Appreciate Thailand/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ พ.ค. 19, 2013 10:24 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 18 พ.ค. 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Appreciate Thailand
คนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่เป็นคนร่ำรวยมีเงินทองในระดับเศรษฐีหรือคนที่เป็นคนชั้นกลางระดับสูงที่มีรายได้มากและกำลังสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มักจะชอบวิจารณ์หรือบางทีถึงกับก่นด่าว่าประเทศไทยนั้นมีเรื่องที่ “แย่ ๆ” มากมายที่กำหนดหรือสร้างขึ้นโดย “รัฐ” นักการเมืองเองก็เอาแต่กอบโกยหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือไม่ก็ใช้เงินที่ได้จากภาษีที่มาจากคนที่ทำงานมีรายได้สูงเอาไปแจกจ่ายให้กับฐานเสียงของตนเองซึ่งเป็นประชาชนที่มีรายได้ต่ำโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ แต่ส่วนที่ “ดี ๆ” ของประเทศไทยนั้นดูเหมือนว่าจะมาจาก “คนไทย” และ “ขนบธรรมเนียม” ต่าง ๆ ของคนไทยที่ทำให้ประเทศนี้ “น่าอยู่” มากกว่าที่อื่นใดในโลก
ผมเองคงไม่ไปถกเถียงในเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ ของการทำงานของรัฐไทยว่าดีเลวอย่างไร ว่าที่จริงผมเองก็เคยมีความคิดแบบนั้น แต่หลังจากที่ผมกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวและกลายเป็นคนที่มีเงินมากอยู่เหมือนกันและเงินเหล่านี้ล้วนเกิดหรือถูกสร้างขึ้นในประเทศไทยโดยคนไทยโดยเฉพาะที่เป็นคนมีเงินน้อยและภายใต้กฎเกณฑ์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีเงินน้อยเช่นกัน ผมเริ่มจะรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเคยคิดว่า “แย่ ๆ” นั้นมันอาจจะไม่จริง ตรงกันข้าม ผมคิดว่าผม “โชคดี” ที่เกิดและทำงานหากินในประเทศไทย ผมรู้สึกแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Appreciate ประเทศไทย” นั่นคือ ผมรู้สึกขอบคุณประเทศไทย รู้สึกพึงพอใจที่ได้เป็นคนไทยและลงทุนในประเทศไทย รู้สึกเห็นคุณค่าของประเทศไทย และผมคิดว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่คิดอย่างนั้น เพราะผมมีเพื่อนหรือรู้ว่าชาวต่างชาติจำนวนมากที่เป็นคน “มีสตางค์” นั้น ไม่ได้ “โชคดี” อย่างเรา พวกเขาถูก “ลิดรอน” ความมั่งคั่งด้วยภาษีและการกระทำหรือนโยบายหลายอย่างที่ทำให้ความมั่งคั่งที่มาจากหยาดเหงื่อและแรงงานลดลงจนบางที “ไม่รู้จะทำอย่างไร”
ตัวอย่างเช่นชาวเมริกันนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนและทำงานที่ไหนในโลก พวกเขาจะต้องถูกรัฐเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลี่ยงไม่ได้ เพื่อนนักลงทุนชาวอเมริกันของผมที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยคนหนึ่งบอกกับผมว่าแต่ละปีเขาต้องเสียภาษีนับสิบล้านบาทให้กับรัฐบาลอเมริกันจากผลตอบแทนที่เขาได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ทำงานหรือมีรายได้ในอเมริกาเลย ว่าที่จริงเขาแทบไม่ได้กลับอเมริกาเลยบางทีเป็นปี ๆ สำหรับเขาในเวลานี้แล้ว เมืองไทยคือบ้าน เขามีความสุขในการใช้ชีวิตและลงทุนในตลาดหุ้นไทยและคงอยู่ไปเรื่อย ๆ ตลอดไป ผมถามเขาว่าสรรพากรของอเมริกาจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย เขาตอบว่า ถ้าเขาโกงภาษีและถูกจับได้ก็ต้องติดคุก ดังนั้นเขาไม่เสี่ยงแน่นอน ผมถามต่อว่าทำไมไม่แปลงสัญชาติอย่างที่ดาราหรือคนดังที่มีรายได้มากอย่าง จิม โรเจอร์ นักลงทุนทำกรณีแปลงสัญชาติเป็นคนสิงคโปร์ เขาบอกว่าเขาก็ทำ แต่การ “ยกเลิก” สัญชาติอเมริกันนั้น คุณก็จะต้องจ่ายภาษีทั้งหมดที่คุณกำไรจากหุ้นแม้ว่าคุณจะไม่ได้ขายมัน ซึ่งนั่นก็จะเป็นเงินมหาศาล อาจจะเป็นร้อย ๆ ล้านบาท เห็นหรือยังครับว่าการเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลของคนอเมริกันนั้นมันยากเข็ญแค่ไหน? โชคดีที่ผมไม่ใช่คนอเมริกัน!
