หน้า 1 จากทั้งหมด 1

ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 3:28 pm
โดย little wing

โค้ด: เลือกทั้งหมด

โลกในมุมมองของ Value Investor         28 เมษายน 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

	ธุรกิจที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วงนี้ก็คือ  ธุรกิจสื่อสารมวลชน   ต้นเหตุสำคัญก็คือ  การเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ประกอบกับการพัฒนาทางด้านของเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ที่ทำให้สามารถขยายช่องทางของการสื่อสารออกไปมหาศาล  ทำให้ต้นทุนของการสื่อสารต่ำลงไปมากในขณะที่คุณภาพของภาพและเสียงกลับสูงขึ้นมาก
	การเกิดขึ้นของ กสทช. และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้  “การผูกขาด”  ของสื่อที่มีมานานในประเทศไทยหมดหรือเกือบหมดไป  ในอนาคตอีกไม่นานเราจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในด้านของโทรทัศน์ที่จะมีสถานีหรือช่องทีวีใหม่เป็นร้อย ๆ  ช่อง  ที่ส่งถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศ  ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ  ตั้งแต่ระบบดั้งเดิมที่เป็นเสาอากาศ  ดาวเทียม  สายเคเบิล  และทางอินเตอร์เน็ต   แต่ละช่องมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำมาก  ดังนั้น  การแข่งขันที่จะ “แย่งผู้ชม”  จะรุนแรงมาก  โดยที่กลยุทธ์สำคัญที่สุดในการดึงดูดคนดูก็คือ  การใช้  Content หรือเนื้อหาหรือข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้ามาชม  การแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งในเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจในครั้งนี้ผมอยากจะเรียกว่า  “ศึกชิงตา”  นั่นก็คือ  ผู้ให้บริการทั้งหลายต่างก็ต้องพยายามยึด  “สายตา”  ของคนในประเทศให้มาดูรายการหรือ Content ของตนเองให้มากที่สุด  เพราะจำนวนคนดูจะเป็น  “รายได้”  ที่กิจการจะได้รับที่จะมาจากการโฆษณา  ค่าบริการ  และอื่น ๆ  
	ประเด็นที่จะต้องตระหนักมากที่สุดก็คือ  ในขณะที่มีบริษัทและช่องทางใหม่ ๆ  เพิ่มขึ้นมากมายที่จะเข้ามาช่วงชิง  “ตา”  แต่จำนวน “ตา”  นั้น  กลับมีจำนวน  “เท่าเดิม”   ความหมายก็คือ  คนไทยนั้น  ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก  เวลาที่จะใช้ตาเพื่อที่จะ “ดู”  ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนักแม้จะมีคนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้สายตามากกว่าคนรุ่นก่อน  ดังนั้น  ถ้าเราคิดว่าจำนวน “ตา”  หรือเวลาที่ใช้ในการ  “ดู” ก็คือ “รายได้”  ที่ผู้ให้บริการจะได้รับ   ข้อสรุปของเราก็คือ  รายได้จาก  “ศึกชิงตา”  