายและ/หรือต้องการเพิ่มรายจ่ายและการขาดดุลงบประมาณก็จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
3. ความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับจากจุดต่ำสุดที่ 21.33 ในเดือนเมษายนมาเป็น 29.37 ในเดือนตุลาคม แต่ก็ยังเป็นระดับต่ำ (แม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวจากต่างประเทศแล้วก็ตาม) ส่วนหนึ่งเพราะมีปัญหาการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวซึ่งกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศและการที่ยังไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ดังนั้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวน่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ที่สำคัญคือการท่องเที่ยวนั้นก็น่าจะมีสัดส่วนเพียง 10% ของจีดีพีเท่านั้น
แต่หากจะมองโลกในแง่ดีก็อาจเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีในปี 2015 เพราะเหตุผล 4 ประการคือ
1. การส่งออกซึ่งปีนี้จะไม่โตเลยก็น่าจะขยายตัวได้ 4-5% ในปีหน้าซึ่งเป็นเป้าของทางการ แต่จะเห็นว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกดีเกินไปมาตลอด ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงว่าการส่งออกอาจจะขยายตัวต่ำกว่าคาดอีกก็ได้ หากตรงนี้คาดการณ์ผิดก็น่าจะทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมผิดพลาดได้ เพราะการส่งออกเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดจึงมีความสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัว
2. ภาครัฐให้ความหวังว่าในไตรมาส 4 จะได้มีการเร่งใช้งบประมาณช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากการจ่ายเงินให้กับชาวนาข้าวและชาวไร่สวนยาง ตลอดจนการระดมใช้เงินจัดสัมมนาและการทำโครงการระยะสั้นเช่นการปรับปรุงโรงพยาบาลและโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกก็น่าจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2015
3. ในส่วนของการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนั้นก็ได้มีการสั่งการให้รีบเร่งการจัดทำ TOR ให้แล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบภายในปลายปีนี้ เพื่อให้สามารถเปิดประมูลงานได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในไตรมาสแรกของปี 2015 โดยคาดหวังว่าหาก 20-30% ของบลงทุนที่ค้างคามาจากปีก่อนหน้าบวกกับงบลงทุนบางส่วนของปีนี้ ซึ่งมูลค่าใกล้ 3 แสนล้านบาท สามารถให้เอกชนประมูลไปได้ตามเป้าหมายก็จะเป็นการกระตุ้นความมั่นใจโดยรวมและขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนต้องเร่งลงทุนควบคู่ไปกับภาครัฐ (หรือที่เรียกกันว่า crowding-in) อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถทะยานขึ้น (lift-off) ไปสู่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2015 ซึ่งเป็นที่มาของการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ใกล้ 5% ในปีหน้า แต่ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4% เท่านั้น
4. ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะการผลิตจาก Shale Oil ของสหรัฐขยายตัวอย่างมากจนปัจจุบันผลิตได้ 8 ล้านบาร์เรลต่อวันและยังสามารถเพิ่มการผลิตได้อีกในอนาคต โดยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้จะมีปัญหาการผลิตที่ลิเบียและอิหร่านในปีนี้ แต่การผลิตของสหรัฐก็ยังทดแทนได้และมีการวิเคราะห์ว่าสหรัฐยังสามารถขยายการผลิตหากโอเปก (โดยซาอุดีอาระเบีย) ลดการผลิต ซึ่งน่าจะทำให้ราคาน้ำมันโลกอยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญต่อบาร์เรล (เพราะใกล้ต้นทุนการผลิต Shale Oil ของสหรัฐ) ราคาน้ำมันที่ต่ำเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยอย่างมากเพราะลดการนำเข้า (ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น) และลดเงินเฟ้อ ทำให้สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ (แต่ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีการผ่อนคลายทางการเงิน) ครับ
[/size]
Re: อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ย. 10, 2014 3:40 pm
โดย ลูกหิน
ขอบคุณมากครับ
Re: อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ย. 10, 2014 9:50 pm
โดย RnD-VI
ขอบพระคุณครับ
Re: อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
โพสต์แล้ว: จันทร์ พ.ย. 17, 2014 11:10 am
โดย Seattle
อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (2)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้พูดถึงการประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2015 ซึ่งมีปัจจัยบวกที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ แต่ผมมองว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผล 6 ประการคือ
