หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ญี่ปุ่นกับนโยบายข้าว/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ธ.ค. 02, 2013 5:50 am
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

   ในระหว่างที่ไทยเรายังโต้เถียงกันอยู่ว่าการรับจำนำข้าวดีกว่าการประกันราคาข้าวให้กับชาวนาอย่างไร และแบบไหนมีช่องโหว่มากกว่ากัน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อะเบะ ของญี่ปุ่นได้ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนว่า ญี่ปุ่นจะทยอยลดการให้เงินสนับสนุนชาวนา และจะยกเลิกอย่างสมบูรณ์ในปี 2019
	การประกาศนี้มีขึ้นหลังจากญี่ปุ่นถูกกดดันจากคู่สัญญาในการทำความตกลงเขตการค้าเสรีข้ามแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership free trade agreement ที่เรียกกันย่อๆว่า TPP 
	ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีการปฏิรูปที่ดิน พื้นที่เพาะปลูกจึงค่อนข้างเป็นที่ดินผืนเล็ก เพราะมีการห้ามการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรผืนใหญ่ๆเพื่อใช้ในการอื่นยกเว้นเพื่อการเกษตรกรรม จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปี 1987 ที่นาของญี่ปุ่นมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 0.8 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 5 ไร่ และในปี 1994 มีขนาดเฉลี่ยเหลือเพียงประมาณ 0.67 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 4.1875 ไร่เท่านั้น 
   รัฐมองว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ในเรื่องอาหารซึ่งเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง รัฐจึงเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าว และได้วางนโยบายให้ลดการผลิตข้าวลงในปี 1969 
   อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการจูงใจให้ชาวนาคงอาชีพทำนา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงห้ามการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ และพรรคการเมืองเสนอนโยบายประกันรายได้ชาวนาสูงกว่าครัวเรือนในชนบทที่ประกอบอาชีพอื่นๆตั้งแต่ปี 1970 เนื่องจากพรรคการเมืองต้องการเสียงสนับสนุนจากชาวนา ทำให้คนญี่ปุ่นต้องรับประทานข้าวที่มีราคาสูงตั้งแต่นั้นมา แต่ชาวญี่ปุ่นก็มีความเชื่อว่าข้าวญี่ปุ่นอร่อยกว่าข้าวที่ผลิตจากประเทศอื่นๆด้วย 
	ในปัจจุบัน ชาวนาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพเสริม เพราะการทำนามีงานยุ่งเพียงสองช่วงคือช่วงปลูกกับช่วงเก็บเกี่ยว และการทำนาก็มีพัฒนาการในการใช้เครื่องจักรทุ่นแรงมากขึ้น ไม่ต้องใช้คนจำนวนมากอีกต่อไป
	หลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาญี่ปุ่นจะได้รับการอุดหนุน 150,000 เยน หรือประมาณ 48,000 บาท ต่อพื้นที่เพาะปลูก 1 เฮกเตอร์ (ประมาณ 6.25 ไร่)ส่วนผู้ผลิตข้าวสำหรับทำแป้งและเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์จะได้รับการอุดหนุน 800,000 เยน หรือประมาณ 256,000 บาท ต่อ หนึ่งเฮกเตอร์ 
	เมื่อเทียบกับขนาดที่นาโดยเฉลี่ยแล้ว ชาวนาญี่ปุ่นจะได้เงินอุดหนุนจากรัฐโดยเฉลี่ยประมาณ 32,160 บาท ถึง 171,520 บาทต่อครอบครัว 
	เมื่อดูสถิติจำนวนชาวนาญี่ปุ่นลดลงเรื่อยๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า จำนวนชาวนาของญี่ปุ่นลดลงจากประมาณ 3 ล้านคนในปี 2008 เหลือ 2.39 ล้านคนในปี 2013 และมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากมีสัดส่วนชาวนาถึง 61.8%ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่ชาวนาที่มีอายุ 50-64 ปี มีอยู่ 25.8% และที่มีอายุต่ำกว่า 49 ปี มีเพียง 12.4%
	คนญี่ปุ่นก็บริโภคข้าวลดลงด้วยค่ะ จึงไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนักที่ต้องบริโภคข้าวราคาแพง โดยในปี 1965 คนญี่ปุ่นเคยบริโภคข้าวปีละ 110 กิโลกรัมต่อคน คาดว่าปี 2012 ที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นบริโภคข้าวคนละประมาณ 56.3 กิโลกรัม หรือลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่งภายใน 47 ปี โดยหันไปบริโภคขนมปัง มันฝรั่ง และอื่นๆแทน ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ 
	นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกการอุดหนุนรายได้ของชาวนา จะทำให้พื้นที่นาของญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดเล็ก ถูกขายเพื่อรวมเป็นพื้นที่ใหญ่ขึ้น และจะทำให้ชาวนาต้องปรับตัวเพื่อทำให้การผลิตสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีกำไรโดยไม่ต้องรับการอุดหนุน ซึ่งจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
	ดิฉันดูแล้วก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำไมเขาคิดว่าการทำนาข้าวของญี่ปุ่นไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อไปค้นดูการศึกษาเปรียบเทียบการผลิตข้าวระหว่าง ญี่ปุ่น ไทย และสหรัฐอเมริกา โดย Tadashi Kamedai และ Tadao Hotta ได้เขียนไว้เป็นภาษาญี่ปุ่นในการศึกษาเรื่อง International Comparison of Rice Industry เมื่อปี 1987 (ข้อมูลอาจจะเก่าไปเล็กน้อย แต่คิดว่าระยะหลังๆไม่มีสนใจศึกษาเรื่องนี้มากนัก) พบว่า นาญี่ปุ่นผลิตข้าวเปลือกได้ 5.3 ตันต่อเฮกเตอร์ (6.25 ไร่) ในขณะที่นาไทยผลิตได้ 1.5 ตัน ต่อเฮกเตอร์ และนาในสหรัฐอเมริกาผลิตได้ 4.9 ตันต่อเฮกเตอร์
	แต่พอมาเห็นข้อมูลการใช้แรงงานก็เกิดความกระจ่างค่ะ นาญี่ปุ่นใช้แรงงาน 481 ชั่วโมงต่อเฮกเตอร์ ในขณะที่นาไทยใช้แรงงาน 600 ชั่วโมงต่อเฮกเตอร์ และนาสหรัฐใช้แรงงานเพียง 20 ชั่วโมงต่อเฮกเตอร์ และค่าแรงที่แตกต่างกันทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวของญี่ปุ่นในปี 1987 เท่ากับ 2,158 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ของไทยมีต้นทุนการผลิต 132 เหรียญต่อตัน และสหรัฐมีต้นทุนการผลิต 199 เหรียญต่อตัน
	สาเหตุที่นาสหรัฐใช้แรงงานน้อยเพราะที่นามีขนาดใหญ่ สามารถใช้เครื่องจักรช่วยทุ่นแรงได้มาก โดยขนาดที่นาของสหรัฐเฉลี่ยเท่ากับ 114 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 712.5 ไร่ในขณะที่ที่นาของญี่ปุ่นมีขนาดเฉลี่ย 0.8 เฮกเตอร์ (5 ไร่) และที่นาของไทยมีขนาดเฉลี่ย 5.3 เฮกเตอร์ (ประมาณ 33.125 ไร่)
	ตอนนั้นเรายังคิดค่าแรงงานที่วันละ 40 กว่าบาท ตอนนี้ค่าแรงของเรา 300 บาทต่อวัน ถ้าเรายังใช้แรงงานมากถึง 600 ชั่วโมงต่อ 6.25 ไร่ ต้นทุนผลิตข้าวเราจะสูงมากๆเลยเชียวค่ะ
	โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องปรับตัว ดิฉันเชื่อว่าการพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เรายืนอยู่ในแนวหน้าได้ ถ้าเราพัฒนาจนถึงจุดที่ดีแล้ว และหยุด อีกไม่นานคนอื่นก็จะขึ้นมาทันเรา และแซงเรา การเปรียบเทียบกับคนอื่นทำให้เรามีหลักในการเปรียบเทียบ แต่เมื่อถึงจุดที่ขึ้นมาเป็นที่หนึ่งหรือขึ้นมาในอันดับดีๆแล้ว หากไม่พัฒนาตนเองต่อไป ไม่ช้าไม่นานก็ตกอันดับแน่นอน
	ในชีวิตของเรา เราย่อมมีโอกาสคิดผิด ตัดสินใจพลาดไปบ้าง หากเรามีข้อมูลเพิ่มขึ้น หากเรามีประสบการณ์จากการนำมาใช้จริงเพิ่มขึ้น เราก็จะมีบทเรียนที่จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในก้าวต่อๆไปได้ดียิ่งขึ้น เราขึ้นรถไฟผิดขบวน เรายังสามารถลงและไปขึ้นขบวนใหม่ เหตุไฉนเราจึงไม่ยกเลิกหรือปรับปรุงนโยบายที่เราทำแล้วไม่เกิดผลดี และหานโยบายใหม่ทำให้ดีขึ้นละคะ
ดิฉันขอฝากให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วยค่ะ 
[/size]

Re: ญี่ปุ่นกับนโยบายข้าว/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 04, 2013 10:56 am
โดย Nevercry.boy
ขออย่างเดียว เราต้องกล้าเผชิญกับโลก ด้วยความสามารถและความรู้

ทุกวันนี้เราใช้ข้ออ้างเดิม ๆ คือ ประเทศเราไม่มี "ความรู้" พอที่จะแข่งขันได้ ประชากรเลยอยู่ในภาคเกษตรกรรม ผมไม่ได้หมายถึง เกษตรกรรมไม่ดี แต่การขาด นวัตกรรม เป็นสิ่งไม่ดี ชาวนา ประเทศเรา ไม่ได้ปลูกข้าวเหมือนสมัยก่อน

ปัจจุบัน ชาวนา เรา "ขายแรงงาน" ให้กับ เจ้าของธุรกิจ (ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ: ทำไมคนทำธุรกิจการเกษตรรวยแต่เกษตรกรจน แปลกมั๊ย?) เครื่องจักรกลการเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พ่อค้าคนกลาง หยง ตลอดจน โมเดิร์นเทรด นั่นคือภาพความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้เป็นชาวนาผู้ปลูกข้าว เป็นแต่เพียง รับจ้างขายแรงงาน ให้เจ้าของธุรกิจข้าว นี่คือภาพความเป็นจริงอันเจ็บปวด

ประชานิยมทำให้คนส่วนใหญ่กลายเป็น จับกังปลูกข้าว ต่อไป เพราะเราไม่เคยมีการส่งเสริมโอกาสและสร้างงานที่มี มูลค่า ให้เกิดกับเกษตรกรของเรา การศึกษาบ้านเราเหลื่อมล้ำอย่างมาก นั่นแปลว่าเราส่งเสริมให้ประชากรของเรากลายเป็น กรรมกรในภาคการเกษตร ต่อไป ถ้าคนในภาคนี้หมดงาน ก็จะมีธุรกิจใต้ดินมารองรับหรือตกงานเพราะไม่มีความรู้ นี่ก็คือช่องว่างที่ทำให้ นักการเมืองมุ่งประชานิยมกับคนกลุ่มนี้ต่อไปเพราะเป็นฐานเสียงสำคัญ

โอกาสและมูลค่า คือสิ่งที่ นลท. จะต้องให้ความสำคัญ สิงค์โปร์ประเทศไม่มีที่ทำการเกษตรแม้แต่ตารางนิ้ว ประเทศเจริญได้ เราควรเร่งสร้างบุคลากร เลิกพูดกันเสียทีว่าคนไทยขาดความรู้ ขาดก็สร้างซิครับ เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จัดแต่ง โยกย้าย เอาผลประโยชน์ระยะยาวของชาติเป็นที่ตั้ง

เน้นคำว่าระยะยาว เหมือนนักลงทุนระยะยาว นั่นแหละครับ แล้วทางออกมันจะมาอย่างยั่งยืน

ชินโซ อาเบะ นายกญี่ปุ่นตัดสินใจเป็นการตัดสินใจที่ดีและน่าสนใจมากครับ

Re: ญี่ปุ่นกับนโยบายข้าว/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: พุธ ธ.ค. 04, 2013 11:14 pm
โดย CARPENTER
สังคมไทย มีทัศนะคติการศึกษาที่ผิด
ที่ผิดเพราะ เรามีกระทรวงศึกษาที่บริหารโดยคนที่คิดไม่เป็น แต่หวงอำนาจ
เรียนจบประถม ต่อ มัธยม
จบมัธยม ต่อ ป.ตรี
(บางส่วนไป ปวช ปวส แล้ว ก็กลับมาเรียน ให้ได้ ป.ตรี)
จบ ป.ตรี ก็ต่อ ป.โท และ ต่อ ป. เอก
การเรียนทุกระดับ ต้องการใบประกาศ
ไม่ได้ต้องการความรู้
ความหมาย ของการศึกษา ในศาสนาพุทธ
คือ ศึกษาให้รู้ และปฏิบัติได้
คนไทยเรียน อย่างเก่งก็แค่รู้แต่ทำไม่ได้
แย่กว่านั้น ไม่รู้ มีแค่ใบประกาศ
ถ้าสังคมยังให้ความสำคัญกับ ใบประกาศ มากกว่าความรู้
ประเทศไทย อาจจะมีคน จบ ป.โท มากที่สุดในโลก
แต่ทำอะไรไม่เป็น ไม่มีปัญญาทำอะไรเองต้องเป็นลูกจ้าง
การศึกษาแบบนี้ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย มีแต่เสียเงิน เสียเวลา