หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: เสาร์ มิ.ย. 09, 2012 10:41 pm
โดย little wing

โค้ด: เลือกทั้งหมด

โลกในมุมมองของ Value Investor                                      9 มิถุนายน 55

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น

	“เงิน 1 ดอลลาร์ที่เก็บได้บนถนนนั้นให้ความพึงพอใจแก่คุณมากกว่าเงิน 99 เหรียญที่คุณได้จากการทำงาน  และเงินที่คุณเล่นได้จากวงไพ่หรือในตลาดหุ้นก็สอดแทรกเข้าไปในหัวใจคุณในแบบเดียวกัน”   นั่นคือคำกล่าวของ มาร์ก ทเวน  นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน

	ความสุขและความพึงพอใจจากเงินที่ได้จากการพนัน  ซึ่งในสายตาของ มาร์ก ทเวน  หรือคนทั่วไปรวมถึงการเล่นหุ้นนั้น  ช่างมากมายเสียเหลือเกิน  และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อย  ที่มีเงินพอสมควร  และคนที่มีเงินมาก  ต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นนิจสิน

	แต่ความพึงพอใจที่ “ได้เงิน” เท่านั้นหรือที่ทำให้คน  “ติด”  อยู่กับการเล่นหุ้น?   ทำไมคนจำนวนมากที่วนเวียนเล่นหุ้นมายาวนานแต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้กำไร  บางคนขาดทุนด้วยซ้ำ  แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่เลิกเล่น  อะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากเล่นหุ้นจริง ๆ  นอกเหนือจากเรื่องเงินที่จะได้?  คำตอบก็คือ  “ความสุขและความพึงพอใจจากการเล่นหุ้น”

	การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องของความสุขและความพึงพอใจของคนเรานั้นน่าจะอธิบายพฤติกรรมของคนที่ชอบ  “เล่นหุ้น”  ซึ่งในความหมายของผมก็คือ  คนที่ชอบ  “เก็งกำไร”  นั่นคือ  ซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นในระยะเวลาอันสั้นได้  ลองมาดูกันว่าเป็นอย่างไร

	การศึกษาเรื่องของความสุขหรือความเพลิดเพลินหรือความพึงพอใจของคนเรานั้นพบว่ามันเกิดขึ้นใน  “สมอง”  นั่นก็คือ  เวลาที่เรามีความสุข  ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารบางอย่างไปจับกับตัวจับที่ต่อเข้ากับสมอง  เราจะรู้สึก “ชอบ”  และ  “อยากทำ” อีก  เพราะมัน  “มีความสุข”

	การดื่มน้ำ  การกินอาหาร  การมีเซ็กส์  หรือการออกกำลังกาย  เหล่านี้  ร่างกายก็จะ  “ส่งสัญญาณ”  ผ่านเคมีบางอย่างไปที่ตัวจับเพื่อบอกสมองว่านี่คือ  “ความสุข”  และคุณจะอยากทำอีก   นี่เป็นเรื่องจำเป็นทางชีววิทยาเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและสายพันธุ์ของมนุษย์

	ยาเสพติดเช่น  กัญชา  ฝิ่น  เฮโรอีน  บุหรี่  เหล่านี้  มีสารที่ก่อให้เกิด “ความสุข”  สูงมาก  และดังนั้น  เมื่อคนเสพเข้าไปแล้วก็จะรู้สึกดีมาก  บางครั้งคล้ายจะ  “หลุดโลก”   นักวิจัยคนหนึ่งเคยทดลองเสพเฮโรอีนเพื่อดูความรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น  เขาถึงกับบอกว่ามันเหมือนกับการ   “ถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์พันครั้ง”  ซึ่งทำให้คนอยากเสพอีก  ปัญหาก็คือ  เมื่อเสพไปเรื่อย ๆ   ความรู้สึกสุดยอดก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ  เพราะตัวจับเคมีมันอาจจะ  “ด้าน”  ต้องใช้ยาเพิ่มขึ้น ๆ  จนถึงจุดหนึ่ง  “ความสุข” จากการเสพก็แทบจะหมดไป   ความ “ชอบ”  ก็ไม่มีเหลือ   เหลือแต่  “ความต้องการ”  คือถ้าไม่ได้เสพก็จะ  “ลงแดง”  ถึงจุดนี้  ความ “หายนะ” ก็จะเกิดขึ้นทั้งทางร่ายกายและจิตใจ  บางคนต้องก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินมาซื้อยา

