ก้าวเล็ก ๆ ในตลาดหุ้น-ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต/ดร. นิเวศน์ เหม
โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มี.ค. 03, 2013 8:48 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
ในช่วงประมาณปี 2539 ถึงปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทยนั้น ผมเองเป็นหนึ่งในผู้บริหารสถาบันการเงินที่ตกอยู่ในท่ามกลาง “มรสุม” ที่พัดกระหน่ำสถาบันการเงินและกิจการธุรกิจเกือบจะทุกแห่งของประเทศไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุด แต่ละวันเราต้องหาทาง “เอาตัวรอด” นั่นก็คือ หาเงินจากทุกแหล่งที่ทำได้เพื่อนำมาคืนผู้ฝากเงินที่กำลังขาดความมั่นใจและทยอยถอนเงินออกเมื่อตั๋วเงินครบกำหนดอายุการฝาก ทุกวันพนักงานที่ดูแลการฝากเงินจะรายงานว่าวันนั้นมีคนมาถอนออก “สุทธิ” เป็นจำนวนเท่าไร ตัวเลขสามสี่ร้อยล้านบาทดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่ “ปกติ” เราเรียกมันว่า Bleeding หรือเลือดไหลไม่หยุดและในไม่ช้าเราอาจจะต้อง “ตาย” เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหยุดมัน วิธีหนึ่งก็คือ การรวมกิจการสถาบันการเงินหลายๆ แห่งแล้วก็อาจจะหาทุนมาเพิ่ม แต่ในยามนั้นไม่มีใครต้องการถือหุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน ดูเหมือนว่าธุรกิจกำลังล้มละลายทั้งประเทศ และแล้วเมื่อมีการประกาศลอยค่าเงินบาทในกลางปี 2540 บริษัทจำนวนมาก และเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเกือบทั้งหมดก็ “ล้ม” กันจริงๆ
ผมต้องถูกให้ออกจากงาน ด้วยวัย 44 ปี และวุฒิการศึกษาปริญญาเอกทางด้านการเงิน โอกาสที่จะหางานใหม่ในธุรกิจการเงินไม่มีเพราะสถาบันต่างๆ ถูกปิดหรือลดขนาดลง มีลูกเล็กที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนอินเตอร์ที่มีค่าเล่าเรียนแพงลิ่วปีละหลายแสนบาท และภรรยาทำงานพาร์ทไทม์ในฐานะครูเปียโนผมย่อมต้องกังวลว่าจะ “ทำอย่างไรกับชีวิต” หรือถ้าจะพูดกันให้ตรงที่สุดก็คือ จะจัดการเรื่องการเงินอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ธุรกิจต่างๆ กำลัง “ล่มสลาย” โชคยังดีที่ผมพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทบวกลบ เงินจำนวนนี้ผมคิดดูแล้วไม่เพียงพอที่จะส่งลูกเรียนตลอดจนจบปริญญาตรีในสายที่เป็นการเรียนอินเตอร์ได้ถ้าผมไม่ทำอะไรซักอย่างนอกจากการฝากเงินกินดอกเบี้ย การบริหารการเงินส่วนบุคคล “มาตรฐาน” ที่บอกว่า ถ้าอายุมากและโอกาสทำงานหาเงินในอนาคตมีน้อยเราก็ไม่ควรลงทุนในอะไรที่ “เสี่ยง” เช่น หุ้น เพราะถ้าเรา “พลาด” เราจะไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้อีก แต่ถ้าไม่ลงทุนในหุ้นเพราะ “เสี่ยงเกินไป” และการฝากเงินก็ไม่ใช่ทางออก การ “ทำธุรกิจ” เองก็ยิ่งเสี่ยง โดยเฉพาะในยามที่ความต้องการของประชาชนลดลงมากมาย แล้วผมจะต้องทำอย่างไรที่จะสามารถรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตแบบเดิมได้?
ทางออกที่ผมค้นพบก็คือ Value Investment! ลงทุนในหุ้นเหมือนกับการทำธุรกิจ ว่าที่จริงจุดเริ่มต้นจริงๆ ควรจะเป็นว่าผม “ทำธุรกิจ” โดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเงิน 10 ล้านบาท ผมสามารถเริ่มทำธุรกิจได้ ไม่ใช่ธุรกิจเดียว แต่หลายๆ ธุรกิจ ธุรกิจที่ผมเลือกนั้นจะต้อง “ปลอดภัย” ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรง เช่น อาหารราคาถูก หรือกิจการส่งออกที่ประเทศไทยกำลังได้เปรียบในเรื่องของค่าเงินบาทที่ลดลงมาก ผมวิเคราะห์แล้วพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลประกอบการที่ดี มีฐานะการเงินยอดเยี่ยมแทบจะ “ปลอดหนี้” ละบริษัทนั้นปลอดภัยดีทีเดียวในแง่ของการดำเนินการ ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น “ถูกเหลือเชื่อ” ค่า PE มักไม่เกิน 10 เท่า หลายบริษัทเพียง 6-7 เท่า เฉพาะปันผลที่ผมจะได้เมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็ประมาณปีละ 10% ซึ่งแปลว่า ด้วยเงิน 10 ล้านบาท ผมจะได้รับปันผลถึงปีละ 1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่ผมจะใช้จ่ายได้โดยไม่กินเงินต้นเลย อาจจะมีประเด็นว่า หุ้นเหล่านั้นแทบไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย คือซื้อได้ แต่อย่าหวังที่จะขายได้ราคา ถ้าจะว่าไป ตลาดหุ้นโดยรวมก็มีการซื้อขายน้อยมาก วันละประมาณ 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น แต่ผมก็ไม่แคร์เลย เพราะผมลงทุนโดยมีสมมุติฐานว่าผม “ทำธุรกิจ” ผมพร้อมที่จะถือมันไปตลอดชีวิต
