Check list/ธันวา เลาหศิริวงศ์
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ก.ย. 13, 2012 8:27 am
[/size]
โค้ด: เลือกทั้งหมด
เราอาจเคยเห็นภาพนักบินตรวจสอบสภาพความพร้อมก่อนนำเครื่องขึ้นบินสู่ท้องฟ้า พนักงานโรงงานประกอบรถยนต์ตรวจสอบคุณภาพการผลิตครั้งสุดท้ายก่อนส่งออกจำหน่าย หรือการส่งมอบและตรวจรับบ้านระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กระบวนการที่กล่าวมาล้วนมี “Check List” หรือ แบบตรวจสอบขั้นตอนทำงาน ที่ช่วยลดข้อจำกัดของการจดจำ เพื่อผลการทำงานที่ถูกต้องและเป็นไปตามเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดและเพื่อไม่เกิดความเสียหายขึ้นภายหลังนั่นเอง
นักลงทุนสามารถนำ Check List มาประยุกต์ใช้ในทางการลงทุนเช่นกัน โดยรายละเอียดเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความถนัด ความเสี่ยงที่รับได้ และแนวทางการลงทุนของแต่ละคน ตัวอย่าง Check List ของการลงทุนในหุ้น “เกรดเอ” หรือกิจการยอดเยี่ยม แข็งแกร่ง เงินปันผลสม่ำเสมอ ราคาหุ้นสะท้อนตามผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว มีดังนี้
ข้อหนึ่ง เป็นกิจการที่อยู่ในวัฏจักรของความรุ่งเรือง ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน ยังเติบโตอีกในระยะยาว หากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก่อนอุตสาหกรรมอื่น
ข้อสอง เป็นกิจการที่มีตราสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด มียอดขายและกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อยเท่ากับการเติบโตจีดีพีของประเทศจากอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต หุ้นเกรดเอที่ดีต้องเติบโตอย่างน้อยสองเท่าของจีดีพี
ข้อสาม เป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมและมีรูปแบบธุรกิจที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (DCA: Durable Competitive Advantage) กำหนดราคาขายได้โดยที่ลูกค้ายังภักดีต่อสินค้า ส่งผลให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นตามลำดับ
ข้อสี่ มีผู้บริหารเก่ง มีประสบการณ์เหมาะกับธุรกิจ ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย มีวิสัยทัศน์ที่นำพากิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว มีการวางแผนและการจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดี
ข้อห้า เป็นบรรษัทภิบาลที่ปฏิบัติต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ถือหุ้นทุกรายเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้เยี่ยมชมกิจการ ร่วมกิจกรรมพบปะนักลงทุนรายไตรมาส (Opportunity Day) มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (IR: Investor Relation) เปิดเผยข้อมูลครบถ้วนรายงานประจำปีและแบบรายงาน 56-1 ล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญโดยไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับบริษัท
นอกจาก Check List ในเชิงคุณภาพที่กล่าวข้างต้น นักลงทุนต้องมี Check List ในเชิงปริมาณ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ข้อหก ราคาซื้อขายที่มีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) เพียงพอ เมื่อเทียบกับมูลค่ากิจการจากการประเมินด้วยวิธีต่างๆ เช่น ส่วนลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) มูลค่ากิจการจากการทดแทน (Replacement Approach) หรืออัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield)
ข้อเจ็ด ผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนสภาพคล่อง อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรือ อัตราส่วนแสดงความสามารถในการหากำไร ได้แก่ อัตรากำไรขั้นต้น (GPM: Gross Profit Margin) อัตรากำไรสุทธิ (NPM: Net Profit Margin) อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE: Return on Equity) เป็นต้น นักลงทุนต้องพิจารณาประวัติการดำเนินงานในอดีตถึงปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต เพื่อเข้าลงทุนหากผ่านเงื่อนไขที่ตั้งไว้
อนึ่ง อุตสาหกรรมแต่ละชนิดมีโครงสร้าง รูปแบบธุรกิจ คุณสมบัติแตกต่างกัน สำหรับเงื่อนไขในเชิงปริมาณนั้น นักลงทุนต้องวิเคราะห์และเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมในแต่ละชนิดอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น P/E คือวิธีที่เหมาะกับการประเมินมูลค่าของกิจการทั้งสองอุตสาหกรรม แม้ราคาหุ้นที่ P/E = 12 คือระดับที่น่าลงทุนของอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่จะสูงเกินไปสำหรับอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า Check List ทำหน้าที่เหมือน “ตระแกรงร่อนหุ้น” ที่ช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของกิจการตามเงื่อนไขสำคัญที่กำหนด ความถี่หรือความห่างของตระแกรงร่อนจะบ่งบอกถึง คุณภาพของกิจการ วิธีการเลือกหุ้น และเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคน นักลงทุนมากประสบการณ์ที่ “ตกผลึก” แล้วมักจะมี Check List อยู่ในใจตลอดเวลาแม้ไม่ได้เขียนเป็นรายการออกมาก็ตาม
สำหรับผู้ที่เริ่มลงทุนหรือยังไม่มี Check List ฉบับของตน ข้อแนะนำก็คือ ควรใช้เวลาคิด วิเคราะห์ ข้อดีข้อเสีย ตลอดจนข้อผิดพลาดในการลงทุนที่ผ่านมา เพื่อเริ่มพัฒนา Check List ของตน นำมาใช้ลงทุนจริง ปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อให้ได้ Check List ที่ดีที่สุดและเหมาะกับแนวทางการลงทุนของตน นั่นคือ การลงทุนเวลาที่คุ้มค่าในระยะยาว มากกว่าการใช้เวลาเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวราคาหุ้นในระยะสั้นอย่างแน่นอน