ก็จะมีเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม   แต่ผู้ให้บริการกลับมีเพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก   ผลก็คือ  ถ้ามองในแง่ของอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว  ก็น่าจะเป็นว่า  กำไรของอุตสาหกรรมจะลดลง  ถ้ามองในรายละเอียดต่อไปก็น่าจะเป็นว่า  ผู้เล่นที่มีอยู่เดิมที่อยู่ในสภาวะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด   น่าจะมีกำไรน้อยลงเพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา “แย่ง”  หรือแบ่ง  “ลูกตา”  หรือลูกค้าไปบ้าง  ส่วนรายใหม่ที่เข้ามานั้น  รายที่ประสบความสำเร็จสูงก็อาจจะได้กำไร  แต่หลายรายที่น่าจะมีจำนวนมากกว่าก็จะขาดทุน  มันเป็นศึกที่น่าจะคล้ายกับสงครามที่คู่ต่อสู้ส่วนใหญ่  “เสียหาย”  และมีผู้ได้ประโยชน์จริง ๆ  น้อยมาก
	ผู้ให้บริการรายใหญ่เดิมนั้น   สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ  จำนวนผู้ชมและ/หรือเวลาชมน่าจะค่อย ๆ  ลดลง  เหตุผลก็คือ  Content หรือเนื้อหาที่ดึงดูดมวลชนจำนวนมากนั้นจะดึงดูดคนได้น้อยลงเนื่องจากจะมีผู้ดูบางส่วนที่มีความสนใจใน Content อื่นมากกว่าแต่ในอดีตพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น   แต่เมื่อมีทางเลือกอื่นพวกเขาก็จะไป  ตัวอย่างง่ายที่สุดก็เช่น  คนที่ชอบชมละครหลังข่าว  ถ้ามีละครหลายเรื่องมากขึ้นมาเสนอในเวลาเดียวกัน  โอกาสก็เป็นไปได้ที่พวกเขาบางคนจะไปชมเรื่องอื่น   เช่นเดียวกัน   รายการข่าวนั้น  คนที่เคยชมข่าวช่วงไพร์มไทม์เป็นประจำ  เมื่อเขามีทางเลือกอื่น  เขาอาจจะไปชมในช่องที่เป็นช่องข่าว  ที่นำเสนอแต่ข่าวตลอดทั้งวัน  ที่พวกเขาสะดวกที่จะรับชมได้ตลอดเวลา   เป็นต้น
	อย่างไรก็ตาม  ผู้ให้บริการรายใหญ่นั้น  สิ่งที่พวกเขายังมีอยู่และรายเล็กและรายใหม่ไม่มีก็คือ  จำนวนหรือปริมาณคนดูที่มีจำนวนมากที่ทำให้ผู้ขายสินค้าที่ต้องการ  “โฆษณาในวงกว้าง” จำเป็นต้องใช้บริการ  ดังนั้น  สิ่งที่รายใหญ่สามารถทำได้ก็คือ  การเพิ่มราคาค่าโฆษณา  ซึ่งทำให้กิจการสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำเนื่องจากต้นทุนการผลิตและส่งรายการยังเท่าเดิม  ประเด็นสำคัญก็คือ  สถานีจะต้องรักษาคุณภาพหรือ Content ของรายการให้สามารถดึงดูดมวลชนจำนวนมากให้ได้ต่อเนื่องยาวนาน   ในช่วงแรก ๆ  นั้นผมคิดว่าปัญหายังไม่มาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  ผมเชื่อว่าผู้ชมก็จะค่อย ๆ  กระจายความสนใจในรายการหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อพวกเขาพบทางเลือกใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น  ผลก็คือ  ผลประกอบการของทีวีช่องใหญ่ ๆ  น่าจะค่อย ๆ  ปรับตัวลดลงและอาจจะกลายเป็น  “ตะวันตกดิน” ได้
