หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ภาษีคู่สมรส/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: จันทร์ ก.พ. 04, 2013 10:15 am
โดย Thai VI Article

โค้ด: เลือกทั้งหมด

   สมาคมนักวางแผนการเงินไทยได้จัดสัมมนาเรื่องการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคู่สมรสตามกฎหมายใหม่ ดิฉันเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงขอนำมาแบ่งปันค่ะ
   ท่านผู้อ่านคงทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นการกำหนดให้รายได้อื่นๆนอกเหนือจากเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40(1)ของหญิงที่มีสามีและจดทะเบียนสมรส ต้องนำไปคำนวณรวมภาษีกับสามีนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 30 ที่กำหนดว่า
   “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” 
   กรมสรรพากรจึงได้ทำการยกร่าง จนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯประกาศเป็นพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 ทันสำหรับปีภาษี 2555 พอดี จากแต่เดิมที่คาดกันว่าจะมีผลในปี ภาษี 2556
   เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ บทความนี้จะขอสรุปความเห็นและประเด็นที่วิทยากรทั้งสี่ท่านคือ ศ.(พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล รศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อาจารย์ ประภาศ คงเอียด และ อาจารย์อดิศักดิ์ สืบประดิษฐ์ ได้บรรยายและให้ความเห็นเอาไว้ โดยไม่ระบุว่าเป็นความเห็นของผู้ใดเป็นการเฉพาะเจาะจง
   การเสียภาษีของคู่สมรสของไทยใช้แนวคิดดั้งเดิมว่า ภรรยาไม่ได้ทำงาน และป้องกันการเลี่ยงภาษีโดยการแบ่งแยกเงินได้ให้ฐานต่ำลง แต่อาจไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม เพราะกลายเป็นว่า Marriage Tax = Marriage Penalty หรือภาษีของคู่สมรส กลายเป็นการลงโทษที่มีการสมรสแบบเป็นทางการ
   ซึ่งลักษณะภาษีแบบนี้ ไม่ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคม มีตัวอย่างคู่สมรสจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนักธุรกิจ ที่สมรสไม่จดทะเบียน หรือต้องไปจดทะเบียนหย่า เมื่อมีเหตุการณ์ที่จำเป็นทางภาระภาษีหรือต้องการจำกัดความรับผิดทางการเงิน และวิทยากรยังเล่าว่า เมื่อเหตุการณ์สิ้นสุดลง ฝ่ายชายหลายคนไม่ยอมกลับคืนไปจดทะเบียนสมรสกับภรรยา
   สาเหตุที่เป็นบทลงโทษในการสมรส เพราะเงินได้ในมาตรา 40(2) ถึง (8)ของภรรยาตั้งแต่บาทแรก จะถูกนำไปคำนวณภาษีในอัตราบาทสุดท้ายของสามี และหากภรรยาไม่มีเงินได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างตามมาตรา 40(1) ก็หมายถึงการไม่มีสิทธิ์ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ 150,000 บาทแรกอีกด้วย
   ทั้งเมื่อนำเงินได้มารวมกันเพื่อเสียภาษี คู่สมรสจะสามารถหักค่าใช้จ่ายของสามีได้ 60,000บาท และของภรรยาได้เพียง 40,000 บาท แทนที่จะเป็นคนละ 60,000 บาท หากเป็นโสด
ในต่างประเทศ การเสียภาษีของคู่สมรสจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้เลือกได้ว่าจะยื่นรวมหรือจะแยก โดยหากยื่นรวม อาจจะมีอัตราภาษีอีกบัญชีหนึ่ง เช่น สหรัฐอเมริกา และไอร์แลนด์ หรือใช้ระบบตัวหาร แบบในฝรั่งเศส
   กลุ่มที่สอง แยกเงินได้ของสามีภรรยา โดยอาจแยกคำนวณและโอนค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนระหว่างกันได้ เช่นของสหราชอาณาจักร หรือสิงคโปร์ แยกคำนวณและกำหนดค่าลดหย่อนไว้เป็นพิเศษสำหรับคู่สมรส หรือแบบญี่ปุ่นที่แยกกันยื่น แยกคำนวณ และอัตราภาษีเหมือนคนโสด
   ไม่ว่าจะใช้หลักการใด ต้องมีความยุติธรรม และไม่ควรลงโทษผู้ที่สมรสจดทะเบียนค่ะ
   เอาละค่ะ ทีนี้มาถึงกฎหมายใหม่ของไทยแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 คือ คู่สมรสมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกคำนวณภาษี ดังนั้นจะเลือกแบบใหม่ควรจะต้องทดลองคำนวณดูก่อนที่จะยื่นค่ะ ปีนี้รวม ปีหน้าแยกก็ได้ และมีการแบ่งรายได้ให้คิดพอสมควร สำหรับผู้ที่มีรายได้ในหลายๆมาตรา
   ดังนั้น คู่สมรสมีทางเลือกดังนี้
   หนึ่ง แยกยื่นแบบแสดงรายการ ดิฉันมองว่าเหมาะสำหรับคู่สมรสที่ภรรยาไม่มีรายได้ตามมาตรา 40(1) คือไม่มีเงินเดือนหรือค่าจ้าง เพราะภรรยาจะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ 150,000 บาทแรกได้  สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(2) ถึง (8) หากแยกไม่ได้ ให้แบ่งคนละครึ่ง  สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(8)สามารถตกลงแบ่งกันได้ตามแต่จะเห็นสมควร
   สอง รวมยื่นแบบแสดงรายการโดยรวมเงินได้ทั้งหมดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจจะเลือกนำไปรวมให้สามีทั้งหมด หรือนำไปรวมให้ภรรยาทั้งหมด 
   สาม รวมยื่นแบบแสดงรายการ โดยแยกเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(1) ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกมา ส่วนรายได้อื่นยื่นรวมกัน
   ส่วนการหักค่าลดหย่อนที่เปลี่ยนแปลง คือ ไม่ว่าจะรวมยื่น หรือแยกยื่นรายการก็ตาม สามารถหักลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรได้ ฝ่ายละ 17,000 บาท และหากมีเงินกู้ที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมก่อนสมรส สามารถหักลดหย่อนดอกเบี้ยได้ฝ่ายละไม่เกิน100,000 บาท ทำให้สิทธิในการหักลดหย่อนไม่สูญหายไปหลังการสมรส
   ทั้งนี้ต้องยกเครดิตในการยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในครั้งนี้ให้ คุณผาณิต นิติธรรมประภาส ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะยื่นเรื่องขอคำวินิจฉัยทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 48/2545 ไปแล้วเมื่อปี 2545 ว่ามาตราทั้งสองนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอบคุณทุกๆท่านที่มีส่วนให้ข้อมูลและผลักดันเรื่องนี้
   ก่อนยื่นภาษีในปีนี้ ต้องทดลองทำแบบรายการก่อนค่ะ จะได้ตัดสินใจว่าจะยื่นรวม หรือแยกยื่น เพราะทำให้ภาษีที่ต้องเสีย แตกต่างหันได้
   สรุปเงินได้แต่ละประเภทเพื่อความเข้าใจ
   มาตรา 40(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน คือเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จ บำนาญ
   มาตรา 40(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เช่น เบี้ยประชุม เงินค่าเช่าบ้าน
   มาตรา 40(3) ค่าลิขสิทธิ์ กู๊ดวิลล์
   มาตรา 40(4) ดอกเบี้ย เงินปันผล เครดิตภาษีเงินปันผล ผลประโยชน์จากการโอนตราสารหนี้เฉพาะส่วนที่กำไร
   มาตรา 40(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
   มาตรา 40(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ กฎหมาย ประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลป์
   มาตรา 40(7) เงินได้จากการรับเหมา
   มาตรา 40(8) เงินได้จากการพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง ขายอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งในทางการค้า ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวม ขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือไม่ได้มุ่งเน้นการค้า(หากเลือกนำมารวม) เงินได้จากการขายกองทุน RMF LTF แม้ถูกต้องตามเงื่อนไขก็ต้องนำมาแสดงด้วย
[/size]

Re: ภาษีคู่สมรส/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.พ. 08, 2013 7:11 am
โดย naijan
ขอบคุณมากๆครับ

--------------------------------
โรคบอดความรวย

http://www.thorfun.com/story/view/UPELCK7rWUU1AALI

หนี้เป็นพิษ

http://www.thorfun.com/story/view/UNUiTa7rWTxCAA06