เอามาฝากให้อ่านเล่นๆ ขอบคุณ
http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... หุนัย.html
คืนสังเวียนรอบนี้ ขอ “ใหญ่” กว่าเดิม BY “สมโภชน์ อาหุนัย”
เปิดก้นบึ้งหัวใจ ชายผู้ไม่มีชื่อเล่น “สมโภชน์ อาหุนัย” เจ้าของ “พลังงานบริสุทธิ์” หุ้นไอพีโอน้องใหม่ กลับมาคราวนี้ “ต้องเด่น-ดัง”
ปูมหลัง” ที่มี “ตำนิ” ถือเป็น “จุดบอด” ที่ทำให้นักลงทุน “แคลงใจ” จนไม่กล้าควักเงินลงทุน แม้หุ้นตัวนั้นจะมีอนาคต “สวยหรู” ก็ตาม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) หุ้นไอพีโอน้องใหม่ของ “สมโภชน์ อาหุนัย” ที่ “กดบัตรคิว” ขอเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตัวแรกของปีมะเส็ง (2556) ในวันที่ 23 ม.ค.2556 หลังประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก 560 ล้านหุ้น ราคา 5.50 บาท กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากการพร้อมใจ “ขุดประวัติ” ของ “สมโภชน์” มาโพสต์ตามกระทู้ต่างๆ
ครั้งหนึ่ง “สมโภชน์ อาหุนัย” อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจโบรกเกอร์สัญชาติไต้หวัน อดีต “ลูกน้องสุดเลิฟ” ของ “ศิริธัช โรจนพฤกษ์” เจ้าของ “คอม-ลิงค์” ผู้ถือหุ้น 22.88% “อีเทอเนิล เอนเนอยี” หรือ EE (ตัวเลข ณ วันที่ 2 มี.ค.2555) เคยประสานมือกับเจ้าพ่อคอม-ลิงค์ และ "วรเจตน์ อินทามระ" เพื่อร่วมกัน “เนรมิต” “อีเทอเนิล เอนเนอยี” ให้กลายเป็นธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ จากบริษัทผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ ภายใต้ชื่อ "ซีฮอร์ส" (SH)
ด้วยการเข้าซื้อ “บุญเอนก” บริษัทคนสนิทของ “ศิริธัช โรจนพฤกษ์” เพื่อนำที่ดินของ “บุญเอนก” มาสร้างเป็นโรงผลิตเอทานอล ขนาดกำลังการผลิต 1.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยการขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง 370 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ราคาหุ้นละ 3.40 บาท การประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนล็อตนี้ ห่างจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ “วรเจตน์ อินทามระ” จำนวน 2,179 ล้านหุ้น และ “สมโภชน์ อาหุนัย” จำนวน 421 ล้านหุ้นหุ้น ราคา 0.63 บาท ไม่นาน
จากนั้น ก็มี “ข่าวลือสะพัด” ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “สมโภชน์” กับ“เสี่ยศิริรัช” เดินมาถึง “ทางตัน” จำต้องสวมคอนเวิร์ส “ทางใครทางมัน” แต่ “สมโภชน์” ยังคงถือหุ้น EE อันดับ 8 จำนวน 66.88 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.41% (ณ วันที่ 2 มี.ค.2555) ด้วยความมุ่งมั่นอยากทำธุรกิจพลังงานทดแทน เพราะเห็นแวว “รุ่งเรือง” ทำให้ “สมโภชน์” โทรไปชวนเพื่อนสนิท 3-4 คน ให้มาร่วมลงขันเฉลี่ยคนละ 10-20 ล้านบาท เพื่อไปซื้อโรงงานผลิตไบโอดีเซล 1 แห่ง พร้อมก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ “ซันเทคปาล์มออยล์” ในปี 2549 ถัดมา 2 ปี เปลี่ยนชื่อเป็น “พลังงานบริสุทธ์” และดึง “ปลัดแป๋ง” สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง มานั่งเป็นประธานกรรมการ
ก่อน “สมโภชน์” แอนด์เดอะแกงค์ จะลงมือแต่งตัวสวยๆดันบริษัทเข้าเป็นสมาชิกตลาดหุ้น “สมโภชน์” ยกหูโทรไปเชิญชวน เจ้าของฉายา “นาย ช.หนวดงาม” ชำนิ จันทร์ฉาย ประธานกรรมการ บจก.ซี.เจ.มอร์แกน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินปรับโครงสร้างหนี้ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการบริหาร สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ให้มาร่วมลงทุน แต่ “พ่อมดวงการปรับโครงสร้างหนี้” กับตอบ “ปฏิเสธ” โดยให้เหตุผลกับคนรอบข้างว่า “ไม่ใช่กลัวธุรกิจไม่ดี แต่กลัวใจเจ้าของ”