	ทีวีช่องใหม่ ๆ  ที่กำลังเกิดขึ้นมากมายนั้น  จุดขายก็คือ  แย่งชิงผู้ชมที่มีความสนใจเฉพาะอย่าง  เช่น  ชิง  “ตาของวัยรุ่น”   เช่น  ทำสถานีเพลงที่โดดเด่น  บางสถานีอาจจะเน้น “ตาของผู้ใหญ่” ที่สนใจปัญหาของบ้านเมือง  จึงทำสถานีข่าว  บางสถานีอาจจะเน้น  “ตาของเด็ก”  จึงทำช่องการ์ตูน  สถานีเหล่านี้ก็มักจะได้ผู้ชมจำนวนไม่มากซึ่งทำให้รายได้ที่ได้รับไม่สูงนัก   อย่างไรก็ตาม  ต้นทุนของการผลิตและออกอากาศก็อาจจะไม่สูงนักโดยเฉพาะบริษัทที่มี  Content หรือเนื้อหาที่บริษัททำขึ้นเพื่อขายในช่องทางอื่นอยู่แล้ว  ประเด็นที่เราอาจจะยังไม่รู้จนกว่าจะได้ทำจริง ๆ  ก็คือ  รายได้นั้นสูงกว่ารายจ่ายหรือไม่?  ถ้าสูงกว่าก็มีกำไร  แต่ถ้าต่ำกว่าก็ขาดทุน  แต่ไม่ว่าในกรณีใด  ความแน่นอนของผลประกอบก็อาจจะไม่สูงนัก  เหตุผลก็คือ  ธุรกิจนี้จะมีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก  
	การเกิดขึ้นของช่องทีวีจำนวนมากนั้น  ทำให้บริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมมีลูกค้าและมีรายได้มากขึ้นชัดเจน  ผู้ให้บริการในด้านนี้มักจะต้องเป็นรายใหญ่พอสมควรและต้องลงทุนค่อนข้างมาก  ดังนั้น  คู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่จะค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา  ตัวอย่างก็คือ  ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารและอินเตอร์เน็ต  เป็นต้น  ดังนั้น  ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้น่าจะดีขึ้น  อย่างน้อยในช่วงแรก ๆ  ที่ผู้ให้บริการรายใหม่ยังไม่สามารถเข้ามาให้บริการได้ทัน
	ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งกำลังจะมีการเปิดประมูลและให้บริการระบบ 3G เป็นคู่แข่งรายใหม่ที่น่ากลัวมากใน  “ศึกชิงตา”  เหตุผลก็คือ  ในปัจจุบันนี้คนจำนวนมากใช้สายตาอยู่กับแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานมากในแต่ละวัน  เวลาที่ใช้กับการสื่อสารเพื่อการสังคมหรือ Social Media นั้น  น่าจะเข้ามาแย่งชิง  “ตา”  จากบริษัทที่ให้บริการทีวีไปไม่น้อย  และนี่จะลดรายได้ของทีวีแต่ไปเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือ
	ผมคิดว่ายังมีสิ่งอื่น ๆ  อีกมากที่พยายาม “แย่งชิงตา”  ที่มีอยู่จำกัดและไม่ได้เติบโตมากนัก  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้นบางอย่างเราก็ยังไม่รู้   บางอย่างก็อาจจะยังไม่เกิด   แต่ผมมั่นใจว่ามันมีความหลากหลายมาก  ผลก็คือ  รายการหรือ Content ที่มีผู้ชมมากจริง ๆ  หรือมีเรตติ้งสูงมาก ๆ  จะมีน้อยลงเรื่อย ๆ  ลักษณะอย่างนี้จะทำให้การทำกำไรสูงมาก ๆ  ของช่องทีวีจะเป็นไปได้ยากขึ้นและธุรกิจทีวีในอนาคตอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
  
[/size]

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 3:48 pm
โดย marcus147
กำลังว่าจะตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับกรณีนี้พอดีเลยครับ
เพราะเห็นว่าช่วงนี้กระแสดิจิตอลทีวีมาแรงมากๆ
หุ้น GRAMMY RS WORK ต่างปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะ
โดยเฉพาะ WORK นี่วิ่งแบบว่าแรงมากๆ

ผมเลยมานั่งคิดว่า เอ รายการของ WORK มีทั้งบน free TV(3,5,7,9) และทั้งบนดาวเทียม (workpoint tv)
ถ้าตลาดคาดหวังว่าค่าโฆษณาบนทีวีดาวเทียมจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่อาจจะลืมไปว่ารายได้จากรายการ
บน free tv ที่ ณ ปัจจุบันเป็นรายได้หลักก็น่าจะลดลงเหมือนกัน

ฉะนั้นแล้ว ราคาหุ้นที่วิ่งแรงมากแบบนี้ จะถือได้ว่าเกินมูลค่าไปเยอะเกินไปหรือเปล่า panic buy

ปล. ผมไม่มีหุ้นนะครับ เพราะซื้อไม่ทัน 555 แต่ก็ตามอยู่เพราะอยากดูเป็นกรณีศึกษา

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 3:50 pm
โดย MYBIZ
ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 5:16 pm
โดย ดำ
ตอนแรกนึกว่า อ.หมายถึง ชิงเสียตา (ปัญญา) :shock:

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 5:55 pm
โดย harikung
ส่วนตัวคิดว่าพื้นฐานของฟรีทีวีคงเสื่อมถอยลงไปบ้างครับ แต่ด้วยคอนเทนท์ที่มีคุณภาพสูงกว่าพวกช่องดาวเทียม ณ ตอนนี้พอสมควรเลยคิดว่าน่าจะยังพอไปได้ธุรกิจนี้ยังไงก้อวัดกันที่คอนเทนท์ล่ะครับ

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 7:43 pm
โดย SEHJU
ดร.เขียนได้ทันกระแส ประเด็นสาระครบ อีกทั้งขี้เล่นต่างหาก ผมชอบมาตั้งแต่นักลงทุนสายดำแระ ฮ่าๆ :D

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 8:01 pm
โดย VI Wannabe
อีกหน่อยแม้แต่ content ก็น่าจะทำเงินยากนะครับ
เวลาผมดู series ผมก็โหลด bit ดู
เวลาแฟนดูละครเค้าก็ดูผ่าน youtube

แต่ก็คงอีกสักพักแหละกว่า internet จะทั่วถึงขนาดนั้นจนมีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 8:11 pm
โดย Sorgios
ขอบคุณอาจารย์ที่ชี้แนะครับ
ขอบคุณคุณ little wing ที่นำมาให้อ่านครับ

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 8:42 pm
โดย pongo
marcus147 เขียน: ผมเลยมานั่งคิดว่า เอ รายการของ WORK มีทั้งบน free TV(3,5,7,9) และทั้งบนดาวเทียม (workpoint tv)
ถ้าตลาดคาดหวังว่าค่าโฆษณาบนทีวีดาวเทียมจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่อาจจะลืมไปว่ารายได้จากรายการ
บน free tv ที่ ณ ปัจจุบันเป็นรายได้หลักก็น่าจะลดลงเหมือนกัน

ฉะนั้นแล้ว ราคาหุ้นที่วิ่งแรงมากแบบนี้ จะถือได้ว่าเกินมูลค่าไปเยอะเกินไปหรือเปล่า panic buy

ปล. ผมไม่มีหุ้นนะครับ เพราะซื้อไม่ทัน 555 แต่ก็ตามอยู่เพราะอยากดูเป็นกรณีศึกษา
ประเด็นนี้ลองโทรถาม ir ดูได้ครับ จะได้คำตอบที่ชัดเจน แล้วกลับมาวิเคราะห์ sensitivity อีกที ก็จะทราบกำไรในหลายๆ กรณี

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 8:45 pm
โดย สาวกเซเลบ
ท่านอาจารย์เขียนบทความ ให้ความเห็นได้สะใจ .. เอ้ยไม่ใช่ ถูกใจสาวกมากเลยฮาฟ

ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง :D

===================
ดับเบิ้ล เลิฟ เลิ๊ฟ เลิฟ จะเบิ้ลรักให้เธอ

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 9:31 pm
โดย kongkiti
ฟัน3โฆษณาทีวีดาวเทียมเกินจริง

"กสทช."ฟัน 3 โฆษณาทีวีดาวเทียมเกินจริง เตรียมบี้ไทยคมดำเนินการจริงจัง 30 เม.ย.

