แบงก์ทาบซีพีเอฟซื้อสหฟาร์ม สกัดต่างชาติฮุบส่งออก ชี้ปัญหาเยอะปิดดีลยาก
http://www.prachachat.net/news_detail.p ... 1378746437
updated: 10 ก.ย. 2556 เวลา 10:01:32 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
แบงก์เจ้าหนี้ดอดจีบ "ซีพีเอฟ" เข้าเทกโอเวอร์ "สหฟาร์ม" เคลียร์หนี้ 3 หมื่นล้านบาท ต่อยอดธุรกิจส่งออกไก่ ได้เครือข่ายซัพพลายเออร์-เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หวังสกัดคู่แข่งยักษ์ข้ามชาติ ดอดฮุบกิจการ วงการปศุสัตว์หวั่นครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุด ผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กเสียเปรียบ ขณะที่วงในชี้ปิดดีลยาก "ดร.ปัญญา โชติเทวัญ" ยื้อสุดฤทธิ์ ด้าน "ไอแบงก์" ใจป้ำเล็งปล่อยกู้เพิ่มอีก 1 พันล้าน
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ธนาคารเจ้าหนี้ของกลุ่มบริษัท สหฟาร์ม จำกัด ต่างพยายามหาทางออกในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินและการขาดสภาพคล่องทางทางเงินของบริษัทสหฟาร์ม แนวทางหนึ่งที่ดำเนินการคือช่วยเจรจาหาบริษัทผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งภายในและต่างประเทศที่อยู่ในวงการส่งออกไก่ เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการของบริษัท ล่าสุดได้มีการเจรจาทาบทามบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งทางซีพีเอฟแสดงความสนใจ แต่ยังต้องพิจารณาในเรื่องรายละเอียดอีกมาก
เจ้าหนี้ลุ้นซีพีเอฟเทกฯสหฟาร์ม
เนื่องจากมูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาทของสหฟาร์ม ถูกผูกโยงกับบริษัทในเครือเกือบ 50 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินและซัพพลายเออร์มากมาย ที่สำคัญแต่ละบริษัทบริหารงานโดย
เครือญาติ ขณะเดียวกัน จากที่ธนาคารเจ้าหนี้เข้าตรวจสอบพบว่าบัญชีรายรับรายจ่ายหลายบริษัทมีการเบิกจ่ายเงินระหว่างกันโดยไม่มีการออกใบเสร็จ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณา ดังนั้น แม้เจ้าหนี้ต้องการให้ซีพีเอฟเข้าซื้อกิจการสหฟาร์ม และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและพิจารณาเงื่อนไขและความเป็นไปได้หลาย ๆ ด้าน บทสรุปสุดท้ายซีพีเอฟจะตกลงใจซื้อบริษัทสหฟาร์มและบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่หรือไม่ ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ซีพีเอฟถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปศุสัตว์ มีศักยภาพสูงไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นบริษัทระดับโลก แต่ทางธนาคารเจ้าหนี้ไม่รู้ว่าหลังจากพิจารณารายละเอียดทุกอย่างแล้ว จะตัดสินใจซื้อกิจการในลักษณะไหน อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลานานพอสมควร ไม่น่าจะจบภายใน 1-2 เดือน ที่สำคัญคือเรื่องราคาขาย ทั้งนี้ การเข้าฟื้นฟูกิจการ ถ้าได้ซีพีเอฟเข้ามาก็น่าจะเข้าใจปัญหาได้ดีกว่าบริษัทต่างชาติรายอื่น
ไม่ต้องการถือหุ้นใหญ่
"ส่วนบริษัทเกาหลีที่ก่อนหน้านี้มีธนาคารเจ้าหนี้รายหนึ่งทาบทามมานั้น บริษัทดังกล่าวเป็นเพียงบริษัทเทรดเดอร์รายเล็ก ๆ ที่สั่งซื้อสินค้าไก่จากผู้ส่งออกไทยหลายบริษัทเท่านั้น เรื่องศักยภาพในการเข้าไปบริหารกิจการของสหฟาร์มคงเป็นเรื่องลำบากและไม่ใช่เรื่องง่าย เท่าที่ทราบเบื้องต้นซีพีเอฟไม่ต้องการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สนใจซื้อกิจการทรัพย์สินและเครือข่ายที่มีอยู่ของสหฟาร์ม ตอนนี้แบงก์เจ้าหนี้ต่างรอลุ้น อยากให้ทุกอย่างจบ เพื่อจะได้เงินมาใช้หนี้ และธุรกิจส่งออกไก่ยังมีอนาคตมีโอกาสเติบโต" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวในวงการปศุสัตว์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ข่าวซีพีเอฟสนใจเข้าซื้อกิจการของบริษัทสหฟาร์ม ได้ยินมาตั้งแต่ช่วงแรกที่สหฟาร์มเริ่มส่อเค้าปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยมีข่าวว่าทางบริษัทซีพีเอฟไม่ต้องการให้บริษัทสหฟาร์มตกไปอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติที่เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดส่งออกไก่ของไทย เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา เพราะบริษัทสหฟาร์มถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ มีกำลังการผลิตในระดับใกล้เคียงกับซีพีเอฟ หากตกไปอยู่ในมือคู่แข่งจะทำให้การควบคุมเกมในด้านทิศทางราคาตลาดปศุสัตว์ทั้งภายในและส่งออกยาก และอาจส่งผลกระทบต่อซีพีเอฟเองในอนาคต
ต่อยอดขายพันธุ์สัตว์-อาหารสัตว์
ในทางกลับกัน หากซีพีเอฟซื้อกิจการของสหฟาร์มได้ ผู้ประกอบการในวงการปศุสัตว์ไทยรายอื่นคงจะอยู่ลำบากเหมือนกัน เพราะเท่ากับครองสัดส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด ที่สำคัญการซื้อกิจการทางซีพีเอฟจะได้เครือข่ายซัพพลายเออร์และเกษตรกรในเครือข่ายของสหฟาร์มที่มีอยู่หลายร้อยราย ซีพีเอฟสามารถขายพันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์ได้อีกมหาศาล
"แต่คนในวงการที่รู้จัก ดร.ปัญญา (ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานบริหารเครือสหฟาร์ม) คงจะไม่ยอมง่าย ๆ ที่จะให้ซีพีเอฟมาฮุบกิจการที่สร้างมากับมือ เพราะที่ผ่านมาถือเป็นคู่แข่งสำคัญ ฟาดฟันกันมาพอสมควร เคยถึงกับมีคนในสหฟาร์มพูดว่า ทรัพย์สินของสหฟาร์ม แบงก์เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์จะนำไปเร่ขายให้ใครก็ได้ หากแบงก์ต้องการอย่างนั้น ต้องไปฟ้องร้องศาลล้มละลาย เพื่อยึดทรัพย์เอาเอง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี หรืออาจจะ 5-10 ปี ดังนั้น ถ้าซีพีเอฟต้องการ ก็ต้องรอ" แหล่งข่าวกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารเจ้าหนี้ได้จัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้สหฟาร์ม พบว่าสหฟาร์มมีมูลหนี้ทั้งหมดประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท จากเจ้าหนี้ทั้งหมด 50 ราย เป็นหนี้สถาบันการเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท จาก 8 สถาบันการเงินรายใหญ่ อาทิ ธนาคารกรุงไทย มูลหนี้ 6,900 ล้านบาท, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) 1,600 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 1,000 ล้านบาท และธนาคารธนชาต 3,000 ล้านบาท ส่วนอีก 4 สถาบันการเงินที่มีมูลหนี้หลักร้อยล้านบาท ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และธนาคารกรุงเทพ นอกจากนี้ ยังมีหนี้ซัพพลายเออร์ทางการค้าต่าง ๆ อีกกว่า 10,000 ล้านบาท รวมถึงหนี้กับเกษตรกร เป็นต้น
แบงก์เจ้าหนี้แจงไม่รู้เรื่อง
ขณะที่นายปริญญา พัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหฟาร์ม เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบกรณีมีธนาคารเจ้าหนี้บางรายติดต่อให้ซีพีเอฟเข้ามาร่วมทุน หรือเทกฯสหฟาร์ม เนื่องจากแนวทางการหาพันธมิตรร่วมลงทุนถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ส่วนตัวแล้วมองว่ายังไม่มีความจำเป็น