แม้ “นาย ช. หนวดงาม” จะเมินหน้าหนี แต่ “มล.ทองมกุฎ ทองใหญ่” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ในฐานะแกนนำการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย กลับเดินปรี่เข้ามาสะกิด “สมโภชน์” กลางงานแถลงข่าวเคาะราคาไอพีโอ “มีหุ้นอีกมั้ย นักลงทุนอยากได้หุ้นคุณเยอะมาก !!!” (ลากเสียง)
“ผมอยากมีกิจการของตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ลูกคนจีนโดนปลูกฝังมาแบบนี้ มันฝังอยู่ใน “สายเลือด” เมื่อโตขึ้นมามีโอกาสต้องรีบคว้า “สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “พลังงานบริสุทธิ์” เล่าความคิดวัยเยาว์ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟัง
ก่อนจะพูดถึงสิ่งที่ต้องการจะทำ หลังนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นสำเร็จ “สมโภชน์” เล่าว่า ผมมีพี่น้อง 3 คน ผมเป็นคนกลาง คนโตอายุห่างจากผม 1 รอบ (ตกใจละสิ) ส่วนน้องสาวคนสุดท้องห่างกัน 9 ปี เหมือนพี่ชายคนโตเป็นพ่อน้องสาว (หัวเราะ) พี่น้องมีชื่อเล่นกันหมดเลย เว้นแต่ผมคนเดียว “งง” เหมือนกัน หรือนี่จะ “จุดกำเนิด” อะไรบางอย่าง ?
ผมใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในตึกแถวร้านทำผม ใจกลางถนนราชดำเนินที่มีคุณแม่เป็นเจ้าของ ร้านอยู่ติดถนนทุกครั้งที่เขาเดินขบวนประท้วง ทหารปฏิวัติ ผมเห็นจนกลายเป็นเรื่อง “ชินตา” ส่วนคุณพ่อท่านทำงานบริษัททั่วไป ที่ผ่านมาท่าน 2 คน ไม่เคยบังคับผมว่าโตขึ้นมาต้องทำอะไร แต่จะปลูกฝังตลอดว่า “สมบัติที่พ่อแม่มีให้มีเพียงความรู้” ท่านจะสนับสนุนให้พวกเราเรียนให้สูงที่สุด
หลังจากเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วศ.69) ผมก็ออกไปหาประสบการณ์ด้านการทำงานชนิด “ไม่เกี่ยง” เรื่องเงินเดือน ด้วยการเข้าไปทำตำแหน่งเซลล์ในบมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ทำไปสักพักเริ่มเห็นเพื่อนๆที่พ่อแม่เขามีสตางค์ ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ทำให้เกิด “ความอยาก” อย่างน้อยการเรียนต่อเมืองนอก ก็เป็นเครื่องมือเบิกทางที่ดีในชีวิต
ผมตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท MBA University of Pittsburgh ,USA ใช้เวลาเพียง 11 เดือน ก็จบการศึกษา ที่นี่สอนให้วิเคราะห์ ทำแบบฝึกหัด แตกต่างจากการเรียนในเมืองไทย เมื่อเรียนจบผมดันไปเข้าตา “ซิตี้แบงก์ นิวยอร์ก” เขารับให้มาทำงานใน “ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย” แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ (หัวเราะ) เพราะขั้นตอนการทำงานที่ทาง “ซิตี้แบงก์ นิวยอร์ก” บอกเรามันไม่เหมือนที่ “ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย” อธิบาย ฉะนั้นถ้าฝืนทำต่อก็ “เสียดายเวลาชีวิต”
สุดท้ายไปได้งานใน “ดับบลิว.ไอ.คาร์” โบรกเกอร์อันดับ 1 ของต่างชาติ เป็น “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์” อยู่ได้ 1 ปี ก็มี “ยูบีเอส” แบงก์ต่างชาติมาซื้อตัว เพราะเขาจะมาทำบทรีเสิร์ชในเมืองไทย ทำได้ 3 ปี ก็ลาออกมาทำตำแหน่งผู้อำนวยการผ่ายวิจัยใน “บงล.บุคคลัภย์” เชื่อหรือไม่ ผมมาอยู่ที่นี่เงินเดือนลดลงเยอะมาก (ลากเสียงยาว) “หลักแสนบาท” (หัวเราะ)
ถามว่า ทำไมถึงยอม!!! ช่วงนั้นเพิ่งแต่งงานด้วย ผมทำงานแบงก์มานานเห็นวัฎจักรขึ้นลงตลอด ช่วงไหนบทรีเสิร์ชที่เรารับผิดชอบมันไม่บูม ผู้บริหารจะเดินถือซองขาวมาที่โต๊ะตอนเช้าแล้ว “เชิญออก” หน้าตาเฉย พนักงานนั่ง “งง” กันเป็นแถว ไล่ออกแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว (โหดร้ายมาก) ผมกลับมานั่งคิดความมั่นคงทางอาชีพอยู่ตรงไหน !!!