1. การส่งออกของไทยอาจฟื้นตัวไม่ได้มากนักเพราะเศรษฐกิจยุโรปยังอ่อนแอและเสี่ยงที่จะไม่ดีขึ้นมากในปีหน้า เศรษฐกิจจีนก็น่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากปีนี้และญี่ปุ่นเองก็มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น จึงเหลือเศรษฐกิจสหรัฐเป็นตัวยืนเพียงประเทศเดียว แต่ระยะหลังนี้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแบบเอื้ออำนวยคนรวยมากกว่าและการนำเข้าสินค้าของสหรัฐก็หันไปพึ่งประเทศในลาตินอเมริกามากกว่าเอเชีย
2. ข้อมูลในอดีต 15 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่าการลงทุนของภาครัฐมีขีดจำกัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะการลงทุนของภาครัฐ (รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 6% ของจีดีพี จึงเป็นหัวจักรที่ค่อนข้างจะเล็กเกินไปที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยลำพัง นอกจากนั้นการลงทุนของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยแล้วขยายตัวน้อยมาก กล่าวคือตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2014 นั้นการลงทุนภาครัฐขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.6% ต่อปี
3. รัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มภาษีหลายประเภท ได้แก่ ภาษีใหม่คือภาษีมรดกและภาษีที่ดินกับการปรับภาษีเดิมเพิ่มขึ้น เช่น การจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การขึ้นภาษีดีเซลและเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เบนซิน การปรับวิธีการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าจากการคิดฐานภาษีจากราคาขายส่งสินค้ามาเป็นราคาขายปลีกและการเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีรายได้ของนิติบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนจำกัด ทั้งนี้ แม้การเก็บภาษีดังกล่าวอาจเพิ่มรายได้ของรัฐบาลไม่มากนักในช่วงแรกๆ แต่ผมเกรงว่าการจะต้องพะวงถึงภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การตัดสินใจลงทุนและขยายกิจการจะต้องชะลอตัวลงไปก่อนเพื่อรอความชัดเจนของผลกระทบของภาษีต่างๆ
4. แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะยังไม่สดใสอย่างต่อเนื่องในปี 2015-2016 เพราะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรและเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างมาก ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรได้มากนัก เพราะไม่ต้องการถูกตำหนิว่าใช้มาตรการประชานิยม และยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะภัยแล้งซ้ำเติมอีกในไตรมาส 2 ของปีหน้า
5. ผมมีความเห็นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นปัจจัยที่จะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในปี 2015 ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่จะได้เห็นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งน่าจะมีประเด็นให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง อันจะเป็นการสะท้อนให้ผู้ประกอบการมองเห็นถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศจะต้องรับ (หรือไม่รับ) กฎกติกาทางการเมืองฉบับใหม่และเมื่อรับแล้วก็จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านและมีกลุ่มใหม่และรัฐบาลใหม่มารับช่วงอำนาจต่อในปลายปีหน้าหรือหากการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป 3-6 เดือนก็จะมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการรีรอในการตัดสินใจลงทุนและขยายกิจการมากกว่าการเร่งตัดสินใจ เพราะน่าจะอยากเห็นความชัดเจนก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ที่การใช้กำลังการผลิตนั้นอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 60%
6. สหรัฐยกเลิกคิวอี มีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐปิดฉากการพิมพ์เงินมาซื้อพันธบัตร (คิวอี) แล้วในปีนี้ ก็จะตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ซึ่งจะทำให้สภาวะทางการเงินของโลกตึงตัวขึ้น แม้ว่าจะคาดการณ์ได้ว่าธนาคารกลางอีซีบีจะเพิ่มนโยบายคิวอี และญี่ปุ่นก็จะยังดำเนินนโยบายคิวอีต่อไป กล่าวคือสภาพคล่องของโลกน่าจะตึงตัวขึ้นและต้นทุนทางการเงินก็จะเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นแรงต้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกปัจจัยหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางสหรัฐไม่สามารถสื่อสารนโยบายและมาตรการในการถอยออกจากคิวอีและปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างมีประสิทธิผลก็มีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลให้เกิดความผันผวนอย่างมากในราคาหุ้น ราคาพันธบัตรและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ในสัปดาห์หน้าผมจะมองภาพเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งผมเห็นว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายของปัจจัยรอบด้าน แต่ก็มีปัจจัยบวกคือภูมิภาคมีศักยภาพสูง ซึ่งไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับภูมิภาคด้วย
