หน้า 1 จากทั้งหมด 1

LTF ขายแล้วไปไหน?

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ย. 14, 2012 12:37 pm
โดย Ryotaro
อ่านดูแล้วมีประโยชน์มากๆ ครับ เลยนำมาแบ่งปัน ขอบคุณเจ้าของบล็อกมากๆครับ

- สิทธิประโยชน์และหลักเกณฑ์ของ LTF -

รูปภาพ

อย่างที่ทราบกันดีว่า สิทธิประโยชน์ที่สำคัญของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF คือ "การประหยัดภาษี" โดยให้สิทธิลดหย่อนสูงสุดถึง 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และถ้ามีกำไรจากการลงทุนก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์ "ยกเว้นภาษี" อีกด้วย เพียงแต่ว่าต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนดไว้ คือ "ถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี" และ "ห้ามนำหน่วยลงทุนไปโอน จำนำ เพื่อใช้เป็นหลักประกัน"

- ถือ LTF จนครบกำหนดแล้ว จะเอาไงต่อดี? -

ทันทีที่เราถือ LTF จนครบ 5 ปีตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว เราก็สามารถขายหน่วยลงทุนตอนไหนก็ได้ครับ (ยกเว้นวันที่บลจ. ปิดทำการ แหะๆ) ซึ่งเวลาที่เราขายหน่วยลงทุนแล้วมี "กำไร" ก็จะได้รับ "ยกเว้นภาษี" เช่นเดียวกันครับ
แต่บางคนถือมาครบกำหนด 5 ปี แล้ว แต่ยังไม่พอใจกับกำไรที่ได้รับ หรือว่ายัง "ติดดอย" อยู่ ก็สามารถที่จะถือต่อไปได้นะครับ ไม่ได้บังคับว่าเมื่อครบ 5 ปีแล้วจะต้องขายทันที จะขายปีที่ 6,7,8,9,10 (ปีไหนก็ได้) หรือถ้าหากใครคิดที่จะเก็บไว้ตลอดชีวิต ก็ยังได้เลยคร้าบบบ
นอกจากนั้น สำหรับคนที่คิดว่าจะถือ LTF เกินกว่า 5 ปีนั้น ไม่สามารถที่จะนำหน่วยลงทุนส่วนนี้มาถือเป็นยอดซื้อของปีที่ 6 หรือเริ่มต้นนับใหม่เป็นปีที่ 1 เพื่อลดหย่อนภาษีอีกรอบหนึ่งได้นะครับ เนื่องจากต้องเป็น "หน่วยลงทุน" ที่ได้ "ซื้อ" ในระหว่างปีเท่านััน จึงนำมาลดหย่อนภาษ๊ได้คร้าบ

- ขาย LTF แล้วไปไหน? -

เมื่อเราขายหน่วยลงทุน LTF ไปแล้ว จะได้รับหนังสือแสดงการขายคืนหน่วยลงทุนจากบลจ. แจ้งว่าให้นำ "กำไรจากการขาย" ไปกรอกเป็นรายได้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 ประจำปีนั้่นๆ เนื่องจากกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ซึ่งในแบบ ภ.ง.ด. 90 นั้น จะมีช่องสำหรับกรอกรายการกำไรที่ได้รับจากการขาย และถ้าหากกำไรในส่วนนี้เป็นกำไรที่ได้รับยกเว้นเนื่องจากปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ก็อย่าลืมติ้กช่อง "ยกเว้น" ด้วยนะครับ