ทำงานใน “บงล.บุคคลัภย์” ได้ 1 ปี รู้สึกไม่ชอบเรื่องระบบ ระเบียบ ในการทำงาน ทุกอย่างมันดูช้า กว่าจะอนุมัติแต่ละงาน ไม่ทันใจ ไม่เหมือนอยู่บริษัทต่างชาติ เมื่อรู้สึกเริ่มลำบาก ผมตัดสินใจลาออกไปทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันต่างประเทศ ในบริษัทหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด
เข้าไปทำงานแรกๆไม่รู้เรื่องเลย ถึงขนาดลูกน้องเอ่ยปาก “พี่นั่งเฉยๆเถอะ” ผมหันไปบอก “สอนงานพี่หน่อย” ผมขอผู้บริหารระดับสูงเวียนฝึกงานตามแผนกต่างๆ 1-2 สัปดาห์ต่อแผนก กว่าคนเก่าๆจะยอมรับก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เมื่อมีความรู้ ผมก็ขอผู้บริหารไปหาลูกค้าที่ฮ่องกง เขาถามว่า “รู้จักลูกค้าหรอ” ผม “ส่ายหัว” แล้วตอบไปว่า “ไปหาเอาดาบหน้า มีที่อยู่ในมือแล้วจะกลัวอะไร"
แต่สุดท้าย “บงล.บุคคลัภย์” ก็โดนเทคโอเวอร์ เพราะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ผู้บริหารเขาจะให้ผมลดพนักงาน ตอนนั้นเครียดมาก คิดในใจ คนเหล่านี้ผิดอะไร บางคนมีลูกมีเมียต้องดูแล ผมก็ไปบ่นกับรุ่นพี่คนหนึ่ง เขาสวนกลับมาว่า..
“เดี๋ยวเขาก็ต้องเอาโบรกเกอร์มาขายถูกๆ ต่างชาติก็ต้องอยากได้ คุณรู้จัก ผู้บริหารต่างชาติเยอะแยะ ไปชวนเขามาลงทุนสิ”
สุดสิ้นคำแนะนำ ผมคิดในใจ “จะบ้าหรอ” แต่เมื่อคิดไปคิดมา “ลองดูสักตั้งก็ได้ว่ะ” ทันทีที่ทำแผนธุรกิจเสร็จ ก็บินไปนำเสนอกับบล.หยวนต้า (ไต้หวัน) เขาให้เงินผมมา 500 ล้านบาท แต่ผมใช้ซื้อบล.คาเธ่ย์ แคปปิตอล แค่ 250 ล้านบาทเท่านั้น !!!
ทำได้ 3 ปี จำต้อง “อัปเปหิ” ตัวเองออกมา รู้สึก “เฮิร์ท” เหมือนคนอกหัก โดน ก.ล.ต.กล่าวหาว่า บล.หยวนต้า สาขาหาดใหญ่ ปั่นหุ้น ไทยธนาคาร (BT) “เราไม่ได้ทำรู้อยู่แก่ใจ” ผมทำงานตั้งแต่เช้าตรู่กลับบ้านเที่ยงคืนทุกวันนี้ แต่ได้ผลลัพธ์แบบนี้มันไม่แฟร์!!!