	กิจกรรมบางอย่างของคนเราก็ก่อให้เกิดความสุขหรือความพึงพอใจได้ไม่น้อยและบางครั้งและ/หรือบางคนก็  “ติด”  ได้เช่นเดียวกัน  เช่น  การดื่มสุรา  การดื่มกาแฟ    การเล่นการพนันเช่นในบ่อนกาสิโน  การเล่นพนันบอล  การเล่นเกมคอมพิวเตอร์  หรือแม้แต่การออกกำลังหรือการมีเซ็กส์  ทั้งหมดนี้สามารถพิสูจน์ได้จากการตรวจสอบสารเคมีในสมองของคนที่กำลังทำ  ประเด็นสำคัญก็คือ  คนที่  “ติด” ก็คือคนที่ร่างกายมีสารเคมีหรือตัวรับที่ผิดปกติจากคนธรรมดาที่ทำให้พวกเขาต้องทำมากกว่าคนอื่นเพื่อที่จะมีความสุขหรือความพึงพอใจเท่ากัน  แต่ในกรณีต่าง ๆ  เหล่านี้  ยกเว้นสุราแล้ว  คนจำนวนไม่น้อยก็สามารถ “เลิก”  ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยาหรือปรึกษาแพทย์   พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง  ไทเกอร์ วูดส์  นักกอล์ฟชื่อก้องโลกที่เคยบอกว่าเขาเป็นโรค  “ติดเซ็กส์” และต้องได้รับการบำบัด  ทำให้ผมนึกต่อไปว่า  คนที่ “ติด” ในเรื่องเหล่านี้นั้น  นอกจากเป็นเรื่องของร่างกายแล้ว  มันคงต้องอาศัย  “สภาวะแวดล้อม”  ที่ว่า  คุณสามารถเข้าถึงมันได้ง่ายหรือมันอยู่ใกล้ตัวคุณมาก  คุณมีกำลังซื้อพอ  และมันไม่ผิดกฎหมาย  ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น

	การศึกษาที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  เรื่องของ  “ผลตอบแทน”  นั่นก็คือ  การทำอะไรก็ตาม  โดย  “ธรรมชาติ”  มนุษย์ก็น่าจะทำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อร่างกายและสืบเผ่าพันธุ์  แต่การทดลองพบว่า   ความสุขหรือความพึงพอใจนั้นเกิดขึ้นได้แม้จะไม่มีผลตอบแทนอะไรมา “ล่อ”    พูดง่าย ๆ  สมองมีการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันเวลาที่เราทำบางสิ่งบางอย่างทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้มีผลตอบแทนอะไรเลยเช่น  การเล่นเกมคอมพิวเตอร์   การทดลองยังพบว่า  คนเรานั้น  ชอบ  “ลุ้น”  นั่นก็คือ  เราชอบเล่นกับความไม่แน่นอน  โดยเฉพาะถ้าเรามีส่วนในการที่จะก่อให้เกิดผลตามที่เราต้องการ  ตัวอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  ความสุขหรือความพึงพอใจที่จะเล่นหวยหรือลอตเตอรี่นั้น  จะเพิ่มขึ้นถ้าเรามีสิทธิเลือกเบอร์ที่จะแทง  นอกจากนั้น  เรื่องผลลัพธ์ก็มีส่วนต่อความสุขหรือความพึงพอใจที่จะเกิดขึ้น   ถ้าผลลัพธ์ออกมาถูกต้อง  แน่นอน  เราจะมีความสุขมากและอยากเล่นอีก  ถ้าผลลัพธ์  “ห่างไกล”  ความพึงพอใจก็น้อย  แต่ถ้าผลลัพธ์ใกล้เคียงกับตัวที่เราเลือก  ซึ่งเราก็เสียเงินเท่ากัน   แต่ผลทางสมองนั้นจะแตกต่างกัน  เคมีที่เกิดขึ้นนั้น  ผมคิดว่าคงไม่ใช่ตัวเดียวกับเคมีความสุขแต่มันก็ใกล้กันมาก   และมันทำให้เรา  “อยากแทงอีก”  พูดภาษาชาวบ้านผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความรู้สึก  “เจ็บใจ”  และเราอยาก  “เอาคืน”  