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด กระจายเสียงและโทรทัศน์ มีมติออกมาตรการระงับโฆษณาอาหารและยาทางทีวีดาวเทียม 3 ชนิด คือ เอนไซน์เจนิฟูดส์ ซันคลาร่า และเกร็กคู ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. แล้วว่าเป็นโฆษณาเกินจริง และจะมีผลทันที

ทั้งนี้ กสทช.จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริษัท ไทยคม ผู้ให้บริการดาวเทียมไทยคมและไอพีสตาร์ที่ทางทีวีดาวเทียมเช่าใช้ช่องสัญญาณให้ระงับการ เผยแพร่ออกอากาศโฆษณาดังกล่าว และทางกสทช.จะเข้าพบไทยคมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้วันที่ 30 เม.ย.

"ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าปล่อยผีกันมานานแล้ว ถึงเวลาที่กสทช.จะใช้มาตรการทางปกครองเข้าดำเนินการ ซึ่งอาจไม่ได้ผล 100% แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยและปล่อยให้ทุกอย่างช้าไปกว่านี้อีก"น.ส.สุภิญญากล่าว

สำหรับการพิจารณาระงับโฆษณานั้น กสทช.จะอิงกับคำตัดสินของอย. เป็นหลัก เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับใดของกสทช.ที่สามารถเอาผิดกับโฆษณาได้โดยตรง ดังนั้น จึงต้องดำเนินการผ่านไทยคม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเอกชนในลักษณะขอความร่วมมือ ทั้งจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และไทยคม เนื่องจากทางไทยคมยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ จาก กสทช.โดยตรง

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า มาตรการระงับการออกอากาศนั้นจะขยายผลไปยังวิทยุชุมชนในอนาคต แต่การที่กสทช.เข้มงวดกับทีวีดาวเทียมก่อน เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากกว่า โดยปัจจุบันมีช่องรายการทีวีดาวเทียมที่ออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคมราว 400 ช่อง และสำรวจพบว่ามีการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย 100-200 ช่อง คิดเป็นมูลค่าของงบประมาณโฆษณาที่ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้บอร์ดกระจายเสียงยังมีมติเห็นชอบให้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน หรือ เอ็มโอยู ระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ กสทช. อย. สำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครอง ผู้บริโภค เพื่อดำเนินการอย่างจริงจังกับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายทางเคเบิลและทีวีดาวเทียม

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 24/04055
http://www.consumerthai.org/main/index. ... Itemid=122

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 9:39 pm
โดย kongkiti
f.escape เขียน:ตอนนี้เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปดูได้ มี TOP 30 ด้วย
http://www.psiviewing.com/psirating
username: psirating
password: psirating
http://www.psisat.com/component/content ... e/698.html

Rating PSI เดือน Apr12

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 29, 2012 11:11 pm
โดย blueplanet
ตามที่ผมเข้าใจ ผมสามารถใช้เสาอากาศรับ Digital TV ได้
แต่ตอนนี้ บ้านผมมีแต่จานดาวเทียมของทรู ไม่มีเสาอากาศบนหลังคาแล้ว
แล้วผมจะดู Digital TV ได้อย่างไร
อีกอย่างสัญญาณ ที่ส่งโดยระบบ Digital TV รับง่ายไม๊ครับ
เราสามารใช้เสาอากาศในตัวของโทรทัศน์รับ Digital TV ได้มั้ย
ถ้าได้ก็จะดีมาก จะได้ไม่ต้องติดตั้งเสาอากาศบนหลังคาบ้าน

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 30, 2012 12:15 am
โดย miracle
เหตุการณ์นี้ ถ้ากลับไปอ่านประวัติศาสตร์ที่ US
มีอยูช่วงหนึ่งเลยล่ะครับที่เป็นเช่นนี้ สุดท้าย ก็บาดเจ็บไปหลายต่อหลายราย
คนที่ได้คือ ผู้ชม (หรือประชาชน) ที่ได้มากกว่า ผู้ผลิต
:)

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 30, 2012 10:43 am
โดย Jeng
555 อ่านมันส์สุดเลย บทความนี้