แน่นอน ผมไม่ได้เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ผม “เล่นหุ้น” มานานก่อนหน้านั้นเป็นสิบปี การเล่นหุ้นของผมนั้นเป็นเรื่องของการ “เสี่ยงโชค” โดยอาศัยฝีมือในการวิเคราะห์ผลประกอบการระยะสั้นๆ ของกิจการประกอบกับภาวะตลาดหุ้น ผมเล่นหุ้นเพราะต้องการได้กำไรเร็วๆ เงินที่ได้กำไรนั้นผมก็จะเก็บเข้ามาในบัญชีเงินฝากรวมเข้ากับเงินเดือนและรายได้อื่นๆ ที่ผมได้รับ สำหรับผม มันคล้ายๆ กับเงินโบนัสที่จะทำให้ผมมีเงินเก็บเพิ่มเร็วขึ้นและมากขึ้น แต่มันไม่เคยเป็น “ชีวิต” ของผม ผมไม่ต้องการ “เสี่ยง” เงินจำนวนมากในตลาดหุ้น ผมไม่เคยคิดที่จะ “รวย” จากหุ้นหรือตลาดหุ้น ผมคิดว่าถ้าจะรวยก็ต้องมาจากการทำงาน ว่าที่จริงผมไม่เคยคิดที่จะรวยอย่างจริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำเพราะผมรู้สึกว่าเวลาของการที่จะร่ำรวยของผมมันผ่านไปแล้วหลังจากที่ผมไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา การจบปริญญาเอกนั้นผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยที่ลดโอกาสของการที่จะเป็นคนรวยไปมากเนื่องจากข้อแรก มันเสียเวลากับการเรียนมาก และข้อสอง มันทำให้เราไม่กล้าเสี่ยง
ผมเป็น Value Investor โดยความจำเป็น การเปลี่ยนแปลงจากคนเล่นหุ้นเป็น VI ในช่วงปี 2539-40 นั้นเพื่อความอยู่รอด ไม่ได้หวังรวยเร็วและก็ไม่คิดว่าจะรวย แม้ว่าต่อมาเมื่อเริ่มเห็นผลว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดีโดยมีความเสี่ยงต่ำผมจะเริ่มตั้ง “ความฝัน” ว่าจะรวย แต่ทั้งหมดนั้นก็อิงอยู่กับผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ความรวยที่ผมหวังนั้น มาจากระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวมาก คือผมคิดที่จะลงทุนไปจนตายที่ประมาณ 80 ปี ซึ่งโดยวิธีแบบนี้ ทุกคนสามารถรวยได้ถ้ามีความตั้งใจพอและรักษาหลักการลงทุนแบบปลอดภัยสไตล์ VI อย่างมั่นคง
“ก้าวเล็ก ๆ” ที่ผมเริ่มเดินเข้าไปในตลาดหุ้นโดยเปลี่ยนวิธีการลงทุนเป็นแบบ VI ในปี 2540 นั้น ได้ส่งผลที่ยิ่งใหญ่กับชีวิตของผม ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ ผมคิดว่าโชคคงมีส่วนอยู่ไม่น้อย ผมบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งในชีวิตที่เคยตั้งไว้ก่อนเวลา 20 ปี ที่จริงมากกว่าที่ตั้งไว้หลายเท่า นอกจากเงินแล้ว แนวความคิดเรื่อง Value Investment ที่ผมเผยแพร่มาตลอดกว่า 15 ปีได้กลายเป็นแนวความคิดหลักอย่างหนึ่งในตลาดหุ้นไทย คนที่ใช้แนวทางนี้ในการลงทุนต่างก็ทำกำไรได้มากมาย หลายๆ คนนั้นรวยเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่ถึง 40 ปีจากการลงทุนแบบ VI และนั่นทำให้คนจำนวนมากต่างก็มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น
ประเด็นก็คือ คนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงนี้ต่างก็มักจะก้าวเข้ามาด้วย “ก้าวที่ยิ่งใหญ่” เพียงไม่กี่เดือนหรืออาจจะเพียงปีหรือสองปีเขาก็คิดไปถึงวันที่ตนเองจะรวยเป็นเศรษฐีที่คนทำงานหรือผู้ประกอบการอาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลายสิบปี พวกเขาคงคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้และผลตอบแทนที่เขาทำได้ในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไปอีกนานเท่านานซึ่งทำให้เขารวยได้แม้ว่าจะเริ่มด้วยเงินลงทุนที่ไม่มาก แต่นี่จะเป็นจริงหรือ? ส่วนตัวผมเองคิดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจจะซักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงเวลา “พิเศษ” สำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ไทยที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่นักลงทุนทั้งโลก “อิจฉา” แต่สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ และต่อเนื่องยาวนาน ผมเชื่อว่าช่วงเวลาพิเศษนี้น่าจะใกล้จบลงและตลาดหุ้นไทยและ VI จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ดังนั้น ผมคิดว่าคนที่กำลังเข้ามาในตลาดหุ้นควรที่จะรักษา “ก้าว” ที่จะเข้ามาในตลาดให้เป็น “ก้าวเล็ก ๆ” คืออย่าหวังผลเลิศเกินไป และถ้าทำได้แบบนี้ มันก็จะกลายเป็น “ก้าวที่ยิ่งใหญ่” ในชีวิตในอนาคต