	และนั่นทำให้ผมนึกถึงเรื่องของการเล่นหุ้น  ซึ่งผมคิดว่าเข้าข่ายที่จะก่อให้เกิดความสุขหรือความพึงพอใจให้แก่คนเล่นไม่น้อย  ข้อแรกก็คือ  มันเป็นเกมที่มีความไม่แน่นอนสูง  ข้อสอง  มันมีผลตอบแทนที่เป็นเงิน  “เดิมพัน”  ข้อสาม  คนเล่นสามารถเลือกหุ้นหรือมีส่วนในการที่จะกำหนดผลลัพธ์ที่จะออกมาได้ในระดับหนึ่งที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเกมอื่น ๆ  ข้อสี่  ผลลัพธ์ที่ออกมา  นั่นก็คือ  กำไรหรือขาดทุนในหุ้นแต่ละตัวหรือแต่ละครั้งหรือแต่ละช่วงเวลานั้น  มักจะเป็นเรื่องของการผิดพลาดที่  “ใกล้เคียง”  กับที่  “แทง”  ไว้  ความหมายก็คือ  ในยามปกตินั้น  นักเล่นหุ้นก็จะมีได้มีเสียในบางตัว  ผลตอบแทนก็มักจะกลับไปมาตามภาวะของตลาดหุ้น  เวลาของการ  “ลุ้น”  มีอยู่ตลอดเวลา   ไม่ใคร่ที่จะมีช่วงเวลาที่เล่นหุ้นแล้วเสียทุกตัวและพอร์ตมีแต่ลดลงต่อเนื่องยาวนานยกเว้นในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่  ดังนั้น  คนเล่นหุ้นนั้น  ถึงแม้ว่าจะขาดทุนก็ยังอยากกลับมาเล่นใหม่อีกเสมอ ๆ  เพราะเขาคง “เจ็บใจ” และอยาก  “เอาคืน”

	ความสุขที่เกิดจากการ “เล่นหุ้น” ดังที่กล่าวนั้น  น่าเสียดายที่ในระยะยาวแล้ว  คนเล่นมักจะขาดทุนเนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้หรือความสามารถที่จะควบคุมผลลัพธ์ที่จะออกมาได้จริง  เขาเพียงแต่คิดว่าเขารู้เขาคุมได้  ดังนั้น  ในระยะยาวแล้ว  เขาจะต้องเสียค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายและขาดทุนในส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย  นั่นก็คือ  เวลาซื้อเขามักจะต้องซื้อแพงขึ้นเล็กน้อย  และเวลาขาย  เขามักจะขายได้ถูกลงเล็กน้อย  แต่ผลจากการซื้อ ๆ  ขาย ๆ  จำนวนมาก  เขาก็จะขาดทุน  และนี่ก็คือ  ความทุกข์ของการ  “เล่นหุ้น”    หนทางที่จะหลีกเลี่ยง “กับดัก” นี้ก็คือ  เราต้องเปลี่ยนการเล่นหุ้นเป็น  “การลงทุน”  ซึ่งจะต้องใช้แนวความคิดอีกชุดหนึ่งของความสุขและความพึงพอใจของคนเรา
[/size]

