หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 5:36 pm
โดย Thai VI Article
ค้นฟ้าคว้าดาว

กระบวนการที่ยากและสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนแบบ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุน เหตุผลก็คือ มีหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท ที่ทำธุรกิจหลากหลายมากมาย บริษัทเหล่านี้อยู่ใน “ช่วงชีวิต” ต่าง ๆ เช่น กำลังเริ่มต้น เติบโต เติบโตเร็ว อิ่มตัว ตกต่ำ ซึ่งเราไม่รู้ นอกจากนั้น ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาซึ่งทำให้ความน่าสนใจของหุ้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น การมองหาหุ้นที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา ต่อไปนี้คือวิธีการหาหุ้นที่ VI รวมถึงผมมักจะใช้

วิธีแรกที่น่าจะง่ายที่สุดก็คือ การติดตามบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ โดยเฉพาะโบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งที่จะมีการนำเสนอหุ้นที่ “น่าสนใจ” เป็นหุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อหรือบางครั้งแนะนำให้ซื้อ “อย่างแรง” วิธีนี้มีข้อดีก็คือ เราไม่ต้องไปหาให้เสียเวลา หุ้นถูกเสิร์ฟให้เราถึงที่ แต่ข้อเสียก็คือ เขามักจะวิเคราะห์และแนะนำเฉพาะหุ้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาและมีสภาพคล่องในการซื้อขายมากพอ ซึ่งอาจจะมีหุ้นเพียง 200-300 ตัวเท่านั้นที่โบรกเกอร์ครอบคลุม ประเด็นก็คือ หุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อนั้น บ่อยครั้งมีราคาและปริมาณการซื้อขายปรับตัวขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ความน่าสนใจก็จะลดลงเพราะราคาหุ้นแพงขึ้น ในบางกรณี โดยเฉพาะหุ้นที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยและสภาพคล่องมีไม่มากนั้น ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาสูงลิ่วแล้วก่อนที่เขาจะแนะนำ ดังนั้น การหาหุ้นจากวิธีการนี้ เราจะต้องระวังว่ามันอาจจะไม่ถูกในแง่ของ VI การเข้าไปซื้ออาจจะเป็นการ “เก็งกำไร” ก็ได้

วิธีที่สอง สำหรับคนที่ขยันและมีเวลา เช่น คนที่ “ลงทุนเป็นอาชีพ” อาจจะติดตามเข้าร่วมฟังรายการ “บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน” หรือที่เรียกว่า “Opportunity Day” ที่มีการจัดที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำเกือบทั้งปี นี่คือรายการที่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก มาบรรยายและให้ข้อมูลรวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทแก่นักลงทุน รายการนี้จึงเป็นช่องทางในการที่เราจะได้ข้อมูลค่อนข้างลึกเกี่ยวกับบริษัทรวมถึงในหลาย ๆ กรณี ได้พบกับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนซึ่งบางคนบอกว่าจะได้ดู “โหงวเฮ้ง” ว่าน่าจะเป็นคนมีความสามารถและไว้ใจได้แค่ไหน และนั่นก็คือข้อดีของการไปหา ศึกษา และวิเคราะห์หุ้นจากงาน “อ็อปเดย์” อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็อาจจะมีเหมือนกัน นั่นคือ การไปฟังบริษัทมาก ๆ นั้น บางทีก็ทำให้เรา “เคลิ้ม” ได้เหมือนกัน กล่าวคือ บริษัทอาจจะให้แต่ภาพที่ดี ๆ และพยามพูดให้เราเชื่อว่าเขาดีกว่าปกติ เรา ที่มีความรู้น้อยกว่าก็จะคล้อยตามโดยที่ไม่ได้ไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่มและทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดไปได้