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 30, 2012 1:12 pm
โดย chukieat30
ขอบคุณท่านอาจารย์ครับสำหรับบทความ

ตายังเท่าเดิม แต่ในเมื่อคนเล่นมากขึ้น แทนที่คนเล่นจะกำไรผมว่า

ของที่เกี่ยวกับคนเล่น น่าจะไปได้ดีกว่าครับ

ในเมื่อทีวีเคเบิ้ลมาแรง สายเคเบิ้ลน่าจะใช้กันทุกยี่ห้อ ทุกกล่องจะจานดำจานแดง

จานเหลือง หรือ จานส้ม

ในเชิงธุรกิจ หลายจานก้แชร์มาเก็ตแชร์กันไป เพราะคนไทยมีเท่าเดิม

ลองเปรียบธุรกิจเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ที่เปิดหลายเจ้าในชุมชนเดียวกัน

ยังไงเสีย ลูกค้าก้กระจายกันไป แต่สิ่งนึงที่น่าจะดี คือ ทุกร้านก้ต้องใช้เส้นครับ

ใช้หมู หรือ วัตถุดิบที่คล้ายกัน


คนขายเครื่องเขียง น่าจะได้ประโยชน์กว่านะครับ

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: พุธ พ.ค. 02, 2012 12:27 pm
โดย zesar
zaa network ไม่ติดชาร์จเหรอเนี่ย :(

Re: ศึกชิงตา/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์แล้ว: อังคาร พ.ค. 08, 2012 3:18 am
โดย thekiller

โค้ด: เลือกทั้งหมด

อนาคตของสื่อ

Posted on[color=#4000BF] April 12, 2010 [/color]by ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


โลกในมุมมองของ Value Investor                10 เมษายน 53
 
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
 
สื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และแมกกาซีน นั้น  เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการโน้มน้าวจิตใจคนให้เห็นด้วย หรือคัดค้าน  กับประเด็นที่มีการนำเสนอ  ประเด็นที่นำเสนอนั้น  เป็นได้ทุกอย่าง  ตั้งแต่เรื่องของการเมือง  สังคม  เศรษฐกิจ  และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน  ดังนั้นจึงมีคำพูดที่ยอมรับกันแพร่หลายว่า   “ผู้คุมสื่อคือผู้ที่คุมอำนาจ”
 
อำนาจของสื่อในโลกของทุนนิยมนั้น  แน่นอน  สามารถ  “ทำเงิน”  ได้  บริษัทสื่อที่  “ทรงอิทธิพล” นั้น  สามารถทำเงินได้มหาศาล  วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้มองเห็นจุดนี้ก่อนคนอื่นและได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทวอชิงตันโพสต์ในช่วงที่ราคาหุ้นยังต่ำมากเมื่อหลายสิบปีก่อน  หลังจากนั้น  ราคาหุ้นของโพสต์ก็ปรับตัวขึ้นมามากและกลายเป็น “ตำนาน” การลงทุนหนึ่งของบัฟเฟตต์  ต่อมา เขาก็ยังได้ลงทุนในหุ้นของบริษัทโทรทัศน์ชั้นนำที่ก้าวขึ้นมาโดดเด่นแทนที่หนังสือพิมพ์  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเร็ว ๆ  นี้ บัฟเฟตต์เองก็ยอมรับว่า  ธุรกิจและความสามารถในการทำเงินของหุ้นสื่อนั้น “เปลี่ยนไปแล้ว”  มันไม่ดีเหมือนก่อนเพราะเทคโนโลยี่การสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  สื่อมีการขยายตัวออกไปกว้างขวางมากผ่านอินเตอร์เน็ตและเคเบิลทีวีที่สามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก สิ่งเหล่านี้กัดกร่อนกำไรของสื่อยุคเก่ามหาศาล
 
ลองมาดูกิจการสื่อของเมืองไทยว่าอนาคตจะไปทางไหน  เริ่มจากหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์  ในเมืองไทยนั้น  เป็นที่ยอมรับว่าคนไทยไม่ใคร่อ่านหนังสือมากนัก  ดังนั้นตลาดของหนังสือพิมพ์จึงไม่ใหญ่เท่าที่ควร   อย่างไรก็ตาม ในอดีตหนังสือพิมพ์ค่อนข้างจะมีบทบาทพอสมควรเนื่องจากการเปิดหนังสือพิมพ์ทำได้ยาก  ดังนั้น  หนังสือพิมพ์ที่ติดตลาดจึงพอมีกำไร  ส่วนหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมน้อยก็มักจะขาดทุน  แต่แม้ว่าหนังสือพิมพ์จะขาดทุน  บ่อยครั้งมันก็มักจะไม่ถูกปิดตัวลง  สาเหตุก็เพราะว่า  หนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อย  เกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยเหตุผลหลักก็คือ  มันเป็นฐาน  “อำนาจ”  ของเจ้าของ  ไม่ได้เป็นธุรกิจที่หวังกำไร  ดังนั้น  ปริมาณหรืออุปทานของหนังสือพิมพ์จึงมักจะมีสูงกว่าความต้องการหนังสือพิมพ์เสมอ  กำไรของหนังสือพิมพ์จึงไม่ดี
 
อนาคตของหนังสือพิมพ์นั้นยิ่ง “มืดมน” กว่าปัจจุบัน  สาเหตุก็เพราะว่ามีการเติบโตของสื่ออินเตอร์เน็ตที่ทำให้ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือพิมพ์แต่สามารถเข้าไปอ่านข่าวในเน็ตได้  ข่าวในอินเตอร์เน็ตนั้นสะดวกและรวดเร็วกว่าหนังสือพิมพ์มาก  ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้อินเตอร์เน็ตตั้งแต่เด็กจะอยู่ห่างจากหนังสือพิมพ์ออกไปทุกที  ส่วนคนที่มีอายุมากและยังคุ้นเคยกับการอ่านหนังสือพิมพ์เองนั้น  ผมก็คิดว่าน่าจะอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงและอ่านข่าวจากอินเตอร์เน็ตมากขึ้น  สรุปแล้ว  หนังสือพิมพ์นั้นผมคิดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่กำลัง “ตกดิน”
 
ธุรกิจแมกกาซีนนั้น  มักมีลูกค้าหรือผู้อ่านชัดเจน  และสิ่งที่จะมาทดแทนยังไม่ชัดเจน  ดังนั้น แมกกาซีนที่ติดตลาดก็ยังสามารถรักษาลูกค้าและทำกำไรได้  อย่างไรก็ตาม  การเติบโตของแมกกาซีนนั้นทำได้ยากมากเนื่องจากความสนใจของคนรุ่นใหม่นั้น  เน้นไปที่สื่อสารประเภทอื่นโดยเฉพาะที่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตและเป็นแบบมัลติมีเดีย  ดังนั้น  ธุรกิจนิตยสารต่าง ๆ  สำหรับผมแล้วก็คงไม่ดีนัก  และแม้ว่าจะไม่ถึงกับ “ตกดิน” แต่ก็คงจะโตช้ามาก
 
ธุรกิจทีวีมวลชนซึ่งออกอากาศให้ชมฟรีนั้น  เป็นธุรกิจที่ดีมากจนถึงปัจจุบัน  สาเหตุหนึ่งนั้นเป็นเพราะมันมีสถานีไม่กี่แห่งและมันฟรี  ดังนั้น  มันจึงมี “ลูกค้า” หรือผู้ชมมากมายเป็นล้าน ๆ  คน  ดังนั้น  แต่ละสถานีจึงสามารถขายโฆษณาได้เป็นกอบเป็นกำ  แต่ต้นทุนในการทำรายการและการส่งออกอากาศนั้นไม่สูงนัก  กำไรของบริษัททีวีจึงค่อนข้างดี  นอกจากนั้นหลังจากการลงทุนไปในครั้งแรกแล้ว  สถานีโทรทัศน์ก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มอีก  และการบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ในการส่งสัญญาณทีวีก็มีน้อยมาก  ทำให้กระแสเงินสดของกิจการดีมาก  ส่งผลให้หุ้นบริษัททีวีสามารถจ่ายปันผลได้ค่อนข้างสูง
 
แต่อนาคตของธุรกิจฟรีทีวีนั้นกลับเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน  เหตุผลก็คือ  ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่การสื่อสารและอินเตอร์เน็ต  ทำให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายเป็นร้อย ๆ  ช่องและด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก  ผู้ชมก็สามารถรับสัญญาณเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก  ดังนั้น  ฟรีทีวีจึงต้องเผชิญกับคู่แข่งใหม่จำนวนมหาศาล  ยิ่งไปกว่านั้น  คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็เริ่มหันเหจากการชมทีวีไปเป็นการเข้าไปอ่านหรือชมข่าวสารข้อมูลและบันเทิงทางอินเตอร์เน็ต  ปรากฏการณ์เหล่านี้เริ่มขึ้นแล้ว  ว่าที่จริงในประเทศที่เจริญแล้วก็พบว่าโฆษณาที่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเริ่มท้าทายทีวีอย่างมีนัยสำคัญ  เมืองไทยเองในที่สุดก็หนีไม่พ้น  แม้ว่าในขั้นนี้ยังมีแค่เคเบิลทีวีที่ดูเหมือนว่าจะมีบทบาทท้าทายฟรีทีวีอย่างมีนัยสำคัญ  อย่างไรก็ตาม  สำหรับผมแล้ว  อนาคตของฟรีทีวีไม่สดใสนัก
 
ควบคู่ไปกับทีวีก็คงเป็นเรื่องของวิทยุ  นี่เป็นสื่อที่พอใช้ได้เฉพาะสำหรับคลื่นที่ติดตลาด  อย่างไรก็ตาม  วิทยุไม่ใช่ธุรกิจที่ใหญ่อีกต่อไป  ผู้ฟังวิทยุนั้น  จำนวนมากฟังในขณะขับรถที่ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากฟัง  ดังนั้น  ธุรกิจวิทยุนั้น  เป็นได้เฉพาะ “ธุรกิจเสริม”  ของธุรกิจอื่น  เช่น ทีวี   บันเทิง  เป็นต้นและไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  วิทยุ นั้น  ไม่ใช่ธุรกิจที่จะเติบโตได้อีกต่อไป
 
อนาคตสำหรับธุรกิจสื่อนั้น  ถ้าเป็นในระดับโลกก็คือ  “สื่อยุคใหม่”  เช่นพวกเว็บไซ้ต์อย่างกูเกิล และอื่น ๆ   สื่อที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้น  จะทำกำไรได้อย่างมหาศาลแต่ก็จะมีจำนวนน้อยมาก  เพราะสื่อยุคใหม่นั้นมักจะเป็นลักษณะ  “ผู้ชนะกินรวบ” นั่นคือ  ผู้แพ้จะถูกบีบให้ออกจากตลาดหมด  ทำให้ผู้ชนะได้ลูกค้ามากขึ้น ๆ และได้กำไรทบทวีขึ้น  ส่งผลให้หุ้นมีค่ามหาศาล  อย่างไรก็ตาม  หุ้นลักษณะดังกล่าวนั้น  มักจะมีการให้บริการทั่วโลก  ดังนั้น  จึงเป็นการยากสำหรับหุ้นสื่อของประเทศไทยที่จะสามารถต่อสู้ได้  ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  บริษัทและหุ้นสื่อนั้น  “เหนื่อย” ครับ
ขุดจาก 2ปีก่อนมาครับ ดร ได้พูดถึง ธุรกิจสื่อครับ