หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ลงทุนความรู้/ประภาคาร ภราดรภิบาล

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.พ. 09, 2013 9:19 pm
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

โดย ประภาคาร ภราดรภิบาล

ลงทุนความรู้ 

   จากการติดตามเรื่องราวของ “นักลงทุนระดับแนวหน้าของโลก” หลายๆท่าน ทำให้ผมได้พบ “จุดร่วม” ที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า บรรดานักลงทุนชั้นเซียนเหล่านั้น ต่างก็เป็น “นักอ่านตัวฉกาจ” แทบทั้งสิ้น พวกเขาให้เวลากับ “การอ่าน” เพื่อหาข้อมูลความรู้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการคิด-วิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุน มากกว่า “การจับจ้องอยู่ที่หน้าจอหุ้น” เพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น 

   “จิม โรเจอร์” เจ้าของฉายา “อินเดียน่า โจนส์ แห่งวงการไฟแนนซ์” กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านที่มีต่อการลงทุนว่า “ผมเรียนรู้ตั้งแต่ในช่วงแรกๆที่ผมลงทุนว่า หากคุณอ่านรายงานประจำปี คุณได้ทำการบ้านมากกว่านักลงทุน 90 % ในตลาดแล้ว หากคุณอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย คุณได้ทำการบ้านมากกว่านักลงทุน 95 % ในตลาด และถ้าหากคุณนั่งลงทำไฟล์ข้อมูลหรือ Spread Sheet ด้วยแล้วล่ะก็ คุณได้ทำการบ้านมากกว่านักลงทุน 98 % ในตลาดเลยทีเดียว”

   “จอห์น เนฟฟ์” ผู้บริหารกองทุน Windsor ก็เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอ่านเช่นเดียวกัน เขาเล่าว่า “ผมใช้เวลาในการอ่านและวิเคราะห์ข่าวต่างๆอย่างพิถีพิถัน เพื่อเฟ้นหาบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เมื่อได้บริษัทที่น่าสนใจ ผมจะพิจารณาอย่างละเอียดว่าธุรกิจของกิจการนั้นดีจริง”

   เนื่องจากในยุคปัจจุบันที่โลกของเราท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร การรู้จัก “กลั่นกรองข้อมูล” ที่อ่านจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุน ดังที่ “บาร์ตัน บิกส์” ผู้ก่อตั้ง “มอร์แกน สแตนเล่ย์” เคยกล่าวไว้ว่า “งานใหญ่ของนักลงทุนผู้มุ่งมั่นก็คือ การกลั่นข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกองมหึมาออกมาเป็นความรู้ จากนั้นก็สกัดความหมายทางการลงทุนออกมาจากมัน”   
                 
   เคยมีผู้สัมภาษณ์ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ว่า เขาหาบริษัทดีๆที่น่าลงทุนพบได้อย่างไร เขาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ในเวลาว่าง ผู้ชายคนอื่นๆ อ่านหนังสือเพลย์บอย แต่ผมอ่านรายงานประจำปี” และเมื่อถามว่าเขาอ่านรายงานประจำปีของบริษัทต่างๆ ปีละกี่เล่ม “บัฟเฟตต์” ตอบว่า เขาอ่านรายงานประจำปีเยอะมาก ปีหนึ่งเขาน่าจะอ่านเป็นร้อยเล่ม

   ว่ากันว่า “บัฟเฟตต์” ใช้เวลาประมาณวันละ 6 ชั่วโมงในการอ่านหนังสือ นอกจากรายงานประจำปีแล้ว เขายังอ่านหนังสือพิมพ์อย่าง Financial Times, Wall Street Journal, New York Times รวมไปถึงนิตยสารทางด้านการเงินอย่างเช่น นิตยสาร Fortune อีกด้วย 

   “ตลอดทั้งชีวิตของผม ผมไม่เคยเจอคนฉลาดๆคนไหนที่ไม่ได้อ่านตลอดเวลา ไม่เคยเจอเลยสักคนจริงๆ” เป็นคำพูดของ “ชาร์ลี มังเจอร์” คู่หูของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ซึ่งก็เป็นหนอนหนังสือตัวยงเช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า “ตราบใดที่ผมมีหนังสือในมือ ผมไม่รู้สึกเลยว่ากำลังเสียเวลา” นั่นจึงทำให้เขามักจะพกหนังสือติดตัวอยู่เสมอ

   “มังเจอร์” ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจไว้ว่า “คนชอบคิดว่าจะเอาเวลาที่มีอยู่ไปทำงานหารายได้พิเศษอะไรดี บางที คำตอบก็คือการขายเวลานั้นให้ตัวเอง เพื่อให้ตัวเองใช้เวลาที่ว่าไปกับการอ่านหนังสือและการพัฒนาตัวเอง” 

   สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเอง “การอ่าน” ถือเป็นการ “ลงทุนความรู้” อย่างหนึ่งที่จะช่วยเสริมศักยภาพทางปัญญาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่คิดจะ “เริ่มต้นลงทุน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “ลงทุนความรู้” ให้มากพอก่อนที่จะ “ลงสนาม” เพราะความรู้คือปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน 
 
   และที่สำคัญก็คือ การ “ลงทุนความรู้” ด้วย “การอ่าน” นั้น ควรจะต้อง “เลือกอ่าน” ในสิ่งที่มีคุณค่าที่สามารถนำไปต่อยอด หรือนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการลงทุน
[/size]

Re: ลงทุนความรู้/ประภาคาร ภราดรภิบาล

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 10, 2013 1:03 am
โดย yy
ผมอ่านตีแตกตั้งแต่ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ออกมาใหม่ๆ
และอ่านหนังสือแนวการลงทุน (ไม่ใช่แนวกราฟ) นี้มาอย่างต่อเนื่อง ... นับได้หลายสิบเล่ม (เกิน 40 เล่ม)
...
ผมมาลงทุนจริงๆ ตอนปี ที่เกิด sub-prime พอดี ... ยังเอาตัวเกือบไม่รอด
หายไปเกือบ 40% (SET ลบไปเกือบๆ 60 % น่าจะได้)
...
ถึงตอนนี้ ผมมีหนังสือในสต็อคเกิน 100 เล่มแล้วมั้ง ...
ผลงานเป็นที่น่าพอใจประสาคนมักน้อย หวังความมั่นคงของเงินต้น ... กำไรน้อยไม่ว่า แต่ก็ดีกว่าฝากประจำเยอะมากๆ
แต่ก็ยังไม่มั่นใจนะครับว่า ถ้าวิกฤติมาอีกรอบจะเป็นอย่างไร
....
แต่ก็มีแค่บางเล่มเท่านั้นนะครับ ... ที่ผมหยิบมาอ่านซ้ำอยู่บ่อยๆ เวลาที่สับสนในแนวทางหรือขาดความนิ่ง
โดยเฉพาะในเวลาที่แม้แต่ไก่งวงยังบินได้ ดังเช่นเวลานี้

Re: ลงทุนความรู้/ประภาคาร ภราดรภิบาล

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.พ. 10, 2013 12:49 pm
โดย Tibular
อ่านมากก็ใช่ว่าจะรู้มากหรือเข้าใจมาก แต่อยู่ที่วิธีคิดต่างหาก

ยิ่งอ่านมากแต่จับประเด็นติดต่อเรื่องราวต่างๆไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์
วิธีคิดไม่ถูก ความคิดที่ไม่ถูกจะพาเรามั่วไปเรื่อยๆ ทำให้เราคิดเองเออเอง

แต่การอ่านมากทำให้ซึมซับภาพในด้านต่างๆได้ดี เปรียบเหมือนการต่อจิ๊กซอ
แต่จะอ่านเท่าไหร่ถึงจะเห็นภาพได้ดีก็ขึ้นกับความสามารถของแต่ละคน

วิธีคิดที่ถูกต้องได้มาจากไหน ก็ได้มาจากการแยกแยะปัจจัยต่างๆได้ชัดเจน
รวมถึงผลกระทบของปัจจัยต่างๆต่อปัจจัยต่างๆได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
ไม่มีความลำเอียง ใช้ความต่อเนื่อง ดูให้นาน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามที่เราคิด
แม้ว่ามันจะเกิดต่อเนื่องยาวนาน

แต่มันเป็นเหตุเป็นผลตามเหตุปัจจัยของมันเอง ตรงนี้จึงเป็นศิลปะของแต่ละคน
ตามแต่ความสามารถของแต่ละคนซึ่งเลียนแบบกันไม่ได้

ดังนั้น แม้คนมีความรู้ มีประสบการณ์ หรือทฤษฎีต่างๆ จึงผิดพลาดได้เสมอ ต้องไม่ประมาท