ในใจมีแต่คำว่า “กูผิดอะไรว่ะ” วนเวียนอยู่ในหัวตลอด ที่ผ่านมาไม่เคยได้อธิบายให้สังคมรับรู้ รุ่งเช้าผมเดินไปขอลาออกเลย “ออกไปเป็นนักลงทุนถือหุ้นบริษัทโน่นนี่ ได้ผลตอบแทนดีกว่าเยอะ”
ถามว่าเดินทางมาถึง “จุดกำเนิด” ของ “พลังงานบริสุทธิ์” แล้วใช่มั้ย เขาหัวเราะ ทันทีที่ได้ยินคำถาม เมื่อก่อนไม่มีประสบการณ์เรื่องพลังงานทดแทน แต่เห็นอนาคตท่าจะดี ผมเป็นพวกชอบคิดใหม่ ทำใหม่ วิเคราะห์ใหม่ “สนุกดี”
ผมตัดสินใจยกหูโทรหาเพื่อน 3-4 คน ชวนมาลงขันทำบริษัทด้วยกัน ตอนนั้นโชว์วิสัยทัศน์กับเพื่อนว่า “กำไรขั้นต้น10% สุดยอดมากสำหรับธุรกิจนี้ โอกาสมากกว่านี้มีแน่ เพราะรัฐบาลตอนโน่น (ปี 2550) เขาส่งเสริมกัน “สุดฤทธิ์”
วันนี้ผมโชว์ “จุดเด่น” ได้เพียงว่า ภายในปี 2558 เราจะมีกำไรสุทธิ 3,000 ล้านบาท “เฮ้ย!!” เอ็งจะเอาอะไรมากำไร หลายคนคงคิดแบบนั้นใช่มั้ย ผมจะแจกแจงให้ฟัง ช่วงเดือนต.ค.2555 เราจะผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ จังหวัดลพบุรี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขาให้ค่าไฟพิเศษ (ADDER) 10 ปีแรก จากอายุสัมปาน 25 ปี จำนวน 8 บาทต่อหน่วยกับเรา ฉะนั้นเราก็จะรับรู้กำไรจากโครงการนี้ในปี 2556 เต็มปีประมาณ 64 ล้านบาท ถัดมาช่วงเดือนธ.ค.2556 เราจะเดินเครื่องในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งบริษัทจะรับกำไรเต็มปีในปี 2557 จำนวน 915 ล้านบาท จากนั้นสิ้นปี 2557 จะผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 90 เมกะวัตต์ จังหวัดลำปาง โดยจะบุ๊คกำไร 915 ล้านบาท ในปี 2558
สุดท้าย คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ จังหวัดพิษณุโลก ตอนนี้กำลังหาที่ดินอยู่ แต่เราเชื่อว่าสิ้นปี 2558 จะเดินเครื่องผลิตได้ และจะรับรู้กำไร 915 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งทั้ง 3 โครงการ กฟผ.เขาให้ค่าไฟฟ้าพิเศษกับเรา 10 ปีแรก จำนวน 6.50 บาทต่อหน่วย
เขา เล่าต่อว่า แผนงานในอนาคตยังไม่จบแค่นี้นะ ผมเพิ่งได้รับการตอบรับจาก กฟผ.ให้ดำเนินการโครงการพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม 126 เมกะวัตต์ แต่เราขอไป 761 เมกะวัตต์ คิดเป็น 16 โครงการ เชื่อว่าที่เหลือจะได้รับการตอบรับเช่นกัน คุณลองคิดดูสิ หากเราได้โครงการพลังงานลมสมดั่งใจ ผลประกอบการหลังปี 2558 ของเราจะ “ดีมาก” ขนาดไหน อย่าให้พูดเลย (หัวเราะ) บอกได้เพียงว่าอนาคตสัดส่วนรายได้จะมาจากสายไบโอดีเซล 50% พลังงานทดแทน 50%
“สมโภชน์” ทิ้งท้ายว่า ธุรกิจเราคงไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ มันต้องมี “ไดนามิค” ผมจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เราไม่ได้เป็นเพียงบริษัทขายไฟฟ้าธรรมดา แต่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถพัฒนาให้ธุรกิจมีความโดดเด่น เราจะพยายามผลักดัน “ตัวเลขการเงิน” ทุกตัวให้เติบโตอย่างยั่งยืน ณ 9 เดือนแรก เรามี “กำไรสุทธิ” 69.61 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 5.50% อัตรากำไรสุทธิ 1.91% และรายได้ 3,653 ล้านบาท