เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม ปี 2557
เศรษฐกิจเดือนมกราคม 2557 โดยรวมหดตัวจากเดือนก่อนตามภาวะการส่งออก ขณะที่ภาค
การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกันครัวเรือนและธุรกิจยัง
ระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอ่อนแอ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปที่
มากขึ้น การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลบริการ รายได้และเงินโอน
ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงินและการขาย
หลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ในภาพรวมดุลการชำระเงินเกินดุล
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 17,656 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตาม
การหดตัวของ 1) การส่งออกยานยนต์ที่อุปสงค์จากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและออสเตรเลียชะลอลง
2) การส่งออกสินค้าประมงและสินค้าเกษตรแปรรูปที่ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากโรคระบาดในกุ้ง
และ 3) การส่งออกสินค้าเกษตรทั้งข้าวและยางพาราจากผลของราคาที่ลดลงเป็นสำคัญ เนื่องจากจีนลด
การนำเข้าหลังจากที่เร่งนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การส่งออกเหล็กและโลหะได้รับผลของฐานสูง
ในปีก่อนที่ได้รับผลดีจากการยกเลิกมาตรการทุ่มตลาดของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวด
อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งปิโตรเคมี ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของ
อุปสงค์จากต่างประเทศ
ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองมากขึ้น
และจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 2.3 ล้านคน
ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 ในเดือนก่อน ตามการลดลง
ของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ อาทิ จีนและมาเลเซีย
การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากประชาชนยังระมัดระวัง
ในการใช้จ่าย ประกอบกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง
แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนทั้งการบริโภคและการลงทุนหดตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
หดตัวร้อยละ 1.5 ตามการใช้จ่ายในสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์ที่หดตัวจากฐานที่สูงในปีก่อนและ
ความต้องการซื้อยานยนต์ใหม่ที่น้อยลงเป็นสำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนหดตัวในบางหมวด
โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 8.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน
ตามการลงทุนทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และในหมวดก่อสร้าง เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนเลื่อน
การลงทุนออกไปเพื่อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง
อุปสงค์โดยรวมที่อ่อนแอส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน แต่หากเทียบกับ
ระยะเดียวกันปีก่อนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 6.4 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการผลิตที่ลดลงของ
1) ยานยนต์ที่ได้เร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอที่จะชดเชยคำสั่งซื้อ
ในประเทศที่ลดลง 2) เบียร์ที่ผลิตลดลงตามยอดขายที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ
3) กุ้งแช่แข็งที่ยังประสบปัญหาโรคระบาด
อุปสงค์โดยรวมที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลให้การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้า
ขั้นกลางหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบกับการนำเข้าทองคำลดลงมาก ส่งผลให้การนำเข้าโดยรวมมี
มูลค่า 18,405 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 12.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อหักการนำเข้าทองคำ
จะทำให้การนำเข้าหดตัวร้อยละ 2.3
รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 6.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากผลทั้งทางด้านราคาและผลผลิต
โดยราคาขยายตัวตามราคาปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้นตามความต้องการในการผลิตพลังงาน
ทดแทน รวมทั้งราคากุ้งและปศุสัตว์ที่ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ดี ราคาข้าวยังคงลดลงตาม
ราคาในตลาดโลกเนื่องจากผลผลิตของประเทศผู้ผลิตสำคัญเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการระบายสต็อกข้าวของทางการไทย
ส่วนราคายางพาราปรับลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ
จากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักยังไม่มากพอที่จะทำให้ราคาปรับขึ้นได้ สำหรับผลผลิตทางการเกษตรขยายตัวตาม
ผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังที่ปริมาณน้ำและภูมิอากาศเอื้ออำนวย รวมถึงผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามการ
ขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้า
ภาครัฐใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเบิกจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน รวมทั้ง
ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของรัฐบาลที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ ขณะที่รายจ่ายลงทุนบางส่วนล่าช้า
ออกไปเพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง สำหรับรายได้นำส่งลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน
ตามภาษีสรรพสามิต สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดลงจาก
การปรับโครงสร้างภาษีที่มีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้ปี 2556 รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุล
เงินสด 70.5 พันล้านบาท
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.93 ตามการส่งผ่าน
ต้นทุนก๊าซหุงต้ม (LPG) และเครื่องประกอบอาหารไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลบริการ รายได้และเงินโอน ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืน
เงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงินและการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ
ในภาพรวมดุลการชำระเงินเกินดุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 กุมภาพันธ์ 2557
ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค
โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648
e-mail:
[email protected]
----------------------------------------------------------------
http://www.bot.or.th/Thai/EconomicCondi ... ry2014.pdf