ฝ่าวิกฤติยูโร/วิบูลย์ พึงประเสริฐ
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. มิ.ย. 21, 2012 8:42 pm
โค้ด: เลือกทั้งหมด
บทความ Value Way ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2555
โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
ฝ่าวิกฤติยูโร
ตลาดหุ้นในช่วงนี้ผันผวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรีซและกลุ่มยุโรเนื่องจากสถานการณ์ในกรีซส่งผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ทุกฝ่ายต้องหามาตราการมารองรับในกรณีที่กรีซต้องออกจากลุ่มยูโรเนื่องจากอาจไม่สามารถทนต่อการกดดันจากสมาชิกในกลุ่มให้รัฐบาลกรีซรัดเข็มขัดเงินงบประมาณจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงได้ นอกเหนือจากนั้นวิกฤตินี้ดูเหมือนจะลามไปถึงสเปนและอิตาลีที่มีหนี้สาธารณะจำนวนมากอีกด้วย
ความกังวลดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นตอบรับกับข่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นข่าวดีตลาดหุ้นก็ดีดตัวสูงขึ้น แต่ถ้าเป็นข่าวร้ายตลาดห้นก็ตกลงเหมือนๆกันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นในเอเซีย อเมริกาหรือยุโรปก็ตาม สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้หลายคนทำตัวไม่ถูกว่าจะจัดการกับพอร์ตการลงทุนของตนเองอย่างไรดี นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากขายล้างพอร์ต ถือเงินสดเพื่อรอดูท่าทีของรัฐบาลประเทศต่างๆในกลุ่มยูโรโซน หลายคนสับสนทำอะไรไม่ถูกไม่รู้จะซื้อหรือจะขายหุ้นดี
นอกเหนือจากนั้นหลายคนกลัวว่ากรณีที่กลุ่มยูโรเกิดวิกฤติขึ้นเหมือนครั้งปี 2008 ที่เกิดวิกฤติซัพไพร์มในอเมริกาที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำอย่างรุนแรงเนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างขายหุ้นกันทุกราคาจนมูลค่าตลาดหุ้นลดไปกว่าครึ่ง นักวิเคราะห์กลัวว่า วิกฤติยูโรรอบนี้จะทำให้สถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีกจึงแนะนำให้นักลงทุนลดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้วควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ มีคำแนะนำอยู่สองสามข้อที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้ได้ในภาวะเช่นนี้
หนึ่ง ถือเงินสดบ้าง
โดยปกตินักลงทุนควรมีเงินสดไว้บ้างเพื่อรองรับในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดหรือราคาหุ้นในพอร์ตตกต่ำอย่างรวดเร็ว การขายหุ้นล้างพอร์ตออกไปหมดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับนักลงทุนระยะยาว หุ้นที่ควรจะขายออกไปในช่วงวิกฤติควรเป็นหุ้นราคาเกินพื้นฐาน ส่วนหุ้นที่ราคายังต่ำกว่าพื้นฐานยังสามารถถือต่อไปได้ จากนั้นควรเช็คพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวที่ถืออยู่ว่าน่าจะทนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปได้สักสามถึงห้าปีหรือไม่ จากเหตุการณ์วิกฤติซัพไพร์มพบว่าต่างชาติขายแบบไม่สนใจราคาพื้นฐาน ตั้งใจขนเงินกลับอย่างเดียวเพราะขาดทุนที่ต่างประเทศหนัก คนที่ถือหุ้นอยู่เลยเจ็บตัวไปตามๆกัน แต่ถ้าเราไม่คิดเลิกลงทุนใน 2-3 ปีนี้และเงินในหุ้นก็ถือว่าเป็นเงินลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ไม่ได้คิดเอาออกมาใช้ทำอะไร ก็ไม่ต้องกังวลอะไรมาก การมีเงินสดอยู่จะช่วยนักลงทุนมีโอกาสซื้อหุ้นเพิ่มในกรณีที่ตลาดหุ้นตกจริง
สอง บริษัทที่ถืออยู่จะเป็นอย่างไรในอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า
เบนจามิน เกรแฮมเขียนไว้ในหนังสือ Intelligence Investor ว่า "ราคาหุ้นผันผวนในระยะสั้น แต่ราคาหุ้นจะสะท้อนผลการดำเนินการของบริษัทในระยะยาว" นักลงทุนควรลองคิดถึงอนาคตของบริษัทที่ซื้อมาในอีกห้าปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าคิดไม่ออกก็ต้องลองนั่งจินตนาการดู เช่นในปี 2560 คนจะเลิกซื้อของในโทเดิร์นเทรดแล้วกลับไปซื้อของในร้านโชว์ห่วยแทนหรือไม่ พอเดินเข้าร้าน สะดวกซื้อตอนนั้นจะเงียบจนหาคนเข้าร้านไม่ได้หรือเปล่า หรือในอีกห้าปีข้างหน้าคนจะเลิกใช้แก๊สใช้น้ำมันเปลี่ยนมาใช้รถไฮโดรเจนกันทุกคันหรือไม่หรือการไฟฟ้าจะใช้เลิกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศ
ถ้าเป็นดังที่ว่าข้างต้น การขายหุ้นโมเดิร์นเทรดและหุ้นพลังงานไปตอนนี้ก็ถือว่าไม่สายเกินไป แต่ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ แสดงว่าบริษัทเหล่านี้ยังมี"ธุรกิจ"อยู่ การถือหุ้นบริษัทที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตจะช่วยลดความเสี่ยงในระยะยาวได้
สาม ซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงที่ราคาตกต่ำมากๆ
ในสถานการณ์ไม่ปกติที่ต่างชาติขายหุ้นทุกราคาโดยไม่สนใจพื้นฐาน โอกาสเช่นนี้หาไม่ได้ง่ายๆที่นักลงทุนจะขายหุ้นโดยไม่สนใจราคา ใครมีหุ้นอยู่ไม่ต้องตกใจ ให้ดูอนาคตของบริษัท ดูพื้นฐานกิจการว่ายังไปรอดในอีก 3-5 ปีข้างหน้าหรือไม่ งบการเงินของบริษัทต้องนำมาพิจารณาอย่างละเอียด บริษัทที่อยู่รอดได้ต้องมีงบการเงินที่แข็งแกร่ง ไม่ล้มละลายไปเสียก่อน มีเงินสดในมือมาก มีหนี้น้อย ธุรกิจไม่ขาดทุน มีกระแสเงินสดเป็นบวก นักลงทุนสามารถนำเงินสดที่มีในมือมาซื้อหุ้นเหล่านี้เพิ่มได้ ใครมีความกล้าพอที่จะทำได้ ผลตอบแทนจะสูงมาก เห็นได้จากวิกฤติซัพไพร์มที่ผ่านมา
ดังนั้นถ้าจะฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าควรถามตนเองว่าถ้าตลาดหุ้นปิดไปสัก 3-5 ปี เรายังถือหุ้นเหล่านี้อยู่หรือไม่ นอกเหนือจากนั้นคำพูดอมตะของท่านอาจารย์เกรแฮมที่บอกว่า "แล้วมันจะผ่านไป" ยังคงใช้ได้ตราบจนปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ตลาดหุ้นก็ทำตัวเหมือนจะลืมสิ่งเคยเกิดขึ้นเสมอ