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 10, 2012 12:27 am
โดย KGYF
ขอบคุณมากครับ



:bow: :bow: :bow:

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 10, 2012 7:31 am
โดย xavi
ก่อนหน้าจะเล่นแบบ vi ก็เป็นแบบที่ ดร.ว่าจริงงๆครับ
หุ้นขึ้นตื่นเต้นสุดๆ สักพักก็ขายทำกำไร แต่หลายครั้งก็กลับมาซื้อตัวเดิม เพราะราคาก็ขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่หุ้้นตกนี่แย่กว่า เพราะต้องขาย cut ตลอด
เพราะเราไม่รู้พื้นฐานดีพอ ราคาหุ้นลงกลับกลัวว่าจะไม่ขึ้น
โชคดีว่ารวมๆยังกำไร port ยังพอโตได้
แต่มันเสียเวลามากๆกับการดูราคาระหว่างวัน เพราะต้องตามราคาอยู่บ่อยๆ :wall:

ลองปรับเล่นแนว vi เสียเวลาในการเลือกหุ้นให้มากขึ้น
ความรู้สึกไม่เหมือนเดิม หุ้นขึ้นมากกลับเสียดาย กลัวซื้อไล่ตามไม่ทัน
หุ้นลงไม่หวั่นไหว เพราะเร่ิมเชื่อมั่่นในกิจการ หลายตัวกล้าซื้อเพิ่ม มองเป็นโอกาส
ไม่ต้องติดตามราคาบ่อย รู้สึกว่านิ่งขึ้นจริงๆครับ :D

แต่ตอนนี้ก็ยังต้องฝึกอีกมาก เพราะเพิ่งเริ่มแนวคิด vi ได้ไม่นาน
ยังมีวิเคราะห์ถูกบ้าง ผิดบ้าง ตามความยากง่ายของหุ้นที่สนใจ

ต้องขอบคุณ ดร. ที่เขียนบทความเตือนใจ และให้ความเชื่อมั่นตลอด ว่าเราเดินมาถูกทางครับ :bow: :bow:

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 10, 2012 10:55 am
โดย imerlot
Ben Graham, my friend and teacher, long ago described the
mental attitude toward market fluctuations that I believe to be
most conducive to investment success. He said that you should
imagine market quotations as coming from a remarkably
accommodating fellow named Mr. Market who is your partner in a
private business. Without fail, Mr. Market appears daily and
names a price at which he will either buy your interest or sell
you his.

Even though the business that the two of you own may have
economic characteristics that are stable, Mr. Market's quotations
will be anything but. For, sad to say, the poor fellow has
incurable emotional problems.
At times he feels euphoric and can
see only the favorable factors affecting the business. When in
that mood, he names a very high buy-sell price because he fears
that you will snap up his interest and rob him of imminent gains.
At other times he is depressed and can see nothing but trouble
ahead for both the business and the world. On these occasions he
will name a very low price, since he is terrified that you will
unload your interest on him.

Mr. Market has another endearing characteristic: He doesn't
mind being ignored. If his quotation is uninteresting to you
today, he will be back with a new one tomorrow.
Transactions are
strictly at your option. Under these conditions, the more manic-
depressive his behavior, the better for you.

But, like Cinderella at the ball, you must heed one warning
or everything will turn into pumpkins and mice
: Mr. Market is
there to serve you, not to guide you. It is his pocketbook, not
his wisdom, that you will find useful. If he shows up some day
in a particularly foolish mood, you are free to either ignore him
or to take advantage of him, but it will be disastrous if you
fall under his influence.


Indeed, if you aren't certain that you
understand and can value your business far better than Mr.
Market, you don't belong in the game.
As they say in poker, "If
you've been in the game 30 minutes and you don't know who the
patsy is, you're the patsy.{ผู้ถูกหลอกง่าย,ผู้ถูกควบคุมได้ง่าย(dummy)}"


..