Re: อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
โพสต์แล้ว: พุธ พ.ย. 26, 2014 3:41 pm
โดย Seattle
อนาคตเศรษฐกิจไทย : ก้าวต่อไป (3) / ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
หากจะประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะกลางหรือ 2-5 ปีจากข้อมูลที่มีอยู่ก็จะเห็นได้ว่าในเชิงการเมืองนั้นเรายังไม่มีกรอบ (รัฐธรรมนูญ) ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการเมืองจะมีความชัดเจนและมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด แต่ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจในส่วนของเศรษฐกิจนั้นก็ต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ของไทย (หากพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่) คือการเร่งสร้างและต่อเติมถนน รถไฟ ท่าเรือและท่าอากาศยานเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกและเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยให้แนบแน่นยิ่งขึ้นกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง (ภาคใต้ของจีน พม่า อินโดจีนและต่อไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์)
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง เพราะผมเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่จะเร่งให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดขึ้นตามกลไกตลาดอยู่แล้วจะเข้มข้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าในระยะยาวนักลงทุนและผู้ประกอบการจะมิได้มองประเทศไทยว่ามีประชากร 67 ล้านคน แต่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคทางเศรษฐกิจที่มีประชากรรวมกันถึง 200 ล้านคนและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์กลางของการขยายตัวของไทยก็จะมิได้กระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก แต่จะเป็นหัวเมืองตามเขตชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถมองได้ว่าไทยมิได้มีการปรับปรุงหรือปฏิรูปเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ แต่อย่างใด กล่าวคือ ยังพึ่งพาการส่งออกที่ขับเคลื่อนจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์) ให้บริษัทข้ามชาติ นอกจากนั้นก็มีการส่งออกสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยวควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) ส่วนการส่งออกที่อาศัยแรงงานเช่นสิ่งทอ เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ฯลฯ ก็เป็นอุตสาหกรรมที่หดตัวลงไปเรื่อยๆ และย้ายฐานไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่า จึงดูเสมือนว่าประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่จะตอบตัวเองได้ว่าในระยะกลางและระยะยาวนั้นเราจะ “ทำมาหากิน” อะไรให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งประเทศอื่นๆ ได้ตอบโจทย์แล้ว เช่นสิงคโปร์นั้นต้องการเป็นกรุงลอนดอนของเอเชียและเกาหลีใต้ก็กำลังแข่งขันเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ชั้นนำของโลกและในส่วนขอโทรศัพท์มือถือก็พิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพในการแข่งขันกับไอโฟนของแอ๊ปเปิ้ล เป็นต้น
หากประเทศไทยจะเดินตามยุทธศาสตร์เดิมที่วางเอาไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้วต่อ คือการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยอาศัยให้บริษัทข้ามชาติมาเป็นกลไกขับเคลื่อน เราก็จะต้องตอบโจทย์สำคัญ 2 ประการคือจะต้องเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานเพื่อมิให้ต้นทุนด้านนี้เพิ่มขึ้นและจะต้องมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่รองรับอุตสาหกรรมหนักเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยผมเห็นว่าพลังงานจะเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักแต่คงจะมีก๊าซธรรมชาติเหลือใช้อีกไม่เกิน 10 ปี จึงคงจะต้องเร่งเจรจาทางเศรษฐกิจและการทูตเพื่อพัฒนาพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา เพราะจะทำอย่างอื่นอาจไม่ทันการยกเว้นการเพิ่มการใช้ถ่านหิน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศออกมาเป็นนโยบายแล้วว่าถ่านหินจะเป็นพลังงานหลักที่จะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลงจากปัจจุบัน 70% เป็น 30% ใน 20 ปีข้างหน้า แต่ก็จะยังต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านถึง 30% ของความต้องการทั้งหมด