ถ้าคุณเป็นคนญี่ปุ่นและมีทรัพย์สินมาก เวลาคุณตาย รัฐก็จะเก็บภาษีจากทรัพย์มรดกของคุณอย่างหนัก ดังนั้น ความมั่งคั่งที่คุณสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงตลอดชีวิตก็จะถูกรัฐเอาคืนไปเหลือถึงลูกหลานน้อยไปมาก เช่นเดียวกัน การมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าตลาดสูงซึ่งรวมถึงบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยนั้น ทุกปีก็จะถูกเก็บภาษีทรัพย์สินที่หนักหนาสาหัส นี่คือสิ่งที่เป็นในประเทศที่เจริญแล้วแทบจะทั่วโลก ดังนั้น แม้ว่าในบางครั้งคุณจะไม่ได้ทำอะไรกับทรัพย์สินที่มีค่าที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คุณก็จะถูกเก็บภาษีซึ่งยิ่งเวลานานไปความมั่งคั่งของคุณก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของความมั่งคั่งที่ในประเทศไทยยังไม่มี ดังนั้น สำหรับคนที่ร่ำรวยโดยเฉพาะที่มีที่ดินมากเขาควรจะต้อง Appreciate ประเทศไทย
ผมยังมีเพื่อนชาวต่างชาติที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามในช่วงเร็ว ๆ นี้ เขาเล่าว่าหุ้นมีราคาถูกมาก PE ของบริษัทชั้นนำที่ดี ๆ มีค่าไม่เกิน 10 เท่า และเศรษฐกิจกำลังเติบโต เขาทำกำไรจากหุ้นได้ไม่เลวนักแต่ปัญหาก็คือเรื่องของเงินเฟ้อและค่าเงินรวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยังค่อนข้างยุ่งยาก ผลก็คือ บางทีก็ขาดทุน อย่างไรก็ตาม เขาก็ยัง “เข้า-ออก” ตลาดหุ้นเวียตนามเป็นระยะแบบนักเก็งกำไร แต่ถ้ามองในฐานะของคนเวียตนามเองผมคิดว่าการเป็นคนมีเงิน รวมถึงการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นนั้น คงจะไม่สะดวกสบายหรือให้ผลตอบแทนที่ดีนักเมื่อคำนึงถึงว่าดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อยังสูงลิ่วซึ่งทำลายค่าเงินตลอดเวลา ค่าเงินด่องเองก็ไม่มีเสถียรภาพและลดค่าลงเรื่อย ๆ ทำให้กำลังซื้อสินค้าจากต่างประเทศหรือการไปเที่ยวต่างประเทศของคนเวียตนามที่ “มีสตางค์” ลดต่ำลง นอกจากนั้น ถ้าเข้าใจไม่ผิด การเป็นคนรวยในสังคมเวียตนามเองก็ยังเป็นสถานะที่ “ถูกเพ่งเล็ง” จากทางการหรือสังคมอยู่ ซึ่งทำให้ชีวิตคนรวยนั้นอาจจะไม่สดใสเท่ากับคนรวยของไทยที่มักจะเป็นที่นิยมชมชอบของคนในสังคม ดังนั้น คนที่มีฐานะดีควรที่จะ Appreciate ประเทศไทย
ผู้บริหารชาวต่างชาติที่ถูกส่งมาจากบริษัทแม่ที่มาทำงานในกิจการของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยที่เรียกว่า Ex-Pat โดยเฉพาะที่เป็นคนญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีความสุขมากที่ได้มาทำงานในไทย เพราะชีวิตและมาตรฐานความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีและสูงขึ้นมาก พวกเขามีรถหรูพร้อมคนขับรถ มีแม่บ้านรับใช้ มีบ้านหรู และมีสิ่งอื่น ๆ อย่างกับ “ราชา” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่มีในประเทศของตนเอง ดังนั้น เวลาที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นได้รับการคัดเลือกให้มาทำงานในไทย พวกเขาจะดีใจมาก แต่ในวันที่พวกเขาถูกเรียกตัวกลับนั้น บางคนบอกว่าพวกเขาแทบจะร้องไห้ การมีเงินนั้น คุณสามารถซื้ออะไรหลาย ๆ อย่างในประเทศไทยที่มีราคาถูกมากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอีกหลายประเทศ ตัวอย่างเช่นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจ้างแม่บ้านอยู่ดูแลรับใช้ในญี่ปุ่นแม้ว่าคุณจะมีเงินค่อนข้างมาก ดังนั้น เราควร Appreciate ประเทศไทย
ถ้าจะให้หรือจัดอันดับกันแล้ว ผมคิดว่าประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเมืองที่เป็น “เพื่อน” กับคนที่ร่ำรวยหรือฐานะดีมีความมั่งคั่งสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งมองจากด้านของระบบภาษี กฎเกณฑ์ และสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงขนบประเพณีวัฒนธรรม ถ้าจะมีประเทศไหนที่โดดเด่นกว่าเมืองไทยชัดเจนนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิงคโปร์ที่เขามีการแก้ไขปรับปรุงระบบภาษีและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเป็นแหล่งดึงดูดคนมีเงินทั่วโลกเข้ามาเพื่อเพิ่มพลเมืองและสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้าและมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จุดอ่อนของไทยและของสิงคโปร์ในแง่ของการใช้ชีวิตนั้นน่าจะอยู่ที่เรื่องของภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนตลอดปีซึ่งผมคิดว่ามีส่วนทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ง่ายและทำให้กิจกรรมหลาย ๆ อย่างนอกอาคารไม่รื่นรมย์
ในฐานะของการเป็นคนไทยและเป็นนักลงทุนนั้น ผมคิดว่าแม้ว่าเราจะมีปัญหาและความขัดแย้งมากมายในสังคม การเมือง และความคิดในเรื่องของการกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านกฎหมายและเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายจนหลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นมี “ความเสี่ยงของประเทศ” ค่อนข้างสูง แต่ผมก็ยังคิดว่านับจนถึงวันนี้ประเทศไทยเองก็ยังไม่เคยที่จะหลุดเข้าไปอยู่ใน “แดนสนธยา” ที่นักลงทุนหรือคนที่สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองซึ่งส่งเสริมให้ประเทศก้าวหน้าในแนวทางทุนนิยมไม่สามารถเติบโตอย่างมั่นคงได้ ผมเองก็ได้แต่หวังว่าประเทศไทยจะยังรักษาสถานะแบบนี้ได้ต่อไปได้อีกยาวนาน และตราบใดที่มันยังเป็นแบบนั้น ผมเองก็อยากจะบอกความรู้สึกของผมว่า ผม Appreciate ประเทศไทยอันเป็นที่รักที่ทำให้ผมมีวันที่ดี ๆ เช่นในวันนี้ในฐานะของนักลงทุน