In my opinion, investment success
will not be produced by arcane formulae, computer programs or
signals flashed by the price behavior of stocks and markets.
Rather an investor will succeed by coupling good business
judgment with an ability to insulate his thoughts and behavior
from the super-contagious emotions that swirl about the
marketplace.
In my own efforts to stay insulated, I have found
it highly useful to keep Ben's Mr. Market concept firmly in mind.

http://www.berkshirehathaway.com/letters/1987.html

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 10, 2012 12:35 pm
โดย iruma
สิ่งเสพติดที่เรียกว่าหุ้น - ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
คนที่จะเข้ามาลงทุนหรือซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น ผมคิดว่าควรที่จะต้องทำความเข้าใจตั้งแต่แรกว่า กิจกรรมการลงทุนหรือเล่นหุ้นนั้นมีโอกาสที่จะทำให้คุณ “ติด” ได้ เพราะธรรมชาติของมันนั้นมีลักษณะของการ “เสพติด” และถ้าคุณไม่รู้ตัว ทำกิจกรรมนี้อย่างไม่ถูกต้อง คุณอาจจะประสบกับหายนะได้

คำว่าเสพติดในความหมายของผมนั้น ไม่ใช่เฉพาะยาหรือสิ่งเสพติดที่เรานำเข้าสู่ร่างกายและทำให้ร่างกายต้องการอยู่เสมอเท่านั้น แต่มันรวมถึงกิจกรรมที่ทำให้สมองหรือจิตใจของเรามีความสุขและเรียกร้องที่จะต้องทำอยู่เสมอ

การติดอะไรบางอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ว่าที่จริง ผมคิดว่าคนทุกคนจะต้องติดหรือเสพอะไรบางอย่างที่ทำให้ติดและมักจะต้องทำอยู่เสมอ ผมเองเคยติดอะไรมานับไม่ถ้วน ช่วงหนึ่งเคยบ้าเล่นหมากรุกก็เล่นทั้งวันไม่กินข้าวปลาอาหารตามเวลา ระยะนี้ก็บ้าดื่มชาเขียววันละ 2 ขวดจนต้องชงดื่มเอง และที่ต้องทำติดต่อกันมานานนับสิบปีก็คือการจ็อกกิ้งซึ่งต้องเรียกว่าติด เพราะถ้าไม่ทำจะรู้สึกหงุดหงิด เขาบอกว่าการออกกำลังกายทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟินซึ่งเป็นฝิ่นธรรมชาติที่ทำให้เราติด แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย กลับดีด้วยซ้ำไป

กิจกรรมที่ผมคิดว่าทำให้คนติดได้มากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการพนันซึ่ง แน่นอน รวมไปถึงหวยและล็อตเตอรี่ซึ่งคนจำนวนเป็นล้าน ๆ ทั่วประเทศติดกันงอมแงม วันออกล็อตเตอรี่กิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะตามสถานที่ทำงานที่มีคนติดหวยมาก ๆ แทบจะสะดุดหยุดลงเพื่อรอฟังผลการออกสลาก แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดมักเกิดกับ “สิงห์การพนัน” ที่ติดการพนันขนาดที่ต้องเล่นเป็นประจำจนขาดทุนหมดตัวเป็นหนี้สินมากมาย

ผมคิดว่าการพนันทำให้คนติดเพราะการชนะพนันทำให้เรามีความสุขและสมองคงบันทึกความรู้สึกนี้ไว้ค่อนข้างแน่นหนา ในขณะที่การแพ้พนันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่รื่นรมย์ซึ่งจิตใจของเราไม่อยากรับรู้ ดังนั้นเรามักจะลืมได้ง่าย ยิ่งเราพนันบ่อย จิตใจก็คงได้รับความสุขจากการชนะพนันมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่การพ่ายแพ้แม้จะเกิดขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า แต่จิตใจไม่อยากรับรู้ดังนั้น อาการ “ติด” ก็เกิดขึ้น เราติดเพราะเราหวังจะได้กำไร เราหวังที่จะชนะในการพนัน พูดง่าย ๆ เราโลภ