อย่างไรก็ดี อาจมีความเสี่ยงว่าถ่านหินจะถูกต่อต้านสำหรับพลังงานทดแทนอื่นๆ นั้นก็น่าจะมีส่วนช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้เป็นบางส่วนเท่านั้น แต่โดยรวมแล้วผมสรุปว่าจุดอ่อนหลักของเศรษฐกิจไทยคือเราต้องนำเข้าพลังงาน (ส่วนใหญ่คือน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่าสูงเกือบ 9% ของจีดีพี ซึ่งน่าจะเป็นสัดส่วนที่เกือบจะสูงที่สุดในโลกและยังต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
หากถามว่าจะมีทางเลือกอื่นๆ ให้กับเศรษฐกิจหรือไม่ก็ต้องตอบว่าน่าจะมี แต่เรายังมิได้ระดมสมองคิดกันอย่างเป็นระบบ แต่ก็มีการกล่าวถึงการพัฒนา Digital Economy ซึ่งก็ควรศึกษาให้ถ่องแท้ต่อไปว่าหากทำได้แล้วจะเป็นการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปในรูปแบบใดหรืออีกนัยหนึ่งคือจะใช้ “หากิน” อย่างใด เราจะอยากเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคแข่งกับสิงคโปร์หรือไม่ เป็นต้น
อีกทางเลือกหนึ่งคือการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยให้เป็นผู้ผลิตอาหารที่ครบถ้วนและโดดเด่นที่สุดของโลก ทั้งนี้ มิได้หมายถึงการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสารและยางพาราเช่นปัจจุบัน แต่เป็นการส่งออกอาหารที่ต้องสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าอาหารที่ผลิตจากประเทศไทยนั้นสะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนเป็นอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงที่สุดในโลก จนกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังประเทศจีนซึ่งมีความต้องการอาหารที่ “ไว้ใจได้” เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นการขยายบริการด้านการรักษาพยาบาลที่เรียกว่า Medical tourism ให้ทำรายได้ให้กับประเทศไทยไม่น้อยไปกว่าการส่งออกสินค้าหลักของไทย เช่น รถยนต์ เป็นต้น เพราะจะเป็นบริการที่อาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรมากกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่าอุตสาหกรรมหนัก แต่หากต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความสมดุลมากขึ้นคือเน้นการส่งออกอาหารและให้บริการด้านสุขภาพมากขึ้นก็จะต้องมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมดังกล่าวอีกมาก รวมทั้งการแก้กฎหมายการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาด้านการศึกษาและบุคลากรด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีด้านอาหาร แต่การดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มต้นไม่ได้เพราะเรายังมิได้มีการระดมสมองเพื่อประเมินกันอย่างถ่องแท้ว่าประเทศไทยมีทางเลือกใดบ้างในการพัฒนาเศรษฐกิจและคนไทยจะตกลงและสามารถสรุปกันได้หรือไม่ว่าเราจะต้องการให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปในทิศทางใด ในลักษณะที่มีความชัดเจนทั้งในเชิงของวัตถุประสงค์และแผนดำเนินการที่เป็นขั้นเป็นตอน
ซึ่งบางคนอาจบอกว่าเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่แล้ว แต่ผมเห็นว่าควรจะมีความชัดเจนในการตอบคำถามว่าประเทศไทยจะ “ทำมาหากิน” อะไรและอย่างไรใน 10 ปีข้างหน้าและจะตอบว่าจะทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ แต่ต้องตอบว่าอาชีพหลักหรือความชำนาญของประเทศไทยในเศรษฐกิจโลกคืออะไร (เช่นปัจจุบันคือการรับจ้างเป็นฐานการผลิตให้บริษัทข้ามชาติส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์อื่นๆ เช่น การเกษตร (ซึ่งผลผลิตต่ำ) และการท่องเที่ยว ตลอดจน medical tourism นั้นจะมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมากน้อยเพียงใดและรัฐบาลจะมีบทบาทในการสนับสนุนพัฒนาการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมในระยะกลางและระยะยาวอย่างไรบ้าง เป็นต้น
ในขณะนี้ดูเสมือนว่าแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นจะให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพราะมองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความแตกแยกทางการเมือง ทั้งนี้ ยังมีนโยบายที่จะลดส่วนต่างดังกล่าวโดยการเก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น ในความเห็นของผมนั้นน่าจะให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะทำให้ “เค้ก” “ใหญ่ขึ้น” มากกว่าหาทาง “แบ่งเค้ก” ให้ยุติธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ โดยสร้างกฎเกณฑ์ให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการศึกษาและแข่งขันกันทำให้ตัวเองและเศรษฐกิจมั่งคั่งมากขึ้น โดยลดการผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในระบบเศรษฐกิจไทย