โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 10 สิงหาคม 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เทคโนทำลายล้าง
กิจการบางแห่งที่เคยแข็งแกร่งมากจนดูเหมือนว่ามันจะ “ไม่มีวันแพ้” และก็ไม่มีใครเคยคิดว่าจะถดถอยได้ในเร็ววันนั้น ณ. ขณะนี้ดูเหมือนว่าชะตากรรมจะเปลี่ยนไป ความรุ่งเรืองในอดีตตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว หลาย ๆ บริษัทอาจจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างที่เคยเป็น “ความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน” หรือ DCA ที่บริษัทเคยมีเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้น บริษัทก็ยังมีอยู่ แต่ว่า “คู่แข่งใหม่” ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้ DCA ของบริษัทหมดความหมายลง “เกมการแข่งขัน” หรือ “การต่อสู้” ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเกิดขึ้นใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลและการสื่อสารที่กำลัง “ปฏิวัติโลก” อย่างที่เราอาจจะ “ไม่รู้ตัว” และผมก็เริ่มที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อได้ดู “เทป” เดี่ยว 10 ของ โน้ต อุดม แต้พานิช ที่พูดถึงว่าเรา – คนที่มีอายุมาก- จะสอนลูกหลานอย่างไร ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้ กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย สิ่งต่าง ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคดิจิตอล 1000% จะต้องเรียนรู้นั้น ทั้งหมดอยู่ใน “กูเกิ้ล”
ลองนึกถึงร้านขายหนังสือที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดอย่างร้านบาร์นแอนด์โนเบิลที่เราอาจจะเคยคิดว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีเพราะในโลกยุคใหม่นั้นคนต้องค้นคว้าหาความรู้มากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การที่บริษัทมีร้านค้าเครือข่ายมากมายย่อมได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนรวมถึงทำเลที่เหมาะสมกว่าคู่แข่งประกอบกับชื่อเสียงและผลการดำเนินงานที่มีมาช้านานใครจะคิดว่ามันจะตกต่ำลงได้อย่างรวดเร็วและพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจมาไม่กี่ปี แต่แล้วอเมซอนซึ่งขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตและขายหนังสือที่เป็น E-Book ซึ่งเป็นข้อมูลอิเลคโทรนิคก็เข้ายึดกุมธุรกิจหนังสือได้อย่างรวดเร็วในอเมริกาและอาจจะค่อย ๆ ลามไปในประเทศอื่น ในเมืองไทยเองนั้น แม้ว่าการขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตและหนังสือ E-Book อาจจะยังใช้เวลาอีกหลาย ๆ ปี ที่จะเข้ามาแทนที่หนังสือเล่ม แต่ผลกระทบจากการที่คนรุ่นใหม่เริ่มใช้เวลาอ่านข้อมูลอย่างอื่นในอินเตอร์เน็ตมากขึ้นแทนที่จะอ่านหนังสือเล่มก็ทำให้ธุรกิจหนังสือดูเหมือนว่าจะโตช้าลงมากหรืออาจจะไม่โตเลย นี่ทำให้ธุรกิจขายหนังสือที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังเป็นธุรกิจที่โตเร็วและมีบริษัทที่เข้มแข็งเป็น “ผู้ชนะ” กลายเป็นบริษัทที่อาจจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อที่จะรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต นี่เป็นผลจาก “การทำลายล้างของเทคโนโลยี” เรื่องแรก
ธุรกิจที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้น น่าจะเป็นผู้ที่รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรุนแรงที่สุด เราเห็นความรุ่งเรืองและการดับสลายของสินค้าต่าง ๆ เร็วมากจนไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นผู้ผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไล่ตั้งแต่เรื่องของโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่า ถึงโนเกีย และถึงโทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ของแบล็กเบอร์รี่จนถึงแอปเปิลและซัมซุง เราเห็นเครื่องเล่นดนตรีติดตัววอล์คแมนของโซนี่ที่ล้าสมัยไปเพราะเครื่อง ไอพอด ของแอปเปิล ที่ก็ล้าสมัยไปเช่นเดียวกัน แต่ที่หนักที่สุดน่าจะเป็นการตกต่ำลงของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เริ่มจากเครื่องตั้งโต๊ะ เครื่องโน้ตบุ้ค มาจนถึงเครื่องแบบแท็บเล็ตที่ต้องพึ่งพิงระบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออินเตอร์เน็ตไร้สายเป็นหลัก ในด้านของเวบไซ้ต์ค้นหาเองนั้น ในอดีตเรามียะฮูซึ่งก็ถูกทำลายโดยกูเกิลซึ่งดูเหมือนว่ากำลังจะ “สยายปีก” ครอบงำธุรกิจอย่างที่ยากที่ใครจะท้าทายได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เรื่องของเทคโนโลยีนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ในเมืองไทยเองนั้น กิจการที่อาจจะเป็น “เหยื่อ” รายแรก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกลุ่มนี้ก็คือผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อาจจะต้องปรับตัวอย่างมากที่จะรักษาผลประกอบการของตนเองไว้ให้ได้
ธุรกิจบันเทิงและทีวีเป็นธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกระทบมาระดับหนึ่งแล้วและน่าจะกำลังถูกกระทบอย่างแรงในเร็ว ๆ นี้ ก่อนหน้านี้ธุรกิจขายเทปล่มสลายไปเช่นเดียวกับแผ่นซีดีที่มียอดขายลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการเกิดขึ้นของการโหลดเพลงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอันทรงประสิทธิภาพ การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลและทีวีผ่านระบบสายและไร้สายต่าง ๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตทำให้ธุรกิจทีวีที่ใช้คลื่นแบบอานาล็อกอยู่ในสภาพที่ไม่แน่นอนและมีอันตรายเป็นอย่างยิ่งที่จะ “ถูกทำลาย” โดยเทคโนโลยีใหม่ที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง
อุตสาหกรรมบางอย่างเช่นพลังงานนั้น ในอดีตเราไม่ใคร่จะนึกว่ามันอาจจะถูกกระทบโดยเทคโนโลยีใหม่ได้ ถ้าจะมีผลก็บ้างก็เป็นเรื่องของผลกระทบด้านบวกที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ทำให้การขุดค้นหาพลังงานนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถช่วยลดต้นทุนของกิจการได้ อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการขุดเจาะและนำเชลแก๊สขึ้นมาใช้ในอเมริกานั้น ว่ากันว่าทำให้ธุรกิจถ่านหินประสบปัญหาเนื่องจากเชลแก๊สมีราคาถูกกว่าถ่านหินและสะอาดกว่า ทำให้ความต้องการถ่านหินลดลงส่งผลให้ราคาถ่านหินลดลงและอาจจะต่อเนื่องไปนาน ผลก็คือ หุ้นของบริษัทผลิตถ่านหินตกลงมาอย่างหนักราวกับว่ามันเป็นธุรกิจตะวันตกดินทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่งมันเป็นธุรกิจดาวรุ่งเนื่องจากความกลัวที่ว่าน้ำมันจะ “หมดโลก” และมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงก่อนหน้านี้
ผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถทำลายล้างเทคโนโลยีเก่าสำเร็จนั้น มักจะเจริญรุ่งเรืองกิจการมีกำไรก้าวกระโดด หลาย ๆ บริษัทกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่มหึมาในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มักจะมีผู้ผลิตรายอื่นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะทำลายเทคโนโลยีที่เคยเป็นผู้ชนะ ผลที่ตามมาก็คือ บริษัทที่รุ่งเรืองตกต่ำลงมากมาย บางทีแทบจะล้มละลาย ดังนั้น ชัยชนะของผู้ผลิตเทคโนโลยีจึงไม่แน่นอนมีขึ้นมีลง บางทีก็เร็วมาก อย่างไรก็ตาม คนที่มักจะได้ประโยชน์อยู่เสมอจากการพัฒนาของเทคโนโลยีก็คือ “ผู้ใช้” ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนหรือพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนเอง
ผู้ใช้เทคโนโลยีที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ ผู้ให้บริการที่ต้องใช้คนจำนวนมาก นี่อาจจะรวมถึงกิจการบริการทางการเงินทั้งหลาย เช่น ธนาคาร บริษัทการเงินที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคจำนวนเป็นล้าน ๆ ราย หรือกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเช่นร้านซุปเปอร์สโตร์อย่างวอลมาร์ท ที่ต้องให้บริการคนทั้งประเทศและใช้พนักงานนับล้านคน เป็นต้น ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้กิจการเหล่านี้สามารถลดต้นทุนการดำเนินงานลงได้มหาศาลและสามารถให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นโดยไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย ตัวอย่างของธุรกิจการเงินที่เห็นก็คือระบบเครื่อง ATM และอินเตอร์เน็ตหรือโฟนแบ้งกิ้งที่ลดภาระงานของพนักงานธนาคารไปจำนวนมาก ในด้านของพวกร้านค้าปลีกสมัยใหม่ก็คือ ระบบบาร์โค้ดที่ลดภาระงานและเพิ่มความรวดเร็วให้แก่การคิดเงินค่าสินค้าของพนักงานแคชเชียร์ นอกจากนั้น ระบบการ “ให้ลูกค้าคิดเงินเอง” ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วก็น่าจะเป็น “คลื่น” ลูกต่อไปที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่
ประเด็นของเทคโนโลยีนั้น เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเหมือนกันว่ามันจะไปทางไหน อย่างไรก็ตาม โดยการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เราก็พอจะบอกได้เหมือนกันว่าบริษัทหรือหุ้นที่เราดูอยู่นั้นมีโอกาสที่จะถูกทำลาย หรือมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราเองคงต้องการแบบหลัง และถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเราก็คงไม่ให้คุณค่ากับมัน แต่ถ้าจะดีที่สุดก็คือ ผมอยากได้ธุรกิจที่จะไม่ถูกกระทบโดยเทคโนโลยีมากกว่า มันก็คงเหมือนกับที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดว่า อินเตอร์เน็ตคงไม่ทำให้การซื้อหรือการเคี้ยวหมากฝรั่งเปลี่ยนไป ดังนั้น เขาสบายใจมากกับการถือหุ้นหมากฝรั่งริกรี่ เช่นเดียวกับหุ้นโค๊กที่ยังไงคนก็ดื่มเหมือนเดิมไม่ว่าเทคโนโลยีอะไรจะเปลี่ยนไป