ช่องทางที่สามในการหาหุ้นก็คือ การใช้ “ตะแกรงร่อนหุ้น” นี่คือการใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการคัดเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการและงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน อัตราส่วนที่แสดงความถูกความแพงของหุ้น มาเป็นตัวคัดกรองเพื่อที่จะศึกษาตัวหุ้นที่มีคุณสมบัติที่เราต้องการ ตัวอย่างเช่น บางคนจัดเรียงหุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดจนถึงหุ้นที่มีค่า PE สูงที่สุด จากนั้นจึงคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดไม่เกิน 20 ตัวเพื่อนำมาศึกษาต่อเป็นต้น หรือบางคนอาจจะมองบริษัทที่มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงที่สุดเป็นตะแกรงที่จะคัดกรองหุ้น เป็นต้น ข้อดีของแนวทางนี้ก็คือ มันทำได้อย่างรวดเร็วและค่อนข้างจะทั่วถึงคือเราจะไม่พลาดหุ้นที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจเลยเพราะมันทำโดยคอมพิวเตอร์ และหลังจากนั้นเราค่อยมาดูข้อมูลเป็นรายตัวว่าเราสนใจตัวไหนเป็นพิเศษ ส่วนข้อเสียก็คือ ข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณนั้น มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและมันไม่ได้บอกว่าอนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปหรือไม่ และบางทีมัน “หลอก” ให้เราเข้าใจผิดในคุณสมบัติเชิงคุณภาพได้ ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลาย ๆ คนรวมถึงผมด้วยนั้น ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเขียนหรือรันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบนี้ได้

ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุนก็คือ การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ ว่าที่จริงผมหมายรวมถึงการดูและฟังจากสื่อทุกชนิด เพียงแต่การอ่านนั้นมักจะให้ข้อมูลที่มากและเร็วกว่าช่องทางอื่น นี่คือการ “อ่านเพื่อหาหุ้น” ไม่ใช่การอ่านผ่าน ๆ ความแตกต่างก็คือ เมื่อเราอ่านแล้วเราจะต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะเสียประโยชน์ บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง การหาหุ้นจากช่องทางนี้ เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ ๆ แล้ว มันยังเป็นเรื่องของการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าเราควรถือต่อหรือขายทิ้ง

ช่องทางที่ห้าก็คือ การหาหุ้นโดยการถามหรือติดตามความเคลื่อนไหวของ “เซียนหุ้น” หรือบางทีเรียกว่า “CI” หรือ “เล่นหุ้นตามเซียน” นี่คือวิธีการหาหุ้นที่ง่ายและอาจจะให้ผลดี เพราะอย่างน้อยเขาก็คิดว่า ถ้า “เซียน” ซื้อหรือถือหุ้นไว้ หุ้นก็น่าจะดี เพราะเซียนนั้นก็คงต้องวิเคราะห์กันมาเป็นอย่างดีแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด เขาคิดว่าคงจะมีคนอื่นที่ซื้อหุ้นตามเซียนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น หุ้นก็จะมีแรงซื้อมากและอาจจะทำให้หุ้นวิ่งขึ้นได้เร็วและแรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าเซียนนั้นซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่เมื่อไร ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อเป็นเท่าไร และเขาจะขายเมื่อไร ดังนั้น ในบางครั้ง เราอาจจะซื้อในราคาที่เกินกว่าพื้นฐานและเซียนที่ซื้อหรือถือไว้กำลังขาย ผลก็คือ เราอาจจะขาดทุนได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บ่อยครั้ง เซียนก็อาจจะผิดได้ หรือบางทีเซียนที่เรากำลังตามอยู่นั้น อาจจะกำลัง “โฆษณา” หุ้นของตนเพื่อให้หุ้นเป็นที่น่าสนใจและมีราคาดีขึ้นก็ได้

ช่องทางที่หกของการหาหุ้นก็คือ การ “เดินตามห้าง” นี่ก็คือการสังเกตและ “สัมผัส” ความเป็นไปของธุรกิจจริง ๆ ใน “สนาม” ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์ คำว่าเดินตามห้างนั้น รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ไปซื้อหรือใช้บริการต่าง ๆ ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นก็คือ ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และ แนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ก็คือ อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา

สุดท้ายก็คือ การดูข้อมูลจากกิจกรรมการซื้อขายของตัวหุ้นเอง เช่น การซื้อหรือขายของผู้บริหารบริษัท หรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของตัวหุ้น นี่อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่า คนที่ “รู้เรื่องดี” กำลังทำอะไรอยู่ ข้อมูลชิ้นนี้อาจจะกระตุ้นให้เราไปศึกษาตัวหุ้นเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้บริหารหรือเซียนหุ้นรายใหญ่ เราจะต้องระวังว่ามันอาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อที่จะ “ลวง” ให้นักลงทุนหลงก็ได้