รูปภาพ

แต่โดยปกติของคนเรา เมื่อเห็นว่า "กำไร"จากการขายได้รับการยกเว้นแล้ว มักจะมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะว่า ยังไงๆ มันก็ "ยกเว้น" อยู่แล้วนี่ จะเอามารวมคำนวณทำไมให้เหนื่อย ขี้เกียจ ดีไม่ดี สรรพากรวิ่งเข้ามาหา ข้อหาที่มีรายได้เยอะ (ชั้นรวย แล้วมันหนักหัวใครฟระ - อันนี้มีหลายๆคนคงคิดในใจ 555)
ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์เงินเดือนบางคน ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ถ้ามีกำไรจากการขายส่วนนี้ จะให้ไปกรอกที่ไหนเล่า ก็ในเมื่อในแบบ ภงด.91 มันไม่มีให้กรอกนี่นา (เอิ่ม… เค้าให้กรอกรายได้ส่วนนี้ในแบบ ภ.ง.ด. 90 คร้าบบบบเจ้านายยยย)
ดังนั้น ในกรณีที่คุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เพียงประเภทเดียว แต่ได้ซื้อกองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีมาโดยตลอด และได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ครบถ้วนแล้ว ในปีที่คุณขาย LTF แล้วมีกำไรนั้น จะต้อง "เปลี่ยน" จากแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 ที่เคยยื่นตามปกติ มาเป็นแบบแสดงรายการภ.ง.ด.90 แทน โดยต้องนำรายได้ (กำไร) ในส่วนนี้ไปกรอกในแบบแสดงรายการด้วย

- ยกเว้น แล้ว "ทำไม" ต้องเอามากรอกด้วยล่ะ -

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่ามีหลายๆคนที่สงสัยว่า แล้วทำไมตรูจะต้องไปกรอกให้วุ่นวายทำไมด้วย แล้วถ้าไม่รวมจะผิดไหม ใครจะมาจับชั้นเล่า…
สำหรับคำถามนี้ ผมตอบได้ทันทีเลยครับว่า "ผิด" เนื่องจากกฎหมายได้ระบุให้แสดงรายการ "กำไร" แถมยังมีช่องให้กรอกเพื่อแสดงรายการไว้แล้วด้วย ดังนั้นถ้าใครเลือกที่จะไม่กรอกแบบแสดงรายการย่อมถือว่า "ผิดกฎหมาย" อยู่แล้ว
แต่ว่าความผิดนี้ จะโดนพี่สรร(พากร)ไล่บี้หรือไม่ อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ พี่ๆเค้าอาจจะไม่มาหาเพราะว่ารายได้ส่วนนี้ถือเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้น ซึ่งแปลว่าไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการเสียเวลาที่พี่สรร(พากร) จะเดินมาหาเรา เพื่อบอกว่่าเรายื่นรายได้ขาดเฉยๆโดยที่ไม่ได้รับภาษีติดมือกลับบ้านไป… แฮร่ :)
ทั้งนี้่ทั้งนั้น พี่สรร(พากร) เค้าไม่ได้พลาดที่ไม่ได้มาหาคุณหรอกครับ แต่ตัวคุณเองนั่นแหละที่ กำลังพลาด "สิ่งสำคัญ" ซึ่งก็คือ "ประโยชน์ส่วนเพิ่มในการประหยัดภาษี" นั่นเองครับ

- สิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ขาย LTF ตามหลักเกณฑ์-

สิทธิ์ประโยชน์ที่ผมว่าไว้ เป็นผลมาจาก "กำไรจากขาย LTF ที่ทำให้สามารถ "ประหยัด" ภาษีได้เพิ่มขึ้น" (เอ๊ะ… ยังไงกัน!!!)
เนื่องจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ระยะยาว ข้อ 1 (1) ได้ระบุไว้ว่า
"ผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท"
ถ้าเราตีความข้อกฎหมายนี้ดู จะเห็นว่า "เงินได้พึงประเมินที่ได้รับ" ควรจะหมายความรวมถึง "เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น" ด้วยเช่นกัน เพราะตัวประกาศฉบับนี้ไม่ได้มีข้อความที่บอกว่า ห้ามนำเงินได้พึงประเมิน "ที่ได้รับยกเว้น" มารวมคำนวณ ถูกต้องไหมครับ?
ดังนั้น ถ้าหากคุณมีรายได้ตามปกติ และดันมีกำไรจากการขาย LTF ด้วย เมื่อคุณนำ "กำไร" มากรอกแบบแสดงรายการ ย่อมแปลว่าสิทธิในการซื้อ LTF ของคุณย่อมเพิ่มขึ้นอีก 15% ตามไปด้วย
เพื่อไม่ให้งงกันไปกว่านี้ ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ ^^
สมมุติว่า ในปีนี้คุณมีเงินได้ (เงินเดือน) จำนวน 1,000,000 บาท และมีกำไรจากการขาย LTF อีก 200,000 บาท
เมื่อคุณนำกำไรจากการขาย LTF มาแสดงในแบบ ภ.ง.ด. 90 จะทำให้สิทธิในการซื้อ LTF เพิ่มขึ้น ดังนี้
กรณี "ไม่นำ" กำไรมารวม
- คำนวณจาก : 1,000,000 x 15% = 150,000 บาท
กรณี "นำ" กำไรมารวม
- คำนวณจาก : (1,000,000 + 200,000) x 15% = 180,000 บาท
เมื่อรวมกำไรจากการขาย LTF แล้ว ก็แปลว่า คุณจะได้รับสิทธิในการซื้อ LTF สำหรับปีนี้ เพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาทฟรีๆ ลองนึกดูสิครับว่า ถ้าหากปัจจุบันคุณเสียภาษีในอัตรา 20% แปลว่า คุณก็จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นได้อีก 6,000 บาท!!!
อะแฮ่มมๆๆๆ ขอย้ำอีกทีนะครับว่า กำไรส่วนนี้ ต้องเป็น "กำไรจากการขาย" ที่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายจริง (ได้รับเงินสดจากการขาย) เท่านั้นนะครับ
เอาล่ะครับ ทีนี้ เริ่มมองเห็นประโยชน์ของยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 เพื่อแสดงรายการ "กำไรจากการขาย LTF" หรือยังล่ะครับ :)

- ท้าพิสูจน์โดยการกรอกแบบแสดงรายการ -

เมื่อมีสมมุติฐานว่าน่าจะเป็นไปได้ ผมเลยขอท้าพิสูจน์โดยทดลองกรอกรายการผ่านโปรแกรมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90) สำหรับรอบบัญชีปี 2554 เลือกกรอกเฉพาะในส่วนของกำไรจากการขาย LTF ที่ได้รับยกเว้นเพียงอย่างเดียว จำนวน 400,000 บาท (กำหนดให้ราคาขาย 500,000 บาท ต้นทุนที่ซื้อมา 100,000 บาท)

รูปภาพ

1.กรอกแบบแสดงรายการ "กำไรจากการขาย" LTF ที่ได้รับยกเว้นจำนวน 400,000 บาท

รูปภาพ

2. สามารถกรอกค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ได้เพิ่มขึ้นอีก 15% ของ "กำไรจากการขาย"

เมื่อลองกรอกดูจะเห็นโปรแกรมให้สิทธิในการกรอกค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ในปีเดียวกัน เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท (400,000 x 15%) ดังนั้นย่อมแปลว่าสมมุติฐานที่ว่านี้เป็นความจริง และสามารถใช้ประหยัดภาษีได้จริงอย่างแน่นอนครับ

- แล้ว RMF ใช้ได้ไหม? -

แหะๆ เนื่องจากบทความนี้เป็นบทความที่ผมเขียนแบบสดๆ เมื่อเขียนใกล้ๆจบเลยนึกขึ้่นมาได้ว่า ในกรณีของ "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" หรือ "RMF" นั้นก็สามารถใช้หลักการเดียวกันครับ แต่ว่าอาจจะต้องดูในเรื่องของหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันกับ LTF บางเรื่อง แต่ถ้าหากทำถูกต้องแล้ว ผมขอ "ฟันเฟริม์ (ฟันธง + คอนเฟริม์)" ว่าสามารถใช้ได้แน่นอน โดยไม่ต้องใช้จิตสัมผัส เนื่องจากทดสอบด้วยตัวเองจริงๆ แบบไม่ใช้สลิงและไม่ได้ใช้คนแสดงแทน มาเรียบร้อยแล้ว (ฮา)
.
.
.
สุดท้ายนี้ ถ้าหากมีคนมากระซิบถามคุณว่า "LTF ขายแล้วไปไหน"
หันกลับไปตอบให้ไวเลยนะครับว่า "ขายไปแล้วก็เอามาลดหย่อนภาษีอีกรอบน่ะสิเธอว์"
:D

ที่มา บล็อกภาษีข้างถนน