หุ้นนั้น แน่นอน มีลักษณะของการพนัน แต่เป็นการพนันที่ต้องใช้ฝีมือ ความรู้ ความสามารถ บางคนบอกว่าต้องสามารถใช้ศาสตร์ระดับนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจรวด คนจำนวนมากเชื่อว่าต้องรู้เศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงินระดับโลก แต่หลาย ๆ คนเชื่อว่าต้องรู้จิตวิทยามวลชนผสมผสานกับเส้นกราฟทางเทคนิคต่าง ๆ ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนอาศัยแต่ข่าว ทั้งข่าววงใน และข่าวการเล่นของขาใหญ่ ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือ ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อที่จะเอาชนะในการซื้อขายหุ้น

การเข้าตลาดหุ้นที่ทำให้ “ติด” ง่ายที่สุดก็คือ การเล่นหุ้นที่มีลักษณะของการพนันมากที่สุด นั่นก็คือการซื้อขายหุ้นแบบ Trader คือการลงทุนที่หวังกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นที่ขึ้นลงผันผวนในระยะสั้น และหุ้นที่จะทำให้คนติดมากที่สุดก็คือหุ้นที่มีคุณสมบัติสำคัญก็คือ ต้องเป็นหุ้นที่มีราคาขึ้นลงแตกต่างกันสูงมากในระยะเวลาอันสั้นซึ่งจะทำให้เกิดส่วนต่างของกำไรสูงมาก และต้องเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก สามารถซื้อหรือขายในราคาที่เห็นได้ตลอดเวลา ซึ่งหุ้นที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติดังกล่าวก็คือหุ้นขนาดใหญ่ที่กำลังมีข่าวดีมาก ๆ และหุ้นขนาดเล็กที่มีคุณภาพของผลการดำเนินงานต่ำ แต่มี “อนาคต” ทั้งที่เป็นจริงหรือถูก “สร้างภาพ” ขึ้นดีมาก แต่ที่สำคัญขาดไม่ได้ก็คือ มี “เจ้ามือ” ที่จะต้องเป็นผู้ซื้อขายนำ “ทำตลาด”
การ “เสพ” หุ้นที่มีการเก็งกำไรสูง เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะถ้าเราทำบ่อย ๆ ในที่สุดเราก็จะติดและเข้าร่วมในกิจกรรมเก็งกำไรทุกครั้งที่เกิดขึ้น และในที่สุดเราก็จะพบว่าเงินในกระเป๋าของเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตรงกันข้าม ถ้าเรา “เสพ” หุ้นแบบ Value ลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดี มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน และ “พนัน” ว่า กิจการจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้น จ่ายปันผลมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะได้กำไรในระยะยาว เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การที่เราจะ “ติด” หุ้นแบบนี้ก็จะไม่ส่งผลเสียหาย แต่จะสร้างความสุขที่ยั่งยืนเหมือนกับที่เราติดการออกกำลังกายอย่างไรอย่างนั้น และถ้ามีช่วงไหนที่หุ้นเก็งกำไรเย้ายวนใจมาก ๆ สิ่งที่เราจะต้องทำในกรณีนี้ก็คือ Just Say No

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 10, 2012 5:41 pm
โดย gripen
ขอบคุณครับ

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ มิ.ย. 10, 2012 10:41 pm
โดย NewSmartInvestor
ขอบคุณครับ

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 11, 2012 10:46 am
โดย halogen
ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน

บทความของ dr. นี่ เรียกว่า อ่านขาด เรื่องจิตวิทยาเลยฮะ :8)

Re: ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรว

โพสต์แล้ว: จันทร์ มิ.ย. 11, 2012 2:03 pm
โดย Teerasak Boonrat
ขอบพระคุณมากครับ