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 6:22 pm
โดย MINI_BKK
ขอบคุณครับ :P

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 6:53 pm
โดย Financeseed
ขอบคุณครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 7:02 pm
โดย sipoonya
ขอบคุณครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 8:46 pm
โดย iruma
กระบวนการค้นหาหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

วิธีหาหุ้นที่จะเล่นหรือลงทุนของนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นนั้นผมเชื่อว่าหาจากกระดานหุ้น นั่นก็คือดูว่าถ้าหุ้นตัวไหนกำลังมีราคาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหรือกำลัง “วิ่ง” และมีคนสนใจซื้อขายหรือ “เล่น” กันมาก เขาก็จะเข้าไปร่วมซื้อขายด้วย บางคนเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า “แมงเม่า” คือพอ “ไฟติด” ก็จะแห่กันเข้ามาเล่นโดยไม่ต้องรู้ว่าบริษัทนั้นทำอะไร มียอดขายหรือกำไรเท่าไร ว่าที่จริง รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเขาซื้อเพื่อที่จะขายในอีกไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า หรือไม่ก็พรุ่งนี้หรือไม่เกิน 3-4 วัน

คนอีกจำนวนไม่น้อย เมื่อเห็นกิจกรรมข้างต้นเขายังไม่ผลีผลามเข้าไปร่วมวงเพราะกลัว “ติดกับ” ของ “ขาใหญ่” หรือ “นักปั่น” ดังนั้นเขาศึกษาหาความรู้ เฉพาะอย่างยิ่ง จากหนังสือพิมพ์ธุรกิจและหนังสือวารสารเกี่ยวกับหุ้น อ่านข่าวต่าง ๆ คอมเม้นต์ทั้งหลายเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น รวมถึงการศึกษาจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ ถ้าพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่สนับสนุนว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเขาถึงจะเข้าไปเล่น แต่ถ้าหากว่าภาพออกมาเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นเก็งกำไร เขาก็จะถอยหรือไม่ก็รอดูจังหวะที่จะเข้าเมื่อเวลาเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการที่หุ้นร้อนเหล่านั้นตกลงมา “ต่ำสุด ๆ” ด้วยเหตุผลบางอย่างซึ่งเขาอาจเข้าไปช้อนเพื่อขายทำกำไรระยะสั้น ๆ

คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะรวมถึงนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย นอกจากจะศึกษาติดตามข้อมูลตามวรรค 2 แล้วก็ยังเจาะลึกเข้าไปถึงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน ผลิตภัณฑ์ และผู้บริหารของบริษัท เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหุ้นเป้าหมายที่จะลงทุนนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและราคาไม่แพงเกินไป การลงทุนซื้อขายหุ้นของคนกลุ่มนี้ต้องการจะอิงพื้นฐานของกิจการ และไม่ใช่การเก็งกำไร แต่ต้องการถือหุ้นที่เป็นการลงทุนระยะปานกลางถึงยาว ความหมายของเขาก็คือเป็นเดือน ๆ แต่ก็พร้อมจะขายทำกำไรทุกเมื่อถ้าได้กำไรในระดับ 10-20% และก็พร้อมจะขายตัดขาดทุนเหมือนกันถ้าหุ้นตกเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

คนกลุ่มเล็ก ๆ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเรียกว่า Value Investor ได้ ชอบที่จะหาหุ้นโดยมองจากผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัท เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ถ้าบริษัทมีกำไรโตพรวด มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีการจ่ายปันผลในอัตราที่ดีหรือดีมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อลงทุน ก็จะได้รับความสนใจอย่างสูง และถ้าหากราคาที่วัดโดยค่า PE ค่อนข้างต่ำด้วยละก็ ใช่เลย! เรื่องของราคาหุ้นหรือสภาพคล่องในการซื้อขายแทบจะไม่ใช่ประเด็นด้วยซ้ำสำหรับหลาย ๆ คนในกลุ่มนี้ เพราะเขาพร้อมที่จะถือยาวในระดับ 1-2 ปีขึ้นไปเพื่อรอกินปันผลโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจ

ผมเองไม่สนับสนุนวิธีการมองหาหุ้นจากตัวเลข ไม่ว่าจะหาจากกระดานหุ้นหรือจากงบกำไรขาดทุนของบริษัท แม้ว่าตัวเลขอาจจะเป็นจุดที่ “สะกิดใจ” ให้เริ่มสนใจและหาข้อมูลต่อ แต่การใช้ตัวเลขเป็นเครื่องมือในการสรุปว่าจะซื้อหุ้นหรือไม่นั้นผมคิดว่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในการลงทุนระยะยาวผมคิดว่าปัจจัยทางด้านคุณภาพมีความสำคัญเท่า ๆ กับหรือมากกว่าปัจจัยเชิงปริมาณ ดังนั้น ผมคิดว่าวิธีในการมองหาหุ้นที่จะลงทุนน่าจะมาจากปัจจัยเชิงคุณภาพ ปัจจัยทางด้านของแนวความคิดเชิงพรรณนา ส่วนตัวเลขต่าง ๆ นั้น เป็นขั้นตอนต่อไปที่จะต้องดูเพื่อที่จะช่วยยืนยันว่าความคิดหรือปัจจัยทางด้านคุณภาพนั้นน่าจะถูกต้อง

ดังนั้นเวลาคิดจะหาหุ้นลงทุน ผมจึงมักจะเริ่มมองจากตัวอุตสาหกรรม ตัวสินค้า การแข่งขันของธุรกิจในอุตสาหกรรม วิธีทำเงินของธุรกิจนั้น เสร็จแล้วก็ดูว่าใครคือ “ผู้ชนะ” และชัยชนะนั้นค่อนข้างมั่นคงต่อเนื่องยาวนานหรือไม่ จากนั้นจึงมาดูตัวเลขการทำกำไรและฐานะการเงิน รวมถึงบรรษัทภิบาลของผู้บริหารบริษัท สุดท้ายก็คือเรื่องของราคาหุ้นว่าเหมาะสมไหม ซึ่งรวมถึงการดูค่า PE PB และ Market Cap หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท และสุดท้ายจริง ๆ ถ้าจะดูก็คือ กิจกรรมของการซื้อขายหุ้นจริง ๆ บนกระดาน ซึ่งผมมักจะหวังที่จะได้เห็นหุ้นที่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยมีคนสนใจ และโบรกเกอร์ไม่ค่อยได้ติดตาม เพราะผมอยากเป็นคนแรก ๆ ที่เห็นคุณค่าของมันก่อนที่ตัวเลขเชิงปริมาณของบริษัทจะออกมาและดึงดูดให้คนอื่น ๆ เข้ามาเล่น

ข้อสรุปในการค้นหาหุ้นที่จะลงทุนระยะยาวของผมก็คือ การทำสวนทางกับคนส่วนใหญ่ นั่นคือผมให้ความสำคัญกับตัวสินค้าหรือบริการและฐานะทางการตลาดของบริษัทก่อนผลกำไรหรือฐานะทางการเงิน ในขณะที่คนจำนวนมากชอบมองตัวเลขและซื้อขายหุ้นโดยอิงตัวเลขเป็นหลัก ผมคิดว่าความแตกต่างในแนวความคิดคงจะมาจากระยะเวลาเป้าหมายของการลงทุน เพราะในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า 1 ปีเป็นเวลาที่ยาวมาก ผมกลับคิดว่า 1 ปีคือระยะสั้น ขณะที่ระยะยาวแปลว่าต้องประมาณ 5 ปีขึ้นไป ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือคนจำนวนมากไม่สามารถทำความเข้าใจกับตัวผลิตภัณฑ์ได้ จึงมักมองที่ตัวเลข ผมเองก็ไม่ได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์มากมายโดยเฉพาะที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าอุตสาหกรรม ดังนั้นผมจึงมักเลือกลงทุนในสินค้าที่อยู่ใกล้ตัวที่ผมรู้จักดีโดยเฉพาะเป็นสินค้าที่ผมสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน


source : http://www.mfcwebactivity1.com/www/team ... text08.htm

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 9:10 pm
โดย chukieat30
ช่องทางที่หกของการหาหุ้นก็คือ การ “เดินตามห้าง” นี่ก็คือการสังเกตและ “สัมผัส” ความเป็นไปของธุรกิจจริง ๆ ใน “สนาม” ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์ คำว่าเดินตามห้างนั้น รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ไปซื้อหรือใช้บริการต่าง ๆ ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นก็คือ ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และ แนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ก็คือ อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา

ขอบคุณครับ

ผมมองสไตล์ท่านอาจารย์ จะแบบที่6 และเลือกกิจการที่ เน้น ผู้ชนะ

ัและการลงทุนสไตล์ท่านอาจารย์ จะเน้น คุณภาพ

มากกว่าตัวเลขซึ่งบางทีตัวเลขในตะแกรงร่อน ก้อาจจะบอกไม่ได้

ดังนั้น

ปัจจัยด้านคุณภาพต้องมาพร้อมๆกับตัวเลขที่ดีในตะแกรงร่อน

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ ก.ค. 14, 2012 9:15 pm
โดย chukieat30
ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุนก็คือ การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญ ว่าที่จริงผมหมายรวมถึงการดูและฟังจากสื่อทุกชนิด เพียงแต่การอ่านนั้นมักจะให้ข้อมูลที่มากและเร็วกว่าช่องทางอื่น นี่คือการ “อ่านเพื่อหาหุ้น” ไม่ใช่การอ่านผ่าน ๆ ความแตกต่างก็คือ เมื่อเราอ่านแล้วเราจะต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะเสียประโยชน์ บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง การหาหุ้นจากช่องทางนี้ เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ ๆ แล้ว มันยังเป็นเรื่องของการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าเราควรถือต่อหรือขายทิ้ง

ขอยกข้อนี้ท่านอาจารย์มาครับ

เคสนี้ เคยมีคนถามผมว่า เป็นการหาหุ้นแนวVI ด้วยหรือ

ผมก้ถามกลับว่า KISS เป็นหลักการคิดของ VI ด้วยไหมหล่ะ

การมองหาคนที่จะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ก้ต้องเข้าใจกิจการนั้นๆ

ว่าจะได้ ประโยชน์ จริงๆๆ หรือเสียประโยชน์จริงๆ

การมองแบบ Keep it simple and stupid ก้ถือว่า


เป็นการคัดหุ้นเพื่อลงทุนทางหนึ่งครับ

ขอบคุณบทความดีๆๆของท่านอาจารย์ครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 7:36 am
โดย kongkiti
ขอบคุณ mod และ ท่าน อ. ครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 7:43 am
โดย theerasak24
ขอบพระคุณครับสำหรับคำแนะนำที่ดีเสมอมา

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 10:51 am
โดย crazyrisk
ผมว่า บทความช่วงหลังๆของ ดร.

น่าจะเอาไปทำ series

"เคล็ด(ไม่)ลับ เซียนหุ้นพันล้าน" ได้เลยนะครับ

เพราะ แต่ละแนว รวมเอา แนวทาง หรือวิธีการ ลงทุนในหุ้น
แบบตกผลึกแล้ว มาสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ..

แนะนำว่า ใครเป็นมือใหม่ อ่านทวนบ่อยๆ จะ ขึ้นชั้นได้เร็วมากครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 12:02 pm
โดย kong_kang69
อ่านง่าย เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ครับ
อาจารย์ ยังคงเป็น อันดับ1 สำหรับผม ตลอดมาและตลอดไปครับ

ขอบคุณมากครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 12:07 pm
โดย monsoon
เด็ดขาด ครบถ้วน ชัดเจน ครับอาจารย์^^

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 1:55 pm
โดย yoko
ผมเป๊นพวกช่องทางที่สามครับ ผมดูตัวเลขน่าสนใจแล้วผมก็ไปอ่านในร้อยคนร้อยหุ้น


แล้วรอจังหวะเวลาซื้อครับ

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ก.ค. 15, 2012 10:32 pm
โดย SW27
ขอบคุณครับ : )

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อังคาร ก.ค. 17, 2012 9:26 pm
โดย Giroro
สุดยอดมากครับ. เป็นบทความที่ครบถ้วน ใช้งานได้จริง

Re: ค้นฟ้าคว้าดาว/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ก.ค. 20, 2012 10:40 pm
โดย Wizardnight
อยากตกผลึกด้านการลงทุนแบบอ.บ้างจัง