สิ่งที่สหฟาร์มต้องการอย่างเร่งด่วนในตอนนี้คือการเติมเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการเดินหน้าธุรกิจที่หยุดชะงัก เพราะโดยภาพรวมของธุรกิจยังขยายตัวได้ดี และขณะนี้ราคาไก่ก็ปรับตัวสูงขึ้น
"การร่วมทุนกับพันธมิตรใหม่เป็นแนวทางหนึ่งในการทำธุรกิจที่ต้องการเพิ่มความรู้ในองค์กร แต่ตอนนี้หากไม่นับรวมการบริหารงาน ธุรกิจฟาร์มไก่ของสหฟาร์ม ก็ยังทำได้ค่อนข้างดี แต่ไม่มีเงินเพียงพอเท่านั้น วิธีง่าย ๆ ก็คือเติมเงินเข้าไปก่อน เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องหาพันธมิตรใหม่ แต่ถ้าเลือกหาพันธบัตรเลย อาจใช้เวลานานขึ้น ยุ่งยากขึ้น และทำให้ธุรกิจชะงักยิ่งกว่าเดิม เพราะต้องดำเนินการตั้งแต่การคัดเลือกพันธมิตร กระทั่งการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรับทุนใหม่ ซึ่งวิธีการนี้ค่อยว่ากันใหม่ในอนาคต"
ไอแบงก์เล็งปล่อยกู้เพิ่ม
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้หนี้ของสหฟาร์มว่า ล่าสุดเจ้าหนี้ธนาคารแต่ละรายได้แยกแก้ปัญหาหนี้เป็นรายแบงก์ เนื่องจากการประชุมเมื่อเดือน ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา หลังมีการขีดเส้นให้สหฟาร์มส่งแผนฟื้นฟูภายใต้ 3 เงื่อนไข แต่ทางสหฟาร์มไม่ได้ส่งแผนฟื้นฟูตามกำหนดให้แบงก์เจ้าหนี้ทั้ง 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารอิสลามฯ, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต จึงได้หารือในที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยให้แต่ละธนาคารไปหาทางออกในการแก้หนี้ดังกล่าวเป็นรายธนาคาร
ล่าสุดไอแบงก์นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดแล้ว ช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีข้อสรุปให้การช่วยเหลือสหฟาร์มต่อไป เนื่องจากมองว่า หากบริษัทสามารถฟื้นฟูกิจการกลับมาได้ ก็จะเป็นผลดีต่อธนาคารในระยะยาว เพราะสินทรัพย์ที่สหฟาร์มนำมาค้ำประกันสินเชื่อของไอแบงก์มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท ขณะที่สหฟาร์มขอสินเชื่อจากไอแบงก์ในช่วงที่ผ่านมาเพียง 1,600 ล้านบาท ดังนั้น การให้สินเชื่อใหม่สำหรับสหฟาร์มยังสามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าขอสินเชื่อรอบใหม่ ต้องนำสินทรัพย์ใหม่มาค้ำประกันเพิ่ม เพื่อการันตีว่าจะฟื้นฟูกิจการตามแผน ล่าสุดได้เจรจากับสหฟาร์มเบื้องต้นแล้ว ได้รับการยืนยันว่าจะนำที่ดินใน จ.เพชรบูรณ์ มาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินราคาที่ดิน พิจารณาจากสินทรัพย์ค้ำประกัน การปล่อยสินเชื่อรอบใหม่จะอยู่ที่ 500 ล้านบาท หรืออาจถึง 1,000 ล้านบาท หากมีสินทรัพย์ค้ำประกันสูง
ที่มีข่าวว่าแบงก์เจ้าหนี้บางรายทาบทามกลุ่มซีพีเข้าซื้อสหฟาร์มนั้น เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นแนวทางหนึ่งที่แบงก์เจ้าหนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ได้ แต่สหฟาร์มค่อนข้างทำธุรกิจแบบครอบครัว อีกทั้งซีพีก็เหมือนคู่แข่งทางธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การทำธุรกิจของสหฟาร์มยังมีความเป็นเอกเทศ ดังนั้น การควบรวมกิจการกับคู่แข่ง แม้เป็นไปได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย