หน้า 1 จากทั้งหมด 1

วัดพลังหุ้น/ประภาคาร ภราดรภิบาล

โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 03, 2013 9:35 pm
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2556
โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล
วัดพลังหุ้น
   
   “อาวุธใหม่ ในการประเมินมูลค่าหุ้นแบบ VI (Value Investment) ที่จับต้องได้ และใช้งานได้จริง” คือคำนิยามของหนังสือ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ # 2 : วัดพลังหุ้น” ผลงานเขียนเล่มล่าสุดของ “ชัชวนันท์ สันธิเดช” และ “สุภศักดิ์ จุลละศร” ที่ผมจะมาแนะนำกับท่านผู้อ่านในวันนี้ครับ 
   
   หลังจากที่ผู้เขียนทั้งคู่ได้ปูพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ไว้เป็นอย่างดีในหนังสือ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้” ภาคแรก พอมาถึงภาค 2 นี้ ผู้เขียนได้รวบรวมปัจจัยต่างๆ ในการพิจารณาเลือกซื้อหุ้นทั้ง “ปัจจัยเชิงปริมาณ” และ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” มาใช้เป็นเกณฑ์ในการ “วัดพลังหุ้น” เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่า หุ้นที่เราหมายตาอยู่นั้นมี “พลัง” พอที่จะเข้าไปซื้อลงทุนหรือไม่
   
   เนื้อหาในเล่มมีการแบ่งหมวดหมู่ในการ “วัดพลังหุ้น” ออกมาเป็น 4 หมวดหมู่ใหญ่ๆ คือ 
   
   1. ความแข็งแกร่งของธุรกิจ (Strength) ได้แก่ การพิจารณาสภาพและแนวโน้มของอุตสาหกรรม, สถานการณ์การแข่งขัน, ความเป็นผู้นำตลาด, อำนาจในการกำหนดราคา, ความสามารถในการต่อรองต้นทุน, โครงสร้างเงินทุนของบริษัท, ความสามารถในการจ่ายหนี้, สภาพคล่องของบริษัท, สัญญาณเชิงลบในงบดุล, ฯลฯ  
   
   2. การเติบโตของธุรกิจ (Growth) ได้แก่ การพิจารณาเกี่ยวกับการเติบโตของยอดขาย, การเติบโตของกำไร, อัตรากำไรขั้นต้น, อัตรากำไรสุทธิ, อัตราส่วน ROE, ส่วนแบ่งตลาด, การจ่ายเงินปันผล, ฯลฯ
   
   3. การบริหารจัดการ (Management) ได้แก่ การฉ้อฉลของผู้บริหาร, ผลประโยชน์ทับซ้อน, โครงสร้างการถือหุ้น, โครงสร้างการบริหารและบทบาทของผู้บริหาร, การจัดการภาวะวิกฤติ, ฯลฯ 
   
   4. ความดึงดูดของราคา (Price Attraction) เป็นการดูว่าราคาหุ้นมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหนในการเข้าซื้อ
   
   หลังจากพิจารณาข้อดีข้อด้อยจากเกณฑ์ต่างๆในแต่ละหมวดหมู่อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การประมวลผลเพื่อวัดพลังหุ้นว่ามีความน่าลงทุนแค่ไหน พร้อมด้วยการยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เข้าใจง่าย
   
   ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือว่า “เราได้พยายามเขียนให้ “เข้าใจง่าย” ครอบคลุมทุกเรื่องที่ควรพิจารณา ด้วยวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ต้องใช้การประเมินมูลค่าแบบซับซ้อน”
   
   สำหรับผู้ที่สนใจการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) นี่คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ให้มุมมองในการพิจารณาปัจจัยในการลงทุนได้อย่างรอบด้าน และสามารถนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการลงทุนได้เป็นอย่างดี 
[/size]