หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาด/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 26, 2013 10:19 am
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

จีดีพีไทยในไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 2.8% เมื่อเปรียบกับไตรมาส 2 ปี 2012 (YoY) ซึ่งต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 3.6%และชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพีในไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 5.4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2012 (YoY) นอกจากนั้นหากพิจารณาจากไตรมาสไปอีกไตรมาส (QoQ) จะพบว่าไทยเข้าสู่สภาวะถดถอยแล้วเพราะเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสคือจากไตรมาส 4 ไปไตรมาส 1 และจากไตรมาส 1 ไปไตรมาส 2 ซึ่งคำนิยามนี้ผมเห็นว่าจะสะท้อนความรู้สึกของประชาชนได้ดีกว่าการวัดการขยายตัวแบบ YoY เพราะคนส่วนใหญ่จะจำได้ดีว่าเรารู้สึกดีขึ้นหรือแย่ลงจากไตรมาสหนึ่งไปอีกไตรมาสหนึ่ง แต่ความจำว่าเรารู้สึกอย่างไรในไตรมาส 2 เมื่อปีที่แล้วเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ คงจะลบเลือนลงไปมาก อย่างไรก็ดีธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่าความถดถอยของเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นนั้นอาจเป็นเชิง “เทคนิค” มากกว่าเพราะเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีที่แล้วเฟื่องฟูอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องชะลอตัวลงบ้างเป็นธรรมดา อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่า ประชาชนทั่วไปคงจะไม่ได้สบายใจนักจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงยาวนานติดต่อกัน 6 เดือน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพราะอะไรและแนวโน้มเป็นอย่างไร

สภาพัฒน์ฯ ชี้แจงว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งจากการบริโภคและลงทุนในประเทศ รวมถึงการไม่ฟื้นตัวของการส่งออก โดยการชะลอตัวลงของการส่งออกสุทธินั้นเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย 

จะเห็นได้ว่าในไตรมาส 1 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัว 5.4% นั้นได้อานิสงส์จากการบริโภคของเอกชนเป็นหลัก (ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 2.2%) รองลงมาคือรายได้จากการส่งออกสุทธิ (การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด) ซึ่งทำให้จีดีพีขยายตัว 1.4% ส่วนไตรมาส 2 นั้นจะเห็นได้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจมาจากการชะลอตัวของการบริโภคเอกชน (ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.3%) และการส่งออกสุทธิซึ่งเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้หดตัวลง 0.4% ทั้งนี้เพราะไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 เทียบกับการเกินดุล 1.3 พันล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 

ทั้งนี้ มีการคาดหวังว่าการลงทุนของรัฐจะเพิ่มขึ้น (จากโครงการลงทุนขนส่ง 2 ล้านล้านบาทและโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้กระเตื้องขึ้นด้วย ส่วนการบริโภคเอกชนนั้นคงจะฟื้นตัวไม่มากนัก เพราะ ธปท. กล่าวเตือนแล้วว่าครัวเรือนสร้างหนี้มากเกินไปแล้ว (หนี้สินปรับเพิ่มขึ้นจาก 50% ของจีดีพีมาเป็น 78% ของจีดีพี) ดังนั้น ต่อไปนี้การบริโภคน่าจะขยายตัวช้ากว่าจีดีพีเพื่อทำให้ประชาชนมีเงินเหลือมาลดหนี้ แต่ในความเห็นของผมนั้นตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือ การส่งออกสุทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าซึ่งขยายตัวเพียง 1% (รายได้ที่เป็นเงินดอลลาร์) ในครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเคยคาดหวังว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 7-8%

จับตาการส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัด

บางคนบอกว่าหากจีดีพีจะขยายตัว 2.5% ต่อปีในครึ่งหลังของปีนี้ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรมาก เพราะเศรษฐกิจถูกกระตุ้นอย่างแรง ทำให้ขยายตัวอย่างร้อนแรงในครึ่งหลังของปีที่แล้ว จึงสมควรที่จะต้องชะลอตัวลงบ้าง แต่ผมเห็นว่าหากจีดีพีขยายตัวในระดับต่ำดังกล่าวต่อเนื่องไปอีก 2-3 ไตรมาส คงจะส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจไทยนั้นควรจะขยายตัวปีละ 4-5% หากต่ำกว่านั้นก็น่าจะทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นและรายได้ลดลง ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการหนี้ที่สูงถึง 78% ของจีดีพีก็จะทำได้ยากลำบากขึ้น ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็จะเข้มงวดมากยิ่งขึ้นและอาจพยายามลดวงเงินกู้ลง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้สภาวะการเงินตึงตัวขึ้น

ทั้งนี้ การบริโภคซึ่งแม้ว่าจะมีสัดส่วนถึง 55% ของจีดีพี แต่โดยหลักการและในระยะยาวการบริโภคต้องถูกกำหนดโดยจีดีพีไม่ใช่กระตุ้นการบริโภคเพื่อทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น หมายความว่า แม้การบริโภคจะมีสัดส่วนที่ใหญ่แต่จะไม่สามารถเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นจีดีพีได้ในระยะยาว กล่าวคือ การบริโภคจะปรับขึ้น-ลงตามจีดีพีมิได้เป็นตัวกำหนดทิศทางของจีดีพี ส่วนการลงทุนทั้งของเอกชนและของรัฐนั้นมีโอกาสปรับขึ้น-ลงได้อย่างมากและรวดเร็ว ซึ่งการลงทุนของรัฐเป็นเรื่องของนโยบาย ขณะที่การลงทุนเอกชนขึ้นอยู่ความมั่นใจในอนาคตว่าจะได้ผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ การลงทุนเอกชนจะปรับตัวอย่างรวดเร็วตามการประเมินความเสี่ยงของภาคเอกชน ซึ่งจะผันผวนได้อย่างมากโดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่สหรัฐกำลังลดทอนคิวอีซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะทำให้ราคาสินทรัพย์ไม่ปรับขึ้น (และอาจปรับลง) และดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

ตัวแปรที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 65% ของจีดีพี ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าทำรายได้เข้าประเทศไตรมาสละ 60,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งขยายตัวไม่มาก แต่บางคนอาจแย้งว่าการท่องเที่ยว (การส่งออกบริการ) นั้นกำลังไปได้ดีมาก แต่ก็ทำรายได้ให้ประเทศเพียงไตรมาสละ 10,000 ล้านดอลลาร์ ไม่พอที่จะ “อุ้ม” การส่งออกทั้งหมด ดังนั้น หากเศรษฐกิจจะฟื้นหรือหดตัวการส่งออกน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง นอกจากนั้นก็จะต้องลดการนำเข้าที่ไม่จำเป็น เช่น ยกเลิกการอุดหนุนแอลพีจีและการงดเก็บภาษีดีเซล เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจะได้ประหยัดการใช้พลังงานซึ่งต้องนำเข้าและเสียรายได้ปีละเป็นแสนล้านบาท กล่าวคือจะต้องช่วยทำให้การส่งออกสุทธิปรับตัวสูงขึ้นเพื่อทำให้จีดีพีขยายตัวนั่นเอง

หากเศรษฐกิจขยายตัวช้าเพราะประเทศไทยนำเข้าสุทธิหรืออีกนัยหนึ่งคือขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็จะเป็นความเสี่ยงที่อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจได้ เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดกับอินโดนีเซียและอินเดีย อินโดนีเซียนั้นขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้เงินรูเปียอ่อนค่า สร้างปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางถูกกดดันให้จัดการกับปัญหาโดยการปรับดอกเบี้ยขึ้นและรัฐบาลต้องลดการอุดหนุนพลังงานและอื่นๆ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง แต่หากไม่ทำนักลงทุนก็จะขาดความเชื่อมั่นและขนเงินออกนอกประเทศ ทำให้เงินรูเปียอ่อนค่าลงไปอีก ส่วนอินเดียก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณสูง เงินทุนไหลออกทำให้ทุนสำรองลดลง ครั้นจะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและบีบรัดสภาพคล่องในประเทศก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

ในกรณีของไทยนั้นในไตรมาสแรกเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1,300 ล้านดอลลาร์ (จีดีพีขยายตัว 5.4%) แต่ในไตรมาส 2 นั้น จีดีพีขยายตัวเพียง 2.8% และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5,100 ล้านดอลลาร์คิดเป็น 5% ของจีดีพี (อินโดนีเซียและอินเดียมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 4-5% เช่นกัน) ทั้งนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นสะท้อนว่าประเทศกำลังใช้จ่ายเกินตัว ดังนั้น หากการส่งออกไม่ฟื้นตัวก็อาจทำให้ไทยเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในอนาคตครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 26/8/56
[/size]
รูปภาพ